โมโนเอมีน รีลีสซิ่ง เอเจนท์ (Monoamine releasing agent)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

กลไกการทำงานของอวัยวะต่างๆในร่างกายล้วนอยู่ภายใต้คำสั่งจากเซลล์ในระบบประสาท นักวิทยาศาสตร์ได้จำแนกชนิดระบบประสาทออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1. ระบบประสาทโซมาติก(Somatic nervous system) จัดเป็นระบบประสาท ที่ทำงานภายใต้อำนาจจิตใจ เช่น เซลล์ประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อลาย

2. ระบบประสาทอัตโนมัติ(Autonomic nervous system) เป็นระบบประสาท ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจจิตใจ เช่น เซลล์ประสาทที่ควบคุมการทำงานของหัวใจ ต่อมน้ำลาย หลอดลม กระเพาะอาหาร ลำไส้ กระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น

3. ระบบประสาทแบบรีเฟล็กซ์(Reflex action) คือระบบประสาทที่ถูกใช้เพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้าทันที เช่น การชักเท้าออกเมื่อเหยียบของมีคม หนังตาปิดลงเมื่อมีวัตถุใดๆเข้ามาใกล้ตา

ทั้งนี้ การทำงานของระบบประสาททั้ง 3 แบบ จะต้องอาศัยสารสื่อประสาทที่เป็นสื่อกลางในการประสานงานหรือกระตุ้นให้เซลล์ประสาทส่งสัญญาณไปยังอวัยวะต่างๆให้ทำงานตามคำสั่งของกระแสประสาทที่เกิดขึ้น ปัจจุบันมีการจำแนกสารสื่อประสาทที่ช่วยกระตุ้นเซลล์ประสาทให้สั่งการหรือส่งสัญญาณประสาทออกเป็นหลายประเภท อาทิ กรดอะมิโน (Amino acids), อะเซทิลโคลีน (Acetylcholine), โมโนเอมีน (Monoamine), เทรซ เอมีน (Trace amine), เพียวรีน (Purine), โอปิออยด์ (Opioids) และอื่นๆอีกมาก

สำหรับสารสื่อประสาทประเภทโมโนเอมีน(Monoamine neurotransmitters) หรืออีกชื่อคือ Monoaminergic ยังถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มย่อยตามโครงสร้างทางเคมีดังนี้

1. Histamine เป็นสารอินทรีย์ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย มีหน้าที่ควบคุมการทำงานทางกายภาพของอวัยวะในระบบทางเดินอาหารและแสดงฤทธิ์เป็นสารสื่อประสาทเมื่ออยู่ในสมอง

2. Catecholamines เป็นกลุ่มสารอินทรีย์โดยสารสื่อประสาทประเภทนี้มีสมาชิกแยกออกมาเป็น Epinephrine, Norepinephrine, และ Dopamine ซึ่งมีหน้าที่สำคัญต่อร่างกายอย่างมากมาย เช่น กระตุ้นการทำงานของหลอดลม ควบคุมการบีบตัวของกระเพาะอาหาร มีผลต่อการทำงานของ ตับ หัวใจ ปอด สมอง กล้ามเนื้อตลอดจนกระทั่งอารมณ์ และการทำงานในระดับเซลล์ต่างๆของร่างกาย

3. Tryptamines เป็นสารสื่อประสาทซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานมาจากกรดอะมิโน ที่ชื่อว่า ทริปโตเฟน(Tryptophan) สารสื่อประสาทที่สำคัญมากของกลุ่มนี้คือ Serotonin หรือ 5- hydroxytryptamine ย่อว่า 5-HT) จัดเป็นสารสื่อประสาทที่มีความสำคัญต่อสภาพทางอารมณ์ ความหิวอาหาร และการนอนหลับ

โมโนเอมีน รีลีสซิ่ง เอเจนท์คืออะไร?

โมโนเอมีนรีลีสซิ่งเอเจนท์

ยาโมโนเอมีน รีลีสซิ่ง เอเจนท์ (Monoamine releasing agent ย่อว่า MRA) หรือ Monoamine releaser เป็นกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ กระตุ้นให้เกิดการหลั่งสารสื่อประสาทประเภทโมโนเอมีน (Monoamine neurotransmitter) ออกมาตรงบริเวณรอยต่อของปลายเส้นประสาท ซึ่งถูกแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้

1. กลุ่มยาที่กระตุ้นให้ปลดปล่อยสารสื่อประสาทประเภทโมโนเอมีนเพียงชนิดเดียว (Selective for one neurotransmitter) โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยดังนี้

1.1 Serotonin releasing agent (SRA) ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น MDMA (Methylenedioxymethamphetamine), MDEA(3,4-Methylenedioxy-N-Ethylamphetamine หรือ Methylenedioxyethylamphetamine,หรือย่อว่า MDE ), MDA (2,3-Methylenedioxyamphetamine), MBDB(N-methyl-1,3-benzodioxolylbutanamine) และยาบางตัวของกลุ่มยากระตุ้นความบันเทิง

1.2 Norepinephrine releasing agent (NRA )ประกอบด้วยตัวยา Phentermine, Benzphetamine, Phenmetrazine, Aminorex, Levomethamphetamine, Ephedrine, Pseudoephedrine, Phenylpropanolamine

1.3 Dopamine releasing agent (DRA): ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์กำลังค้นคว้าว่ายาตัวใดบ้างในกลุ่มยานี้ที่มีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่ง Dopamine เพียงตัวเดียว

2. กลุ่มยาที่กระตุ้นให้ปลดปล่อยสารสื่อประสาทโมโนเอมีนตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป เช่น

2.1 Norepinephrine-dopamine releasing agent(NDRA) มีตัวอย่างยาของกลุ่มนี้ อาทิ Phenethylamine, Tyramine, Amphetamine ,Cathinone, Methamphetamine, Lisdexamfetamine, Methcathinone, Propylhexedrine, Phenmetrazine, Pemoline, 4-methylaminorex และ Benzylpiperazine

2.2 Serotonin-norepinephrine releasing agent(SNRA) ยาของกลุ่มนี้ เช่น Norfenfluramine, MBDB และ Fenfluramine

2.3 Serotonin-dopamine releasing agent(SDRA) ตัวอย่างของสารประกอบในกลุ่มนี้ คือ 5-Chloro-alpha-methyltryptamine

2.4 Serotonin-norepinephrine-dopamine releasing agent (SNDRA) เช่น MDMA, MDA, 4-methylamphetamine, Methamphetamine

อนึ่ง อาจพบว่าในแต่ละหมวดยาเหล่านี้ จะมียาบางตัวที่ซ้ำกันได้บ้าง ทั้งนี้อยู่ที่การตีความและเหตุผลบางประการของนักวิทยาศาสตร์ซึ่งไม่สามารถนำมากล่าวอ้างในที่นี้

กลไกการออกฤทธิ์ของโมโนเอมีน รีลีสซิ่ง เอเจนท์เป็นอย่างไร?

กลุ่มยาโมโนเอมีน รีลีสซิ่ง เอเจนท์ จะแทรกซึมเข้าที่ปลายประสาทส่วนที่เรียกว่า Presynaptic เราเรียกช่องทางที่ยอมให้ตัวยาที่มีความจำเพาะเจาะจงผ่านเข้า ปลายเซลล์ประสาทว่า ผู้ขนส่ง(Transporters) ซึ่งมีอยู่ 3 ชนิด คือ Dopamine transporter, Norepinephrine transporter และ Serotonin transporter เมื่อกลุ่มยา โมโนเอมีน รีลีสซิ่ง เอเจนท์ผ่านเข้าในปลายเซลล์ประสาทส่วน Presynaptic ได้แล้ว จะแสดงฤทธิ์ 2 ขั้นตอน คือ

1. ปิดกั้นมิให้สารสื่อประสาท Dopamine, Norepinephrine, และ Serotonin ดูดกลับเข้ามาเก็บในเซลล์ประสาท

2. กระตุ้นให้ปลายประสาทของ Presynaptic ปลดปล่อยสารสื่อประสาทอย่าง Dopamine, Norepinephrine, และ Serotonin ออกมาจากปลายประสาท

ด้วยกลไกการออกฤทธิ์ทั้ง 2 ขั้นตอนดังกล่าว ทำให้มีปริมาณสารสื่อประสาทประเภทโมโนเอมีนมากขึ้นได้ตามสรรพคุณ

กลุ่มยาโมโนเอมีน รีลีสซิ่ง เอเจนท์ก่อให้เกิดผลกระทบอะไรบ้าง?

เป็นที่ทราบกันดีว่า กลุ่มยาโมโนเอมีน รีลีสซิ่ง เอเจนท์ออกฤทธิ์ที่รอยเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาท เพื่อให้เกิดการปลดปล่อยสารสื่อประสาทประเภทโมโนเอมีนอย่างเช่น Dopamine, Norepinephrine, และ Serotonin ตัวยาดังกล่าวอาจสร้างความเสียหายต่อเซลล์ประสาทที่ยาเข้าไปออกฤทธิ์ ซึ่งการออกฤทธิ์ส่วนมากจะอยู่ในสมองโดยตัวยาสามารถเข้าทำลายเอนไซม์ที่จำเป็นต่อเซลล์ประสาทหรือทำลายหน่วยสร้างพลังงานของเซลล์ประสาท อย่างเช่น Mitochondria หรือแม้แต่สารพันธุกรรมอย่าง DNA ในเซลล์ประสาทก็อาจได้รับความเสียหายได้เช่นกัน ดังนั้นการใช้ยาประเภทโมโนเอมีน รีลีสซิ่ง เอเจนท์อย่างผิดขนาด ผิดเวลา ล้วนแต่จะก่อให้เกิดผลเสียต่อเซลล์ประสาทได้อย่างมากมาย ดังนั้น หากจำเป็นต้องใช้ยาในกลุ่มโมโนเอมีน รีลีสซิ่ง เอเจนท์ควรต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์แต่ผู้เดียว

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Neurotransmitter#List_of_neurotransmitters,_peptides,_and_gasotransmitters [2018,Feb24]
  2. http://mwits2210th.blogspot.com/2014/05/nervous-system.html [2018,Feb24]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Monoamine_releasing_agent [2018,Feb24]
  4. https://psychonautwiki.org/wiki/Releasing_agent [2018,Feb24]