โภชนาการสำหรับผู้สูงอายุ ตอน 2 ความต้องการสารอาหารในผู้สูงอายุ (ต่อ)
- โดย กาญจนา ฉิมเรือง
- 18 พฤษภาคม 2562
- Tweet
2. โปรตีน ผู้สูงอายุควรได้รับโปรตีน 1 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมควรเป็นโปรตีนที่มีคุณภาพดี ได้แก่ อาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ไข่ถั่ว นม หรือเลือกโปรตีนที่ย่อยง่าย เช่น เนื้อปลา เพราะผู้สูงอายุจะมีปัญหาเรื่องฟันเคี้ยวอาหารไม่สะดวก อวัยวะย่อยอาหาร หย่อนสมรรถภาพในการทำงาน หากได้รับโปรตีนที่เพียงพอร่างกายจะได้รับวิตามินและแร่ธาตุสูงด้วย เหล็ก วิตามินบี แคลเซียม ช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง โรคกระดูกพรุน คือโปรตีนเป็นพื้นฐานของเซลล์ในกระดูก การสลายตัวมากขึ้นทำให้แคลเซียมที่กินเข้าไปมาจับเกาะสร้างความแข็งแรงให้กับกระดูกไม่เต็มที่ หากได้รับโปรตีนที่เพียงพอจะทำให้ร่างกายมีความต้านทานโรคดีขึ้น
3. ไขมัน เป็นอาหารที่ให้พลังงานสูงให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย และยังทำให้อาหารมีรสชาติอร่อย ทำให้รู้สึกอิ่ม ไขมันยังเป็นตัวนำพาวิตามินที่ละลายในไขมัน เอ ดี อี เค ควรบริโภคไม่เกินร้อยละ 25-30 ของปริมาณพลังงานทั้งวัน ควรเป็นน้ำมันพืชที่มีกรดลิโนเลอิกมากเพื่อป้องกันภาวะไขมันในเลือดสูง เช่นน้ำมันข้าวโพด น้ำมันถั่วเหลือง ฯลฯ
4. คาร์โบไฮเดรต เป็นอาหารที่ราคาไม่แพง อร่อย และเป็นสิ่งที่เก็บไว้ได้นาน ไม่เสียง่าย เป็นอาหารที่ประกอบได้ง่าย กินง่าย เคี้ยวง่ายแต่ผู้สูงอายุควรลดการกินอาหารประเภทน้ำตาล ขนมหวาน เพื่อลดปริมาณพลังงาน ผู้สูงอายุควรบริโภคคาร์โบไฮเดรตไม่เกินร้อยละ 55 ของปริมาณพลังงานทั้งหมดต่อวัน ควรบริโภคในรูปของ ข้าว แป้ง เผือก มัน จะได้รับวิตามินและแร่ธาตุอีกด้วย ควรบริโภคข้าวกล้องอย่างน้อยวันละ 1 มื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่กินอาหารพลังงานต่ำและไม่กินหมูเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการขาดวิตามินบี 1
5. แคลเซียม เนื่องจากหลังอายุ 35 ปีขึ้นไป ร่างกายมีการสลายแคลเซียมมากกกว่าการสร้าง ยังมีสาเหตุมาจากการกินแคลเซียมน้อย การดูดซึมและการเก็บไว้ในร่างกายยังมีน้อยกว่าในวัยหนุ่มสาว จึงส่งผลให้เมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุมักมีปัญหาเสี่ยงกับโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) กระดูกบาง เปราะ เนื่องจากเซลล์ของกระดูกมีการสลายมากกว่าการสร้าง โรคกระดูกพรุนเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย อาหารที่เป็นแหล่งของแคลเซียมได้แก่ นม โยเกิร์ต เต้าหู้ ปลาเล็กปลาน้อย กุ้งแห้ง ผักใบเขียว ผู้สูงอายุต้องการแคลเซียมประมาณ 1,000 มก./วัน
6. ธาตุเหล็ก ยังต้องการเหมือนเดิมกรณีได้รับน้อยจะมีภาวะซีด หรือโรคโลหิตจาง แต่ผู้หญิงจะลดลงเล็กน้อยเนื่องจากไม่มีการสูญเสียทางประจำเดือน ผู้ชายต้องการ 10.4 มิลลิกรัม ผู้หญิง 9.4 มิลลิกรัม อาหารที่มธาตุเหล็ก เช่น ตับ เนื้อสัตว์ ไข่แดง เลือด เพื่อให้การดูดซึมธาตุเหล็กดีขึ้นควรรับประทานผักสด ผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง
7. วิตามินซี การรับประทานอาหารที่มีวิตามินซีสูงจะช่วยป้องกันไม่ให้ผิวหนังเยี่ยวย่นเร็วเกินไป และช่วยลดอันตรายอันเกิดจากเส้นเลือดแข็งและเปราะง่ายเป็นเกราะป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายและช่วยป้องกันไม่ให้กระดูกเปราะหรือแตกง่ายเมื่อได้รับการ กระทบกระเทือน
8. วิตามินบี1 การลดพลังงานในอาหารจะทำให้ได้รับวิตามินบี 1 ลดลง ผู้สูงอายุชายควรได้รับวิตามินบี 1 อย่างน้อยวันละ 1.2 มิลลิกรัม และผู้หญิงควรได้รับวันละ 1.1 มิลลิกรัม เพื่อช่วยให้เส้นเลือดขยายตัว หากรับประทานโปรตีนที่มีคุณภาพดี กินผักสด ผลไม้สด และข้าวที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงก็จะไม่มีปัญหาเรื่องขาดวิตามินบี1
9.น้ำ น้ำมีความสำคัญต่อร่างกายช่วยในระบบย่อยอาหารและขับถ่ายของเสียส่วนมากผู้สูงอายุจะดื่มน้ำน้อย ควรดื่มอย่างน้อยวันละ 1.5 ลิตร เป็นประจำ หากอากาศร้อนจัดควรรับน้ำเพิ่มเพื่อชดเชยส่วนที่สูญเสียไปทางผิวหนังและเพื่อให้ไตขับถ่ายของเสียได้เร็วขึ้น โดยองค์การอนามัยโลกได้กำหนดว่าในแต่ละวันต้องดื่มน้ำให้ได้ปริมาณที่เหมาะสมกับน้ำหนักตัว
สูตรคำนวณปริมาณน้ำที่ควรดื่มขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัว ดังนี้
ปริมาณน้ำที่ควรดื่ม = น้ำหนักตัว/2 x 2.2 x 30 มล.
ทั้งนี้ปริมาณน้ำรวมถึงของเหลวที่ได้จากอาหารด้วย หากผู้สูงอายุกินอาหารประเภทแกงจืดเป็นประจำ ก็สามารถนับรวมกับน้ำดื่มได้ หากผู้สูงอายุดื่มชา กาแฟด้วย อาจต้องเพิ่มปริมาณน้ำดื่ม เนื่องจากกาแฟอีนในชา กาแฟเพิ่มการขับปัสสาวะ ทำให้สูญเสียน้ำเพิ่มขึ้น
แหล่งข้อมูล:
- ประไพศรี ศิริจักรวาล. FBDGs ผู้สูงอายุไทย. ว.สมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย 2561;132.
- อัจฉรา ดลวิทยาคุณ. พื้นฐานโภชบำบัด. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์; 2558.
- อบเชย วงศ์ทอง. โภชนศาสตร์ครอบครัว.พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์; 2557.