โฟลซูริดีน (Floxuridine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโฟลซูริดีน (Floxuridine หรือ 5-fluorodeoxyuridine) เป็นยาเคมีบำบัดประเภทแอนติเมทาโบไลท์(Antimetabolite) ทางการแพทย์นำมาใช้รักษาโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาโฟลซูริดีน เป็นแบบยาฉีด โดยตัวยาชนิดนี้ยังไม่ใช่สารที่ออกฤทธิ์ แต่ร่างกายจะเปลี่ยนยาโฟลซูริดีนไปเป็นยา 5-ฟลูออโรยูราซิล (5-fluorouracil) จึงสามารถออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างสารพันธุกรรมในเซลล์มะเร็งจากนั้น เมทาโบไลท์(Metabolite)ของยาโฟลซูริดีนจะถูกขับออกจากร่างกายโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

มีข้อจำกัดการใช้ยาโฟลซูริดีนที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบ ดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่สภาพร่างกายขาดสารอาหารหรืออยู่ในสภาพที่อ่อนแออย่างรุนแรง ด้วยตัวยาโฟลซูริดีนมีฤทธิ์กดไขกระดูก หากใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวจะทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย
  • ห้ามใช้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร ด้วยตัวยาสามารถส่งผลทำให้ทารกเกิดความพิการ
  • ต้องระวังเป็นอย่างมากเมื่อต้องใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ด้วยหน้าที่อย่างหนึ่งของอวัยวะดังกล่าว คือ กำจัดพิษและยาชนิดต่างๆออกจากร่างกายที่รวมถึงยาโฟลซูริดีนด้วยเช่นกัน ดังนั้น หากเกิดความบกพร่องในการทำงานของตับ ไต จะทำให้ระดับยาโฟลซูริดีนมีการสะสมในร่างกายมาก จนกระทั่งเกิดพิษ(ผลข้างเคียงที่รุนแรง)ขึ้นมาได้

การได้รับยาโฟลซูริดีน ยังสามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียงอย่างมากมายตามมา เช่น เกิดภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร คลื่นไส้อาเจียน ผมร่วง โลหิตจาง เบื่ออาหาร เป็นต้น ระหว่างที่ได้รับยานี้แล้วเกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรรีบมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล โดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา

โฟลซูริดีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

โฟลซูริดีน

ยาโฟลซูริดีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้รักษามะเร็งระบบทางเดินอาหาร(เช่น มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่)ระยะที่โรคแพร่กระจายเข้าสู่ตับ(Hepatic metastases of gastrointestinal carcinoma)

โฟลซูริดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

โดยทั่วไป แพทย์จะให้ยาโฟลซูริดีนกับผู้ป่วยมะเร็งโดยผ่านทางหลอดเลือดแดง หรือหลอดเลือดดำ ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ จากนั้นตัวยาจะถูกเปลี่ยนโครงสร้างไปเป็นสารที่ออกฤทธิ์หรือเรียกว่า แอคทีฟเมทาโบไลท์(Active metabolite) แอคทีฟเมทาโบไลท์ดังกล่าวจะออกฤทธิ์ยับยั้งและรบกวนกระบวนการสันดาปหรือกระบวนการสังเคราะห์สารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของสารพันธุกรรมในเซลล์มะเร็ง อย่างเช่น DNA และ RNA ส่งผลให้เซลล์มะเร็งไม่สามารถแบ่งตัว เซลล์มะเร็งจึงหยุดการเจริญเติบโต

โฟลซูริดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโฟลซูริดีน มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีด ที่เป็นผงแห้งปราศจากเชื้อ โดยบรรจุตัวยา Floxuridine ขนาด 500 มิลลิกรัม/ขวด

โฟลซูริดีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

การรักษามะเร็งของระบบทางเดินอาหารที่อยู่ในระยะแพร่กระจายเข้าสู่ตับด้วยยาโฟลซูริดีน ผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องรับการตรวจร่างกายเพื่อให้แพทย์ประเมินความเหมาะสม-ปลอดภัยว่าสมควรใช้ยาชนิดนี้รักษาตนเองหรือไม่ การให้ยากับผู้ป่วยต้องใช้น้ำหนักตัวผู้ป่วยมาเป็นเกณฑ์อ้างอิงคำนวณขนาดยา แพทย์อาจให้ยาจนกระทั่งสังเกตเห็นอาการข้างเคียงเริ่มเกิดขึ้นกับผู้ป่วยจึงหยุดการใช้ยา และจะนัดให้ยาครั้งใหม่เมื่ออาการข้างเคียงของผู้ป่วยลดลง ผู้ป่วยไม่ควรหยุดการรักษาโดยไม่ได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์ แต่ควรมารับการให้ยาตามที่แพทย์นัดหมายอย่างสม่ำเสมอ

อนึ่ง ทั่วไป แพทย์จะใช้ยานี้เฉพาะกับผู้ป่วยมะเร็งในผู้ใหญ่ ส่วนในมะเร็งเด็ก ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยและขนาดยานี้สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเด็ก

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโฟลซูริดีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโฟลซูริดีนอาจ ส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

ควรดูแลตนเองอย่างไรขณะได้รับยาโฟลซูริดีน?

ควรดูแลตนเองขณะได้รับยาโฟลซูริดีน เช่น

  • ดื่มน้ำสะอาดให้ได้วันละ 2 – 3 ลิตร หรือ ตามแพทย์แนะนำ
  • ล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ
  • อยู่ในที่ ไม่มีผู้คนแออัด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคต่างๆ
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บเป็นแผลเลือดออก
  • เพื่อป้องกันและลดอาการช่องปากเป็นแผล ควรใช้แปรงสีฟันที่มีขนนิ่ม และกลั้วปากด้วยเกลือเบกกิ้งโซดา(Baking soda) ½ - 1 ช้อนชา หรือเกลือแกง ½ - 1 ช้อนชา ที่ละลายน้ำสะอาดประมาณ 240 มิลลิลิตร
  • กรณีมีอาการคลื่นไส้ให้รับประทานยาแก้คลื่นไส้ที่สั่งจ่ายจากแพทย์ผู้ที่ทำการรักษาเท่านั้น ห้ามไปซื้อยามารับประทานเอง
  • ห้ามดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นองค์ประกอบ
  • เพื่อป้องกันกลุ่มอาการมือและเท้าบวมแดง (Hand-foot syndrome)ที่เป็นผลข้างเคียงจากยานี้ ผู้ป่วยควรใช้มือและเท้าด้วยความระมัดระวัง ห้ามใช้มือและเท้าทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมากหรือใช้กับกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการเสียดสีของมือและเท้า รวมถึงหลีกเลี่ยงการสัมผัสวัตถุหรือสิ่งแวดล้อมที่มีความร้อน ควรรักษาความชุ่มชื้นของมือและเท้า โดยใช้โลชั่นที่ให้ความชุ่มชื้นผิวหนังทาเป็นประจำ
  • ในสตรี ต้องป้องกันการมีบุตรขณะได้รับยาชนิดนี้โดยใช้การป้องกันทางกายภาพ เช่น ถุงยาอนามัยชาย
  • พักผ่อนอย่างพอเพียง และรับประทานอาหารตามที่ แพทย์/ พยาบาล/เภสัชกร /โภชนากร แนะนำ

หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?

กรณีไม่สามารถมารับการฉีดยาโฟลซูริดีน ให้ผู้ป่วยรีบติดต่อแพทย์/พยาบาล/เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ผู้ที่ทำการรักษาผู้ป่วย เพื่อนัดหมายการฉีดยาครั้งใหม่โดยเร็ว

โฟลซูริดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโฟลซูริดีน สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องเสีย คอหอยอักเสบ กระเพาะอาหารอักเสบ ปวดท้อง มีเลือดออกในทางเดินอาหาร ถุงน้ำดีอักเสบ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น เกิดพิษต่อเส้นประสาท/เส้นประสาทอักเสบ มีไข้
  • ผลต่อตับ: เช่น ตับทำงานผิดปกติ/ตับอักเสบ เอนไซม์การทำงานของตับในเลือด สูงขึ้น
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีผื่นคัน ผิวหนังอักเสบ มีภาวะผมร่วง
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น มีภาวะหัวใจขาดเลือด
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น กดไขกระดูก โลหิตจาง เม็ดเลือดขาวต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ

มีข้อควรระวังการใช้โฟลซูริดีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโฟลซูริดีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร นอกจากมีคำสั่งแพทย์
  • ขณะได้รับยาโฟลซูริดีน ห้ามรับการฉีดวัคซีนใดๆ ด้วยยาชนิดนี้จะทำให้การกระตุ้นภูมิคุ้มกัน/ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของวัคซีนมีประสิทธิภาพต่ำลง และอาจติดเชื้อจากวัคซีนนั้นๆเสียเอง
  • กรณีมีอาการวิงเวียนหลังได้รับการฉีดยาโฟลซูริดีน ผู้ป่วยต้องหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะทุกชนิด รวมถึงการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรต่างๆ เพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์/พยาบาล/เภสัชกร และมาโรงพยาบาลเพื่อรับการให้ยานี้ตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาโฟลซูริดีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

อาการข้างเคียงลักษณะใดที่ต้องนำผู้ป่วยมาส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว?

กรณีพบอาการดังต่อไปนี้หลังการได้รับยาโฟลซูริดีน ควรต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมง เช่น

  • ท้องเสียตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไปภายใน 24 ชั่วโมง
  • คลื่นไส้ทุกครั้งที่รับประทานอาหาร และยาแก้คลื่นไส้ที่แพทย์สั่งจ่ายมาเพื่อบรรเทาอาการ ใช้ไม่ได้ผล
  • อาเจียนวันละ 4–5 ครั้ง ภายใน 24 ชั่วโมง
  • มีเลือดออกตามร่างกายโดยไม่รู้สาเหตุ
  • ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด
  • ผิว/ตัวเหลืองตาเหลือง
  • มือ-เท้าแสบคัน บวม แดง
  • มีแผลในช่องปาก

โฟลซูริดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโฟลซูริดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาโฟลซูริดีนร่วมกับยาAdalimumab เพราะจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้อย่างรุนแรง
  • ห้ามใช้ยาโฟลซูริดีนร่วมกับยาClozapine เพราะจะทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำรุนแรงและจะมีการติดเชื้อโรคชนิดต่างๆได้ง่ายตามมา
  • ห้ามใช้ยาโฟลซูริดีนร่วมกับVitamin E ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาโฟลซูริดีนลดต่ำลง
  • ห้ามใช้ยาโฟลซูริดีนร่วมกับวัคซีนป้องกันโรคชนิดต่างๆ เช่น วัคซีนคางทูม วัคซีนหัดเยอรมัน วัคซีนโรคหัด ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากวัคซีนที่ได้รับเสียเอง ตลอดจนผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีนดังกล่าวไม่เกิดประสิทธิผล

ควรเก็บรักษาโฟลซูริดีนอย่างไร?

ควรเก็บยาโฟลซูริดีน ภายใต้อุณหภูมิ 15–30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

* อนึ่ง สำหรับยาฉีดที่ละลายน้ำกลั่นและถูกเตรียมพร้อมเพื่อใช้งานแล้ว ต้องเก็บภายในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส และมีระยะการเก็บไม่เกิน 2 สัปดาห์

โฟลซูริดีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโฟลซูริดีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
FUDR (เอฟยูดีอาร์)Faulding Pharmaceutical Co.

บรรณานุกรม

  1. http://chemocare.com/chemotherapy/drug-info/floxuridine.aspx [2018,May12]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Floxuridine#Mechanism_of_action [2018,May12]
  3. https://hemonc.org/docs/packageinsert/floxuridine.pdf [2018,May12]
  4. https://www.drugs.com/drug-interactions/floxuridine-index.html?filter=3&generic_only=[2018,May12]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Floxuridine [2018,May12]