โพโดฟิลอก (Podofilox)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 26 พฤษภาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- โพโดฟิลอกมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- โพโดฟิลอกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- โพโดฟิลอกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- โพโดฟิลอกมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
- โพโดฟิลอกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้โพโดฟิลอกอย่างไร?
- โพโดฟิลอกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาโพโดฟิลอกอย่างไร?
- โพโดฟิลอกมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- หูด (Warts)
- หูดหงอนไก่ หูดอวัยวะเพศ (Condyloma acuminata)
- หูดข้าวสุก (Molluscum contagiosum)
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กามโรค (STD: Sexually transmitted disease)
- การติดเชื้อเอชพีวีอวัยวะเพศหญิง (Gential HPV in women)
บทนำ
ยาโพโดฟิลอก(Podofilox) หรือจะเรียกว่า ยาโพโดฟิลโลทอกซิน (Podophyllotoxin) เป็นยาที่มีฤทธิ์ต่อต้านการแบ่งตัวของเซลล์(Antimitotic) ทางคลินิกนำมาใช้รักษาอาการของ หูดที่อวัยวะเพศ เช่น หูดหงอนไก่ (Condyloma acuminata) รวมถึงหูดข้าวสุก (Molluscum contagiosum) แต่ไม่สามารถนำมาใช้รักษาโรคติดเชื้อเอชพีวีที่ปราศจากหูดร่วมด้วย (HPV infections without external warts) ยาโพโดฟิลอกเป็นสารประกอบที่สกัดได้จากรากหรือเหง้าของพืชซึ่ง มีชื่อของสายพันธุ์ว่า Podophyllum รูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาทาภายนอกประเภท ครีม เจล หรือสารละลาย เป็นต้น โดยมากมักจะใช้ความเข้มข้นของตัวยาโพโดฟิลอกที่ 0.5%
การใช้ยาโพโดฟิลอกได้อย่างปลอดภัย ยังต้องพิจารณาถึงตำแหน่งหรือบริเวณที่เกิด หูด ร่วมด้วย แพทย์จะไม่แนะนำให้ใช้ยานี้กับ หูด ที่เกิดใกล้บริเวณเยื่อเมือกของร่างกาย เช่น หูดรอบทวารหนัก หูดในบริเวณท่อปัสสาวะ หูดที่ขึ้นตรงลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย และหูดที่เกิดในช่องคลอด
ยาโพโดฟิลอก มีข้อจำกัด ข้อห้ามใช้ รวมถึงข้อควรระวังที่ควรทราบดังต่อไปนี้ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้/แพ้สารประกอบนี้
- การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร ต้องให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาตัดสินใจการใช้ยานี้เท่านั้น ด้วยผู้ป่วยจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการใช้ยาหลายประเภทซึ่งรวมถึงยาโพโดฟิลอกที่จะเกิดผลข้างเคียงรุนแรงจากยาต่างๆ
- ยาโพโดฟิลอกถูกออกแบบมาเป็น ยาใช้ภายนอกเท่านั้น การใช้ยานี้จึงต้องระวังมิให้เข้าตา เข้าปาก เข้าจมูก
- การทายาโพโดฟิลอก ให้ทายาเพียงบางๆบริเวณผิวหนังที่เป็นหูดเท่านั้น ห้ามทาบริเวณผิวหนังปกติ
- การทายานี้อาจทิ้งระยะเวลา 1–6 ชั่วโมง เพื่อให้ตัวยาแทรกซึมและออกฤทธิ์ ยับยั้งการแพร่กระจายของหูด จากนั้นจึงล้างยาออกจากรอยโรคด้วยน้ำสะอาด
- ล้างมือทันทีหลังจากใช้ยานี้ทาหูดเรียบร้อยแล้ว
- หลังทายานี้แล้ว ถ้ามีอาการ ปวด แสบ คัน ในบริเวณที่ทายา ให้ผู้ป่วยรีบล้างยานี้ออกจากผิวหนังโดยเร็ว แล้วกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการใช้ยา
- ยาโพโดฟิลอกชนิดเจล เป็นสารไวไฟ ห้ามวางผลิตภัณฑ์นี้ใกล้บริเวณที่มีเปลวไฟ
- การได้รับยาโพโดฟิลอกเป็นปริมาณมากๆ อาจก่อให้เกิดพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)ต่อร่างกายได้ เช่น มีเลือดปนในปัสสาวะ/ปัสสาวะเป็นเลือด ท้องเสีย มีไข้ หนาวสั่น เจ็บคอ คลื่นไส้ เกิดแผลในช่องปาก อารมณ์เปลี่ยนแปลง/อารมณ์แปรปรวน เกิดอาการชาตามร่างกาย หรือมีอาการชัก หายใจไม่ออก/หายใจลำลาก หมดสติ หากพบอาการเหล่านี้ ควรต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
ก่อนการใช้ยาโพโดฟิลอก ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์ เพื่อยืนยันสภาพอาการป่วย รวมถึงให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมของการใช้ยาชนิดนี้ ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยไปซื้อหายาโพโดฟิลอกมาใช้ด้วยตนเอง
อนึ่ง ผู้ป่วยสามารถสอบถามข้อมูลการใช้ยาโพโดฟิลอกเพิ่มเติมได้จากแพทย์ผู้ที่ตรวจรักษาหรือจากเภสัชกรตามร้านขายยาได้ทั่วไป
โพโดฟิลอกมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาโพโดฟิลอกมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ รักษาหูดหงอนไก่ (Condylomata acuminata)ที่เกิดบริเวณอวัยวะเพศ
โพโดฟิลอกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาโพโดฟิลอกเป็นยาที่มีกลไกการออกฤทธิ์ที่ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ จึงมีกลไกทำให้หยุดการแพร่กระจายของหูด การใช้ยานี้อย่างมีประสิทธิภาพ จะต้องใช้ยาต่อเนื่องเป็นระยะเวลาตามที่แพทย์กำหนด และเมื่อหายจากอาการเป็นหูดแล้ว ผู้ป่วยยังควรได้รับการประเมินจากแพทย์ว่า ต้องใช้ยานี้ซ้ำหรือไม่ และต้องปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นหูดอีกครั้ง
โพโดฟิลอกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาโพโดฟิลอกมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาครีม เจล ที่มีตัวยา Podofilox เข้มข้น 0.15 และ 0.5%
โพโดฟิลอกมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาโพโดฟิลอก มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
- ผู้ใหญ่: ทายาในบริเวณที่เป็นหูด วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น เป็นเวลาต่อเนื่อง 3 วัน จากนั้นหยุดการใช้ยา 4 วัน เป็นอันครบ 1 รอบของการใช้ยา ทั้งนี้ การรักษาด้วยยาโพโดฟิลอกอาจต้องทำซ้ำอีก 3 รอบ หรือใช้ตามคำสั่งแพทย์ จนกว่าจะไม่พบหูดเกิดขึ้นอีก
- เด็ก: ไม่มีข้อบ่งใช้ยานี้ในผู้ป่วยเด็ก
อนึ่ง:
- ห้ามมีเพศสัมพันธ์กับผู้ใดขณะที่ยังใช้ยาโพโดฟิลอก
- หลังการใช้ยาโพโดฟิลอก แล้วพบว่าอาการหูดไม่ดีขึ้นภายใน 4 สัปดาห์ ผู้ป่วยต้องรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว เพื่อแพทย์พิจารณาปรับเปลี่ยนแนวทางการรักษา ห้ามทิ้งหรือปล่อยให้อาการหูดลุกลาม จนกระทั่งแพร่กระจายไปยังผู้อื่น
- ห้ามทายานี้เป็นปริมาณมากจนเกินจากคำสั่งแพทย์ ด้วยยานี้อาจสร้าง ผลกระทบต่อเซลล์ผิวหนังปกติได้
- การใช้ยานี้ ให้บีบจากปลายหลอด/ขวด หรือบีบยาใส่ปลายนิ้ว แล้วทาที่หูด ห้ามทายานี้กระจายไปในบริเวณผิวหนังปกติ
- ล้างมือก่อนและหลังใช้ยานี้ทุกครั้ง
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโพโดฟิลอก ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคผื่นผิวหนังอักเสบ มีแผลเปิดบริเวณผิวหนัง รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโพโดฟิลอก อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
กรณีลืมทายาโพโดฟิลอก ให้ทายาทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการทายาเป็น 2 เท่า ให้ทายาในขนาดปกติ
โพโดฟิลอกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาโพโดฟิลอก อาจทำให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อผิวหนังบริเวณที่ทายา/สัมผัสยา เช่น ปวด แสบ บวม แดง และคัน รวมถึงอาจพบเห็นผิวหนังลอกตัว
มีข้อควรระวังการใช้โพโดฟิลอกอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาโพโดฟิลอก เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่ง จากแพทย์
- ห้ามรับประทาน ห้ามไม่ให้ยานี้ เข้าตา-จมูก-ช่องปาก หรือทายาในบริเวณเยื่อเมือกของร่างกาย เช่น กระพุ้งแก้ม ในช่องทางเดินปัสสาวะ ในช่องคลอด ในทวารหนัก
- ห้ามทายานี้บริเวณผิวหนังปกติ รวมถึงผิวหนังที่มี บาดแผล ฝี หนอง ที่มิได้ เกิดจากหูด
- ห้ามปรับขนาดการใช้ยาด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น สียาเปลี่ยนไป หรือมีกลิ่นเหม็นเน่า
- ห้ามใช้ยานี้เป็นเวลานานเกินจากคำสั่งแพทย์
- ระหว่างที่ใช้ยานี้ หากพบอาการผิดปกติ เช่น หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ใบหน้าบวม เกิดผื่นคันเต็มตัว ให้หยุดการใช้ยานี้ แล้วรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์ประเมินผลการรักษา ตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโพโดฟิลอกด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
โพโดฟิลอกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
โดยทั่วไป ยังไม่พบรายงานว่า ยาโพโดฟิลอกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชนิดรับประทานหรือยาฉีดชนิดใดๆ แต่หากพบอาการผิดปกติหลังใช้ยาโพโดฟิลอกร่วมกับยาใดๆก็ตาม ให้รีบนำตัวผู้ป่วยไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยเร็วเพื่อทำการรักษา
ควรเก็บรักษาโพโดฟิลอกอย่างไร?
ควรเก็บยาโพโดฟิลอกภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น หรือเก็บยาตามเงื่อนไขที่ระบุในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
โพโดฟิลอกมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโพโดฟิลอก มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Condylox (คอนดีลอกซ์) | DPT Laboratories, Ltd. |
WARTEC (วาร์เทก) | Stiefel |
บรรณานุกรม
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/podophyllotoxin/?type=brief&mtype=generic[2017,May6]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Podophyllotoxin[2017,May6]
- https://www.drugs.com/cdi/podofilox-gel.html[2017,May6]
- https://www.allergan.com/assets/pdf/condylox-gel-pi_august-2014[2017,May6]
- http://www.nps.org.au/__data/assets/pdf_file/0020/119036/gwcwartc.pdf[2017,May6]