โพโดฟิลลิน (Podophyllin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโพโดฟิลลิน (Podophyllin) เป็นยาใช้ภายนอกสำหรับรักษา โรคหูด หูดหงอนไก่ เป็นต้น ยานี้สกัดได้จากพืชชนิดหนึ่ง คือ Podophyllum Peltatum ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1942 (พ.ศ. 2485) รูปแบบที่มีใช้ตามสถานพยาบาลจะเป็นลักษณะโลชั่นหรือเจล

ยาโพโดฟิลลิน จัดเป็นสารที่มีพิษ หากเผลอรับประทานจะทำให้ระบบทางเดินอาหารอักเสบอย่างมาก และมีภาวะซึมเศร้าตามมา หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีผู้ป่วยอาจเสียชีวิต ได้

ถึงแม้ยาโพโดฟิลลิน จะมีข้อระบุให้ใช้ทาภายนอกก็จริง แต่ยานี้สามารถดูดซึมผ่านผิวหนังเข้าสู่ร่างกายได้ จึงมีข้อห้ามใช้ยากับ หญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ด้วยอาจจะมีผลกระทบต่อทารก ส่งผลให้ทารกเจริญเติบโตผิดปกติได้

ยาโพโดฟิลลินนี้ ไม่ค่อยจะมีจัดจำหน่ายในร้านขายยาทั่วไป เราอาจจะพบเห็นในสถานพยา บาลเท่านั้น การใช้ยาต้องอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์ผู้ทำการรักษาเท่านั้น

ยาโพโดฟิลลินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

โพโดฟิลลิน

ยาโพโดฟิลลินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้ทาเฉพาะที่รักษา หูด หูดหงอนไก่ ตามบริเวณที่เกิดโรคกับผิวหนัง

ยาโพโดฟิลลินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาโพโดฟิลลิน มีกลไกการออกฤทธิ์ ยับยั้งการแบ่งเซลล์ของเนื้อหูด โดยทำลายระบบการลำ เลียงสารอาหารที่ไปหล่อเลี้ยงเซลล์ของเนื้อหูด นอกจากนี้ยังส่งผลกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต่อต้านหูดในบริเวณผิวหนังที่เกิดหูดอีกด้วย

ยาโพโดฟิลลินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

รูปแบบการผลิตและรูปแบบการจัดจำหน่ายยาโพโดฟิลลิน เช่น

  • ชนิดโลชั่น หรือเจล โดยมี ความเข้มข้น 10 – 25%

ยาโพโดฟิลลินมีวิธีการใช้อย่างไร?

วิธีการใช้ยาโพโดฟิลลิน: เช่น

ล้างทำความสะอาดบริเวณที่เป็นหูดก่อนทายา แล้วซับบริเวณนั้นให้แห้ง ทาโพโดฟิลลิน ในบริเวณดังกล่าว ปล่อยทิ้งไว้ให้แห้งเป็นเวลาประมาณ 30 - 40 นาที หรือตามแพทย์แนะนำ จากนั้นล้างทำความสะอาดด้วยน้ำสะอาดและสบู่อ่อนโยน (สบู่เด็กอ่อน) เพื่อกำจัดคราบของยาโพโดฟิลลิน โดยปกติจะทายาสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 3 - 6 สัปดาห์

อนึ่ง:

  • ด้วยยาโพโดฟิลลิน มีฤทธิ์ทำลายเซลล์ผิวหนังที่ดีด้วย ในทางปฏิบัติของหลายสถานพยาบาล แพทย์จะทาขี้ผึ้งวาสลีน (Petroleum jelly) บริเวณรอบๆเนื้อหูด เพื่อป้องกันมิให้โพโดฟิลลิน ไหลมาสัมผัสกับผิวหนังปกติ การทายาควรให้แพทย์ พยาบาล ที่สถานพยาบาลเป็นผู้ปฏิบัติให้
  • เด็ก: การใช้ยาโพโดฟิลลินในเด็ก ต้องให้การรักษาโดยแพทย์เท่านั้น

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาโพโดฟิลลิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทาเฉพาะที่ หรือแพ้ยา ชนิดใดหรือไม่
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตรหรือไม่ เพราะยาทาบางประเภทสามารถดูดซึมผ่านทางผิวหนังเข้าสู่ร่างกาย และอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้

ยาโพโดฟิลลินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโพโดฟิลลิน สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) หากใช้ผิดขนาดและผิดวิธี ตัวยาอาจถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย และก่อให้เกิดพิษต่อระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆของร่างกายได้ เช่น

  • มีอาการคล้ายเป็นลมพิษ
  • มีไข้
  • ลำไส้บีบตัว/ ทำงานน้อยลง
  • ปวดท้อง
  • สับสน
  • หงุดหงิด
  • ท้องเสีย หรือท้องผูก
  • ประสาทหลอน
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • เจ็บคอ
  • อาการตกเลือดภายในอวัยวะต่างๆ
  • อาจมีอาการชัก
  • รู้สึกปวดในขณะปัสสาวะ
  • วิงเวียน
  • ง่วงนอน
  • หัวใจเต้นเร็ว

มีข้อควรระวังการใช้ยาโพโดฟิลลินอย่างไร?

ข้อควรระวังการใช้ยาโพโดฟิลลิน เช่น

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้แพ้ยาโพโดฟิลลิน
  • ห้ามทายาโพโดฟิลลินในบริเวณ ดวงตา ผิวหนังที่ปกติ
  • ห้ามใช้ยาโพโดฟิลลินใน หญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามใช้ยาโพโดฟิลลินในบริเวณหูดที่มีเลือดออกหรือมีเลือดไหลซึมออกมา
  • ห้ามใช้ยานี้กับหูดที่ขึ้นในบริเวณที่มีขนปกคลุม ต้องทำการโกนขนให้เรียบร้อยก่อน
  • หลังการใช้ยาโพโดฟิลลิน ต้องเช็ดทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์หรือล้างทำความสะอาด ด้วยน้ำสะอาดและสบู่อ่อน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโพโดฟิลลินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาโพโดฟิลลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

โดยทั่วไป ไม่พบว่ายาโพโดฟิลลิน มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชนิดรับประทาน หรือยาฉีดชนิดใดๆ

แต่ถ้าหากมีอาการผิดปกติหลังใช้ยาโพโดฟิลลินร่วมกับยาใดๆก็ตาม ให้รีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อขอคำปรึกษาหรือทำการรักษาทันที

ควรเก็บรักษายาโพโดฟิลลินอย่างไร

ควรเก็บยาโพโดฟิลลิน เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • เก็บยาในภาชนะสีชาปิดมิดชิด เก็บให้พ้นแสง/แสงแดด และความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำ
  • และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาโพโดฟิลลินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโพโดฟิลลิน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Podowart (โพโดวัท) Menarini
Podowart-s (โพโดวัท-เอส) Menarini
Podofilm (โพโดฟิล์ม) Pharmascience

บรรณานุกรม

  1. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fthailand%2fdrug%2finfo%2fpodophyllotoxin%3fmtype%3dgeneric [2020,May9]
  2. https://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fSingapore%2fdrug%2finfo%2fPodofilm%2f%3fq%3dpodophyllin%26type%3dbrief [2020,May9]
  3. http://mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fmims.com%2fSingapore%2fdrug%2finfo%2fPodofilm%2f%3fq%3dpodophyllin%26type%3dbrief [2020,May9]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Podophyllum_resin#Toxicity [2020,May9]
  5. https://www.drugs.com/monograph/podophyllum-resin.html [2020,May9]
  6. https://www.everydayhealth.com/drugs/podophyllum-resin-topical#dosage [2020,May9]