โพแทสเซียมในเลือดต่ำ (Hypokalemia)

บทความที่เกี่ยวข้อง
โพแทสเซียมในเลือดต่ำ

โพแทสเซียมในเลือดต่ำ (Hypokalemia) คือ ภาวะที่มีเกลือแร่โพแทสเซียมในเลือดต่ำกว่า 3.5 mEq/L (Milliequivalent/litre) หรือต่ำกว่า 3.5 mmol/L (Millimole/litre) โดยค่าปกติของโพแทสเซียมในเลือดในผู้ใหญ่คือ 3.5 - 5.1 mEq/L ซึ่งถ้าค่าต่ำกว่า 2.5 mEq/L จัดว่าค่า/ระดับต่ำมากจนอยู่ในภาวะอันตรายที่อาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิต (ตาย) ได้จากภาวะหัวใจล้มเหลว/หัวใจวาย อนึ่งค่าการตรวจเลือดของแต่ละห้องปฏิบัติการอาจแตกต่างกันได้

โพแทสเซียมในเลือดต่ำเป็นภาวะพบได้ในทุกเพศและในทุกวัย ในคนทั่วไปพบได้ประมาณ 1% ซึ่งมักเป็นผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวและต้องกินยาหลายชนิดที่มีผลข้างเคียงทำให้เกิดภาวะผิดปกตินี้ แต่โพแทสเซียมในเลือดต่ำพบได้บ่อยประมาณ 20% ในผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเพราะสาเหตุมักมาจากยาต่างๆที่ใช้รักษาโรคที่เจ็บป่วยอยู่

สาเหตุ

สาเหตุของโพแทสเซียมในเลือดต่ำมีหลากหลายสาเหตุที่พบบ่อย เช่น

  • ท้องเสียรุนแรง
  • อาเจียนรุนแรง
  • เหงื่อออกมากเช่น เล่นกีฬาที่ต้องใช้แรงและใช้เวลาต่อเนื่องนาน หรือออกกำลังกายหักโหม
  • กินอาหารที่มีโพแทสเซียมต่ำเป็นประจำเช่น ข้าว มะละกอ หน่อไม้ ถั่วงอก มะเขือ
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิดเช่น ยาฏิชีวนะ (เช่น Penicillin), ยาระบาย/ยาแก้ท้องผูกต่างๆ, ยาขับปัสสาวะ, ยารักษาโรคหัวใจบางชนิด
  • ติดสุรา
  • อื่นๆ: เป็นสาเหตุพบได้น้อยเช่น โรคของต่อมหมวกไต โรคคุชชิง โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษระยะรุนแรง

อาการ

อาการจากภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำมีได้หลากหลายแต่ที่พบบ่อย เช่น

  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อเป็นตะคริว
  • ท้องผูก
  • ชาปลายมือ-ปลายเท้า

การวินิจฉัย

แพทย์วินิจฉัยภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำรวมทั้งหาสาเหตุได้จากประวัติอาการ ประวัติโรคประจำตัว ประวัติการใช้ยาต่างๆ การตรวจร่างกาย การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และที่สำคัญคือ การตรวจเลือดดูค่าโพแทสเซียม

การรักษา

แนวทางการรักษาภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำคือ การรักษาให้ระดับโพแทสเซียมในเลือดกลับมาอยู่ในระดับปกติโดยการให้กินยาโพแทสเซียม (เช่น Potassium chloride) และกรณีที่ระดับโพแทสเซียมต่ำมากการรักษาจะเป็นการให้ยาโพแทสเซียมทางหลอดเลือดดำ

นอกจากการรักษาแก้ไขระดับโพแทสเซียมในเลือดโดยตรงแล้ว ยังต้องรักษาควบคุมสาเหตุร่วมไปด้วยเสมอ ซึ่งการรักษาสาเหตุจะแตกต่างกันในแต่ละสาเหตุเช่น การรักษาอาการท้องเสียเมื่อสาเหตุเกิดจากท้องเสีย การรักษาโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษเมื่อสาเหตุเกิดจากต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ลดการออกกำลังกายที่หักโหมกรณีสาเหตุเกิดจากการเสียเหงื่อมากจากการออกกำลังกายหักโหม เป็นต้น

การพยากรณ์โรค

โดยทั่วไปการพยากรณ์โรคในภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำจะขึ้นกับความรุนแรงของอาการ อายุ (การพยากรณ์โรคไม่ดีในเด็กเล็กหรือในผู้สูงอายุ) และขึ้นกับสาเหตุเช่น ถ้าสาเหตุเกิดจากท้องเสียการพยากรณ์โรคจะดี แต่ถ้าสาเหตุเกิดจากโรคของต่อมหมวกไตโดยเฉพาะที่เกิดในผู้สูงอายุการพยากรณ์โรคไม่ดี

บรรณานุกรม

  1. http://emedicine.medscape.com/article/242008-overview#showall [2015,Sept26]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Hypokalemia [2015,Sept26]
  3. https://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/000479.html [2015,Sept26]
  4. http://emedicine.medscape.com/article/2054364-overview#showall [2015,Sept26]