โพลีอีน แอนไทไบโอติก (Polyene antibiotics) หรือ โพลีอีน แอนไทมัยโคติก (Polyene antimycotics)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 8 มิถุนายน 2559
- Tweet
- บทนำ
- โพลีอีน แอนไทไบโอติกมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- โพลีอีน แอนไทไบโอติกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- โพลีอีน แอนไทไบโอติกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- โพลีอีน แอนไทไบโอติกมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมใช้ยาควรทำอย่างไร?
- โพลีอีน แอนไทไบโอติกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้โพลีอีน แอนไทไบโอติกอย่างไร?
- โพลีอีน แอนไทไบโอติกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาโพลีอีน แอนไทไบโอติกอย่างไร?
- โพลีอีน แอนไทไบโอติกมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- เชื้อราในช่องคลอด (Vaginal candidiasis)
- เชื้อราช่องปาก (Oral thrush หรือ Oropharyngeal candidiasis)
- ยาต้านเชื้อรา (Antifungal drugs)
บทนำ
ยาโพลีอีน แอนไทไบโอติก (Polyene antibiotics) หรืออาจเรียกว่า โพลีอีน แอนไทมัยโคติก(Polyene antimycotics) หรือ Antimicrobial polyene compounds เป็นกลุ่มยา/ยา/ตัวยาที่สังเคราะห์ได้จากแบคทีเรียชนิดสเตรปโตมัยซิส (Streptomyces bacteria) มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อรา โดยตัวยาจะเข้าจับกับเยื่อหุ้มเซลล์ของเชื้อราในบริเวณที่มีชื่อเรียกว่า Ergosterol ทำให้เยื่อหุ้มเซลล์เชื้อราอ่อนแอและเกิดการสูญเสียเกลือแร่ที่มีประจุไฟฟ้า/ไอออน (Ion) อย่างเช่น โพแทสเซียมและโซเดียมไอออนจนส่งผลให้เชื้อราตายลง
หากพิจารณาโครงสร้างทางเคมีของยากลุ่มโพลีอีน แอนไทไบโอติกจะพบว่าในสูตรโมเลกุล ของตัวยาจะมีการเชื่อมต่อระหว่างอะตอม (Atom) ของธาตุคาร์บอน (Carbon) กับธาตุคาร์บอนด้วยพันธะเคมีชนิดพันธะคู่อยู่หลายแห่ง (4 - 7 แห่ง) จึงเป็นที่มาของคำว่า โพลีอีน (Polyene) และถ้ามองตัวยา/ยานี้ภายใต้แสงยูวี (UV light) จะเห็นยานี้มีลักษณะเป็นสีเหลือง
ทางคลินิกอาจจำแนกยากลุ่มโพลีอีน แอนไทไบโอติกออกเป็นรายการๆได้ดังต่อไปนี้เช่น
- Amphotericin B: มักพบเห็นยานี้ในรูปแบบยาฉีด และใช้รักษาการติดเชื้อราอย่างรุนแรงในระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย เป็นยาที่สกัดได้จากเชื้อแบคทีเรียชนิดสเตรปโตมัยซิส โนโดซัส (Strepto myces nodosus) องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้ยานี้เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่ควรมีในสถานพยาบาล ซึ่งผลข้างเคียงของยานี้ที่พบเห็นได้บ่อยได้แก่ มีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ และความดันโลหิตต่ำ
- Nystatin: มักพบเห็นยานี้ในรูปแบบยาใช้เฉพาะที่เช่น เป็นยาเหน็บช่องคลอดหรือไม่ก็ยาเม็ดอมในปาก มักใช้รักษาการติดเชื้อราจากเชื้อราประเภทแคนดิดา (Candida) และการติดเชื้อยีสต์ (Yeast, เชื้อราชนิดที่เป็นเซลล์เดี่ยว) ของช่องคลอด/เชื้อราช่องคลอด ยานี้จัดเป็นยาต้านเชื้อราอีกหนึ่งราย การที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้มีประจำในสถานพยาบาล ซึ่งอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) จากยานี้เท่าที่พบเห็นจะเป็นอาการแสบคันในบริเวณที่มีการสัมผัสกับตัวยานี้
- Natamycin: เป็นตัวยาที่มีการผลิตเป็นทั้งยาครีม ยาหยอดตาที่รักษาเชื้อราที่แผลกระจกตา และ ยาลูกอม โดยใช้รักษาอาการติดเชื้อราประเภทแคนดิดา (Candida), แอสเพอร์จิลลัส (Aspergillus), เซฟาโลสปอเรียม (Cephalosporium), ฟิวซาเรียม (Fusarium) และเพนิซิลเลียม (Penicillium) นอกจากจะใช้ Natamycin เป็นยาแล้วยังใช้เป็นสารกันบูดหรือใช้ในอาหารเพื่อถนอมอาหารอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมียากลุ่มโพลีอีน แอนไทไบโอติกตัวอื่นๆอีกที่อาจมีความโดดเด่นสู้ตัวยาที่กล่าวมาดังข้างต้นไม่ได้เช่น Rimocidin, Filpin, Candicin, Hamycin และ Perimycin
สำหรับประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยาได้บรรจุให้ยาโพลีอีน แอนไทไบโอติกบางตัวอย่าง Amphotericin B, Nystatin และ Natamycin อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติโดยระบุให้อยู่ในหมวดยาอันตราย ซึ่งการใช้ยาเหล่านี้ต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
โพลีอีน แอนไทไบโอติกมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาโพลีอีน แอนไทไบโอติกมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น
- รักษาการติดเชื้อราในปาก (เชื้อราช่องปาก)
- รักษาการติดเชื้อราที่ตา
- รักษาการติดเชื้อราที่ผิวหนัง และ
- รักษาการติดเชื้อราที่ช่องคลอด
ทั้งนี้ยาโพลีอีน แอนไทไบโอติกมีจะมีประสิทธิภาพการรักษาครอบคลุมเชื้อราประเภทแคนดิดา, ยีสต์, แอสเพอร์จิลลัส เป็นต้น
โพลีอีน แอนไทไบโอติกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ตัวยาในกลุ่มโพลีอีน แอนไทไบโอติกมีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะทำลายเยื่อหุ้มเซลล์ของเชื้อรา ทำให้เกิดการรั่วไหลของประจุเกลือแร่โพแทสเซียมและโซเดียมออกจากเซลล์เชื้อรา ส่งผลให้เกิดการเสียสมดุลของสารเคมี/เกลือแร่ภายในเซลล์เชื้อราจนทำให้เชื้อราตายลงในที่สุด
โพลีอีน แอนไทไบโอติกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาโพลีอีน แอนไทไบโอติกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น
- ยาฉีด
- ยาน้ำชนิดรับประทาน
- ยาหยอดตา
- ยาครีมทาผิวหนัง
- ยาลูกอม และ
- ยาเหน็บช่องคลอด
โพลีอีน แอนไทไบโอติกมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ในบทความนี้จะไม่กล่าวถึงการบริหารยา/ขนาดใช้ยาโพลีอีน แอนไทไบโอติกเพราะมีได้หลากหลาย โดยจะขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของการติดเชื้อราตามอวัยวะต่างๆของร่างกายผู้ป่วย รวมถึงความเหมาะสมของรูปแบบยาที่จะนำมาใช้รักษา ซึ่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้นจะเป็นผู้ใช้ยาโพลีอีน แอนไทไบโอติกกับผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและปลอดภัยที่สุด
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโพลีอีน แอนไทไบโอติก ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและ เภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโพลีอีน แอนไทไบโอติก อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมใช้ยาควรทำอย่างไร?
หากลืมใช้ยาโพลีอีน แอนไทไบโอติกสามารถนำยามาใช้เมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับ การใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดของการใช้ยาเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรใช้ยาโพลีอีน แอนไทไบโอติกตรงเวลา
โพลีอีน แอนไทไบโอติกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
อาจกล่าวพอสังเขปว่ายาโพลีอีน แอนไทไบโอติกสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆภายในร่างกายได้ดังนี้เช่น
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคันในบริเวณที่สัมผัสกับตัวยา
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน มีไข้ เกิดอาการสั่นของร่างกาย และมีภาวะชัก
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย
- ผลต่อระบบกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดคอ ปวดหลัง ปวดขา
- ผลต่อการมองเห็น: เช่น มีอาการตาพร่า
- ผลต่อระบบหลอดเลือดและหัวใจ: เช่น อาจก่อให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ มีภาวะ หัวใจเต้นผิดจังหวะ
*อนึ่งถ้าได้รับยานี้เกินขนาด อาจทำให้หัวใจหยุดเต้นได้
- ผลต่ออวัยวะไต: เช่น เกิดพิษกับไต/ไตอักเสบ
- ผลต่อการได้ยิน: เช่น มีภาวะหูดับ
มีข้อควรระวังการใช้โพลีอีน แอนไทไบโอติกอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาโพลีอีน แอนไทไบโอติกเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามใช้ผิดประเภทรูปแบบของยาเช่น นำยาฉีดมาหยอดตา หรือนำยาหยอดตามาเป็นยารับประทาน หรือนำยาเหน็บช่องคลอดมาเป็นยาอม
- ห้ามนำยานี้มารักษาการติดเชื้อจากแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัส
- หากมีอาการแพ้ยานี้เช่น หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ตัวบวม ผื่นคันขึ้นเต็มตัว ต้องหยุดใช้ยานี้ทันทีและรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน
- การใช้ยานี้ต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่องทุกวันสม่ำเสมอตามคำสั่งแพทย์จึงจะมีประสิทธิภาพในการรักษา
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโพลีอีน แอนไทไบโอติกด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
โพลีอีน แอนไทไบโอติกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโพลีอีน แอนไทไบโอติกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- การใช้ยา Amphotericin B ร่วมกับยา Tenofovir อาจก่อให้เกิดปัญหากับไต/ไตอักเสบได้ หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยา Nystatin ร่วมกับยาวิตามินที่มีส่วนประกอบของ Brewer’s yeast (ยีสต์ชนิดที่ใช้ เป็นส่วนประกอบในอาหารเสริม) อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของ Bewer’s yeast หากไม่มีความจำเป็นควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน
ควรเก็บรักษาโพลีอีน แอนไทไบโอติกอย่างไร?
ควรเก็บยาโพลีอีน แอนไทไบโอติกภายในอุณหภูมิห้องที่เย็นหรือตามคำแนะนำของเอกสารกำกับยา ไม่เก็บยาในห้องน้ำ ในรถยนต์ หรือในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
โพลีอีน แอนไทไบโอติกมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโพลีอีน แอนไทไบโอติกที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำ หน่ายเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
AmBisome (แอมบิซัม) | Gilead |
Ampholin (แอมโฟลิน) | Mediorals |
Amphotret (แอมโฟเทรท) | Mediorals |
Amphotericin-B Biolab (แอมโฟเทอริซิน-บี ไบโอแลบ) | Biolab |
Amphotericin-B Asence (แอมโฟเทอริซิน-บี เอเซนส์) | Asence |
Amphocil (แอมโฟซิล) | Hospira |
ADPHO (เอดีพีเฮชโอ) | Advanced Remedies |
Anfotericina (แอนโฟเทอริซินา) | Laboratorios Richet SA |
ABELCET (เอบีอีแอลซีอีที) | AndersonBRECON (UK) Limited |
Fungizone (ฟังจิโซน) | Bristol-Myers Squibb |
Fungilin (ฟังจิลิน) | Medsafe |
Tystatin (ไทสแตติน) | T.O. chemicals |
Nystin (ไนสติน) | Polipharm |
Gyracon (ไจราคอน) | Pond’s chemical |
Gyonep (ไจโอเนพ) | Chinta |
Dermacombin (เดอร์มาคอมบิน) | Taro |
Macmiror Complex 500 (แม็กมิเรอร์ คอมเพล็กซ์ 500) | Eurodrug |
Natacyn (นาทาซิน) | Alcon |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Polyene_antimycotic [2016,May21]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Natamycin [2016,May21]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Nystatin [2016,May21]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Amphotericin_B [2016,May21]
- http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/search?keyword=Amphotericin+B [2016,May21]
- http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/161#item-8926 [2016,May21]
- http://www.mims.com/thailand/drug/search?q=nystatin [2016,May21]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/natacyn/ [2016,May21]