โพรสตาไซคลิน อะนาล็อกซ์ (Prostacyclin analogue)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโพรสตาไซคลิน อะนาล็อกซ์ (Prostacyclin analogue) เป็นยาสังเคราะห์เลียนแบบสารโพรสตาแกลนดิน ไอ2 (Prostaglandin I2 ย่อว่า PGI2)ที่เมื่อทางคลินิกนำมาใช้เป็นยา จะเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Epoprostenol ยาโพรสตาไซคลิน อะนาล็อกซ์มีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำขยายตัว และ ยับยั้งการรวมตัวของเกล็ดเลือด ประโยชน์ทางการแพทย์ ได้นำยาโพรสตาไซคลิน อะนาล็อกซ์ มาใช้เป็นยาลดความดันโลหิตสูงภายในปอด, บำบัดภาวะหลอดเลือดตีบหรืออุดตันในบริเวณอวัยวะส่วนปลาย(มือ,เท้า,แขน,ขา) ยากลุ่มนี้มีทั้งรูปแบบผลิตภัณฑ์ชนิดฉีดและชนิดสูดพ่น(Nebulizer) ซึ่งเราจะพบเห็นการใช้ยากลุ่มนี้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น

ตัวอย่างของยาโพรสตาไซคลิน อะนาล็อกซ์เท่าที่พบเห็นในทางการแพทย์ เช่น

  • Epoprostenol: จัดเป็นยาที่มีฤทธิ์แรง ใช้เพื่อลดความดันโลหิตสูงภายในปอด การให้ยานี้ ทำโดยหยดเข้าหลอดเลือดดำ ซึ่งต้องผสมตัวยากับน้ำกลั่นที่ปราศจากเชื้อหรือสารละลายโซเดียมคลอไรด์(Sodium chloride) 0.9% ขนาดเริ่มต้นการใช้ยานี้อยู่ที่ 2 นาโนกรัม(Nanogram)/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที และแพทย์สามารถเพิ่มขนาดการให้ยา 2 นาโนกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที ทุก 15 นาที ก็จะเกิดฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดเกิดการขยายตัว ทำให้ความดันโลหิตในปอดลดลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังช่วยเพิ่มปริมาตรของเลือดที่ถูกสูบฉีดออกมาจากหัวใจได้ด้วย ยา Epoprostenol จะถูกไฮโดรไลซ์(Hydrolyte,การทำลายยาโดยน้ำ)ได้อย่างรวดเร็วภายในกระแสเลือด ทำให้ร่างกายใช้เวลาเพียงประมาณ 6 นาที ก็สามารถกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดได้แล้วโดยผ่านทางปัสสาวะ ยาEpoprostenol มีความคงตัวต่ำ ด้วยมีความไวกับอุณหภูมิระดับสูง ซึ่งถือเป็นข้อด้อยประการหนึ่ง ชื่อการค้าของยานี้ที่พบเห็น คือ ยา “Veletri”
  • Treprostinil: เป็นยาโพรสตาไซคลิน อะนาล็อกซ์ที่ถูกปรับปรุงให้มีความคงตัวต่ออุณหภูมิภายนอกที่ดีกว่ายา Epoprostenol ทางคลินิกนำมาใช้ลดความดันโลหิตสูงภายในปอด และช่วยทำให้หลอดเลือดขยายตัว สามารถใช้ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง หรือหยดเข้าหลอดเลือดดำ รวมถึงใช้เป็นลักษณะสูดพ่นเข้าทางเดินหายใจก็ได้ อายุหรือระยะเวลาที่ ยา Treprostinil อยู่ในร่างกายคือ ยาวนานประมาณ 4 ชั่วโมง ยานี้จะถูกทำลายโดยเอนไซม์จากตับที่มีชื่อว่า Cytochrome P450 และเป็นยาที่มีความแรงกว่ายา Epoprostenol โดยมีขนาดการใช้ยาที่ 1.25 นาโนกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที แพทย์สามารถเพิ่มขนาดการให้ยานี้อีกเท่าตัวในสัปดาห์ถัดมาเป็น 2.5 นาโนกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที ยา Treprostinil ถูกจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า “Remodulin”
  • Iloprost: เป็นยาโพรสตาไซคลิน อะนาล็อกซ์ประเภทสูดพ่นทางการหายใจ อาจต้องพ่นยา 6 – 9 ครั้ง/วัน ทั้งนี้ขึ้นกับการตอบสนองของร่างกายผู้ป่วย ทางคลินิกนำมาใช้ลดความดันโลหิตสูงภายในปอด ขนาดการสูดพ่นต่อครั้งเริ่มต้นที่ 2.5 ไมโครกรัม แพทย์อาจเพิ่มขนาดยาเป็น 5 ไมโครกรัมต่อการพ่นหนึ่งครั้งถ้าจำเป็น ยานี้ไม่เหมาะที่จะใช้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา โดยมีข้อห้ามใช้กับผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวอย่างรุนแรง ผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร สามารถพบเห็นการใช้ยานี้ภายในประเทศไทย ภายใต้ชื่อการค้าว่ายา “Ventavis”

ยาโพรสตาไซคลิน อะนาล็อกซ์ ถูกจัดอยู่ในประเภทยาอันตราย การจะเลือกใช้ยารายการใดมาบำบัดรักษา จึงต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์แต่ผู้เดียว

โพรสตาไซคลิน อะนาล็อกซ์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

โพรสตาไซคลินอะนาล็อกซ์

ยาโพรสตาไซคลิน อะนาล็อกซ์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ ลดความดันโลหิตภายในปอด

โพรสตาไซคลิน อะนาล็อกซ์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาโพรสตาไซคลิน อะนาล็อกซ์ มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะทำให้หลอดเลือดเกิดการขยายตัว รวมถึงยับยั้งการจับตัวของเกล็ดเลือด จึงส่งผลทำให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก และเพิ่มปริมาตรการไหลของเลือดที่ออกจากหัวใจ จากกลไกดังกล่าว จะส่งผลลดความดันโลหิตภายในปอดได้ตามสรรพคุณ

โพรสตาไซคลิน อะนาล็อกซ์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโพรสตาไซคลิน อะนาล็อกซ์ มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น

  • ยาฉีด และ
  • ยาสูดพ่นทางลมหายใจ(Nebulizer)

โพรสตาไซคลิน อะนาล็อกซ์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

การใช้ยาโพรสตาไซคลิน อะนาล็อกซ์ มีความแตกต่างกันตามชนิดของแต่ละตัวยา เช่น

ก. Epoprostenol: ผู้ใหญ่,หยดยาเข้าหลอดเลือดดำ 2 นาโนกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที

ข. Treprostinil: ผู้ใหญ่, หยดยาเข้าหลอดเลือดดำ 1.25 นาโนกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที

ค. Iloprost: ผู้ใหญ่, พ่นยาครั้งละ 2.5 ไมโครกรัม 6 – 9 ครั้ง/วัน

อนึ่ง:

  • เด็ก: การใช้ยากลุ่มนี้กับเด็กให้เป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
  • เก็บยากลุ่มนี้ให้พ้นแสงแดด ความร้อน เพื่อป้องกันการเสื่อมสลายของตัวยา
  • แจ้งโรคประจำตัวให้แพทย์ทราบทุกครั้งเมื่อเข้ารับการรักษา เช่น โรคหัวใจ

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิรวมยาโพรสตาไซคลิน อะนาล็อกซ์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหืด รวมถึงกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโพรสตาไซคลิน อะนาล็อกซ์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภท สามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?

เพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับการฉีดยา/พ่นยาโพรสตาไซคลิน อะนาล็อกซ์ ตรงตามเวลาที่แพทย์กำหนด การไม่ได้รับการให้ยาโพรสตาไซคลิน อะนาล็อกซ์ อาจทำให้อาการของโรคกำเริบมากขึ้น ผู้ป่วยควรติดต่อแพทย์/ พยาบาล/โรงพยาบาลทันที เพื่อนัดหมายการฉีดยาใหม่หากลืมมารับการฉีดยานี้

โพรสตาไซคลิน อะนาล็อกซ์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโพรสตาไซคลิน อะนาล็อกซ์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หน้าแดง ความดันโลหิตต่ำ เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นช้าหรือไม่ก็เต้นเร็ว
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีภาวะเลือดออกง่าย
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ ง่วงนอน วิงเวียน เป็นลม
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น รู้สึกไม่สบายในกระเพาะอาหาร-ลำไส้ ปากแห้ง ไอ คลื่นไส้ กรามค้าง(อ้าปากแล้วหุบไม่ได้ตามปกติ) ท้องเสีย
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น กระสับกระส่าย วิตกกังวล

มีข้อควรระวังการใช้โพรสตาไซคลิน อะนาล็อกซ์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโพรสตาไซคลินอะนาล็อกซ์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาในกลุ่มนี้
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคหัวใจชนิดต่างๆ อย่างเช่น หัวใจห้องล่างซ้ายทำงานผิดปกติอย่างรุนแรง มีภาวะหัวใจล้มเหลวภายใน 6 เดือนที่ผ่านมา มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติ(โรคลิ้นหัวใจ) เป็นต้น
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น เป็นตะกอน สีเปลี่ยนไป มีกลิ่นเหม็น
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคหืด ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตต่ำ ผู้ป่วยโรคไตระยะรุนแรง ผู้ป่วยโรคตับวาย
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาในกลุ่มนี้ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือดด้วยจะทำให้มีเสริมกันจนทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย
  • ระหว่างใช้ยานี้ หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดบาดแผล เพราะจะนำมาด้วยอาการเลือดออกมากได้ง่าย
  • หากพบอาการวิงเวียน หลังใช้ยานี้ ให้หลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆ และ/หรือการทำงานกับเครื่องจักร ด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัด เพื่อตรวจดูความก้าวหน้าของการรักษา
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มโพรสตาไซคลิน อะนาล็อกซ์ด้วย) ยาแผนโบราณ ทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

โพรสตาไซคลิน อะนาล็อกซ์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโพรสตาไซคลินอะนาล็อกซ์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยา Epoprostenol ร่วมกับยาขยายหลอดเลือด ยาขับปัสสาวะ ด้วยจะก่อให้เกิดความดันโลหิตต่ำตามมา
  • การใช้ยา Iloprost ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด จะทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ Treprostinil ร่วมกับยา Rifampin อาจทำให้ระดับยา Treprostinil ในกระแสเลือดลดน้อยจนทำให้ประสิทธิผลในการรักษาด้อยตามลงไปด้วย หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาโพรสตาไซคลิน อะนาล็อกซ์อย่างไร?

ควรเก็บยาโพรสตาไซคลินอะนาล็อกซ์ในช่วงอุณหภูมิ 15 – 25 องศาเซลเซียส(Celsius) เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

โพรสตาไซคลิน อะนาล็อกซ์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโพรสตาไซคลินอะนาล็อกซ์ ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Ilomedin 20 (ไอโลเมดิน)Bayer HealthCare Pharma
Remodulin (รีโมดูลิน)Baxter Pharmaceutical
Ventavis (เวนทาวิส)Bayer HealthCare Pharma
VELETRI (เวเลทรี)Patheon S.p.A

บรรณานุกรม

  1. http://www.medscape.com/viewarticle/804460_2 [2016,Dec 10]
  2. https://www.veletri.com/ [2016,Dec10]
  3. https://www.drugs.com/ppa/iloprost.html [2016,Dec10]
  4. http://www.mims.com/malaysia/drug/info/epoprostenol?mtype=generic [2016,Dec10]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Prostacyclin [2016,Dec10]
  6. http://www.ebi.ac.uk/interpro/potm/2006_10/Page1.html [2016,Dec10]
  7. https://www.4ventavis.com/ [2016,Dec10]