โพรสตาแกลนดิน อี (Prostaglandin E)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 26 มิถุนายน 2561
- Tweet
- บทนำ
- โพรสตาแกลนดิน อีมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- โพรสตาแกลนดิน อีมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- โพรสตาแกลนดิน อีมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- โพรสตาแกลนดิน อีมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- โพรสตาแกลนดิน อีมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้โพรสตาแกลนดิน อีอย่างไร?
- โพรสตาแกลนดิน อีมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาโพรสตาแกลนดิน อีอย่างไร?
- โพรสตาแกลนดิน อีมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- นกเขาไม่ขัน (Erectile dysfunction)
- ไดโนพรอสโทน (Dinoprostone)
- อัลพรอสตาดิล (Alprostadil)
- การชักนำให้เจ็บครรภ์คลอด(Labor induction)
บทนำ
ยาโพรสตาแกลนดิน อี (Prostaglandin E) เป็นสารประกอบประเภทไขมันที่มีการออกฤทธิ์คล้ายกับฮอร์โมนในร่างกาย ในธรรมชาติสามารถจำแนกโพรสตาแกลนดิน อีออกเป็นชนิดย่อยๆตามตำแหน่งของตัวรับ(Receptor)ได้อีกหลายตัว อย่างไรก็ตามทางคลินิก ได้แบ่งยาโพรสตาแกลนดิน อีออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. Prostaglandin E1 (PGE1) หรือในชื่ออัลพรอสตาดิล(Alprostadil) สูตรโมเลกุล คือ C20H34O5 มีฤทธิ์ให้เกิดการขยายตัวของหลอดเลือด ทางคลินิกนำมาใช้รักษาอาการนกเขาไม่ขันในบุรุษ และใช้เป็นยาลดความดันของหลอดเลือดที่นำเลือดไปยังปอดในทารกที่ป่วยด้วยภาวะ Patent ductus arteriosus
2. Prostaglandin E2 (PGE2) หรือในชื่อไดโนพรอสโทน(Dinoprostone) สูตรโมเลกุล คือ C20H32O5 มีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของมดลูก ทางคลินิกจึงใช้เป็นยาเร่งคลอดหรือไม่ก็ใช้เป็นยายุติการตั้งครรภ์
องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้ยา PGE1 และ PGE2 เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลต่างๆควรมีสำรองไว้ให้บริการแก่ประชาชน คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้กำหนดให้ PGE1 หรือ Alprostadil เป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติเพียงรายการเดียว และสามารถพบเห็นการจำหน่ายยาAlprostadil และ Dinoprostone ภายใต้ชื่อการค้าว่า Prostin VR และ Prostin E2
โพรสตาแกลนดิน อีมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาโพรสตาแกลนดิน อีมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
ก. PGE1:
- รักษาภาวะอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศในบุรุษ
- รักษาภาวะ Patent ductus arteriosus ในเด็กทารก
ข. PGE2:
- ใช้เป็นยากระตุ้นการคลอด
โพรสตาแกลนดิน อีมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาโพรสตาแกลนดิน อีมีกลไกการออกฤทธิ์ ดังนี้
- ยาPGE1หรือตัวยาอัลพรอสตาดิล: สามารถออกฤทธิ์ขยายหลอดเลือดที่บริเวณองคชาติ ส่งผลให้มีเลือดไหลเวียนเข้ามาที่องคชาติ และก่อให้เกิดกลไกกระตุ้นการแข็งตัวของอวัยวะเพศ/องคชาติตามมา
- PGE2หรือตัวยาไดโนพรอสโทน: มีฤทธิ์กระตุ้นให้มดลูกมีการบีบตัว ขณะเดียวกันจะทำให้ปากมดลูกคลายตัว ทำให้การคลอดบุตรเป็นไปได้ง่าย และสะดวกขึ้น
โพรสตาแกลนดิน อีมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาโพรสตาแกลนดิน อี มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาฉีดที่มีส่วนประกอบของตัวยา Alprostadil 5, 10, 20 หรือ 40 ไมโครกรัม/ขวด
- ยาสอดช่องคลอดที่ประกอบด้วยยา Dinoprostone 10 และ 20 มิลลิกรัม
- ยาสอดช่องคลอดแบบออกฤทธิ์นานที่ประกอบด้วย Dinoprostone 10 มิลลิกรัม
- ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ประกอบด้วย Dinoprostone 0.5 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาเจลสำหรับใส่ช่องคลอดที่ประกอบด้วย Dinoprostone 0.5, 1, 2 และ 5 มิลลิกรัม
โพรสตาแกลนดิน อีมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ก่อนใช้ยาโพรสตาแกลนดิน อี ผู้ป่วยจะต้องได้รับการตรวจประเมินร่างกายจากแพทย์เสียก่อน ด้วยตัวยาโพรสตาแกลนดิน อี ถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มซึ่งมีวัตถุประสงค์ การใช้ที่ต่างกันออกไป การบริหารยา/ใช้ยากลุ่มนี้จึงต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น ผู้ป่วยควรให้ความร่วมมือโดยใช้ยาตามคำสั่งและมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดหมายทุกครั้ง
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยา โพรสตาแกลนดิน อี ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหืด รวมถึงกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโพรสตาแกลนดิน อี อาจส่งผลให้อาการของโรค เหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
โพรสตาแกลนดิน อีมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาโพรสตาแกลนดิน อีสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น เกิดอาการชัก ปวดศีรษะ วิงเวียน มีไข้ ตัวสั่น ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน มีเหงื่อหลั่งมาก ลมพิษ
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น กระเพาะอาหาร/ลำไส้อุดตัน ท้องเสีย คลื่นไส้ ปากแห้ง
- ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค: เช่น เกิดการติดเชื้อง่าย
- ผลต่อไต: เช่น เกิดภาวะไตวาย
- ผลต่อทารกในครรภ์: เช่น ทำให้หัวใจของทารกเต้นผิดปกติ เกิดความเจ็บปวด มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของทารกในครรภ์
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำหรือไม่ก็สูง เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นช้าหรือไม่ก็เร็ว ใบหน้าแดง หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจหยุดเต้น ตัวบวม ค่าECGผิดปกติ เส้นเลือดดำที่ขามีอาการบวม
- ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น ปวดหลัง ข้ออักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ เป็นตะคริว ปวดขา ปวดเชิงกราน กล้ามเนื้อหดเกร็งตัว
- ผลต่อการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย : เช่น มีภาวะร่างกายสูญเสียน้ำ/ภาวะขาดน้ำ โปแตสเซียมในเลือดต่ำ ค่าไตรกลีเซอร์ไรด์สูง ไขมันในเลือด และน้ำตาลในเลือดสูง
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น อาจมีภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะ เม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น
- ผลต่อระบบการหายใจ: เช่น หายใจขัด ไอ โรคติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน เกิดไซนัสอักเสบ เยื่อจมูกอักเสบ คอหอยอักเสบ
- ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า ปวดตา
- ผลต่อระบบทางเดินสืบพันธุ์: ในสตรีอาจมีภาวะมดลูกถูกกระตุ้นอย่างรุนแรง รู้สึกอุ่น-ร้อนภายในช่องคลอด ในบุรุษจะมีอาการเจ็บองคชาติ แสบในท่อปัสสาวะ การหลั่งน้ำอสุจิต้องใช้เวลานานกว่า 4 ชั่วโมง องคชาติงอตัว ปวดอัณฑะ
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: มีเลือดออกในทางเดินปัสสาวะ/ปัสสาวะเป็นเลือด โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น เกิดภาวะ เครียด
มีข้อควรระวังการใช้โพรสตาแกลนดิน อีอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาโพรสตาแกลนดิน อี เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มนี้
- ห้ามใช้ยากับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตต่ำ
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาในกลุ่มนี้ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือดด้วยจะทำให้มีฤทธิ์ เสริมกันจนทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย
- ผู้ป่วยควรเรียนรู้ถึงผลข้างเคียงต่างๆที่อาจเกิดขึ้นขณะที่ได้รับยาโพรสตาแกลนดิน อี เพื่อทำความเข้าใจและเฝ้าระวังอันตรายที่อาจเกิดจากผลข้างเคียงได้อย่างรวดเร็ว
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดบาดแผลและนำมาด้วยอาการเลือดออกง่าย
- หากพบอาการวิงเวียน ให้หลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆ และการทำงานกับเครื่องจักร ด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัด เพื่อตรวจดูความก้าวหน้าของการรักษา
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยากลุ่มโพรสตาแกลนดิน อีด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
โพรสตาแกลนดิน อีมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโพรสตาแกลนดิน อีมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยา Alprostadil ร่วมกับยา Avanafil , Epoprostenol เพราะจะ ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำตามมา
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาAlprostadil ร่วมกับยา Canagliflozin ด้วยจะทำให้เกิด ภาวะร่างกายสูญเสียน้ำรวมถึงความดันโลหิตต่ำตามมา
- ห้ามใช้ยาDinoprostone ร่วมกับยา Carbetocin ด้วยจะทำให้เกิดการบีบตัว ของมดลูกอย่างรุนแรง(Oxytocic effect)
- ห้ามใช้ยาDinoprostone ร่วมกับยาMisoprostol เพราะจะทำให้เกิดอาการเป็นตะคริวอย่างรุนแรง หรือมีภาวะเลือดออกจากช่องคลอดตามมา
- ห้ามใช้ยาDinoprostone พร้อมกับยาOxytocin เพราะจะเป็นเหตุให้มดลูกปริแตก/มดลูกแตกในสตรีตั้งครรภ์ กรณีที่แพทย์สั่งจ่ายยาทั้ง 2 ตัวร่วมกัน แพทย์จะมีการปรับขนาดและระยะเวลาของการใช้ยาทั้ง 2 ชนิดอย่างเหมาะสม
ควรเก็บรักษาโพรสตาแกลนดิน อีอย่างไร?
ด้วยรูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาโพรสตาแกลนดิน อี มีความแตกต่างกันออกไปจึงทำให้เงื่อนไขการเก็บรักษามีความแตกต่างเช่นกัน ดังนี้
- PGE1/Alprostadil : เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15-30 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
- PGE2/Dinoprostone:
- ยาสอดช่องคลอดให้เก็บในช่องแช่แข็งตู้เย็นที่มีอุณหภูมิ -20ถึง -10 องศาเซลเซียส
- ยาเจลให้เก็บในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส ห้ามเก็บ ในช่องแช่แข็งตู้เย็น
- ยาเม็ดแบบรับประทานให้เก็บในตู้เย็นอุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียสและห้ามเก็บใน ช่องแช่แข็งตู้เย็น
อนึ่ง เก็บยาโพรสตาแกลนดิน อีทุกชนิด/ทุกรูปแบบ ในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาที่หมดอายุแล้ว
โพรสตาแกลนดิน อี มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโพรสตาแกลนดิน อี มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Cervidil (เซอร์วิดิล) | Ferring Pharmaceuticals |
Prepidil (เพรพิดิล) | Pharmacia & Upjohn Inc |
Prostin E2 (พรอสติน อีทู) | Pfizer |
Primigyn (พริมิกิน) | Brassica Pharmaceuticals |
Prostin VR (พรอสติน วีอาร์) | pfizer |
Caverject (คาเวอร์เจ็ก) | pfizer |
Edex (อีเดกซ์) | Auxilium Pharmaceuticals, Inc |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Prostaglandin_E1 [2018,June9]
- https://www.drugs.com/cdi/alprostadil.html [2018,June9]
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2015/020649s023lbl.pdf [2018,June9]
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2014/020379s028lbl.pdf [2018,June9]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/alprostadil,caverject-index.html?filter=2&generic_only [2018,June9]
- https://www.drugs.com/mtm/dinoprostone-topical.html [2018,June9]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/dinoprostone/?type=brief&mtype=generic [2018,June9]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Prostaglandin_E2 [2018,June9]
- https://www.drugs.com/dosage/dinoprostone-topical.html [2018,June9]