โปรไคเนติก เบนซาไมด์ (Prokinetic benzamide derivative)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 8 มิถุนายน 2559
- Tweet
- บทนำ
- อนุพันธุ์โปรไคเนติก เบนซาไมด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- อนุพันธุ์โปรไคเนติก เบนซาไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- อนุพันธุ์โปรไคเนติก เบนซาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- อนุพันธุ์โปรไคเนติก เบนซาไมด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- อนุพันธุ์โปรไคเนติก เบนซาไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้อนุพันธุ์โปรไคเนติก เบนซาไมด์อย่างไร?
- อนุพันธุ์โปรไคเนติก เบนซาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาอนุพันธุ์โปรไคเนติก เบนซาไมด์อย่างไร?
- อนุพันธุ์โปรไคเนติก เบนซาไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีแก๊ส (Abdominal bloating)
- อาหารไม่ย่อย ธาตุพิการ (Indigestion)
- กรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease)
- ท้องผูก (Constipation)
- คลื่นไส้ อาเจียน (Nausea and Vomiting)
บทนำ
อนุพันธุ์ยา/กลุ่มยา/ยาโปรไคเนติก เบนซาไมด์ (Prokinetic benzamide derivative หรือ Prokinetic benzamide) เป็นกลุ่มยาที่มีฤทธิ์เพิ่มการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ ถูกนำมาใช้บำบัดอาการป่วยได้หลายวัตถุประสงค์เช่น
- กระตุ้นให้ลำไส้เล็กบีบตัวหรือทำงานดีขึ้นหลังเข้ารับการผ่าตัด
- บำบัดภาวะกระเพาะอาหารของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ไม่มีการบีบตัว (Diabetic gastroparesis)
- ลำไส้ใหญ่ไม่บีบตัว (Colonic pseudo obstruction)
- ภาวะลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome/IBS)
- รักษาภาวะกรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux)
จากสรรพคุณที่ได้กล่าวถึงนั้นอาจมาจากกลไกการออกฤทธิ์ของกลุ่มยาโปรไคเนติก เบนซา ไมด์ที่เกี่ยวข้องกับสารสื่อประสาทในร่างกายที่พอจะสรุปได้ดังนี้
- กลุ่มยาโปรไคเนติก เบนซาไมด์จะออกฤทธิ์กระตุ้นตัวรับ (Receptor) ชื่อ Muscarinic acetylcholine receptor M1 ที่อยู่ที่กล้ามเนื้อของกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้เพิ่มการหลั่งสาร Acetylcholine ซึ่งช่วยกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อของกระเพาะอาหารและลำไส้ หรือ
- ยาในกลุ่มโปรไคเนติก เบนซาไมด์ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่คอยทำลายสาร Acetylcholine ซึ่งเอนไซม์ดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า Acetylcholinesterase ส่งผลให้ระดับสาร Acetylcholine ในร่างกายมีเพิ่มขึ้น และทำให้กล้ามเนื้อบริเวณระบบทางเดินอาหารทำงานได้มากขึ้นตามมา หรือ
- กลุ่มยาโปรไคเนติก เบนซาไมด์ออกฤทธิ์ที่กล้ามเนื้อหูรูดในบริเวณหลอดอาหารต่อกับกระเพาะอาหาร ส่งผลให้กระเพาะอาหารเกิดการเคลื่อนไหวและบีบตัวมากขึ้น หรือ
- ยาในกลุ่มโปรไคเนติก เบนซาไมด์แสดงฤทธิ์ที่มีลักษณะเฉพาะโดยทางคลินิกจะเรียกว่า Selective serotonin agonist ซึ่งจะออกฤทธิ์ที่ตัวรับ 5-HT (5-hydroxytryptamine receptor) 4 receptor ที่สามารถส่งผลให้กล้ามเนื้อของอวัยวะในระบบทางเดินอาหารบีบตัวได้ดียิ่งขึ้น หรือ
- ยากลุ่มโปรไคเนติก เบนซาไมด์ในลักษณะ Dopamine D2- D3 receptor antagonist จะส่งผลให้บรรเทาอาการคลื่นไส้และทำให้กระเพาะอาหารมีการบีบตัวได้ดีขึ้น
จากกลไกการออกฤทธิ์ที่หลากหลายของยาในกลุ่มโปรไคเนติก เบนซาไมด์อย่างที่กล่าว มาข้างต้นล้วนแล้วช่วยทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นจากภาวะคลื่นไส้ อาเจียน อาหารไม่ย่อย ท้องอืด แสบร้อนกลางอกจากกรดในกระเพาะหรือที่เรียกว่า กรดไหลย้อน รวมถึงภาวะกล้ามเนื้อของกระเพาะอาหารและลำไส้ทำงานน้อยหลังจากได้รับการผ่าตัดหรือทำหัตถการในบริเวณช่องท้องหรือ จะกล่าวว่าช่วยบรรเทาอาการท้องผูกนั่นเอง
รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยากลุ่มโปรไคเนติก เบนซาไมด์จะมีทั้งยาชนิดรับประทาน ยาฉีด ยาเหน็บทวาร แต่ผู้บริโภคจะคุ้นเคยและพบเห็นในรูปแบบยารับประทานเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งตัวยา นี้สามารถถูกกำจัดออกจากร่างกายโดยผ่านไปกับอุจจาระและปัสสาวะ
อย่างไรก็ตามยาในกลุ่มโปรไคเนติก เบนซาไมด์นี้ก็สามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ต่างๆอาทิ ปวดท้อง ท้องเสีย ผื่นคัน ปวดศีรษะ มีปัญหาในการนอนหลับ/นอนไม่หลับ วิงเวียน เต้านมโตขึ้น ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของตัวยาและการตอบสนองต่อตัวยาของตัวผู้ป่วยแต่ละบุคคลที่ไม่เหมือนกัน
ทางคลินิกพอจะจำแนกกลุ่มรายการยาในหมวดโปรไคเนติก เบนซาไมด์ได้ดังนี้ Alizapride, Batanopride, Bromopride, Cinitapride, Cisapride, Clebopride, Dazopride, Domperidone, Itopride, Metoclopramide, Mosapride, Prucalopride, Renzapride, Trimethobenzamide, Zacopride
อนึ่งยาบางตัวในกลุ่มยาโปรไคเนติก เบนซาไมด์ก็ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของ ไทยอย่าง Metoclopramide และ Domperidone บางตัวก็จัดอยู่ในประเภทยาควบคุมพิเศษ และส่วนมากจะถูกระบุให้เป็นยาอันตรายที่ต้องใช้ตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ทั้งนี้ผู้บริโภคสามารถพบเห็นการใช้ยากลุ่มนี้ได้ตามสถานพยาบาลและมีจำหน่ายในร้านขายยาโดยทั่วไป
อนุพันธุ์โปรไคเนติก เบนซาไมด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาอนุพันธุ์โปรไคเนติก เบนซาไมด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น
- บำบัดรักษาอาการต่างๆในระบบทางเดินอาหารเช่น ท้องอืด อาหารไม่ย่อย
- ภาวะกรดไหลย้อน
- อาการคลื่นไส้-อาเจียน และ
- ภาวะท้องผูกหลังการผ่าตัด
อนุพันธุ์โปรไคเนติก เบนซาไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
จาก “บทนำ” พอจะสรุปกลไกการออกฤทธิ์ให้ฟังดูง่ายๆดังนี้ กลุ่มยาโปรไคเนติก เบนซาไมด์จะออกฤทธิ์ต่อการทำงานของสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องในระบบทางเดินอาหาร ส่งผลให้กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างมีแรงดันเพิ่มขึ้นพร้อมกับกระตุ้นให้กล้ามเนื้อของกระเพาะ อาหารและลำไส้มีการเคลื่อนและบีบตัว ทำให้อาหารที่ตกค้างไม่ว่าจะเป็นในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กสามารถเคลื่อนตัวและผ่านกระบวนการย่อยอาหารได้ตามปกติจนไปสิ้นสุดที่ลำไส้ใหญ่ จึงส่งผลให้มีการขับถ่ายอย่างเป็นปกติตามมาซึ่งเป็นที่มาของสรรพคุณ
อนุพันธุ์โปรไคเนติก เบนซาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอนุพันธุ์โปรไคเนติก เบนซาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น
- ยาเม็ด และยาน้ำ ชนิดรับประทาน
- ยาฉีด และ
- ยาเหน็บทวาร
อนึ่งความแรงของยา/ขนาดยาจะมีความแตกต่างกันออกไปทั้งนี้ขึ้นกับโครงสร้างในระดับโมเลกุลของตัวยาแต่ละชนิด
อนุพันธุ์โปรไคเนติก เบนซาไมด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
ด้วยตัวยาของกลุ่มโปรไคเนติก เบนซาไมด์มีหลากหลายรายการ ขนาดรับประทานจึงต้องขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้พิจารณาสั่งจ่ายยาได้อย่างเหมาะสมถูกต้องและปลอดภัยต่อผู้ป่วย
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโปรไคเนติก เบนซาไมด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและ เภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หาย ใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโปรไคเนติก เบนซาไมด์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาโปรไคเนติก เบนซาไมด์สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้ เคียงกับการรับประทานยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาโปรไคเนติก เบนซาไมด์ตรงเวลา
อนุพันธุ์โปรไคเนติก เบนซาไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาในกลุ่มอนุพันธุ์โปรไคเนติก เบนซาไมด์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้าง เคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปวดท้อง ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก น้ำลายออกมามาก และคลื่นไส้
- ผลต่อระบบโลหิต: เช่น ปริมาณเม็ดเลือดขาดลดต่ำลงหรือที่เรียกว่า Leukocytopenia และเกิดภาวะ Thrombocytopenia (เกล็ดเลือดต่ำ)
- ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น ฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin, ฮอร์โมนเกี่ยวข้องกับการสร้างน้ำ นม) เพิ่มมากขึ้นจนอาจเกิดภาวะเต้านมโตขึ้น (Gynecomastia) อาจทำให้มีอาการน้ำนมไหล และ/ หรือภาวะขาดประจำเดือน
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ง่วงนอนหรือนอนไม่หลับ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ มีอาการตัวสั่น รู้สึกสับสน ซึมเศร้า
- ผลต่ออวัยวะตับ: เช่น มีอาการดีซ่าน ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้นเช่นค่า SGOT (Serum glutamic oxaloacetic transaminase) และ SGPT (Serum glutamic pyruvic transaminase)
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดอาการผื่นคัน
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น สามารถก่อให้เกิดอาการหัวใจเต้นช้าหรือเร็ว/หัวใจเต้น ผิดจังหวะ ภาวะหัวใจล้มเหลว มีภาวะความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ
มีข้อควรระวังการใช้อนุพันธุ์โปรไคเนติก เบนซาไมด์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้อนุพันธุ์โปรไคเนติก เบนซาไมด์เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มนี้
- ห้ามใช้ยากลุ่มนี้กับผู้ที่มีแผลในอวัยวะระบบทางเดินอาหารหรือมีภาวะช่องทางเดินอาหารตีบตัน/ลำไส้อุดตัน
- ห้ามใช้ยากับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งแพทย์
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตัวเอง
- หากพบอาการแพ้ยาหลังใช้ยากลุ่มนี้เช่น อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ใบหน้าบวม มีผื่นคันขึ้นตามผิวหนัง ต้องหยุดการใช้ยานั้นๆทันทีแล้วรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน
- ระวังการใช้ยานี้บางตัวกับผู้มีประวัติมะเร็งเต้านม รวมถึงผู้ที่ป่วยเป็นโรคเนื้องอกของต่อมหมวกไตชนิด Pheochromocytoma ด้วยสามารถกระตุ้นให้เกิดความดันโลหิตสูงติดตามมา
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคตับ โรคไต เพราะอาจส่งผลต่อการกำจัดยานี้ออกจากร่างกาย
- เมื่อทำการรักษาจนครบคอร์ส (Course) ของยานี้แล้ว อาการป่วยไม่ดีขึ้น ควรต้องกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมอนุพันธุ์โปรไคเนติก เบนซาไมด์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
อนุพันธุ์โปรไคเนติก เบนซาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
อนุพันธุ์โปรไคเนติก เบนซาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- ห้ามใช้ยากลุ่มโปรไคเนติก เบนซาไมด์ร่วมกับการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ด้วยผลข้างเคียงจากยาจะสูงขึ้น
- การใช้ยากลุ่มโปรไคเนติก เบนซาไมด์ร่วมกับยากลุ่ม Anticholinergic อาจทำให้ประสิทธิ ภาพการรักษาของยาอิโทไพรด์ลดน้อยลงจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยา Metoclopramide ร่วมกับยาบางกลุ่มสามารถทำให้ยากลุ่มนั้นๆถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้มากยิ่งขึ้นซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงต่างๆติดตามมา ยากลุ่มดังกล่าวเช่น ยาแก้ปวด (เช่น Acetaminophen/Paracetamol) หรือยาปฏิชีวนะ (เช่น Tetracycline)
- การใช้ยา Cisapride ร่วมกับยาขับปัสสาวะเช่น Furosemide อาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และมักมีอาการวิงเวียนเป็นลมติดตามมา จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทั้ง 2 ตัวร่วมกัน
ควรเก็บรักษาอนุพันธุ์โปรไคเนติก เบนซาไมด์อย่างไร
ควรเก็บยาโปรไคเนติก เบนซาไมด์ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส (Celsius) หรือตาม คำแนะนำในเอกสารกำกับยา ไม่เก็บยาในห้องน้ำ รถยนต์ หรือในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
อนุพันธุ์โปรไคเนติก เบนซาไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโปรไคเนติก เบนซาไมด์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Ganaton (กานาทอน) | Abbott |
Cipasid (ซิพาซิด) | Siam Bheasach |
Cisapac (ซิซาแพค) | Inpac Pharma |
Cisapid (ซิซาพิด) | Inpac Pharma |
Cisaride (ซิซาไรด์) | Pharmasant Lab |
Palcid (แพลซิด) | Pharmadica |
Pri-De-Sid (ไพร-เด-ซิด) | Polipharm |
Emex (อีเม็ก) | Thai Nakorn Patana |
Meridone (เมอริโดน) | GPO |
Mirax-M (ไมแร็ก-เอ็ม) | Berlin Pharm |
Mocydone M (โมไซโดน เอ็ม) | Pharmasant Lab |
Modomed (โมโดเมด) | Medifive |
Molax (โมแล็ก) | Siam Bheasach |
Molax-M (โมแล็ก-เอ็ม) | Siam Bheasach |
Moticon (โมทิคอน) | Condrugs |
Motidom (โมทิดอม) | T.O. Chemicals |
Motidom-M (โมทิดอม-เอ็ม) | T.O. Chemicals |
Motilar (โมทิลาร์) | Inpac Pharma |
Motilin (โมทิลิน) | Inpac Pharma |
Emetal (อีเมทัล) | Asian Pharm |
Hawkperan (ฮ็อกเพอแรน) | L.B.S. |
H-Peran (เฮท-เพอแรน) | L.B.S. |
K.B. Meta (เค.บี. เมต้า) | K.B. Pharma |
Manosil (แมโนซิล) | March Pharma |
Maril (แมริล) | Atlantic Lab |
Metoclopramide GPO (เมโทโคลพราไมด์ จีพีโอ) | GPO |
Metoclor (เมโทคลอ) | Pharmaland |
Met-Sil (เม็ท-ซิล) | T P Drug |
Nausil (นอซิล) | Siam Bheasach |
Plamide (พลาไมด์) | Utopian |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Prokinetic_agent [2016,May21]
- file:///C:/Users/apai/Downloads/35-143-1-PB.pdf [2016,May21]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Acetylcholine [2016,May21]
- http://www.digestivedistress.com/motility-rx [2016,May21]
- http://www.healthline.com/health/gerd/prokinetics#2 [2016,May21]