โบเซนแทน (Bosentan)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโบเซนแทน (Bosentan) เป็นยากลุ่มเอนโดทีลิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ (Endothelin receptor antagonist, ยาต้านการหดตัวของหลอดเลือด) ทางคลินิกนำมารักษาอาการความดันโล หิตของหลอดเลือดแดงในปอดสูง (Pulmonary artery hypertension, ย่อว่า PAH) ตั้งแต่ปี ค.ศ.2007 (พ.ศ. 2550) ได้รับใบอนุญาตให้มีการจำหน่ายทั้งในแถบอเมริกา สหภาพยุโรป และประเทศอื่นๆภายใต้ชื่อการค้าว่า “ทราเคลียร์ (Tracleer)” ซึ่งรูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทาน

ตัวยาโบเซนแทนสามารถดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร และเข้าสู่กระแสเลือดได้เพียงประ มาณ 50% ตัวยาในกระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนได้มากกว่า 98% จากนั้นยานี้จะถูกลำเลียงไปทำลายที่ตับ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำในการกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดและผ่านทิ้งไปกับอุจจาระและบางส่วนไปกับปัสสาวะ

ยาโบเซนแทนอาจทำให้เกิดปัญหา (ผลข้างเคียง) กับตับของผู้ป่วย (ตับอักเสบ) ได้อย่างรุนแรง ดังนั้นก่อนการใช้และระหว่างการรักษาด้วยยานี้ ผู้ป่วยจะต้องได้รับการตรวจการทำงานของตับร่วมด้วยเป็นระยะๆทั้งนี้เพื่อใช้ในการประเมินเรื่องอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ต่างๆที่อาจเกิดขึ้นตามมา

ทั้งนี้มีเงื่อนไขบางประการที่เป็นข้อกำหนดและห้ามใช้ยาโบเซนแทนเช่น

  • เคยมีประวัติแพ้ยานี้มาก่อน
  • อยู่ในภาวะตั้งครรภ์รวมถึงต้องระวังเป็นพิเศษหากจะใช้ยานี้กับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • เป็นผู้ป่วยโรคตับตั้งแต่ระดับความรุนแรงปานกลางไปจนถึงขั้นรุนแรง
  • ผู้ที่มีการใช้ยาบางกลุ่มอย่างเช่นยา Bosutinib (ยารักษาตรงเป้า), Cabazitaxel (ยาเคมีบำ บัด), Cyclosporine หรือ Glyburide (ยารักษาโรคเบาหวาน) ก็ถือเป็นข้อห้ามใช้ร่วมกับยาโบเซนแทน

ผู้ที่ได้รับการสั่งจ่ายยาโบเซนแทนแล้วควรจะต้องปฏิบัติและรับประทานยานี้ตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่สมควรหยุดการรับประทานยานี้เองโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์ ด้วยการรักษาอาการความดันโลหิตในปอดสูงขึ้นต้องอาศัยการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง

ระหว่างการใช้ยาโบเซนแทนอาจมีอาการวิงเวียนเกิดขึ้นได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆและการทำงานกับเครื่องจักรเพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

นอกจากนั้นอาการบางอย่างสามารถบ่งบอกสภาพของตับที่ได้รับผลกระทบ (ผลข้างเคียง)จากการใช้ยาโบเซนแทนอย่างเช่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร มีไข้ ปวดท้อง ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะมีสีคล้ำ มีผื่นคันตามผิวหนัง เหนื่อยง่าย หากพบอาการดังกล่าวเหล่านี้ต้องรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที

การใช้ยาโบเซนแทนร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิดก็อาจทำให้ประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิดด้อยลงไป หรือการใช้ยานี้กับผู้ป่วยเพศชายอาจทำให้จำนวนอสุจิลดน้อยลงด้วยเช่นกัน

บางกรณีที่ผู้ป่วยเผลอรับประทานยาโบเซนแทนจนเกินขนาด ก็อาจพบเห็นอาการวิงเวียน เป็นลม หัวใจเต้นเร็ว คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ

ในประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยาได้ระบุให้ยานี้อยู่ในหมวดยาควบคุมพิเศษ การใช้ยานี้จะต้องมีใบสั่งจากแพทย์เท่านั้น และหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยานี้ผู้บริโภคสามารถสอบถามข้อมูลการใช้ยานี้เพิ่มเติมได้จากแพทย์ผู้รักษาหรือจากเภสัชกรได้โดยทั่วไป

โบเซนแทนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

โบเซนแทน

ยาโบเซนแทนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อบำบัดรักษาอาการความดันโลหิตของหลอดเลือดแดงในปอดสูง

โบเซนแทนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธ์ของยาโบเซนแทนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์โดยเข้าจับกับตัวรับ (Receptor) ที่อยู่ในผนังหลอดเลือดของปอดที่มีชื่อเรียกว่า เอนโดทีลิน รีเซพเตอร์ (Endothelin receptors) ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของหลอดเลือดและทำให้ความดันโลหิตในปอดลดลงจนเป็นที่มาของสรรพคุณ

โบเซนแทนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโบเซนแทนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 62.5 และ 125 มิลลิกรัม/เม็ด

โบเซนแทนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาโบเซนแทนมีขนาดรับประทานเช่น

  • ผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 40 กิโลกรัมขึ้นไป: เริ่มต้นรับประทานครั้งละ 62.5 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็นเป็นเวลา 4 สัปดาห์ จากนั้นให้เพิ่มขนาดรับประทานเป็นครั้งละ 125 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็น
  • ผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 40 กิโลกรัมลงมา: รับประทานครั้งละ 62.5 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็น
  • เด็กที่มีอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไปและมีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 40 กิโลกรัมขึ้นไป: เริ่มต้นรับประทานครั้งละ 62.5 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็นเป็นเวลา 4 สัปดาห์ จากนั้นให้เพิ่มขนาดรับประทานเป็นครั้งละ 125 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็น
  • เด็กที่มีอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไปและมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 40 กิโลกรัมลงมา: รับประทานครั้งละ 62.5 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็น
  • เด็กอายุ 1 เดือน - 12 ปี: การใช้ยากับเด็กวัยนี้ให้เป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษา
  • เด็กอายุต่ำกว่า 1 เดือน: การใช้ยานี้จะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป

*อนึ่ง:

  • สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
  • ไม่ต้องปรับขนาดรับประทานในผู้ป่วยโรคไต
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโบเซนแทน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจติดขัด
  • มีโรคประจำตัวต่างๆเช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคตับ โรคเบาหวาน รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโบเซนแทนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาโบเซนแทนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการ รับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาโบเซนแทนตรงเวลา

โบเซนแทนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโบเซนแทนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้เช่น

  • ผลต่อตับ: เช่น เกิดอาการตัวเหลืองตาเหลือง กระตุ้นให้มีการหลั่งเอนไซม์อะมิโนทรานสเฟอเรส (Aminotransferase, เอนไซม์ที่เป็นตัวบอกว่าเซลล์ตับมีการเสียหาย/ตับอักเสบ) เพิ่มมากขึ้นในเลือด
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น ทำให้จำนวนฮีโมโกลบินลดลง/ภาวะซีด
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น เกิดความดันโลหิตต่ำ ชีพจรเต้นผิดปกติ เสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
  • ผลต่อระบบการหายใจ: เช่น ช่องทางเดินหายใจอักเสบ/หลอดลมอักเสบ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสีย ท้องอืด
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดภาวะผื่นคัน
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ และวิงเวียน
  • ผลต่อระบบสืบพันธุ์: เช่น ลดจำนวนอสุจิในบุรุษ

มีข้อควรระวังการใช้โบเซนแทนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโบเซนแทนเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยแพ้ยาโบเซนแทน
  • ห้ามใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับตั้งแต่ระดับความรุนแรงปานกลางไปจนถึงรุนแรง
  • หากพบระดับเอนไซม์อะมิโนทรานสเฟอเรส (Aminotransferase) ในเลือดเพิ่มขึ้นให้หยุด การใช้ยานี้ทันที
  • ปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดและมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดตามนัดทุก ครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโบเซนแทน) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

โบเซนแทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโบเซนแทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • การใช้ยาโบเซนแทนร่วมกับยา Hydrocodone, Fentanyl อาจทำให้ระดับของยากลุ่มดังกล่าวในกระแสเลือดลดน้อยลง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโบเซนแทนร่วมกับยา Teriflunomide (ยารักษาโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง) ด้วยจะทำให้เกิดปัญหา (ผลข้างเคียง) กับตับของผู้ป่วย
  • การใช้ยาโบเซนแทนร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิดอย่างเช่นยา Ethinyl estradiol อาจทำให้ประ สิทธิภาพการคุมกำเนิดด้อยลงและสุ่มเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน และ/หรือใช้ถุงยางอนามัยชายร่วมด้วยในการมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง
  • การใช้ยาโบเซนแทนร่วมกับยา Cobicistat (ยาเพิ่มประสิทธิภาพยาต้านไวรัสบางตัวที่ใช้รักษาการติดเชื้อเอชไอวี/HIV) อาจทำให้ระดับยาโบเซนแทนในกระแสเลือดเพิ่มขึ้นจนเป็นเหตุให้ผู้ ป่วยได้รับผลข้างเคียงต่างๆตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษาโบเซนแทนอย่างไร?

ควรเก็บยาโบเซนแทนในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

โบเซนแทนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโบเซนแทนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Tracleer (ทราเคลียร์) Actelion

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Bosentan [2016,June18]
  2. http://www.drugs.com/cdi/bosentan.html [2016,June18]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/bosentan/?type=brief&mtype=generic [2016,June18]
  4. http://www.drugs.com/drug-interactions/bosentan-index.html?filter=3&generic_only= [2016,June18]
  5. http://www.mims.com/thailand/drug/info/tracleer [2016,June18]