โบลแนนเซอรีน (Blonanserin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโบลแนนเซอรีน(Blonanserin) เป็นยากลุ่มต้านโรคจิตรุ่นใหม่ (Atypical antipsychotic agent) โดยมีข้อบ่งใช้สำหรับการรักษาโรคจิตเภทในประเทศญี่ปุ่นและในประเทศเกาหลี ขณะนี้ยังไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย ซึ่งมีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยจิตเภทที่มีอาการทางบวก(อาการทางจิตใจที่มากกว่าคนทั่วไป) และอาการทางลบ(อาการทางจิตใจที่มีน้อยกว่าคนทั่วไป)โดยมีการใช้ยานี้ทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว

ยาโบลแนนเซอรีนมีข้อเด่นคือ อาการไม่พึงประสงค์จากยาด้านกลุ่มอาการอีพีเอส (EPS: Extrapyramidal syndrome หรือ Extrapyramidal symptoms) จะพบน้อยกว่ายาฮาโลเพอริดอล(Haloperidol) และจะทำให้มีภาวะระดับโปรแลกตินในเลือดสูงกว่าปกติ (Hyperprolactinemia)น้อยกว่ายาริสเพอริโดน(Risperidone)

แต่อย่างไรก็ตามอาการไม่พึงประสงค์ของยาโบลแนนเซอรีนที่มักพบได้ คือ กลุ่มอาการอีพีเอส ซึ่งอาการแสดงของกลุ่มอาการนี้ เช่น อาการสั่น (Tremor), ความรู้สึกต้องการจะเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา หรือรู้สึกว่าไม่สามารถอยู่นิ่งหรือยืนเฉยๆได้ (Akathisia), อาการกล้ามเนื้อแข็งตัว ขยับยาก (Muscle rigidity), เคลื่อนไหวร่างกายได้ช้าลง (Bradykinesia), การเดินที่อาจผิดปกติ (Gait disturbance) , และพบว่าอาจมีระดับโปรแลกตินเพิ่มสูงขึ้นในเลือด

อาการไม่พึงประสงค์ฯอื่นๆจากยาโบลแนนเซอรีนที่ไม่รุนแรงและอาจพบได้ เช่น อาการง่วงนอน, ง่วงเวลากลางวัน (Somnolence), อาการมึนงง, อาการกระหายน้ำ, อาการท้องผูก

ยาโบลแนนเซอรีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)อย่างไร?

โบลแนนเซอรีน

ยาโบลแนนเซอรีนมีข้อบ่งใช้สำหรับการรักษาโรคจิตเภทชนิดทั้งอาการชนิดบวก (Positive schizophrenia) และอาการชนิดลบ (Negative schizophrenia) ซึ่งยานี้มีจำหน่ายและใช้ในประเทศญี่ปุ่นและในเกาหลี แต่ปัจจุบันยังไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย

นอกจากนี้ยาโบลแนลเซอรีนยังได้ถูกนำมาใช้ในการรักษาภาวะก้าวร้าว (Aggressive symptoms) และภาวะอารมณ์สองขั้ว (Bipolar)ทั้งชนิดซึมเศร้าและบ้าคลั่ง

อาการโรคจิตเหล่านี้ จะค่อยๆเริ่มดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์หลังผู้ป่วยได้รับยาโบลแนนเซอรีน และเมื่อได้รับยานี้ไปนานมากกว่า 2 – 3 สัปดาห์ อาการของโรคจิตที่แสดงออกด้านพฤติกรรมและกระบวนการรับรู้จะเริ่มดีขึ้นตามมา ทั้งนี้จะแนะนำให้ติดตามประสิทธิภาพของยาต่อการควบคุมและรักษาโรคจิตเภทที่สัปดาห์ที่ 4 – 6 แต่ในทางปฏิบัติแล้วนั้น ผู้ป่วยบางคนอาจตอบสนองต่อยานี้ช้า โดยจะเห็นประสิทธิภาพของยานี้ที่สัปดาห์ที่ 16 – 20 ภายหลังเริ่มรักษาด้วยยานี้

ยาโบลแนนเซอรีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาโบลแนนเซอรีนเป็นยาที่ใช้ในการรักษาโรคจิตเภท (Antipsychotic) มีกลไกการออกฤทธิ์ คือ ตัวยาจะยับยั้ง ตัวรับ(Receptor)ที่ชื่อโดปามีน (Dopamine receptor)ในสมอง ซึ่งจะส่งผลช่วยลดอาการทางบวกของโรคจิตเภททำให้อาการทางบวกดีขึ้น แต่จะส่งผลทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาที่เรียกว่า อีพีเอส (EPS: extrapyramidal syndrome) ขึ้นได้ แต่อีกหนึ่งกลไกของยาโบลแนนเซอรีน คือ ยานี้ยังสามารถยับยั้งตัวรับที่ชื่อ ซีโรโตนิน (Serotonin receptor)ได้ ซึ่งจะส่งผล ต่อการหลั่งสารซีโรโตนินของสมอง จึงมีส่วนช่วยลดโอกาสเกิดอาการผิดปกติทางด้านการเคลื่อนไหว อีพีเอส (EPS)

ยาโบลแนนเซอรีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

รูปแบบทางเภสัชภัณฑ์ของยาโบลแนนเซอรีนที่มีจำหน่ายในปัจจุบัน คือ

  • ยาเม็ดเคลือบฟิล์ม (Film-coated tablet) ขนาดยา 2, 4 และ 8 มิลลิกรัมต่อเม็ด

ยาโบลแนนเซอรีนมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?

ยาโบลแนนเซอรีน มีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยา เช่น

ก.ขนาดยาโบลแนนเซอรีนสำหรับการรักษาอาการจิตเภท คือ ในช่วงแรกของการรักษา แพทย์จะให้เริ่มรับประทานยาครั้งละ 4 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 2 ครั้ง หลังอาหาร จากนั้น แพทย์จะค่อยๆปรับเพิ่มขนาดยาขึ้นทีละน้อย โดยแพทย์เป็นผู้พิจารณาเพิ่มขนาดยาตามอาการทางคลินิกของผู้ป่วย และพิจารณาถึงอายุผู้ป่วย และค่าการทำงานของตับ และของไต ของผู้ป่วยด้วย จนได้ขนาดยาในช่วงขนาดการรักษา คือ ครั้งละ 4 – 8 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 2 ครั้ง หลังอาหาร

ข. ขนาดยาโบลแนนเซอรีนสูงสุดที่แนะนำ คือ 24 มิลลิกรัมต่อวัน การให้รับประทานยาโบลแนนเซอรีนหลังอาหาร จะช่วยทำให้ยาถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่ร่างกายได้ดี จึงทำให้ระดับยาในร่างกายสูง

*ไม่แนะนำให้ใช้ยาโบลแนนเซอรีนในผู้ป่วยกลุ่มเด็กและวัยรุ่น เนื่องจากข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยยังไม่เพียงพอ

ค.ยังไม่มีการศึกษาการใช้ยาโบลแนนเซอรีนในผู้ป่วยที่ไตทำงานผิดปกติ ดังนั้นอาจพิจารณาใช้ยาในขนาดปกติในผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้ แต่ควรระมัดระวังการใช้ยาเป็นพิเศษ

ง.การใช้ยาโบลแนนเซอรีนในผู้ป่วยที่ตับทำงานผิดปกติ ควรพิจารณาใช้ยาในขนาดต่ำลงกว่าขนาดยาปกติ แต่ทั้งนี้ยังไม่มีการแนะนำการปรับขนาดการใช้ยานี้

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโบลแนนเซอรีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยา / แพ้อาหาร / แพ้สารเคมีทุกชนิด
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะ ยาบางชนิดอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่ผู้ป่วยได้รับอยู่ก่อนแล้ว
  • ประวัติการใช้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร, วิตามิน ต่างๆ เนื่องจาก ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือวิตามินบางชนิด อาจมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยานี้ได้
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตรหรือไม่ เพราะยานี้ อาจก่ออันตรายต่อทารกได้

หากลืมรับประทานยาโบลแนนเซอรีนควรทำอย่างไร?

กรณีลืมรับประทานยาโบลแนนเซอรีน ที่มีวิธีการรับประทานยาวันละ 2 ครั้งต่อวัน หากผู้ป่วยลืมรับประทานยานี้ ให้รีบรับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานยามื้อถัดไป(เกินกว่าครึ่งหนึ่งของระยะห่างระหว่างมื้อยา คือ เกิน 6 ชั่วโมง จากเวลารับประทานยาปกติ) ให้ข้ามมื้อยาที่ลืมไป รอรับประทานยามื้อถัดไปเลยโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า เช่น ปกติรับประทานยาวันละ 2 ครั้ง เวลา 7.00 น. และ 19.00 น. หากผู้ป่วยนึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 7.00 น. ตอนเวลา 10.00 น. ก็ให้รับประทานยามื้อ 7.00 น. ทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากนึกขึ้นได้ในช่วงที่ใกล้กับช่วงเวลาของยามื้อถัดไป (หมายถึงเกินกว่า ครึ่งหนึ่งของช่วงห่างจากเวลารับประทานยาปกติถึงมื้อถัดไป) เช่น นึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 7.00 น. ตอนเวลา 16.00 น. ให้รอรับประทานยามื้อถัดไป คือ เวลา 19.00 น. ในขนาดยาปกติ โดยไม่ต้องนำยามื้อที่ลืมรับประทานมารับประทานเพิ่ม

ยาโบลแนนเซอรีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ที่พบได้บ่อยจากยาโบลแนนเซอรีน คือ กลุ่มอาการอีพีเอส (EPS: Extrapyramidal syndrome)ซึ่งจะปรากฎอาการทางคลินิก ดังต่อไปนี้ เช่น อาการสั่น, มีความรู้สึกต้องการจะเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาหรือรู้สึกว่าไม่สามารถอยู่นิ่งหรือยืนเฉยๆได้, อาการกล้ามเนื้อหดแข็งตัว ขยับยาก, อาการเคลื่อนไหวร่างกายได้ช้าลง, การเดินที่อาจผิดปกติ และพบว่าอาจมีระดับโปรแลกตินเพิ่มสูงขึ้นในเลือด

อาการไม่พึงประสงค์อื่นๆที่ไม่รุนแรงและอาจพบได้ เช่น อาการง่วงนอน, ง่วงเวลากลางวัน, อาการมึนงง, อาการกระหายน้ำ, อาการท้องผูก

มีข้อควรระวังการใช้ยาโบลแนนเซอรีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโบลแนนเซอรีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • การใช้ยานี้ในช่วงกำลังตั้งครรภ์/ให้นมบุตร ยังไม่มีการทดลองสนับสนุนที่เพียงพอเกี่ยวกับผลของการได้รับยาโบแนนเซอรีนต่อการตั้งครรภ์และการเจริญเติบโตของตัวอ่อนในครรภ์ ดังนั้นแนะนำให้หยุดการใช้ยาโบลแนนเซอรีนในหญิงที่ตั้งใจจะตั้งครรภ์หรือกำลังตั้งครรภ์ และคาดว่ายาโบลแนนเซอรีนสามารถขับออกทางน้ำนมได้ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของทารก ควรหยุดการใช้ยานี้ในช่วงกำลังให้นมบุตร หรืองดให้นมบุตรกรณีที่ยานี้มีความจำเป็นต้องได้รับ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาโบลแนนเซอรีน) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาโบลแนนเซอรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ข้อควรระวังสำคัญในการใช้ยาโบลแนนเซอรีน คือ ปฏิกิริยาระหว่างยากับยา (Drug-drug interaction) เนื่องจากยาโบลแนนเซอรีนถูกทำลายโดยกลุ่มเอนไซม์ซิพ(CYP enzyme, Cytochrome 450 enzyme) ชนิด CYP3A4 เป็นหลัก ซึ่งมีโอกาสเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาโบลแนนเซอรีนกับยาชนิดอื่นๆได้ เมื่อมีการใช้ยาร่วมกัน ดังนั้นควรพิจารณารายการยาอื่นๆที่จะใช้ร่วม ดังนี้

1. หลีกเลี่ยงหรือพิจารณาไม่ใช้ยาโบลแนนเซอรีนคู่กับยาดังต่อไปนี้ เพราะอาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยารุนแรงที่ขึ้น เนื่องมาจากจะเกิดระดับยาโบลแนนเซอรีนในเลือดที่สูงกว่าปกติ ยาอื่นๆที่ควรหลีกเลี่ยง เช่นยา อาฟูโซซิน (Alfuzosin: ยารักษาโรคต่อมลูกหมากโต), อะมิโอดาโลน (Amiodarone:ยาต้านหัวใจเต้นผิดจังหวะ), ควินิดีน(Quinidine:ยาต้านหัวใจเต้นผิดจังหวะ), ฟูซิดิกเอซิด (Fusidic acid: ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย), คีโตโคลนาโซล (Ketoconazole: ยาต้านเชื้อรา),โวลิโคนาโซล (Voriconazole: ยาต้านเชื้อรา), แอสทิมีโซล (Astemizole: ยาแก้แพ้), เทอร์ฟีนีดีน(Terfenadine: ยาแก้แพ้), Ergot derivetives (ยาที่มีส่วนผสมของ Ergot เช่นยา Erogatamine/เออโกตามีน/ยาไมเกรน , Ergonovine /เออร์โกโนวีน/ยาบีบมดลูก, Methylergonovine/เมททิวเออร์โกโนวีน/ ยาบีบมดลูก), ซิสซาพาย(Cisapide: ยากระตุ้นการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้), สมุนไพรเซนต์จอห์นเวิร์ธ (St. John's wort: สมุนไพรคลายเครียด), โลวาสสะตาติน(Lovastatin: ยาลดไขมัน), ซิมวาสสะตาติน (Simvastatin: ยาลดไขมัน), เซาเมทารอล (Salmeterol: ยาขยายหลอดลม), พิโมซายด์ (Pimozide: ยาต้านโรคจิต ), ซิเดนาฟิว (Sidenafil: ยารักษาภาวะความดันในปอดสูง/Pulmonary Hypertension), ไมด้าโซแลม (Midazolam: ยาสงบระงับประสาท/ยานอนหลับ), ไตรอะโซแลม (Triazolam: ยาสงบระงับประสาท/ยานอนหลับ)

2. น้ำผลไม้เกรปฟรุต (grape fruit juice) ซึ่งมีฤทธิ์เป็นเอนไซม์อินฮิบิเตอร์(Enzyme inhibitor) ดังนั้นการรับประทานยาโบลแนนเซอรีนคู่กับน้ำเกรปฟรุตจะมีผลทำให้ระดับยาโบลแนนเซอรีนในเลือดสูงขึ้นจนเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงจากยาโบลแนนเซอรีน

3. ระมัดระวังการใช้ยาโบลแนนเซอรีนคู่กับยาที่มีผลกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ทำลายยา เช่นยา คาร์บามาซีปิน (Carbamazepine: ยากันชัก), ฟีนีทอย (Phenytoin:ยากันชัก), ไรแฟมปินซิน (Rifampicin: ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย, ยาวัณโรค) ซึ่งจะส่งผลทำให้ระดับยาโบลแนนเซอรีนในร่างกายลดลงจนทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับประสิทธิภาพจากการใช้ยาโบลแนนเซอรีน

ควรเก็บรักษายาโบลแนนเซอรีนอย่างไร?

แนะนำเก็บยาโบลเนนเซอรีน ณ อุณหภูมิห้อง เก็บยาให้พ้นจากแสงแดด และแสงสว่างที่กระทบยาได้โดยตรง หลีกเลี่ยงนำยาสัมผัสกับความร้อนที่มาก เช่น เก็บยาในรถที่ตากแดด หรือเก็บยาในห้องที่มีอุณหภูมิสูง(มีแสงแดดส่องถึงทั้งวันหรือเป็นเวลานาน) ไม่เก็บยาในห้องที่ชื้น เช่น ห้องน้ำ หรือห้องครัว โดยควรเก็บยาในภาชนะบรรจุเดิม และเพื่อความปลอดภัย ควรเก็บยาให้พ้นจากมือเด็กเล็กและสัตว์เลี้ยง

ยาโบลแนนเซอรีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโบลแนนเซอรีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
LonasenDainippon Sumitomo Pharma Co., Ltd.

บรรณานุกรม

  1. Deek ED, Keating GM. Blonanserin: A review of its use in the management of schizophrenia. CNS drug 2010;24(1):65-84
  2. Lacy CF. Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 24th ed. Ohio: Lexi-Comp; 2015-16.
  3. Blonanserin product information. http://cdn.neiglobal.com/content/pg/live/blonanserin.pdf[2017,June10]