โบรไมด์ (Bromide)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

ยาโบรไมด์ (Bromide)คือ ยาที่เป็นสารประกอบประเภทโบรไมด์หรือประเภทเกลือโบรไมด์ ซึ่งมีอยู่มากมายหลายชนิด นักวิทยาศาสตร์ได้นำสารประกอบเหล่านี้มาใช้เป็นยารักษาโรคต่างๆ เช่น อาการป่วยทางจิตเวช, เป็นยาสลบในห้องผ่าตัด, เป็นยาช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ, ยารักษาอาการโรคลมชัก ฯลฯ

อาจแจกแจงรายการยาในกลุ่มโบรไมด์พอสังเขปได้ดังนี้

  • Potassium bromide: ใช้เป็นยากันชักและช่วยสงบประสาท/ยาคลายเครียด
  • Sodium bromide: ใช้รักษาอาการปวดหัว ช่วยสงบประสาท รักษาโรคลมชัก
  • Lithium bromide: เคยถูกใช้เป็นยาสงบประสาท
  • Aclidinium bromide: ใช้เป็นยาขยายหลอดลม
  • Clidinium bromide: ช่วยลดการหลั่งกรดในผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหาร
  • Glycopyrronium bromide: ใช้ลดสารคัดหลั่งต่างๆก่อนวางยาสลบให้ผู้ป่วย
  • Fenoterol hydrobromide: ใช้เป็นยาขยายหลอดลม
  • Ipratropium bromide: ใช้ขยายหลอดลม
  • Pancuronium bromide และ Rocuronium bromide ใช้เป็นยาคลายกล้ามเนื้อ
  • Thonzonium bromide: ใช้เป็นส่วนประกอบในยาหยอดหู
  • Tiotropium bromide: อยู่ในกลุ่ม Antimucarinic drugs (ยารักษาโรคทางสมองบางชนิดเช่น โรคพาร์กินสัน) ใช้ขยายหลอดลม
  • Vecuronium bromide: ทำให้กล้ามเนื้อลายคลายตัว ใช้ร่วมกับการวางยาสลบ

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยากลุ่มโบร์ไมด์บางตัวลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ เช่นยา Pancuronium, Rocuronium, Vecuronium โดยใช้เป็นยาเดี่ยว มีบางรายการที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่นยา Ipratropium bromide ที่ผสมร่วมกับ Fenoterol hydro bromide

จากความหลากหลายของยาในกลุ่มนี้ การเลือกใช้ยาเหล่านี้ได้อย่างถูกต้องและปลอดภัยสำหรับผู้ป่วย จำเป็นต้องได้รับการตรวจคัดกรองจากแพทย์ก่อนการใช้ยาทุกครั้ง

โบรไมด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?

โบรไมด์

ยากลุ่มโบรไมด์มีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:

  • ใช้เป็นยาสงบประสาท/ยาคลายเครียด และคลายกล้ามเนื้อก่อนวางยาสลบ
  • ใช้เป็นยาลดกรดในกระเพาะอาหาร
  • ใช้เป็นยาขยายหลอดลมในผู้ป่วยโรคหืด ผู้ป่วยหลอดลมอักเสบ
  • ช่วยทำให้ยาอื่นดูดซึมได้ดีขึ้นเมื่อใช้ผสมกับยาอื่น
  • ใช้รักษาโรคลมชัก

โบรไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยากลุ่มโบรไมด์ จะขึ้นอยู่กับธรรมชาติโครงสร้างทางเคมีของยาแต่ละตัว โดยจะออกฤทธิ์กับตัวรับ(Receptors) ที่อยู่ตามอวัยวะต่างๆของร่างกายเช่น หลอดลม กล้ามเนื้อ กระเพาะอาหาร ฯลฯ และส่งผลให้อวัยวะเหล่านั้นทำงานตามฤทธิ์ของยาที่ได้รับจนเกิดเป็นกลไกของการรักษาในที่สุด

โบรไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยากลุ่มโบรไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน
  • ยาพ่นสเปรย์เข้าทางปาก
  • ยาพ่นจมูก
  • ยาฉีด
  • ยาชนิดสารละลายใช้พ่นเข้าทางเครื่องช่วยหายใจ

โบรไมด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

การใช้ยากลุ่มโบร์ไมด์และขนาดรับประทาน/ขนาดการใช้ยาต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามมิให้ผู้ป่วยปรับขนาดรับประทาน/การใช้ยาเอง

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยากลุ่มโบร์ไมด์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด /หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยากลุ่มโบร์ไมด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยา/ใช้ยากลุ่มโบร์ไมด์สามารถรับประทานยา/ใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยา/ใช้ยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

โบรไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา/ (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) ของยากลุ่มโบรไมด์ จะขึ้นกับชนิดโครงสร้างทางเคมีของยาแต่ละตัวยา เช่น

  • Potassium bromide: ก่อให้เกิดอาการกระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อย
  • Lithium bromide: ก่อให้เกิดอาการเม็ดเลือดขาวสูง ปัสสาวะบ่อย และกระหายน้ำ
  • Glycopyrronium bromide: ลดการขับเหงื่อของร่างกาย ทำให้มีไข้ได้
  • Tiotropium bromide: ทำให้ปากคอแห้ง และระคายคอ
  • Ipratropium bromide: ทำให้หัวใจเต้นเร็ว และอาจก่อให้เกิดต้อหิน
  • Vencuronium bromide: ทำให้หัวใจเต้นช้า วิงเวียน เป็นไข้

มีข้อควรระวังการใช้โบรไมด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยากลุ่มโบรไมด์ เช่น

  • ห้ามใช้ยากลุ่มนี้กับผู้ที่แพ้ยา/แพ้สารประกอบโบรไมด์
  • ระวังการใช้ยากลุ่มนี้ในเด็ก ผู้สูงอายุ สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ด้วยผู้ป่วยกลุ่มนี้มีภาวะเสี่ยงต่ออาการไม่พึงประสงค์ฯ
  • ระวังการใช้ยากลุ่มนี้กับผู้ป่วยโรคต้อหิน ผู้ป่วยที่เป็นแผลในกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยด้วยอาการทางเดินปัสสาวะอุดตัน/ปัสสาวะขัด ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ระวังการขับขี่ยวดยานพาหนะเมื่อใช้ยากลุ่มนี้ ด้วยยาในกลุ่มนี้ทำให้กล้ามเนื้อไม่มีแรงจึงอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มโบรไมด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

โบรไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโบรไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้เช่น

  • การใช้ยา Vecuronium bromide ร่วมกับยา Halothane (ยาดมสลบ), Ether (ยาดมสลบ), Isofurane (ยาดมสลบ), Fentanyl อาจเพิ่มฤทธิ์ในการยับยั้งการทำงานของกล้ามเนื้อลาย (Increase neuromuscular blockade) หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาเหล่านี้ให้เหมาะสมกับคนไข้เป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยา Ipratropium bromide ร่วมกับยา Anticholinericgic (Antimuscarinic drugs) อาจเพิ่มความเป็นพิษของยากลุ่มโบรไมด์ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยากลุ่มโบร์ไมด์ให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป

ควรเก็บรักษาโบรไมด์อย่างไร?

ควรเก็บยากลุ่มโบร์ไมด์:

  • เก็บยาช่วงอุณหภูมิที่ระบุในเอกสารกำกับยา(ฉลากยา)
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำ หรือ ในรถยนต์ หรือ ในช่องแช่แข็งของตู้เย็น

โบรไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยากลุ่มโบร์ไมด์ มียาชื่อการค้าอื่น และ บริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Aerobidol (แอโรไบดอล) Aerocare
Berodual/Berodual Forte (เบอโรดูออล/เบอโรดูออล ฟอร์ท) Boehringer Ingelheim
Chlordibrax (คลอร์ดิแบรกซ์) Utopian
Combivent UDV (คอมบิเวนท์ ยูดีวี) Boehringer Ingelheim
Dicetel (ดิเซเทล) Abbott
Dirax (ไดแรกซ์) Medicpharma
Esmeron (เอสเมอรอน) MSD
Glyco-P (ไกลโค-พี) Klab (Glycopyrrolate)
Hyoscin BM (ไฮออสซิน บีเอ็ม) Patar Lab
Inhalex Forte (อินฮาเลกซ์ ฟอร์ท) Silom Medical
Iperol/Iperol Forte (ไอเพอรอล/ไอเพอรอล ฟอร์ท) L. B. S.
Iprateral (อิพราเทอรอล) Pharma Innova
Kenspa (เคนสปา) Kenyaku
Librax (ไลแบรกซ์) A.Menarini
Licon (ลิคอน) Life Concern
Mestinon (เมสทินอน) A.Menarini (Pyridostigmine Br)
Modurax (โมดูแรกซ์) Utopian
Pancuronium Lisapharma (แพนคูโรเนียม ลิซาฟาร์มา) Lisapharma
Pobrax (โพแบรกซ์) Central Poly Trading
Punol (พูนอล) Biolab
Pyrimine 60 (ไพริมีน 60) Sriprasit Pharma (pyridostigmine br)
Radibrax (แรดิแบรกซ์) Pharmasant Lab
Seebri Breezhaler (ซีไบร บรีซซาเลอร์) Novartis
Spiriva/Spiriva Respimat (สพิริวา/สพิริวา เรสพิแมท) Boehringer Ingelheim
Tumax (ทูแมกซ์) Sriprasit Pharma
Utorax (ยูโทแรกซ์) Utopian

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/monograph/glycopyrronium.html [2021,April10]
  2. https://www.rxlist.com/spiriva-drug.htm [2021,April10]
  3. https://www.rxlist.com/combivent-drug.htm [2021,April10]
  4. https://www.empr.com/drug/vecuronium-bromide-for-injection/ [2021,April10]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Bromide [2021,April10]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Thonzonium_bromide [2021,April10]
  7. http://www.canine-seizures.freeservers.com/potassium_bromide.htm [2021,April10]
  8. https://en.wikipedia.org/wiki/Lithium_%28medication%29#Side_effects [2021,April10]
  9. https://en.wikipedia.org/wiki/Glycopyrronium_bromide#Side_effects [2021,April10]
  10. https://en.wikipedia.org/wiki/Tiotropium_bromide#Adverse_effects [2021,April10]
  11. https://www.medicinenet.com/vecuronium_bromide-injection/article.htm [2021,April10]
  12. http://www.drugsupdate.com/generic/view/211/Glycopyrronium-Bromide [2021,April10]
  13. https://www.mims.com/malaysia/drug/info/vecuronium%20bromide?mtype=generic [2021,April10]
  14. https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=bromide&page=0 [2021,April10]
  15. https://www.sigmaaldrich.com/catalog/product/sigma/f1016?lang=en®ion=TH [2021,April10]