โทโพทีแคน (Topotecan)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 1 พฤษภาคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- โทโพทีแคนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- โทโพทีแคนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- โทโพทีแคนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- โทโพทีแคนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?
- โทโพทีแคนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้โทโพทีแคนอย่างไร?
- โทโพทีแคนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาโทโพทีแคนอย่างไร?
- โทโพทีแคนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- มะเร็ง (Cancer)
- ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)
- รังสีรักษา ฉายรังสี ใส่แร่ (Radiation therapy)
- ทูโพไอโซเมอเรส อินฮิบิเตอร์ (Topoisomerase inhibitor)
- การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด (Coping with chemotherapy)
- การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง (Cancer patient self-care and Cancer care)
- ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ / หรือรังสีรักษา: การดูแลตนเอง (Selfcare of neutropenia during cancer therapy)
บทนำ
ยาโทโพทีแคน(Topotecan หรือ Topotecan hydrochloride หรือ (Topotecan HCl) เป็นยาเคมีบำบัดที่เป็นอนุพันธ์กึ่งสังเคราะห์ของสารประกอบที่ชื่อ Camptothecin ซึ่งพบในเปลือกและลำต้นของพืชสกุล Campotheca(พืชประจำถิ่นในจีนและธิเบตที่นำมาใช้เป็นยารักษาโรค) ทางคลินิกนำมาใช้เป็นยารักษามะเร็งรังไข่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวเล็ก เป็นต้น ในปี ค.ศ.2016 (พ.ศ.2559) ทางการแพทย์ได้ทดลองใช้ยาโทโพทีแคนในการบำบัดโรคมะเร็งอีกหลายชนิด เช่น Neuroblastoma, Non-small cell lung cancer, เนื้องอกสมองที่เกิดที่ก้านสมอง(Brainstem glioma), Colorectal cancer, Breast cancer, Non-Hodgkin lymphoma, Endometrial cancer, และ เนื้องอกสมองชนิด Oligodendroglioma
รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาโทโพทีแคนเป็น ยาฉีด และยารับประทาน ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 2–3 ชั่วโมงเพื่อกำจัดตัวยานี้ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ
ธรรมชาติของยาเคมีบำบัดหลายตัวซึ่งรวมยาโทโพทีแคน จะทำให้เม็ดเลือดและเกล็ดเลือดในร่างกายต่ำลง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะติดเชื้อได้ง่าย หรือกรณีมีบาดแผลจะทำให้เลือดหยุดไหลช้า ตลอดจนยังมีผลกระทบ(ผลข้างเคียง)ต่อการทำงานของตับและของอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร ดังนั้นก่อนที่ผู้ป่วยจะได้รับยาชนิดนี้ จึงมีความจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมบางประการ เช่น
- แจ้งประวัติโรคประจำตัวพร้อมกับรายการยาต่างๆที่รับประทานเป็นประจำทั้งนี้เพื่อป้องกันภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา) ยาต่างๆหลายรายการ ไม่อนุญาตให้ใช้ร่วมกับยาโทโพทีแคน อย่างเช่น Aspirin และยาที่เป็นประเภทวัคซีนชนิดต่างๆ
- กรณีผู้ป่วยสตรี ต้องไม่อยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือในภาวะให้นมบุตร ด้วยยาเคมีบำบัดที่รวมยาโทโพทีแคนเป็นอันตรายต่อเด็กทารกทั้งสิ้น
- ทั้งสตรีและบุรุษที่ใช้ยานี้ ต้องป้องกันขณะมีเพศสัมพันธ์ ยาเคมีบำบัด/ยาโทโพทีแคนสามารถถูกส่งผ่านไปกับน้ำอสุจิและเข้าถึงร่างกายสตรีได้ ก่อนมีเพศสัมพันธ์ขณะได้รับยาโทโพทีแคน จึงควรต้องใช้ถุงยางอนามัยชายป้องกันการตั้งครรภ์ด้วยเสมอ
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้กำหนดให้ยาโทโพทีแคนเป็นยาควบคุมพิเศษ จะพบการใช้ยานี้แต่ในสถานพยาบาลที่รักษาโรคมะเร็งเท่านั้น และการใช้ยานี้จะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์แต่ผู้เดียว
โทโพทีแคนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาโทโพทีแคนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษามะเร็งรังไข่ (Ovarian cancer) เริ่มประกาศใช้เมื่อ ค.ศ.1996 (พ.ศ.2539)
- รักษามะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer) เริ่มประกาศใช้เมื่อ ค.ศ.2006 (พ.ศ.2549)
- รักษามะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวเล็ก (Small cell lung carcinoma) เริ่มประกาศใช้ เมื่อ ค.ศ.2007 (พ.ศ.2550)
โทโพทีแคนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาโทโพทีแคนเป็นยาในกลุ่มยา Topoisomerase I inhibitor (Topoisomerase inhibitor) สามารถออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ ชื่อTopoisomerase I ซึ่งมีหน้าที่ดูแลป้องกันไม่ให้สายนิวคลีโอไทด์(Nucleotide, สารสำคัญในเซลล์ที่ใช้สร้างสารพันธุกรรม เช่น DNA)บน DNA พันกันจนดูยุ่งเหยิงซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการแบ่งตัวหรือจำลองสารพันธุกรรมรุ่นใหม่ของเซลล์มะเร็ง เมื่อเอนไซม์ Topoisomerase I ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติจึงส่งผลให้เซลล์มะเร็งหมดความสามารถในการเจริญเติบโตและตายลงในที่สุด
อย่างไรก็ตาม กลไกข้างต้นยังมีอิทธิพลเกิดกับเซลล์ปกติของร่างกายได้อีกด้วย จึงเป็นผลให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ต่างๆตามมาจากยานี้ดังจะกล่าวในหัวข้อต่อไป(ผลไม่พึงประสงค์จากยาฯ)
โทโพทีแคนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาโทโพทีแคนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาฉีด ที่มีส่วนประกอบของ Topotecan 4 มิลลิกรัม/ขวด
- ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Topotecan 0.25 และ 1 มิลลิกรัม/แคปซูล
โทโพทีแคนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาโทโพทีแคนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
ก. สำหรับรักษามะเร็งรังไข่ และมะเร็งปากมดลูก:
- ผู้ใหญ่: แพทย์จะให้ยาทางหลอดเลือดดำกับผู้ป่วย ขนาดและระยะเวลา/รอบการให้ยา ให้เป็นไปตามคำสั่งของแพทย์
ข. สำหรับรักษามะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวเล็ก:
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นโดยให้ยาทางหลอดเลือดดำพร้อมกับยาแคปซูลชนิดรับประทาน โดยขนาดและระยะเวลา/รอบการให้ยาให้เป็นไปตามคำสั่งของแพทย์
*****หมายเหตุ:
- ขนาดการใช้ยานี้จะคำนวณโดยใช้พื้นที่ผิวของร่างกายมาเป็นเกณฑ์อ้างอิง
- สำหรับผู้ป่วยโรคไต แพทย์อาจต้องปรับลดขนาดการใช้ยาลงมาโดยใช้ค่า Creatinine clearance มาเป็นบรรทัดฐานการคำนวณขนาดยาที่ต้องใช้
- ผู้ป่วยต้องมาโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจเม็ดเลือดตามที่แพทย์นัดหมาย ด้วยการใช้ยาชนิดนี้/ยานี้จะเกิดภาวะกดไขกระดูก ที่ทำให้ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือด มีปริมาณน้อยลง
- เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่ชัดเจนในประสิทธิภาพของยานี้ที่รวมถึงขนาดยาและความปลอดภัยในการใช้ยานี้กับเด็ก
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโทโพทีแคน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโทโพทีแคนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?
ผู้ป่วยต้องได้รับยาโทโพทีแคนต่อเนื่องจึงจะเกิดประสิทธิผลของการรักษา กรณีลืมหรือมีเหตุขัดข้องไม่สามารถมารับการฉีดยานี้ได้ จะต้องติดต่อแพทย์/พยาบาล/บุคคลากรทางการแพทย์ผู้ที่ทำการรักษาดูแลผู้ป่วย เพื่อทำการนัดหมายการให้ยาครั้งใหม่โดยเร็ว
โทโพทีแคนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาโทโพทีแคนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้อาเจียน มีอาการท้องผูก กระเพาะอาหารอักเสบ ปวดท้อง ลำไส้ใหญ่อักเสบ
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีภาวะผมร่วง ผด ผื่นคัน ลมพิษ
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น กดไขกระดูก มีภาวะโลหิตจาง เกล็ดเลือดต่ำ เกิดภาวะเลือดออกง่าย เม็ดเลือดขาวต่ำ
- ผลต่อตับ: เช่น เป็นพิษกับตับ/ตับอักเสบ เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น ค่าบิลิรูบินในเลือดสูง
- ผลต่อหัวใจ: เช่น หัวใจทำงานผิดปกติ/หัวใจเต้นผิดปกติ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย: เช่น มีภาวะติดเชื้อได้ง่าย ติดเชื้อในกระแสเลือด ปอดบวม คออักเสบ เยื่อจมูกอักเสบ
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ
- ผลต่อตา : เช่น การเห็นภาพผิดปกติ
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจขัด ไอ
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เบื่ออาหาร เกิดภาวะขาดน้ำ
มีข้อควรระวังการใช้โทโพทีแคนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาโทโพทีแคน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยากับ สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร
- กรณีหลังใช้ยานี้แล้วเกิดอาการคล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่ แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยรักษาร่างกายให้อบอุ่นตลอดเวลา และดื่มน้ำสะอาดวันละ 2–3 ลิตรเพื่อประคับประคองอาการ
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่มีผู้คนแออัดเพราะจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคต่างๆ และควร ล้างมือบ่อยครั้งในแต่ละวัน
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ ด้วยสภาพร่างกายขณะได้รับยาชนิดนี้จะมีเกล็ดเลือดต่ำ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดจัด ด้วยยานี้อาจจะกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ทางผิวหนังมากยิ่งขึ้น เช่น ผิวหนังขึ้นผื่น
- ป้องกันการตั้งครรภ์เสมอสำหรับผู้ป่วยที่เป็นสตรี ขณะที่ได้รับยาชนิดนี้
- สำหรับผู้ป่วยที่เป็นบุรุษ การมีเพศสัมพันธ์กับสตรีควรใส่ถุงยางอนามัยชายทุกครั้งเพื่อป้องกันการส่งผ่านตัวยาโทโพทีแคนไปกับน้ำอสุจิ
- หากมีอาการข้างเคียงจากยานี้ อย่างเช่น คลื่นไส้อาเจียน ให้รับประทานอาหารในปริมาณน้อยต่อมื้อ แต่ให้รับประทานบ่อยครั้งขึ้น
- ห้ามดื่มเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์
- พักผ่อนอย่างเต็มที่เพื่อให้ร่างกายฟื้นสภาพอย่างรวดเร็ว
- มาโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจร่างกายตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาโทโพทีแคนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
โทโพทีแคนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโทโพทีแคนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาโทโพทีแคนร่วมกับ ยาPhenytoin เพราะจะทำให้ระดับยา โทโพทีแคนในกระแสเลือดลดลง
- ห้ามการใช้ยาโทโพทีแคนร่วมกับ ยาClozapine ด้วยจะทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดต่ำลงจนส่งผลให้มีภาวะติดเชื้อได้ง่าย
- ห้ามรับการให้วัคซีนใดๆขณะได้รับยาโทโพทีแคน เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ จากตัววัคซีนเองอย่างรุนแรง
- ห้ามใช้ยาโทโพทีแคนร่วมกับ เซอร์โทลิซูแมบ (Certolizumab) เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้ออย่างรุนแรงตามมา
ควรเก็บรักษาโทโพทีแคนอย่างไร?
ควรเก็บรักษายาโทโพทีแคน เช่น
- เก็บยาโทโพทีแคนที่เป็นยาฉีด ภายใต้อุณหภูมิ 20–25 องศาเซลเซียส(Celsius)
- เก็บยาโทโพทีแคนที่เป็นยาแคปซูล ภายใต้อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส
- ห้ามเก็บยาทุกรูปแบบในช่องแช่แข็งตู้เย็น
- เก็บยาฯในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- เก็บยาฯให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
โทโพทีแคนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโทโพทีแคน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Hycamtin (ไฮแคมทิน) | Sandoz |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Topotecan [2018, April14]
- http://chemocare.com/chemotherapy/drug-info/Topotecan.aspx [2018, April14]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/topotecan-index.html?filter=3&generic_only= [2018, April14]
- https://www.drugs.com/dosage/topotecan.html#Usual_Adult_Dose_for_Small_Cell_Lung_Cancer [2018, April14]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/hycamtin/?type=brief [2018, April14]