โทรลีแอนโดมัยซิน (Troleandomycin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 4 สิงหาคม 2558
- Tweet
- บทนำ
- โทรลีแอนโดมัยซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- โทรลีแอนโดมัยซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- โทรลีแอนโดมัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- โทรลีแอนโดมัยซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- โทรลีแอนโดมัยซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้โทรลีแอนโดมัยซินอย่างไร?
- โทรลีแอนโดมัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาโทรลีแอนโดมัยซินอย่างไร?
- โทรลีแอนโดมัยซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- แมคโครไลด์ (Macrolide)
- หนองใน (Gonorrhea)
- ซิฟิลิส (Syphilis)
- ตับอักเสบ โรคพิษต่อตับ (Toxic hepatitis หรือ Hepatotoxicity)
- โรคหืด (Asthma)
บทนำ
ยาโทรลีแอนโดมัยซิน (Troleandomycin) เป็นยาปฏิชีวนะกลุ่มแมคโครไลด์ (Macrolide) มีลักษณะเป็นผงผลึกสีขาวที่ไม่ละลายน้ำ แต่สามารถละลายได้ในกรดของกระเพาะอาหาร นำมาใช้รักษาภาวะการติดเชื้อแบคทีเรียของร่างกายแต่ไม่สามารถยับยั้งการติดเชื้อไวรัสได้
ยาโทรลีแอนโดมัยซินเป็นที่รู้จักในแถบยุโรปโดยใช้ชื่อการค้าว่า “Triocetin” และ “Tekmisin” รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาชนิดชนิดรับประทาน ด้วยมีการดูดซึมจากระบบทางเดินอา หารได้ดีและถูกขับออกจากร่างกายโดยผ่านไปกับอุจจาระ
ทางคลินิกมักนำยาโทรลีแอนโดมัยซินไปรักษาอาการอักเสบจากการติดเชื้อเช่น ไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดบวม เป็นต้น
ข้อพึงระวังประการหนึ่งของการใช้ยาปฏิชีวนะ (รวมถึงยาโทรลีแอนโดมัยซิน) คือ ระหว่างการใช้ยาและรู้สึกอาการป่วย/อาการอักเสบดีขึ้น ควรต้องรับประทานยาต่อให้ครบจำนวนตามที่แพทย์สั่งจ่าย การหยุดยาเมื่ออาการดีขึ้นอาจทำให้เกิดการดื้อยาของเชื้อโรคและอาการอาจกลับมาเป็นหนักมากกว่าเดิม ดังนั้นการใช้ยาโทรลีแอนโดมัยซินในการรักษาอาการติดเชื้อนั้นควรต้องเป็นไปตามคำ สั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด
โทรลีแอนโดมัยซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาโทรลีแอนโดมัยซินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น
- รักษาอาการติดเชื้อจากเชื้อแบคทีเรีย Chlamydia, Staphylococcus และ Streptococcus
- รักษาอาการไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ ทอลซิลอักเสบ ปอดอักเสบ
- ใช้เป็นยาร่วมรักษาในโรคหืด
- รักษาการติดเชื้อโกโนเรีย/หนองใน ซิฟิลิส
- รักษาและบรรเทาอาการจากโรค Legionnaires disease (โรคปอดบวมจากติดเชื้อแบคทีเรียชื่อ Legionella pneumophila)
โทรลีแอนโดมัยซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาโทรลีแอนโดมัยซินจะออกฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์โปรตีนของแบคทีเรียที่ตอบสนองกับยานี้ อีกทั้งยังยับยั้งการเปลี่ยนถ่ายและสลายการเชื่อมกันของสารพันธุกรรมที่มีชื่อเรียกว่า ไรโบโซม(Ribosome) ซึ่งอยู่ในตัวแบคทีเรีย ส่งผลให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโตไม่สามารถแพร่พันธุ์ได้ และตายลงในที่สุด
โทรลีแอนโดมัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาโทรลีแอนโดมัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น
- ยารับประทานชนิดแคปซูล ขนาด 250 มิลลิกรัม/แคปซูล
- ยาน้ำแขวนตะกอนชนิดรับประทาน ขนาด 125 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
โทรลีแอนโดมัยซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาโทรลีแอนโดมัยซินมีขนาดรับประทานสำหรับการติดเชื้อที่ตอบสนองต่อยาโทรลีแอนโดมัยซินเช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 250 - 500 มิลลิกรัมวันละ 4 ครั้ง
- ด็กที่อายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป: รับประทานครั้งละ 125 - 250 มิลลิกรัมทุกๆ 6 ชั่วโมง
- เด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปี: ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดในการใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้ การใช้ยานี้ที่รวมถึงขนาดยาในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
- อนึ่ง: ควรรับประทานยานี้ในช่วงท้องว่างเช่น ก่อนอาหาร
*****หมายเหตุ:
- ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาโทรลีแอนโดมัยซิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและ เภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาโทรลีแอนโดมัยซินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาโทรลีแอนโดมัยซินสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้ เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัด ไปไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
โทรลีแอนโดมัยซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาโทรลีแอนโดมัยซินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง วิงเวียน อ่อนแรง ปวดศีรษะ เกิดการติดเชื้อราในช่องคลอด และการรับประทานยานี้ต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจก่อให้เกิดภาวะตับอักเสบ
สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้ยานี้จะสังเกตได้จากเกิดอาการบวมตามหน้า - ลิ้น - คอ รวมถึงอาการผื่นคันขึ้นตามร่างกาย หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก แน่นหน้าอก หากพบอาการเหล่านี้ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้โทรลีแอนโดมัยซินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาโทรลีแอนโดมัยซินเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้และแพ้ยาในกลุ่มแมคโคไลด์ (Macrolide)
- ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับสุรา
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ
- ห้ามปรับขนาดการรับประทานด้วยตนเองและควรรับประทานยานี้ตามคำสั่งของแพทย์โดยเคร่งครัด
- การใช้ยานี้นานมากกว่า 10 วันมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะตับอักเสบ
- ระวังการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ
- หากพบอาการแพ้ยานี้หรือเกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) จนรบกวนการดำรงชีวิตประจำ วัน ให้หยุดใช้ยานี้แล้วรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษาใหม่
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง:
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโทรลีแอนโดมัยซินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
โทรลีแอนโดมัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโทรลีแอนโดมัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- การใช้ยาโทรลีแอนโดมัยซินร่วมกับยา Hydrocodone อาจทำให้ระดับของยา Hydrocodone ในกระแสเลือดเพิ่มขึ้นจนก่อให้เกิดอาการข้างเคียงติดตามมาเช่น มีอาการวิงเวียน ง่วงนอน ขาดสมาธิในการตัดสินใจ ความดันโลหิตต่ำ หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก เป็นลม มีอาการโคม่า จนถึงขั้นเสีย ชีวิต (ตาย) ได้ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการเหล่านี้จึงไม่สมควรใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาโทรลีแอนโดมัยซินร่วมกับยา Atorvastatin อาจทำให้ปริมาณยา Atorvastatin ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนเป็นเหตุให้เกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงติดตามมาเช่น เกิดการทำลายตับ (ตับอักเสบ) มีภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย รวมถึงมีภาวะไตวาย และเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ เพื่อมิให้เกิดภาวะรุนแรงดังกล่าวจึงควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- ห้ามใช้ยาโทรลีแอนโดมัยซินร่วมกับยากลุ่ม Ergotamine ด้วยจะทำให้อาการข้างเคียงของ Ergotamine เกิดขึ้นได้อย่างมากเช่น มีภาวะหลอดเลือดตีบ (อวัยวะต่างๆขาดเลือด) ความดันโลหิตสูง หัวใจล้มเหลว สมองขาดเลือด เนื้อเยื่อตามร่างกายตายด้วยขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง เป็นต้น
- การใช้ยาโทรลีแอนโดมัยซินร่วมกับยา Warfarin อาจเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
ควรเก็บรักษาโทรลีแอนโดมัยซินอย่างไร?
ควรเก็บยาโทรลีแอนโดมัยซินภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
โทรลีแอนโดมัยซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโทรลีแอนโดมัยซินที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Tao (ทาว) | Pfizer U.S. Pharmaceuticals Group |
Triocetin (ไทรโอเซทิน) | Farmaceutica Fiorentina |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Troleandomycin [2015,July18]
- http://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=troleandomycin[2015,July18]
- http://www.rxlist.com/tao-drug.htm[2015,July18]
- http://www.drugs.com/mtm/troleandomycin.html[2015,July18]
- http://www.drugs.com/drug-interactions/troleandomycin.html [2015,July18]
- http://www.drugs.com/drug-interactions/troleandomycin-index.html?filter=3&generic_only= [2015,July18]
- http://www.drugs.com/imprints/roerig-159-tao-2574.html [2015,July18]
- http://www.rxwiki.com/troleandomycin#brand-name [2015,July18]
- http://www.medschat.com/Drugs/Troleandomycin/[2015,July18]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Macrolide [2015,July18]
- http://drugs-about.com/drugs-t/triocetin.html[2015,July18]