อะไรกัน ! โดนน้ำหนีบ (ตอนที่ 1)

โดนน้ำหนีบ-1

ชาวเลราไวย์ถูกจับในเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถ เนื่องจากจอดเรือและทางเจ้าหน้าที่เข้าใจว่ามีเจตนาที่จะเข้าไปจับปลาในเขตอุทยานฯ แต่ชาวเลราไวย์อธิบายว่า เป็นการจอดเรือเพื่อรักษาอาการคนป่วยจากโรคน้ำหนีบ

เพราะเหตุก่อนหน้านี้ คนป่วยได้ดำน้ำลึกกว่า 30 เมตร และอยู่ในน้ำนานครั้งละประมาณ 1-2 ชั่วโมงเพื่อจับปลาในที่อื่น แต่เมื่อเรือแล่นมาถึงเขตอุทยานฯ มีอาการป่วยโรคน้ำหนีบ จึงจำเป็นต้องลงน้ำอีกครั้งเพื่อปรับสภาพร่างกาย ซึ่งจะต้องใช้ระดับความลึกของน้ำประมาณ 20 เมตร

เพราะถ้ารอให้กลับไปถึงบ้านอาการอาจจะหนักจนรักษาไม่ได้ คนที่ป่วยอาจจะเสียชีวิตหรือเป็นอัมพาตได้ จึงได้หาจุดทิ้งสมอเรือเพื่อให้คนป่วยลงไปในน้ำเพื่อปรับร่างกายบรรเทาอาการของน้ำหนีบอีกครั้ง ตามวิธีการรักษาของชาวเล ที่ทำกันมาอย่างยาวนาน

โรคน้ำหนีบ (Decompression Sickness / Caisson disease / The bends / Barotrauma) เป็นโรคที่เกิดจากการเกิดฟองก๊าซในเลือดหรือในเนื้อเยื่อ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของความดันอากาศที่ลดลงอย่างรวดเร็วไม่ว่าจะเป็นในน้ำหรือในอากาศ แต่โดยส่วนใหญ่เกิดจากการดำน้ำลึก (Scuba divers) และมีบ้างที่ก็เกิดจากการอยู่ในที่ที่มีระดับความสูง (High altitude) หรือในที่ที่มีอากาศเจือจาง

ทั้งนี้ เนื่องจากการดำน้ำลึกในที่อากาศอัด (Compressed air) โดยเฉพาะการดำน้ำที่ใช้อุปกรณ์การหายใจใต้น้ำ ที่มีส่วนผสมของก๊าซไนโตรเจนประมาณร้อยละ 80 และ ก๊าซอ๊อกซิเจนประมาณร้อยละ 20

โดยร่างกายมีการใช้ประโยชน์จากออกซิเจนเป็นปกติ ส่วนไนโตรเจนถ้าเราอยู่บนบกเมื่อเราหายใจเข้าไปก็ไม่มีผลอะไรกับร่างกาย ร่างกายไม่ได้เอามาใช้ประโยชน์อะไร แต่ถ้าไนโตรเจนอยู่ภายใต้ความกดดัน ไนโตรเจนที่เคยอยู่ในสภาพก๊าซก็กลับกลายสภาพไปเป็นของเหลวที่สามารถแทรกซึมไปในกระแสเลือด

และเมื่อกลับขึ้นสู่ผิวน้ำ แรงอัดน้ำรอบตัวจะลดลง หากมีการทะยานขึ้นสู่ผิวน้ำที่เร็วเกินไป โดยที่ไม่ได้ดำไต่ระดับให้ไนโตรเจนออกจากร่างกาย จะทำให้ไนโตรเจนสลายจากเลือดไม่ทัน ความกดดันภายในเนื้อเยื่อเหล่านี้ก็จะเพิ่มมากกว่าความกดดันภายนอกจะทำให้ไนโตรเจนที่เป็นของเหลวนี้เปลี่ยนสภาพเป็นฟองอากาศ (Bubbles) ในเนื้อเยื่อหรือในเลือด

ซึ่งก่อให้เกิดอาการของโรคน้ำหนีบที่คล้ายกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นขณะที่เปิดกระป๋องหรือขวดน้ำอัดลม แรงอัดในกระป๋องหรือขวดจะลดลง กล่าวคือ ทำให้เกิดก๊าซออกมาจากน้ำในรูปของฟอง ดังนั้นหากฟองไนโตรเจนอยู่ในเลือด ก็จะสามารถทำลายหลอดเลือดและอุดกั้นทางเดินปกติของเลือดได้

เพราะเมื่อฟองเคลื่อนไปอุดเส้นเลือดที่เลี้ยงอวัยวะส่วนไหนก็จะเกิดอันตราย ณ จุดนั้น เช่น ที่ข้อก็ปวดข้อ ที่ไขสันหลังก็เป็นอัมพาตครึ่งท่อนล่างหรือแข้งขาลีบ ที่หัวใจก็หัวใจขาดเลือดถึงหัวใจวายตายได้ ที่สมองก็สมองขาดเลือดถึงพิการหรือตายได้

แหล่งข้อมูล:

  1. 1. ชาวเลยันไม่จับปลาในเขตอุทยานฯ นายกราไวย์เตรียมพาร้องขอความเป็นธรรม. https://mgronline.com/south/detail/9610000002811 [2018, January 15].
  2. 2. The Bends (Decompression Syndromes). https://www.emedicinehealth.com/decompression_syndromes_the_bends/article_em.htm [2018, January 15].
  3. 3. Decompression Sickness. https://www.health.harvard.edu/diseases-and-conditions/decompression-sickness [2018, January 15].