โซเดียม ไทโอซัลเฟต (Sodium thiosulfate)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 9 พฤษภาคม 2564
- Tweet
- บทนำ: คือ ยาอะไร?
- โซเดียม ไทโอซัลเฟต มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- โซเดียม ไทโอซัลเฟต มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- โซเดียม ไทโอซัลเฟต มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- โซเดียม ไทโอซัลเฟต มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- โซเดียม ไทโอซัลเฟต มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ โซเดียม ไทโอซัลเฟต อย่างไร?
- โซเดียม ไทโอซัลเฟต มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษา โซเดียม ไทโอซัลเฟต อย่างไร?
- โซเดียม ไทโอซัลเฟต มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โซเดียมไนไตรท์ (Sodium nitrite)
- เชื้อรา โรคเชื้อรา (Fungal infection)
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)
- ซิสพลาติน (Cisplatin)
บทนำ: คือ ยาอะไร?
ยาโซเดียม ไทโอซัลเฟต (Sodium thiosulfate หรือ Sodium thiosulphate)คือ ยาที่ เป็นสารประกอบอนินทรีย์ที่มีลักษณะเป็นผลึกไม่มีสี สามารถละลายน้ำได้ดี โดยประโยชน์ทางแพทย์ คือ ใช้เป็นยาต้านพิษของสารไซยาไนด์ (Cyanide) ซึ่งรูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้เป็นสารละลายสำหรับฉีด และใช้ควบคู่ไปกับยา Sodium nitrite นอกจากนี้ยังใช้เป็นยาป้องกันโรคเชื้อราในสูตรตำรับของยาทาภายนอก/ยาใช้ภายนอก
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุให้ยาโซเดียม ไทโอซัลเฟต อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติโดยมีวัตถุประสงค์ใช้ต่อต้านพิษจากไซยาไนด์ และใช้เป็นยาทาเพื่อรักษาโรคเชื้อราที่ผิวหนัง ซึ่งการใช้ยานี้ได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และเกิดประโยชน์สูงสุดจะต้องเป็นไปตามคำสั่ง จากแพทย์เท่านั้น
โซเดียม ไทโอซัลเฟต มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาโซเดียม ไทโอซัลเฟต มีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:
- ใช้รักษาและบำบัดอาการผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากสารไซยาไนด์ (Cyanide poisoning)
โซเดียม ไทโอซัลเฟต มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของ ยาโซเดียม ไทโอซัลเฟต คือ ตัวยาจะปลดปล่อยธาตุกำมะถันเพื่อเปลี่ยนสารไซยาไนด์ที่เป็นพิษไปเป็นสารไทโอไซยาเนต (Thiocyanate) ที่ไม่เป็นพิษต่อร่างกาย ในทางคลินิกยานี้จะใช้ควบคู่ไปกับ ยา Sodium nitrite แต่หากได้รับพิษจากสารไซยาไนด์ไม่รุนแรงมากอาจใช้ยาโซเดียม ไทโอซัลเฟต เพียงตัวเดียวก็ได้
โซเดียม ไทโอซัลเฟต มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาโซเดียม ไทโอซัลเฟต มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาฉีดที่เป็นสารละลายขนาด 12.5 กรัม/50 มิลลิลิตร
โซเดียม ไทโอซัลเฟต มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาโซเดียม ไทโอซัลเฟต มีขนาดการบริหารยา/การใช้ยาสำหรับรักษาอาการผู้ที่ได้รับพิษจากสารไซยาไนด์ เช่น
- ผู้ใหญ่: ให้ Sodium nitrite ในรูปสารละลายทางหลอดเลือดดำ ใช้ยาขนาด 300 มิลลิ กรัม ให้ยาช้าๆภายในช่วงเวลา 5 - 20 นาที, จากนั้นให้ยาโซเดียม ไทโอซัลเฟต 12.5 กรัมในรูปของสารละลาย 25% จำนวน 50 มิลลิลิตรโดยให้ทางหลอดเลือดดำ ให้ยาช้าๆเป็นเวลาประมาณ 10 นาที, และแพทย์อาจพิจารณาให้ยา Sodium nitrite และ โซเดียม ไทโอซัลเฟต ซ้ำอีก หลังจากการให้ยาครั้งแรกไปแล้วประมาณ 30 นาทีโดยอาจลดปริมาณยาทั้ง 2 ตัวเหลือเพียงครึ่งเดียว
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ให้ Sodium nitrite ในรูปสารละลายทางหลอดเลือดดำ ใช้ยาขนาด 4 - 10 มิลลิ กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ขนาดสูงสุดไม่เกิน 300 มิลลิกรัม, จากนั้นติดตามด้วยการให้ยาโซเดียม ไทโอซัลเฟต โดยใช้ยาขนาด 400 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมให้ในรูปสารละลาย ขนาดสูงสุดไม่เกิน 12.5 กรัม, และแพทย์อาจพิจารณาให้ยาซ้ำหลังจากการให้ยาครั้งแรกไปแล้ว 30 นาทีโดยอาจลดปริมาณยาลงครึ่งหนึ่ง
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาโซเดียม ไทโอซัลเฟต ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาโซเดียม ไทโอซัลเฟต อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรือกับอาหารเสริม ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
โซเดียม ไทโอซัลเฟต มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาโซเดียมไทโอซัลเฟต สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) เช่น
- กระสับกระส่าย
- ตาพร่า
- ประสาทหลอน
- กล้ามเนื้อเป็นตะคริว
- คลื่นไส้อาเจียน
- ท้องเสีย
- ความดันโลหิตต่ำ
- ปวดบริเวณข้อต่างๆของร่างกาย
- ปัสสาวะมาก
- อาจพบภาวะหูดับ
มีข้อควรระวังการใช้ โซเดียม ไทโอซัลเฟต อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ ยาโซเดียม ไทโอซัลเฟต เช่น
- ระวังการใช้ยา โซเดียม ไทโอซัลเฟต กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาตัวนี้
- ระวังการใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคตับแข็ง ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว ผู้ป่วยโรคไต สตรีที่ป่วยด้วยภาวะครรภ์เป็นพิษ
- ระวังการใช้ยานี้ ในสตรีมีครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโซเดียม ไทโอซัลเฟต ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
โซเดียม ไทโอซัลเฟต มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโซเดียม ไทโอซัลเฟต มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาโซเดียม ไทโอซัลเฟต ร่วมกับ ยารักษาโรคมะเร็ง/ยาเคมีบำบัดบางตัว เช่น ยาซิสพลาติน (Cisplatin) สามารถลดความเป็นพิษของยา Cisplatin ที่ทำให้ไตของผู้ป่วยเสียหาย การเลือกใช้ยาทั้งคู่ร่วมกันจะต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
ควรเก็บรักษา โซเดียม ไทโอซัลเฟต อย่างไร?
ควรเก็บยาโซเดียม ไทโอซัลเฟต :
- เก็บยาในช่วงอุณหภูมิระหว่าง 15 - 30 องศาเซลเซียส(Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และ ความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
โซเดียม ไทโอซัลเฟต มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโซเดียม ไทโอซัลเฟต มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Hyposulfene (ไฮโปซัลเฟน) | Torlan |
Sagofene (ซาโกเฟน) | Sagopha |
Sodium Thiosulfate - New Asiatic Pharm (โซเดียม ไทโอซัลเฟต นิว เอเชียติก ฟาร์ม) | New Asiatic Pharm |
Sodium Thiosulfate injection, USP (โซเดียม ไทโอซัลเฟต อินเจ็คชั่น, ยูเอสพี) | CANGENE bioPharma, Inc. |
Tiofene (ไทโอเฟน) DOMESCO | |
Vacosulfene (วาโคซัลเฟน) | Vacopharm |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Sodium_thiosulfate [2021,May8]
- https://www.drugs.com/sfx/sodium-thiosulfate-side-effects.html [2021,May8]
- https://www.drugs.com/cdi/sodium-thiosulfate.html [2021,May8]
- https://www.medsafe.govt.nz/profs/Datasheet/d/DBL-SodiumThiosulfateinj.pdf [2021,May8]
- https://www.mims.com/philippines/drug/info/sodium%20thiosulfate?mtype=generic [2021,May8]
- https://www.drugs.com/pro/sodium-thiosulfate-injection.html [2021,May8]