โซเดียมออกซีเบต (Sodium oxybate)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 23 สิงหาคม 2558
- Tweet
- บทนำ
- โซเดียมออกซีเบตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- โซเดียมออกซีเบตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- โซเดียมออกซีเบตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- โซเดียมออกซีเบตมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- โซเดียมออกซีเบตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้โซเดียมออกซีเบตอย่างไร?
- โซเดียมออกซีเบตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาโซเดียมออกซีเบตอย่างไร?
- โซเดียมออกซีเบตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep apnea)
- โรคลมหลับ หรือ ภาวะง่วงเกิน (Narcolepsy)
- บาร์บิทูเรต (Barbiturate)
- เอซีอี อินฮิบิเตอร์ (ACE inhibitor)
บทนำ
ยาโซเดียมออกซีเบต (Sodium oxybate) เป็นยาที่นำมาใช้รักษาอาการนอนหลับมากเกินปกติอย่างเช่น โรคลมหลับ บางประเทศในแถบยุโรปได้นำยานี้มารักษาอาการติดสุรา รูปแบบยาแผนปัจจุบันจะเป็นยาชนิดรับประทาน โดยมีการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ประมาณ 25% เมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 1% ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 0.5 - 1 ชั่วโมงในการกำจัดยาครึ่งหนึ่งจากที่ได้รับออกจากกระแสเลือด
ข้อควรทราบประการหนึ่งของยาชนิดนี้คือ มีฤทธิ์ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจช้าลงจนถึงหยุดเต้นได้แม้จะใช้ยาในขนาดของการรักษาก็ตาม การรับประทานยานี้พร้อมกับสุราหรือใช้ร่วมกับยานอนหลับใดๆก็อาจเป็นเหตุให้เกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) อย่างรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต (ตาย) ได้
ก่อนการจ่ายยานี้ให้กับผู้ป่วยแพทย์มักต้องสอบถามประวัติสุขภาพของผู้ป่วยอย่างละเอียดทั้งด้านโรคประจำตัว ใช้ยาหรือแพ้ยาประเภทใดบ้าง แพทย์อาจไม่จ่ายยาโซเดียมออกซีเบตให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
ระหว่างการใช้ยานี้ถ้าพบอาการหายใจช้าลง อาจมีอาการหอบหืดร่วมด้วย หรือมีอาการนอน กรนอย่างหนัก หรือเกิดอาการแพ้ยาเช่น ตัวบวม มีผื่นคันขึ้นเต็มตัว ผู้ป่วยต้องหยุดใช้ยานี้ทันทีแล้วกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉินเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
ยังมีข้อพึงระวังอีกหลายประการที่ไม่สามารถใช้ยาโซเดียมออกซีเบตได้เช่น
- มีภาวะ/โรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ (โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ)
- ผู้ที่มีปัญหาจากโรคปอด
- ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าและเคยคิดฆ่าตัวตาย
- ผู้ที่มีตับทำงานผิดปกติ
- ผู้ที่อยู่ในภาวะควบคุมเกลือโซเดียมของร่างกายเช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว
- ผู้ที่มีโรคความดันโลหิตสูง มีภาวะหัวใจล้มเหลว หรือมีปัญหาเกี่ยวกับโรคไต
- มีภาวะตั้งครรภ์หรือเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมของมารดา
จากข้อมูลเบื้องต้นทำให้ผู้บริโภคต้องตระหนักถึงความปลอดภัยของการใช้ยานี้ โดยไม่ซื้อหามารับประทานเอง แต่ต้องใช้ยาและปฏิบัติตัวตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาอย่างเคร่งครัด
โซเดียมออกซีเบตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาโซเดียมออกซีเบตมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น
- ใช้รักษาภาวะนอนหลับยาวนานมากเกินไปเช่น โรคลมหลับ (Narcolepsy)
- รักษาอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงอย่างกระทันหันอันมีสาเหตุถูกกระตุ้นด้วยอารมณ์บางอย่าง (ภาวะปวกเปียก: Cataplexy)
โซเดียมออกซีเบตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาโซเดียมออกซีเบตยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่หลังจากตัวยาถูกเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีไปเป็น Gamma-hydroxybutyric acid หรือ 4-hydroxybutanoic acid ย่อว่า GHB (สารในสมองที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ) จะก่อให้เกิดฤทธิ์ต่อตัวรับที่มีชื่อว่า GABAB (Gamma aminobutyric acid) receptor รวมถึง GHB receptor จนเกิดการเปลี่ยนแปลงสมดุลทางเคมีของสมองและของร่างกาย และเกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
โซเดียมออกซีเบตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาโซเดียมออกซีเบตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาน้ำชนิดรับประทานขนาด 0.5 กรัม/มิลลิลิตร
โซเดียมออกซีเบตมีขนาดรับประทานอย่างไร?
การใช้ยายาโซเดียมออกซีเบตต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ทั้งนี้รวมถึงขนาด ใช้ยาที่จะขึ้นกับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ ในที่นี้ขอยกตัวอย่างขนาดรับประทานสำหรับโรคลมหลับเช่น
- ผู้ใหญ่ที่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: เริ่มต้นรับประทาน 2.25 กรัมก่อนนอน และอีก 4 ชั่วโมงถัดมาให้รับประทานอีก 2.25 กรัม แพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดรับประทานอีก 1.5 กรัมทุกๆ 1 สัปดาห์ ขนาดรับประทานที่อยู่ในช่วงของการรักษาคือ 6 - 9 กรัม/คืน ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 9 กรัม/คืน
ทั้งนี้ควรรับประทานยานี้ในช่วงท้องว่าง และในบางสูตรตำรับของยาโซเดียมออกซีเบต ก่อนรับประทานต้องเจือจางด้วยน้ำ ซึ่งแพทย์/เภสัชกร/พยาบาลจะเป็นผู้แนะนำการเจือจางยานี้ด้วยน้ำได้อย่างถูกต้อง
- เด็กและผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางการศึกษาถึงขนาดยาและผลข้างเคียงจากยา นี้ในคนกลุ่มอายุนี้ที่แน่ชัด การใช้ยานี้ในคนกลุ่มนี้จึงต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
*****หมายเหตุ:
- ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาโซเดียมออกซีเบต ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและ เภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาโซเดียมออกซีเบตอาจส่งผลให้อาการของโรครุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาโซเดียมออกซีเบตสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้ เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
โซเดียมออกซีเบตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาโซเดียมออกซีเบตสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น
- อาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้แต่น้อย: เช่น มีอาการบวมที่ใบหน้า-แขน-มือ-เท้า น้ำหนักตัวเพิ่ม เท้าหรือมือมีอาการชา
- อาการข้างเคียงที่เกิดได้โดยไม่ทราบกลไกสาเหตุชัดเจน: เช่น มีอาการวิตกกังวล ตาพร่า เจ็บหน้าอก ปัสสาวะน้อย วิงเวียน หัวใจเต้นเร็ว มีไข้ ปวดศีรษะ เกิดผื่นคันตามร่างกาย ปวดข้อ ผิวแดง เหงื่อออกมาก แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก
- สำหรับผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด: จะพบอาการรู้สึกสับสน ซึมเศร้า ไม่สามารถครองสติได้ ง่วงนอนอย่างมาก ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระได้ พบเหงื่อออกมาก กล้ามเนื้ออ่อนแรง สูญเสียการทรงตัว หัวใจเต้นช้าหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาเจียน อ่อนเพลีย จนถึงขั้นโคม่า ซึ่งเมื่อพบอาการดังกล่าวต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้โซเดียมออกซีเบตอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้โซเดียมออกซีเบตเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
- ห้ามรับประทานยาพร้อมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ รวมถึงหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ร่วมกับยานอนหลับกลุ่มต่างๆ
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ
- การรับประทานยานี้อาจทำให้ผู้ป่วยหลับได้เร็วขึ้น ผู้ป่วยบางรายใช้เวลาประมาณ 5 นาทีก็หลับแล้ว บางราย 15 นาทีจึงหลับ อาจใช้เวลาในการหลับมากขึ้นหรือน้อยกว่านี้ขึ้นอยู่กับการตอบ สนองของร่างกายผู้ป่วยต่อยานี้ ภาวะหลับเร็วนี้อาจจะไม่เหมือนกันในแต่ละคืน
- หากรับประทานยานี้เกินขนาดควรรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลใกล้บ้านโดยเร็ว/ทันที/ฉุกเฉิน
- การรับประทานยานี้สามารถเว้นช่วงห่างกันได้ 2.5 - 4 ชั่วโมง อาจต้องใช้นาฬิกาปลุกเพื่อให้สัญญาณการรับประทานยาในมื้อถัดไป
- หากพบอาการนอนละเมอหลังใช้ยานี้ ให้นำผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง:
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโซเดียมออกซีเบตด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
โซเดียมออกซีเบตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโซเดียมออกซีเบตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- การใช้ยาโซเดียมออกซีเบตร่วมกับยาต่อไปนี้อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียง/ผลข้างเคียงของยาโซเดียมออกซีเบตมากยิ่งขึ้นเช่น ง่วงนอนมาก วิงเวียน ซึมเศร้า สับสน ความดันโลหิตต่ำ ยากลุ่มดังกล่าวเช่น Brompheniramine, Chlorpheniramine, Bupropion, Hydrocodone, Clozapine (ยาทางจิตเวช), Codeine หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยาโซเดียมออกซีเบตร่วมกับยา Pentobarbital (ยากลุ่ม Barbiturates), Diphen hydramine อาจเพิ่มความเสี่ยงที่รุนแรงเช่น กดการหายใจของผู้ป่วย (หายใจช้าถึงหยุดหายใจ) ความดันโลหิตต่ำ เป็นลม เกิดภาวะโคม่าจนถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุด ดังนั้นหากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาโซเดียมออกซีเบตร่วมกับยา Atenolol, Bisoprolol, Benazepril (ยากลุ่มเอซีอี อินฮิบิเตอร์) และ Reserpine อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำและพบอาการต่างๆเหล่านี้ร่วมด้วยเช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน เป็นลม อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาโซเดียมออกซีเบตอย่างไร?
สามารถเก็บยาโซเดียมออกซีเบตในอุณหภูมิห้องที่เย็น ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความ ชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
โซเดียมออกซีเบตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโซเดียมออกซีเบตที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Xyrem (ไซเรม) | UCB Pharma Ltd |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Sodium_oxybate [2015,Aug8]
- http://www.drugs.com/mtm/sodium-oxybate.html [2015,Aug8]
- http://www.xyrem.com/what-is-xyrem [2015,Aug8]
- http://www.xyrem.com/safety-information [2015,Aug8]
- http://www.drugs.com/drug-interactions/sodium-oxybate-index.html?filter=3&generic_only= [2015,Aug8]
- https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/17365 [2015,Aug8]