โซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนต (Sodium polystyrene sulfonate)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนต(Sodium polystyrene sulfonate หรือ Polystyrene sulfonate) เป็นสารประเภทพอลิสไตรีน(Polystyrene, สารที่ใช้ทำพลาสติก) ที่มีส่วนประกอบของเกลือโซเดียม และเกลือซัลเฟต(Sulfate,สารประกอบชนิดหนึ่งที่มักใช้ในอุตาสหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมยา)มาประกอบกัน ทางคลินิกนำมาใช้บำบัดอาการโพแทสเซียมในเลือดสูงเกินปกติ(Hyperkalaemia) ซึ่งตัวยามีกลไกการออกฤทธิ์โดยรวมตัวกับเกลือโพแทสเซียมจากอาหารภายในลำไส้ จึงช่วยยับยั้งการดูดซึมโพแทสเซียมเข้าสู่ร่างกาย และตัวยาที่รวมกับโพแทสเซียมจะถูกกำจัดทิ้งไปกับอุจจาระ

ยาโซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนต ใช้บำบัดอาการของผู้ป่วยโรคไต ที่มีภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูงได้เช่นกัน รูปแบบของยาแผนปัจจุบันของยานี้ จะเป็นยาน้ำแขวนตะกอนชนิดรับประทาน และยาสวนทวารหนัก(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “รูปแบบยาเตรียม”) ด้วยตัวยานี้ เป็นสารประกอบที่มีโมเลกุลใหญ่ จึงไม่สามารถถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ และจะถูกขับออก100%ทางอุจจาระ

ก่อนการใช้ยาโซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนต แพทย์จะต้องตรวจสอบร่างกายของผู้ป่วยอย่างละเอียดโดยใช้ข้อมูลสำคัญบางประการมาประกอบในการสั่งจ่ายยานี้ เช่น

  • ผู้ป่วยแพ้ยา และ/หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับของยาโซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนต หรือไม่
  • มีภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ หรือสูง
  • มีภาวะลำไส้ไม่ทำงานเนื่องจากเพิ่งรับการผ่าตัดช่องท้อง หรือมีภาวะท้องผูกรุนแรง ลำไส้อักเสบ หรือ ลำไส้อุดตัน หรือไม่
  • หากเป็นสตรี อยู่ในช่วงตั้งครรภ์ หรือมีภาวะให้นมบุตรหรือไม่
  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็กแรกเกิดด้วยการทำงานของอวัยวะในทางเดินอาหารยังไม่สมบูรณ์พอ
  • มีการใช้ยาชนิดอื่นใดอยู่ก่อนหน้านี้หรือไม่โดยเฉพาะยาแก้ท้องผูก/ยาระบาย อย่างเช่น ยา Magnesium hydroxide หรือ Sorbital
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่างที่สมควรต้องแจ้งแพทย์ก่อนใช้ยานี้ อาทิ ผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว โรคความดันโลหิตสูง ร่างกายมีภาวะขาดน้ำ มีเลือดในร่างกายน้อย/ภาวะโลหิตจาง มีระดับอิเล็กโทรไลต์(Electrolyte)ในเลือดต่ำ

การใช้ยาโซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนต อาจให้ได้ในสถานพยาบาล หรือในคลินิกของแพทย์ หรือการใช้ยานี้ที่บ้าน ซึ่งกรณีแพทย์ให้ใช้ยานี้ที่บ้าน ผู้ป่วยจะต้องได้รับการสอนวิธีใช้ยานี้ และทำตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง

โดยทั่วไป หลังการรับประทานยาโซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนต แพทย์จะนัดผู้ป่วยเข้ารับการตรวจทางห้องปฏิบัติการของสถานพยาบาล เพื่อตรวจวัดระดับเกลือโพแทสเซียมในเลือด และระดับอิเล็กโทรไลต์อื่นๆ รวมถึงการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ/ECG

หลังการใช้ยาโซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนต อาจพบผลข้างเคียงบางประการ เช่น เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ท้องเสีย อาเจียน

กรณีใช้ยาโซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนต เกินขนาด จะพบอาการ สับสน หงุดหงิด เวียนศีรษะ หัวใจเต้นผิดปกติ ปวดกล้ามเนื้อ เป็นตะคริว หายใจลำบาก เป็นต้น ซึ่งหากพบอาการเหล่านี้ ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลด่วน/ฉุกเฉิน

คณะกรรมการอาหารและยาของไทย ได้จัดให้ตัวยาโซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนตอยู่ในหมวดยาทั่วไป (Non dangerous drug) ไม่ได้อยู่ในกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ ยาเสพติด ยาควบคุมพิเศษ หรืออันตราย แต่การใช้ยานี้ได้อย่างปลอดภัย ก็ควรต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น

โซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนตมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

โซเดียมพอลิสไตรีนซัลโฟเนต

ยาโซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนตมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เพื่อ บำบัดภาวะมีโพแทสเซียมในเลือดสูง(Hyperkalaemia)

โซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาโซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนต มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะออกฤทธิ์ยึดจับโพแทสเซียมจากอาหารในลำไส้ จึงส่งผลยับยั้งการดูดซึมโพแทสเซียมเข้าสู่ร่างกายและตัวยาที่ยึดจับกับโพแทสเซียมนี้ จะถูกขับออกไปกับอุจจาระ ส่งผลบรรเทาภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูงได้ระดับหนึ่ง จากกลไกดังกล่าวทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

โซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ในประเทศไทย ยาโซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนต มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาผงสำหรับกระจายตัวในน้ำ/ยาน้ำแขวนตะกอนชนิดรับประทาน ขนาดความเข้มข้น 99.934 %

โซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนตมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาโซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนต มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

  • ผู้ใหญ่: ผสมผงยาโซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนต 15 กรัมกับน้ำสะอาดในปริมาณตามที่ระบุในเอกสารกำกับยา รับประทานวันละ 1- 4 ครั้ง หรือ ตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษา
  • เด็กที่ยกเว้นเด็กทารก: รับประทานวันละ 1 กรัม/ น้ำหนักตัว 1กิโลกรัม โดยแบ่งรับประทานตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษา

*อนึ่ง:

  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็กทารก
  • สามารถรับประทานยานี้ ก่อน หรือ หลังอาหาร ก็ได้

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิด รวมถึงยาโซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนต ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนต อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาโซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนต สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาโซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนต ตรงเวลา

โซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนต สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น มีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูกหรือท้องเสีย โพแทสเซียมในเลือดต่ำ แคลเซี่ยมในเลือดต่ำ มีภาวะคั่งโซเดียม/โซเดียมในเลือดสูงในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่อง

มีข้อควรระวังการใช้โซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนตอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ ยาโซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนต เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีอยู่ในช่วงตั้งครรภ์ หรืออยู่ในภาวะให้นมบุตร โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้กับทารกแรกเกิด
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • หยุดการใช้ยาโซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนต ทันที หากผู้ป่วยมีอาการแพ้ยานี้ แล้วรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคหัวใจล้มเหลว โรคความดันโลหิตสูง ผู้ที่ร่างกายมีภาวะขาดน้ำ ผู้ที่มีเลือดในร่างกายน้อย/ภาวะโลหิตจาง ผู้ที่มีระดับอิเล็กโทรไลต์(Electrolyte)ในเลือดต่ำ
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนตด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

โซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนต มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนต ร่วมกับยา Thyroxine/ Levothyroxine และ Lithium ด้วยอาจทำให้การดูดซึมยา Thyroxine และ Lithium น้อยลงไปจนขาดประสิทธิภาพในการบำบัดรักษา

ควรเก็บรักษาโซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนตอย่างไร?

ควรเก็บยาโซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนต ในช่วงอุณหภูมิ 15 – 30 องศาเซลเซียส(Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

โซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนตที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Resonium-A (เรโซเนียม-เอ) sanofi-aventis

อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ ในต่างประเทศ เช่น Kalexate, Kionex, Kayexalate, Marlexate

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Polystyrene_sulfonate [2016,July30]
  2. https://www.drugs.com/mtm/sodium-polystyrene-sulfonate.html [2016,July30]
  3. http://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/sodium-polystyrene-sulfonate-oral-route/description/drg-20073487 [2016,July30]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/resonium-a%20(kayexalate)/?type=brief [2016,July30]
  5. http://www.mims.com/thailand/drug/info/sodium%20polystyrene%20sulfonate/?type=brief&mtype=generic [2016,July30]