โซราฟีนิบ (Sorafenib)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโซราฟีนิบ(Sorafenib หรือ Sorafenib Tosylate) ทางคลินนิกใช้เป็นยารักษาโรคมะเร็งไต มะเร็งตับ และมะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดที่ไม่สามารถรักษาด้วยสารกัมมันตรังสีไอโอดีน/น้ำแร่รังสีไอโอดีน รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาโซราฟีนิบเป็นแบบรับประทาน ซึ่งทำให้สะดวกในการใช้กับผู้ป่วย ตัวยาจะออกฤทธิ์จำเพาะกับเซลล์ที่มีการแบ่งตัวเร็วอย่างเซลล์มะเร็ง แต่เซลล์ปกติของร่างกายที่มีการแบ่งตัวได้เร็ว อย่างเช่น ผิวหนัง เซลล์เยื่อเมือกในกระเพาะอาหารและลำไส้จึงได้รับผลกระทบ(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)จากยานี้ด้วยเช่นกัน โดยแสดงออกมาทางอาการข้างเคียงต่างๆ

ตัวยาโซราฟีนิบ จะมีเวลาอยู่ในร่างกายได้นานประมาณ 25–48 ชั่วโมงก่อนที่จะถูกกำจัดออกไปกับอุจจาระและปัสสาวะ

ระหว่างที่ได้รับยาโซราฟีนิบ แพทย์จะกำกับดูแลและเฝ้าระวังผลกระทบบางประการที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยดังต่อไปนี้ เช่น

  • เกิดภาวะหัวใจขาดเลือด หรือ อาการหัวใจล้มเหลว หากพบอาการดังกล่าว แพทย์จะหยุดหยุดใช้ยานี้
  • มีภาวะเลือดออกง่ายด้วยเกล็ดเลือดต่ำ ผู้ป่วยต้องหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เสี่ยงต่อ การบาดเจ็บและก่อให้เกิดแผลเปิดตามร่างกาย
  • เกิดกลุ่มอาการ Stevens-Johnson syndrome หรือมีอาการผิวหนังตายในบางบริเวณของร่างกาย กรณีนี้แพทย์จะหยุดการใช้ยานี้ทันที เช่นกัน
  • บางครั้งทางคลินิก พบว่ายาโซราฟีนิบอาจทำให้เกิด ภาวะกระเพาะอาหารทะลุ
  • ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นระยะๆตามคำสั่งแพทย์ ด้วยยานี้สามารถทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะได้
  • ยาโซราฟีนิบสามารถกระตุ้นให้เกิดภาวะตับอักเสบ ผู้ป่วยจึงต้องมารับการตรวจ สภาพตับ เช่น การตรวจเลือดดูค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ยานี้มีฤทธิ์กดการทำงานของฮอร์โมนต่อมใต้สมองที่ชื่อ TSH หรือ Thyroid-stimulating hormone ผู้ป่วยจึงมีความเสี่ยงต่อภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ/ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน แพทย์จึงจำเป็นต้องทำการตรวจระดับไทรอยด์ฮอร์โมนทุกเดือน

อนึ่ง สัญญาณหรือลักษณะทางร่างกายที่ผู้ป่วยสามารถใช้เป็นตัวบ่งบอกถึงอันตรายจากการใช้ยาโซราฟีนิบ และต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที มีดังต่อไปนี้

  • เกิดอาการ แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก เจ็บ/ปวดกราม-คอ-หลัง-แขนอย่างรุนแรง - มีไข้ตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียส(Celsius)ขึ้นไป ร่วมกับมีอาการหนาวสั่น
  • อาเจียนมากกว่า 4–5 ครั้งใน 24 ชั่วโมง
  • มีอาการท้องเสีย 4–6 ครั้งต่อวัน
  • พบเลือดในปัสสาวะ/ปัสสาวะเป็นเลือด หรือ อุจจาระเป็นเลือด
  • อ่อนเพลียมากจนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองหรือขยับร่างกายไป-มาได้
  • ท้องผูกอย่างรุนแรงและการใช้ยาระบาย/ยาแก้ท้องผูกที่แพทย์ให้มา ไม่เกิดประสิทธิผล
  • มีอาการติดเชื้อ สังเกตได้จากไอ มีเสมหะ หรือเจ็บ/ปวดขณะขับถ่ายปัสสาวะ

ยาโซราฟีนิบเป็นยารักษามะเร็งที่มีจำหน่ายในบ้านเรา คณะกรรมการอาหารและยาได้ระบุให้ยาชนิดนี้เป็นยาควบคุมพิเศษ และเป็นยาอันตรายร้ายแรง โดยต้องใช้ยานี้ภายใต้คำสั่งแพทย์แต่ผู้เดียว ซึ่งเราจะพบเห็นการใช้ยานี้ได้ตามสถานพยาบาลภายใต้ยาชื่อการค้าว่า “Nexavar”

โซราฟีนิบมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

โซราฟีนิบ

ยาโซราฟีนิบมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้รักษามะเร็งไต
  • รักษามะเร็งตับที่ไม่สามารถรักษาโดยวิธีการผ่าตัด
  • รักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดที่ไม่สามารถใช้สารกัมมันตรังสีไอโอดีน/ยาน้ำแร่รังสีไอโอดีนรักษาได้

โซราฟีนิบมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ตัวยาโซราฟีนิบมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ชื่อไคเนส(Kinase inhibitor) เอนไซม์นี้มีอยู่บริเวณผิวและภายในเซลล์มะเร็ง ทำให้เซลล์มะเร็งหยุดการแบ่งตัวและลดระดับการสร้างหลอดเลือดที่ใช้เป็นเส้นทางนำสารอาหารมาเลี้ยงตัวมัน ด้วยกลไกดังกล่าวทำให้เซลล์มะเร็งหยุดการเจริญเติบโตและตายลงในที่สุด

โซราฟีนิบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโซราฟีนิบมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ประกอบด้วยตัวยา Sorafenib ขนาด 200 มิลลิกรัม/เม็ด

โซราฟีนิบมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาโซราฟีนิบมีขนาดรับประทาน ดังนี้

  • ผู้ใหญ่: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยานี้ให้เป็นไปตามคำสั่งแพทย์แต่ผู้เดียว โดยรับประทานยานี้ขณะท้องว่าง และห้ามมิให้ผู้ป่วยปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • เด็ก: ทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลด้านขนาดยาและความปลอดภัยในการใช้ยานี้กับเด็ก

*หมายเหตุ:

1. การใช้ยานี้เพื่อรักษามะเร็งตับและมะเร็งไต แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานโดยพิจารณาจากอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น โดยมีแนวทางดังนี้

  • หากพบอาการชาตามปลายนิ้วมือ-นิ้วเท้า เกิดความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน ซึ่งไม่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน แพทย์จะไม่ปรับขนาดรับประทานแต่อย่างใด
  • กรณีพบอาการมือบวม-เท้าบวมร่วมกับมีอาการปวด หากอาการไม่ดีขึ้น ภายใน 7 วัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาลดลง กรณีที่ปรับขนาดรับประทานลดลงแล้ว อาการดังกล่าวยังไม่ดีขึ้นภายในสัปดาห์ที่ 4 แพทย์จะสั่งหยุดการใช้ยานี้
  • กรณีเกิดแผลพุพองตามมือ-เท้า และแพทย์ปรับขนาดการใช้ยาลดลง อาการก็ยังไม่ดีขึ้น แพทย์จะสั่งหยุดการใช้ยานี้

2. สำหรับการรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ แพทย์จะเริ่มใช้ขนาดยาที่สูงเพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง และจะปรับลดขนาดรับประทานลงมาเป็นลำดับตามดุลพินิจของแพทย์โดยดูจากการตอบสนองต่อยานี้ของผู้ป่วย

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโซราฟีนิบ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโซราฟีนิบอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

ผู้ป่วยต้องรับประทานยาโซราฟีนิบต่อเนื่องจึงจะเกิดประสิทธิผลของการรักษา กรณีลืมรับประทาน สามารถรับประทานยานี้ทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากรับประทานอาหารแล้วต้องเว้นระยะเวลาให้ห่าง 2 ชั่วโมงขึ้นไปแล้วจึงรับประทานยานี้ได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยานี้ในมื้อถัดไป ห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่า ให้รับประทานยานี้ที่ขนาดปกติ

โซราฟีนิบมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโซราฟีนิบสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้อาเจียน มีอาการท้องเสีย กระเพาะอาหารอักเสบ ท้องผูก ปากแห้ง ตับอ่อนอักเสบ กรดไหลย้อน
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ หูดับ เลือดออกในกะโหลกศีรษะ ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีภาวะผมร่วง ผื่นคัน เกิดแผลพุพอง ผิวหนังอักเสบ มีภาวะStevens-Johnson syndrome
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น ระดับแอลบูมินในเลือดต่ำ มีภาวะโลหิตจาง ระดับเกล็ดเลือดต่ำ มีภาวะเลือดออกง่าย
  • ผลต่อตับ: เช่น ตับอักเสบ ตับวาย
  • ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย: เช่น เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิล(Neutrophil)ต่ำ
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดข้อ ปวดกระดูก ปวดกล้ามเนื้อ
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจขาดเลือด หัวใจล้มเหลว ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ผลต่อไต: เช่น ไตวาย
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจขัด ไอ เสียงแหบ มีน้ำมูก
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น แคลเซียมในเลือดต่ำ/ในร่างกายต่ำ น้ำหนักตัวลด โซเดียมในเลือดต่ำ และโปแตสเซียมในเลือดต่ำ
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ซึมเศร้า
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น มีโปรตีนในปัสสาวะ ความรู้สึกทางเพศถดถอย
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น ไทรอยด์ฮอร์โมนอาจต่ำหรือสูงผิดปกติ

มีข้อควรระวังการใช้โซราฟีนิบอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโซราฟีนิบ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามปรับขนาดรับประทาน ต้องรับประทานยานี้ตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • ป้องกันการตั้งครรภ์ทั้งในสตรีและบุรุษขณะที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้รับยานี้
  • ปรับพฤติกรรมการดำรงชีวิตประจำวันตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร เช่น ไม่กระทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บเป็นแผลเลือดออก เลี่ยงการโดน แสงแดดจัดเป็นเวลานาน ล้างมือบ่อยครั้งขึ้น และไม่อยู่ในที่มีผู้คนแออัด
  • หากพบอาการ ท้องผูก หรือ ท้องเสีย ห้ามไปซื้อหายาใดๆมารับประทานเอง ต้องใช้ยาบรรเทาอาการเหล่านี้ตามที่แพทย์สั่งจ่ายเท่านั้น
  • ดื่มน้ำวันละ 2–3 ลิตรเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะขาดน้ำของร่างกาย รับประทานอาหารและพักผ่อนอย่างเพียงพอเพื่อให้ร่างกายฟื้นสภาพได้เร็วขึ้น
  • กรณีเกิดอาการข้างเคียงต่างๆ ให้รีบมาปรึกษาแพทย์ โดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษาได้อย่างเหมาะสมกับผู้ป่วย
  • มาพบแพทย/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ เพื่อรับการตรวจร่างกาย เช่น การตรวจเลือดดูค่า CBC ดูการทำงานของ ตับ ไต การติดเชื้อ และเพื่อดูความก้าวหน้าของการรักษามะเร็ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาโซราฟีนิบด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

โซราฟีนิบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโซราฟีนิบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามรับประทานยาโซราฟีนิบร่วมกับยา Crizotinib (ยารักษามะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต), Clozapine, Dolasetron, Sotalol, เพราะอาจทำให้มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา
  • ห้ามรับประทานยาโซราฟีนิบร่วมกับ ยาColchicine เพราะจะทำให้เกิดอาการข้างเคียงต่อระบบอวัยวะต่างๆในร่างกายได้อย่างรุนแรง เช่น กล้ามเนื้อ เลือด ประสาท ตับ และไต
  • ห้ามใช้ยาโซราฟีนิบร่วมกับยา Carbamazepine, Dexamethasone, Phenobarbital, Phenytoin, Rifampicin ด้วยจะทำให้ระดับยาโซราฟีนิบในกระแสเลือดลดลงจนส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการรักษา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโซราฟีนิบร่วมกับ ยาWarfarin เพราะจะทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่ายมากขึ้นตามมา

ควรเก็บรักษาโซราฟีนิบอย่างไร?

ควรเก็บยาโซราฟีนิบ ในช่วงอุณหภูมิ 15–30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

โซราฟีนิบมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโซราฟีนิบ มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Nexavar (เน็กซาวาร์) Bayer HealthCare Pharma

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Soranib

บรรณานุกรม

  1. http://chemocare.com/chemotherapy/drug-info/Sorafenib.aspx [2018,April21]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/sorafenib/?type=brief&mtype=generic [2018,April21]
  3. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2013/021923s016lbl.pdf [2018,April21]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Sorafenib [2018,April21]
  5. http://chemocare.com/chemotherapy/what-is-chemotherapy/targeted-therapy.aspx [2018,April21]
  6. https://www.drugs.com/sfx/nexavar-side-effects.html [2018,April21]
  7. https://www.drugs.com/nexavar.html [2018,April21]
  8. https://www.drugs.com/drug-interactions/sorafenib,nexavar-index.html?filter=3&generic_only= [2018,April21]