โซมาโทรปิน (Somatropin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 4 เมษายน 2560
- Tweet
- บทนำ
- โซมาโทรปินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- โซมาโทรปินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- โซมาโทรปินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- โซมาโทรปินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?
- โซมาโทรปินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้โซมาโทรปินอย่างไร?
- โซมาโทรปินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาโซมาโทรปินอย่างไร?
- โซมาโทรปินมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคต่อมไร้ท่อ โรคระบบต่อมไร้ท่อ (Endocrine disease)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบต่อมไร้ท่อ (Anatomy and physiology of endocrine system)
- อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (Adverse Drug Reaction)
- ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)
- มะเร็ง (Cancer)
บทนำ
ยาโซมาโทรปิน(Somatropin หรือ Somatotropin หรือ Growth hormone หรือ Human growth hormone ย่อว่า hGH หรือ HGH) เป็นฮอร์โมนที่ทำให้เกิดการเจริญเติบโตของมนุษย์(Human growth hormone/ฮอร์โมนการเจริญเติบโต) โดยจะทำหน้าที่กระตุ้นการสร้างมวลกระดูกและเซลล์กล้ามเนื้อ การขาดฮอร์โมนชนิดนี้จะทำให้ร่างกายของเด็กแคระแกร็นหรือเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ ทางคลินิกจึงนำยาโซมาโทรปินมาใช้รักษาเด็กที่มีภาวะพร่องฮอร์โมนชนิดนี้ นอกจากนี้ยังใช้รักษาผู้ใหญ่ที่ร่างกายสร้างฮอร์โมนเจริญเติบโตได้น้อย ยังมีผู้ป่วยอีกหลายกลุ่มที่อาจต้องใช้ตัวยาโซมาโทรปินมาช่วยบำบัดอาการโรคประจำตัวของตนเอง เช่น โรคไตเรื้อรัง ผู้ป่วยที่มีภาวะ Noonan syndrome(โรคจากความผิดปกติทางพันธุกรรมที่พบได้น้อยมาก ที่ทำให้อวัยวะต่างๆเจริญเติบโตไม่ได้), Turner syndrome(โรคทางพันธุกรรมเกิดเฉพาะในสตรีที่พบได้น้อยมาก ที่มีความผิดปกติของโครโมโซมX จึงทำให้ร่างกายเจริญเติบโตไม่ได้) , Prader-willi syndrome (โรคทางพันธุกรรมที่พบได้น้อยมากที่ทำให้เด็กเจริญเติบโตไม่ได้ตั้งแต่เกิด) บางกรณี ยาโซมาโทรปิน ยังถูกนำมาใช้รักษาผู้ป่วยโรคเอดส์ที่มีน้ำหนักตัวลดลงอย่างรุนแรงอีกด้วย
การผลิตยาโซมาโทรปินในอุตสาหกรรมยา จะต้องอาศัยวิธีการตัดแต่งทางพันธุวิศวกรรม โดยนักวิทยาศาสตร์จะนำยีน/จีนหรือสารพันธุกรรมที่ควบคุมการผลิตฮอร์โมนเจริญเติบโตของมนุษย์(HGH)มาต่อกับพลาสมิด (Plasmid) ซึ่งเป็นสารพันธุกรรมขนาดเล็กของเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ E.Coli(Escherichia coli) จากนั้นจะทำการเพาะเลี้ยงแบคทีเรียที่ได้รับการตัดแต่งพันธุกรรม และคอยเก็บเกี่ยวฮอร์โมนโซมาโทรปินที่ได้จากเชื้อE.Coli มาผลิตเป็นยาโซมาโทรปิน
ยาโซมาโทรปิน มีข้อจำกัดของการใช้งานและข้อควรระวังอยู่หลายกรณี ซึ่งพอจะสรุปเป็นข้อๆได้ดังนี้
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยาโซมาโทรปินกับผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ที่มีปัญหาการมองเห็นด้วยโรคเบาหวาน ผู้ที่มีปัญหาของระบบการหายใจอย่างรุนแรง เช่น ผู้ป่วยด้วยปอดทำงานล้มเหลว รวมถึงผู้ที่เพิ่งได้รับการผ่าตัดใหญ่มาใหม่ๆ
- กรณีใช้ยาโซมาโทรปินแล้วมีอาการปวดตารุนแรง การมองเห็นภาพเปลี่ยนแปลง คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บที่เข่าหรือที่สะโพก ปวดหู ตัวบวม อาการชามือ-นิ้ว ปวดท้อง และมีอาการปวดกระจายไปด้านหลัง หัวใจเต้นเร็ว กระหายน้ำมาก ปัสสาวะมาก หิวมาก ปากแห้ง ลมหายใจมีกลิ่นเหมือนผลไม้ ง่วงนอน ผิวแห้ง ตาพร่า น้ำหนักตัวลด หากพบอาการเหล่านี้ ให้ตั้งสมมติฐานว่าผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ของยาโซมาโทรปิน และต้องรีบนำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- *กรณีที่ผู้ป่วยได้รับยาโซมาโทรปินเกินขนาด อาจสังเกตได้จากอาการ ตัวสั่น ตัวเย็นแต่เหงื่อออกมาก หิวอาหารมาก ปวดศีรษะ ง่วงนอน อ่อนแรง วิงเวียน หัวใจเต้นเร็ว คลื่นไส้ และการได้รับยาโซมาโทรปินเกินขนาดติดต่อกันเป็นเวลานานจะก่อให้เกิดภาวะการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ เพื่อเป็นการป้องกันภาวะดังกล่าว หากเกิดความผิดปกติใดๆหลังได้รับยาโซมาโทรปิน ควรรีบนำผู้ป่วยมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว
ผู้ป่วยที่ต้องรับการรักษาด้วยยาโซมาโทรปิน จะต้องได้รับการตรวจร่างกายเสียก่อนว่า ตนเองมีภาวะพร่องฮอร์โมนเจริญเติบโต และไม่ป่วยด้วยโรคบางประเภทดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
ยาโซมาโทรปินที่มีใช้อยู่ตามสถานพยาบาลต่างๆ จะเป็นรูปแบบของยาฉีดแทบทั้งสิ้น และถูกจัดอยู่ในหมวดยาควบคุมพิเศษ ซึ่งการจะใช้ยานี้ต้องมีคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น การรับบริการด้วยการฉีดยาโซมาโทรปิน ผู้ป่วยจะต้องมาพบแพทย์ที่สถานพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง ประกอบกับต้องติดตามความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย หรือความเป็นไปของอาการโรคที่ควรทุเลาลง และทำให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติ
หากผู้บริโภค/ผู้ป่วย ต้องการทราบข้อมูลการใช้ยาโซมาโทรปินเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้จากแพทย์ผู้ที่ทำการรักษา หรือสอบถามจากเภสัชกรได้โดยทั่วไป
โซมาโทรปินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาโซมาโทรปินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
ก. ในผู้ใหญ่:
- ใช้บำบัดภาวะพร่องฮอร์โมนเจริญเติบโต(Adult humen growth hormone deficiency)
- บำบัดกลุ่มอาการลำไส้สั้น (Short bowel syndrome) โดยตัวยาจะทำให้ลำไส้เล็กส่วนที่เหลือจากการผ่าตัดออก มีการดูดซึมน้ำและอาหารได้ เป็นไปอย่างปกติ
- บำบัดภาวะผอมหนังหุ้มกระดูก (Cachexia)
ข. ในเด็ก:
- บำบัดภาวะร่างกายพร่องฮอร์โมนเจริญเติบโต (Pediatric growth hormone deficiency)
- รักษาภาวะTurner’s syndrome
- รักษาภาวะเจริญเติบโตช้าด้วยผู้ป่วยมีภาวะโรคไตเรื้อรัง
- รักษาภาวะNoonan’s syndrome
- บำบัดภาวะผอมหนังหุ้มกระดูก (Cachexia)
โซมาโทรปินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ฮอร์โมนโซมาโทรปินที่ใช้เป็นยา คือ ฮอร์โมนที่ผลิตโดยแบคทีเรีย E.Coli ซึ่งได้รับการตัดต่อพันธุกรรมมาแล้ว ตัวยามีกลไกการออกฤทธิ์ต่อกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพในเซลล์ร่างกายมนุษย์ โดยสามารถแจกแจงเป็นรายละเอียดดังนี้
- เพิ่มปริมาณการสะสมแคลเซียมของมวลกระดูก ทำให้กระดูกยืดยาว และมีการเจริญเติบโตอย่างปกติ
- ช่วยสร้างเซลล์กล้ามเนื้อซึ่งต้องสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตของร่างกายอย่างเหมาะสม
- สนับสนุนกระบวนการสลายไขมันเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ต่อร่างกาย
- ช่วยเร่งกระบวนการสังเคราะห์โปรตีนในร่างกาย
- กระตุ้นการเจริญเติบโตของอวัยวะต่างๆในร่างกายอย่างมีความสัมพันธ์กัน แต่ยาโซมาโทรปินไม่ได้ส่งผลกระตุ้นการเจริญเติบโตของสมองโดยตรง
- สร้างความสมดุลของการทำงานในระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น ควบคุมอุณหภูมิของร่างกายให้เป็นปกติ สร้างสมดุลของน้ำและเกลือแร่ สมดุลความเป็นกรด-ด่าง ควบคุมความดันโลหิตให้เป็นไปอย่างปกติ เป็นต้น
- ลดการดูดเก็บน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่ตับ
- สนับสนุนการผลิตน้ำตาลกลูโคสในตับโดยไม่ใช้คาร์โบไฮเดรตเป็นสารตั้งต้น แต่จะใช้กรดอะมิโนหรือไขมันเป็นสารตั้งต้นแทน
- ช่วยทำให้เซลล์ของตับอ่อน (Pancreatic is lets) ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนที่ เป็นประโยชน์ต่อร่างกายได้เป็นปกติ
- กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน/ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายให้ทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ
- ช่วยเพิ่มกระบวนการกำจัดไอโอดีนในไทรอยด์ฮอร์โมนชนิด T4 เพื่อเปลี่ยนไปเป็นชนิด T3
จากหน้าที่/กลไกดังที่กล่าวมาทั้งหมดซึ่งเกิดขึ้นในร่างกายจากยาโซมาโทรปินอย่างเหมาะสมนั้น จึงเป็นเหตุให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาได้ตามสรรพคุณ
โซมาโทรปินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาโซมาโทรปินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาฉีดที่ประกอบด้วย Somatropin 10 มิลลิกรัม/1.5 มิลลิลิตร หรือ 30 ยูนิตสากล/ขวด
- ยาฉีดที่ประกอบด้วย Somatropin 5 มิลลิกรัม/1.5 มิลลิลิตร หรือ 15 ยูนิตสากล/ขวด
- ยาฉีดชนิดผงปราศจากเชื้อที่มีส่วนประกอบของ Somatropin ขนาด 4 ยูนิตสากล/ขวด
โซมาโทรปินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาโซมาโทรปินมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
ก.สำหรับภาวะพร่องฮอร์โมนเจริญเติบโต:
- ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง แต่ห้ามเกิน 0.004 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/สัปดาห์ โดยแบ่งการฉีดตามคำสั่งแพทย์
- เด็กอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป: ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังขนาด 0.024–0.034 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน และอาจต้องใช้ยา 6–7 ครั้ง/สัปดาห์ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
ข.สำหรับภาวะผอมหนังหุ้มกระดูก:
- ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังขนาด 0.1 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ1ครั้ง ก่อนนอน ขนาดสูงสุดของการฉีดยาไม่เกิน 6 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กอายุตั้งแต่ 2ปีขึ้นไป: ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังขนาด 0.04–0.07 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ1ครั้ง
อนึ่ง:
- เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี: ห้ามใช้ยานี้
- ความถี่ของการนัดหมายให้ผู้ป่วยมารับการฉีดยานี้ จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์เพื่อรับการฉีดยาตามนัดหมายทุกครั้ง
- มีข้อห้ามให้ยาโซมาโทรปินกับโรคประจำตัวบางประเภท ผู้ป่วยต้องแจ้งให้แพทย์ พยาบาล ทราบทุกครั้งที่เข้ารับการรักษาว่า ตนเองมีโรคประจำตัวอะไรอยู่บ้าง
- การใช้ยานี้กับเด็กที่ป่วยด้วยโรคไตเรื้อรัง จะต้องถูกปรับขนาดการใช้ยา ลดลงโดยเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษา
- เรียนรู้เรื่องผลลัพท์ ผลข้างเคียง จากการใช้ยาโซมาโทรปินเพื่อเป็น ประโยชน์ต่อตนเองในการให้ข้อมูลและแจ้งผลการรักษากับ แพทย์ พยาบาล
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโซมาโทรปิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคมะเร็ง มีบาดแผลจากการผ่าตัด โรคเบาหวาน โรคไต โรคหืด รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโซมาโทรปินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?
กรณีลืมมารับการให้ยาโซมาโทรปิน ให้ผู้ป่วยแจ้ง แพทย์ พยาบาล เพื่อนัดหมายมารับการฉีดยาโซมาโทรปินโดยเร็ว
โซมาโทรปินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาโซมาโทรปินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาว เกิดภาวะEosinophilia(เม็ดเลือดขาวชนิดEosinophil สูง)
- ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น มีภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ/ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คออักเสบ คลื่นไส้ กระเพาะอาหารอักเสบ ปวดท้อง กินจุ ตับอ่อนอักเสบ
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน ปวดศีรษะ ความดันในกะโหลกศีรษะสูง เกิดอาการชัก
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น เกิดความดันโลหิตสูง
- ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับชนิด Aspartate aminotransferase ในเลือดสูงขึ้น และ/หรือมีเอนไซม์การทำงานของตับชนิด Alanine Aminotransferase ในเลือดเพิ่มขึ้น
- ผลต่อไต: เช่น มีน้ำตาลในปัสสาวะ ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีเหงื่อออกมาก เกิดผื่นคัน เกิดสิว
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น โรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
- ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำตาลในเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง เต้านมโตในผู้ชาย/ผู้ชายมีเต้านม เจ็บเต้านม
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ กระดูกสันหลังคด ข้อเสื่อม ปวดขา ปวดสะโพก
- ผลต่อตา: เช่น บวมรอบๆเบ้าตา ตาพร่า
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น โรคติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนต้น เยื่อจมูกอักเสบ หลอดลมอักเสบ ไอ หยุดหายใจขณะนอนหลับ ทอนซิลอักเสบ ไซนัสอักเสบ
มีข้อควรระวังการใช้โซมาโทรปินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาโซมาโทรปิน เช่น
- ห้ามใช้โซมาโทรปินกับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ หรือ แพ้ส่วนประกอบของยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับการผ่าตัดหัวใจ ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดช่องท้อง ผู้ที่มีภาวะการหายใจล้มเหลว
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ เด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี รวมถึงผู้สูงวัยที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น ยาตกตะกอนแข็ง สียาเปลี่ยนไป
- หากพบอาการผิดปกติหลังได้รับยาโซมาโทรปิน เช่น ปวดศีรษะ เจ็บหน้าอก/ แน่นหน้าอก เกิดผื่นคัน หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ให้สันนิษฐานว่าเกิดอาการแพ้ยาขึ้นแล้ว ต้องรีบพบแพทย์/แจ้งแพทย์/พยาบาล/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง เพื่อรับการให้ยาและดูความก้าวหน้าของการรักษาจากแพทย์
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาฮอร์โมนโซมาโทรปินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
โซมาโทรปินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโซมาโทรปินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาโซมาโทรปินร่วมกับ ยาฮอร์โมนคุมกำเนิด เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด (อย่างเช่น Estrogens) ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาหรือการออกฤทธิ์ของยาโซมาโทรปินต่ำลง
- การใช้ยาโซมาโทรปินร่วมกับยา Bexarotene สามารถเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดตับอ่อนอักเสบ หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยาโซมาโทรปินร่วมกับยา Levomethadyl acetate/ Levacetylmethadol อาจเป็นเหตุให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ กรณีที่ต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาโซมาโทรปินร่วมกับยา Tadalafil ด้วยยาโซมาโทรปินสามารถทำให้ระดับยา Tadalafil ในกระแสเลือดต่ำลงจนส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา Tadalafil หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป
ควรเก็บรักษาโซมาโทรปินอย่างไร?
สามารถเก็บยาโซมาโทรปิน ภายใต้อุณหภูมิ 15–30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
โซมาโทรปินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโซมาโทรปิน ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Eutropin (ยูโทรปิน) | LG Life Sciences |
GenHeal (เจนฮิล) | Great Eastern |
SciTropin A (ไซโทรปิน เอ) | SciGen |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Hhumatrope, Genotropin, Humatrope, Norditropin, Nutropin, Serostim, Zorbtive, Lg Eutropin, Saizen, Norditropin nordilet
บรรณานุกรม
- https://www.drugs.com/mtm/somatropin.html[2017,March18]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Growth_hormone[2017,March18]
- http://www.biotecharticles.com/Biotechnology-products-Article/Production-of-Recombinant-Human-Growth-Hormone-Somatotropin-367.html[2017,March18]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/somatropin/?type=brief&mtype=generic[2017,March18]
- https://www.drugs.com/dosage/somatropin.html[2017,March18]