โซนิซาไมด์ (Zonisamide)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโซนิซาไมด์ (Zonisamide) เป็นยารักษาโรคลมชักที่อยู่ในกลุ่ม Carbonic anhydrase inhibitor และกำลังถูกนำไปวิจัยทางคลินิกเพิ่มเติมเพื่อใช้รักษาโรคพาร์กินสัน ใช้เป็นยาลดน้ำหนัก รักษาไมเกรน และอาการซึมเศร้าแบบไบโพลาร์/อารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder) ซึ่งคงต้องรอเรื่องบทสรุปเพิ่มเติมในอนาคต

การออกฤทธิ์ของยาโซนิซาไมด์จะเกิดที่สมอง โดยยาจะลดการนำกระแสไฟฟ้าของกระแสประสาทที่ผิดปกติ และในการรักษาปกติแพทย์จะเริ่มรักษาโดยใช้ยาขนาดต่ำก่อน จากนั้นจะค่อยๆปรับขนาดการใช้เพิ่มขึ้นประมาณทุกๆ 1 - 2 สัปดาห์จนกระทั่งการตอบสนองของผู้ป่วยออกมาเป็นที่น่าพอใจ ในทางปฏิบัติอาจมีการบริหารยาที่แตกต่างออกไปจากนี้ก็ได้

ยาโซนิซาไมด์อาจทำให้ผู้รับประทานยานี้มีอารมณ์เปลี่ยนแปลงไปบ้าง การหยุดรับประทานยานี้เองโดยไม่ได้มีการปรึกษาแพทย์อาจทำให้อาการของโรคลมชักกลับมาอีก นอกจากนั้นเพื่อหลีก เลี่ยงอาการถอนยา เมื่อจะหยุดใช้ยานี้ แพทย์จะค่อยๆปรับลดขนาดการใช้ยานี้ให้กับผู้ป่วยเองอย่างเหมาะสม

รูปแบบของยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทาน ด้วยสามารถดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้เกือบ 100% ตัวยานี้ยังสามารถผ่านรกและเข้าในน้ำนมของมารดาได้

ยาโซนิซาไมด์เมื่ออยู่ในกระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีน 40 - 50% ก่อนที่จะลำเลียงไปเผาผลาญที่ตับ ร่างกายต้องใช้เวลาถึงประมาณ 63 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือดและผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้กำหนดให้ยานี้เป็นยาควบคุมพิเศษ ต้องใช้โดยมีใบสั่งจากแพทย์ เราจึงพบเห็นการใช้ยานี้เฉพาะในสถานพยาบาลเท่านั้น และไม่ค่อยมีจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป

โซนิซาไมด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

โซนิซาไมด์

ยาโซนิซาไมด์มีสรรพคุณรักษาโรคลมชักเช่น ลมชักชนิดเฉพาะที่ (Partial seizures)

โซนิซาไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาโซนิซาไมด์คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์โดยปรับระดับศักย์ไฟฟ้าจากประ จุของเกลือโซเดียมและเกลือแคลเซียมในเซลล์สมองที่ส่งผลต่อการทำงานของกระแสประสาทในสมองให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ด้วยกลไกดังกล่าวทำให้เกิดฤทธิ์ยับยั้งอาการของโรคลมชักติดตามมา

โซนิซาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

สำหรับประเทศไทยยาโซนิซาไมด์มีการจำหน่ายเป็นยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 100 มิลลิ กรัม/เม็ด

โซนิซาไมด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาโซนิซาไมด์มีขนาดรับประทานดังนี้เช่น

ก. สำหรับรักษาโรคข้อรูมาตอยด์:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานเริ่มต้น 50 มิลลิกรัม/วันโดยแบ่งรับประทานเป็น 2 ครั้ง จากนั้นอีกประ มาณ 1 - 2 สัปดาห์ แพทย์จะดูการตอบสนองต่อยานี้ของผู้ป่วยและอาจปรับขนาดรับประทานเป็น 100 มิลลิกรัม/วัน โดยขนาดรับประทานปกติจะอยู่ในช่วง 300 - 500 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดถึงขนาดยานี้ที่ใช้ในเด็ก ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็กจึงขึ้นกับแพทย์ผู้ให้การรักษา

* อนึ่ง สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้

*****หมายเหตุ:

  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถทดแทนคำสั่งการใช้ยาของแพทย์ได้ การบริหารยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาโซนิซาไมด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาโซนิซาไมด์อาจส่งผลให้อาการ ของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาโซนิซาไมด์สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับ การรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

โซนิซาไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโซนิซาไมด์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น ปวดท้อง เบื่ออาหาร ท้องเสีย คลื่นไส้ วิงเวียน ปวดศีรษะ ตากระตุก ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน รู้สึกสับ สน อาจขาดการควบคุมสติ/ไม่มีสมาธิ ความจำเสื่อม พูดไม่ชัด (Slurred speech) ซึมเศร้า นอนไม่หลับ มีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์/อารมณ์แปรปรวน อ่อนเพลีย น้ำหนักลด อาจพบผื่นคันตามผิว หนัง เหงื่อออกน้อยลง เกิดนิ่วในไต ตับอ่อนอักเสบ ไปจนกระทั่งมีอาการกล้ามเนื้อลายสลาย/บาด เจ็บรุนแรง (Rhabdomyolysis)

สำหรับผู้ที่รับประทานโซนิซาไมด์เกินขนาดจะมีอาการหัวใจเต้นช้า ความดันโลหิตต่ำ หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก หากพบอาการดังกล่าวต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน ซึ่งแพทย์จะให้การรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น และอาจใช้การล้างท้องถ้าเพิ่งรับประทานยาเพราะอาจลดการดูดซึมของยาได้ระดับหนึ่ง

มีข้อควรระวังการใช้โซนิซาไมด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาซัลฟาซาลาซีนดังนี้เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานหรือหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเองโดยเด็ดขาด
  • ระวังการใช้ยานี้กับเด็กและสตรีตั้งครรภ์
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ โรคไต
  • ระหว่างการรับประทานยานี้ต้องดื่มน้ำให้มากอย่างเพียงพอเพื่อป้องกันการเกิดนิ่วในไต
  • หากพบอาการผื่นคันตามร่างกายให้หยุดการใช้ยานี้ทันทีแล้วรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล
  • ระหว่างการใช้ยานี้ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่อง จักรต่างๆเพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย จากผลข้างเคียงของยาที่ทำให้เกิดอาการวิงเวียนและขาดสมาธิ
  • การรักษาโรคลมชักด้วยยาโซนิซาไมด์ แพทย์จะคอยตรวจเลือดเพื่อควบคุมดูแลการทำงานของตับอ่อน ไต รวมถึงกล้ามเนื้อเช่น Creatinine (ดูการทำงานของไต), Creatine phosphokinase (CPK, ดูการทำงานของกล้ามเนื้อ), Aldolase (ดูการทำงานของกล้ามเนื้อ), Pancreatic lipase และ Amylase (ดูการทำงานของตับอ่อน) ให้เป็นปกติอยู่ตลอดเวลา
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโซนิซาไมด์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

โซนิซาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโซนิซาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้เช่น

  • การใช้ยาโซนิซาไมด์ร่วมกับยา Atropine, Chlorpheniramine, Triprolidine (ยาแก้แพ้), Orphenadrine, Brompheniramine จะทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้น มีการหลั่งเหงื่อน้อยลง อาจ พบอาการวิงเวียน ง่วงนอนมากร่วมด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงอาการดังกล่าวจึงไม่ควรใช้ยาทั้ง 2 กลุ่มนี้ร่วม กัน
  • การใช้ยาโซนิซาไมด์ร่วมกับยา Nelfinavir/ยาต้านไวรัส และ Clarithromycin อาจทำให้ระ ดับยาโซนิซาไมด์ในร่างกายเพิ่มขึ้นจนทำให้เกิดผลข้างเคียงติดตามมาได้ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาโซนิซาไมด์ร่วมกับยา Hydrocodone/ยาแก้ปวดกลุ่ม Opioid อาจนำมาซึ่งอาการ วิงเวียน ง่วงนอน การครองสติทำได้ยาก หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการ ขับขี่รถยนต์และการทำงานกับเครื่องจักร
  • การใช้ยาโซนิซาไมด์ร่วมกับยา Prednisolone อาจทำให้ระดับยาโซนิซาไมด์ในกระแสเลือดลดต่ำลงและส่งผลต่อประสิทธิภาพในการรักษา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับ ประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษาโซนิซาไมด์อย่างไร?

ควรเก็บยาโซนิซาไมด์ภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

โซนิซาไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโซนิซาไมด์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Zonegran (โซเนกราน) Eisai

 

บรรณานุกรม

1 http://en.wikipedia.org/wiki/Zonisamide [2015,June6]
2 http://www.mims.com/USA/drug/info/zonisamide/?type=full&mtype=generic#Dosage [2015,June6]
3 http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Zonegran/?type=BRIEF [2015,June6]
4 http://www.drugs.com/cons/zonisamide.html [2015,June6]
5 http://www.drugs.com/drug-interactions/zonisamide-index.html?filter=3&generic_only= [2015,June6]