โคเคน (Cocaine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

โคเคน (Cocaine) คือยาเสพติด/สารเคมีประเภทTropane alkaloid ทางการแพทย์นำมาใช้เป็นยาชาเฉพาะที่ เช่น กรณีทำหัตการทางการแพทย์ในช่องปากและผู้ป่วยไม่สามารถใช้ยาชาชนิดอื่นได้ เช่น แพ้ยาชานั้นๆ

โคเคนพบได้จากใบของต้นโคคา(Coca) ถูกค้นพบครั้งแรกในแถบอเมริกาใต้ ตามกฎหมายไทยระบุให้เป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 ดังนั้นการนำโคเคนมาใช้ทางการแพทย์จึงต้องอยู่ในการควบคุมของกฎหมายยาเสพติดให้โทษ

โคเคนมีฤทธิ์กระตุ้นสมองอย่างแรง ในระยะสั้นทำให้รู้สึกสนุกและมีแรง แต่สิ่งสำคัญหลัง การใช้โคเคนที่ไม่ได้เป็นการรักษาจากแพทย์จะทำให้เกิดการเสพติด ซึ่งวิธีการเสพโคเคนมีทั้งสูด ดมผ่านทางจมูก หรือละลายน้ำแล้วฉีดเข้าร่างกาย

มีการศึกษาเรื่องการกระจายตัวของโคเคนในร่างกายพบว่า โคเคนถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ประมาณ 30% ผ่านจากเนื้อเยื่อในโพรงจมูกโดยการสูดพ่นประมาณ 25 - 43% เมื่อโคเคนเข้าสู่กระแสเลือดก็จะถูกลำเลียงไปที่ตับเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมี ปกติร่างกายจะใช้เวลาอย่างต่ำประมาณ 1 ชั่วโมงเพื่อกำจัดปริมาณโคเคน 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

ผู้เสพติดที่นิยมฤทธิ์ของโคเคน อาจไม่เคยทราบว่าผลเสียที่มีต่อร่างกายนั้นมากมายจน ถึงขั้นตายได้ทีเดียว อาการหลังจากที่ร่างกายได้รับโคเคน เริ่มจากหลอดเลือดเกิดการหดตัวซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความดันโลหิตสูง และหัวใจต้องทำงานหนัก (จนหยุดเต้นถึงขั้นตายได้), รูม่านตาขยายจนอาจเป็นอันตรายต่อประสาทตา, อุณหภูมิร่างกายเพิ่มสูงขึ้น, มีอาการปวดท้อง, คลื่นไส้,

การใช้โคเคนเป็นเวลานานๆจะทำให้เบื่ออาหารและทำให้สุขภาพทรุดโทรม ระดับความรุนแรงที่สุดของโคเคนจะทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว/ หัวใจวาย และถึงขั้นตายในเวลาต่อมา

นอกจากนี้ ผู้เสพโคเคนโดยวิธีฉีด จะมีความเสี่ยงจากการใช้เข็มร่วมกันโดยอาจได้รับเชื้อ เอชไอวี (HIV) และ/หรือโรคไวรัสตับอักเสบบี และ/หรือโรคไวรัสตับอักเสบซี หรือโรคอื่น ๆที่ติดต่อโดยผ่านมากับเลือด

ผลกระทบด้านอื่นๆอันเกิดจากการเสพโคเคนที่ยังพบเห็นได้อีก เช่น การดมกลิ่น/การได้กลิ่นเสียไป, มีเลือดออกเรื้อรังที่จมูก, กลืนลำบาก, หากเสพต่อเนื่องอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งได้หลายชนิด เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งลำไส้ใหญ่

นอกจากนี้ผลข้างเคียงที่พบเห็นได้บ่อยคือ อาการชักเกร็งขณะฉีดโคเคน, การใช้โคเคนร่วมกับการดื่มเหล้าหรือใช้ร่วมกับเฮโรอีนจะก่อให้เกิดอันตรายอย่างมากต่อร่างกายจนถึงขั้นเกิดการตายได้, ตัวร้อนผ่าว, ร่วมกับความดันโลหิตสูงอย่างมาก, จากนั้นจะเกิดอาการ หัวใจเต้นผิดจังหวะ, และตายในที่สุด, กล่าวได้ว่า ผู้เสพโคเคนแม้เพียงครั้งแรกก็สามารถเสพติดสารนี้หรืออาจตายได้แล้ว

สำหรับทางการแพทย์ ได้ใช้โคเคนเป็นยาชาเฉพาะที่เพื่อลดอาการเจ็บปวดจากหัตถการทางการแพทย์ เช่น การผ่าตัดศัลยกรรมในช่องปาก กล่องเสียง และจมูก เป็นต้น และ เราจะพบเห็นการใช้โคเคนได้เฉพาะในสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลเท่านั้น

*****อนึ่ง การใช้โคเคนทางการแพทย์เป็นการรักษาที่ยังไม่เป็นที่ยอมรับให้นำมาใช้อย่างทั่วไป เป็นเพียงยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้ประโยชน์ที่สูงกว่าโทษที่จะเกิดขึ้นจากโคเคนเท่านั้น

โคเคนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

โคเคน

โคเคนมีสรรพคุณดังนี้เช่น

โคเคนมีสรรพคุณรักษาทางการแพทย์/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • ใช้เป็นยาชาเฉพาะที่สำหรับหัตถการทางการแพทย์ที่บริเวณภายในปาก กล่องเสียง และในโพรงจมูกที่’ไม่สามารถใช้ยาชาชนิดอื่นได้’ เช่น ผู้ป่วยแพ้ยาชาอื่นๆ
  • ระงับอาการปวดในผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้ายของชีวิต

โคเคนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ฤทธิ์ทางแพทย์ที่ใช้ระงับอาการปวด โดยโคเคนจะยับยั้งการกระตุ้นของกระแสประสาท และเข้าปิดกั้นการส่งถ่ายประจุเกลือโซเดียมที่มีความจำเป็นต่อการส่งสัญญาณประสาทไปยังอวัยวะต่างๆ

โคเคนยังมีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดหดตัว ทำให้เกิดการปิดกั้นการดูดกลับของสารสื่อประสาทประเภท Norepinephrine ในระบบประสาทอัตโนมัติ

จากกลไกเหล่านี้จึงทำให้โคเคนมีฤทธิ์ตามสรรพคุณ

โคเคนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

การใช้โคเคนมีเฉพาะในสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาตจากทางราชการเท่านั้น โดยมีรูปแบบการใช้:

  • ชนิดสารละลายที่มีความเข้มข้น 40 และ 100 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
  • ยาผง
  • ยาประเภทใช้เป็นยาป้าย (Paste)

โคเคนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ขนาดการใช้โคเคนในการทำหัตถการทางการแพทย์และระงับอาการปวดต่างๆ จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา ทั้งนี้ต้องขึ้นกับอาการของผู้ป่วย อายุ ปัญหาสุขภาพอื่นเช่น โรคประจำ ตัว อยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตรหรือไม่ รวมถึงไม่สามารถใช้ยาอื่นๆได้ (เช่น ในผู้ ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่ดื้อต่อยาแก้ปวดอื่นๆ) และเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย แพทย์จะใช้โคเคนที่ปริมาณต่ำสุดในการบำบัดรักษา สำหรับผู้ใหญ่อาจใช้การคำนวณขนาดให้โคเคน 1 มิลลิกรัม/น้ำ หนักตัว 1 กิโลกรัม

*****อนึ่ง การใช้โคเคนทางการแพทย์เป็นการรักษาที่ยังไม่เป็นที่ยอมรับให้นำมาใช้ทั่วไป เป็นเพียงยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงกว่าโทษที่จะเกิดขึ้นจากโคเคน

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาโคเคน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะโคเคนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

โคเคนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

การได้รับยา/สารโคเคนสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • รู้สึกสับสน
  • กระสับกระส่าย
  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • หนาวสั่น
  • หูดับ
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • มีอาการชักเกร็ง
  • ความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ความดันโลหิตต่ำ
  • หัวใจหยุดเต้น
  • เจ็บหน้าอก
  • มีอาการบวมตามร่างกาย
  • ตัวร้อน
  • ไตทำงานผิดปกติ

*****อนึ่ง อาการต่างๆทางหัวใจอาจส่งผลให้ผู้ป่วยตายได้

มีข้อควรระวังการใช้โคเคนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโคเคน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้โคเคน
  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาชาเฉพาะที่ประเภทสารเอสเทอร์ (Ester-type)
  • ห้ามใช้โคเคนกับ สตรีตั้งครรภ์ และ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามใช้โคเคนกับ ผู้ป่วยด้วยโรคลมชัก ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ และผู้ป่วยต่อมไทรอยด์เป็นพิษ(ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน)
  • ห้ามนำโคเคนในรูปแบบของยาชามาหยอดตาโดยเด็ดขาด
  • ผู้ป่วยที่ได้รับโคเคนเพียง 20 มิลลิกรัมก็อาจจะก่อให้เกิดอาการข้างเคียง/ผลข้างเคียงได้แล้ว ถึงแม้เป็นการใช้ด้วยคุณสมบัติที่เป็นยาชาเฉพาะที่ก็จริง
  • ระวังการใช้โคเคนกับผู้สูงอายุและเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาชาโคเคนที่มีความเข้มข้นเกิน 40 มิลลิกรัม/มิลลิลิตรกับเด็กทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดพิษที่สูงต่อกลุ่มผู้ป่วยเด็ก
  • ห้ามใช้โคเคนที่หมดอายุ
  • ห้ามเก็บโคเคนที่หมดอายุ
  • ห้ามแบ่งให้ผู้อื่นใช้

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมโคเคนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

โคเคนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

โคเคนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้โคเคน ร่วมกับ ยา Disulfiram (ยาโรคพิษสุรา) สามารถเพิ่มความเป็นพิษของโคเคนต่อหัวใจได้จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้โคเคน ร่วมกับยา Tamoxifen, Tramadol ด้วยโคเคนจะทำให้ฤทธิ์การรักษาของยา Tamoxifen และ Tramadol ลดน้อยลงไป
  • การใช้โคเคนร่วมกับยา Venlafaxine อาจทำให้ระดับยา Venlafaxine ในกระแสเลือดมากขึ้นจนได้รับผลข้างเคียงติดตามมา การจะใช้ยาทั้ง 2 ตัวร่วมกันแพทย์จะเฝ้าระวังฤทธิ์ของ Venlafaxine หรือปรับขนาดการใช้ให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • หลีกเลี่ยงการใช้โคเคนร่วมกับยา Voriconazole ด้วยจะทำให้ความเข้มข้นของโคเคนในกระ แสเลือดเพิ่มมากขึ้นจนได้รับผลข้างเคียงตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยหรือหยุดการใช้ยา Voriconazole ก่อนที่จะใช้ยาโคเคน

ควรเก็บรักษาโคเคนอย่างไร?

ควรเก็บโคเคน:

  • เก็บในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บโคเคนในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • ห้ามทำลายโคเคนที่หมดอายุโดยการทิ้งในท่อน้ำ ทิ้งตามห้องน้ำ หรือตามร่องระบายน้ำต่างๆ ควรทำลายโคเคนที่หมดอายุตามระเบียบปฏิบัติของกระทรวงสาธารณสุข

โคเคนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

โคเคน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
COCAINE HYDROCHLORIDE Topical Solution (4%) (โคเคน ไฮโดรคลอไรด์ ทอปิคอล โซลูชั่น) Cody Laboratories Inc.

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Cocaine#Discovery [2021,July17]
  2. https://www.drugabuse.gov/publications/drugfacts/cocaine [2021,July17]
  3. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2317989/?page=1 [2021,July17]
  4. https://go.drugbank.com/drugs/DB00907 [2021,July17]
  5. https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/cocaine-topical-route/description/drg-20063139 [2021,July17]
  6. https://www.rxlist.com/cocaine-drug.htm [2021,July17]
  7. https://www.webmd.com/drugs/2/drug-1383/cocaine-topical/details/list-contraindications [2021,July17]
  8. https://reference.medscape.com/drug/goprelto-numbrino-cocaine-343371#5 [2021,July17]
  9. https://reference.medscape.com/drug/goprelto-numbrino-cocaine-343371#0 [2021,July17]
  10. https://www.drugs.com/cons/cocaine-topical.html [2021,July17]
  11. https://www.drugs.com/pro/cocaine-hydrochloride-nasal-solution.html [2021,July17]