โคลีน (Choline)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โคลีน(Choline) เป็นสารประเภทวิตามินที่ละลายน้ำได้ มีชื่อเรียกอื่นๆอีกหลายชื่อ เช่น Bilineurine, Choline ion, N-trimethylethanolamine, Trimethylethanolamine N,N,N-trimethylethanol-ammonium, Vitamin J และสูตรโมเลกุลคือ C5H14NO+

หน้าที่สำคัญของโคลีนต่อร่างกายมีอะไรบ้าง?

โคลีน

หน้าที่สำคัญของโคลีนต่อร่างกาย เช่น

  • โคลีนจำเป็นต่อการสะสมไขมันของเยื่อหุ้มเซลล์ ช่วยทำให้เซลล์มีความแข็งแรง
  • โคลีนเป็นสารตั้งต้นในการผลิตสารสื่อประสาท อย่างเช่น แอซิติลโคลีน (Acetylcholine) ซึ่งมีความสำคัญต่อการทำงานของ กล้ามเนื้อ ความจำ การเต้นของหัวใจ เป็นต้น
  • โคลีนเป็นสารประกอบสำคัญ ที่ใช้ในกระบวนการขนส่งคอเลสเตอรอลจากตับ และช่วยสลายไขมัน
  • โคลีนจะทำงานร่วมกับวิตามินชนิดอื่น เช่น วิตามินบี12 และ โฟเลต เพื่อช่วยให้ร่างกายสังเคราะห์สารพันธุกรรมอย่างเช่น DNA

ร่างกายของมนุษย์สามารถสังเคราะห์โคลีนได้เองจากตับ นอกจากนี้ยังมีแหล่งโคลีน อีกมากมายจากอาหารที่เรารับประทานเข้าไป เช่น ตับ ไข่ข่าว บรอกโคลี จมูกข้าว เนื้อไก่ เมล็ดทานตะวัน ถั่วต่างๆ และอัลมอนด์

วันหนึ่งๆเราต้องการโคลีนเท่าใด?

ในแต่ละช่วงอายุ ร่างกายมนุษย์ต้องการสารอาหารอย่างโคลีนดังนี้

  • อายุ 0–6 เดือน: 125 มิลลิกรัม/วัน
  • อายุ 7–12 เดือน: 150 มิลลิกรัม/วัน
  • อายุ 1–3 ปี: 200 มิลลิกรัม/วัน
  • อายุ 4–8 ปี: 250 มิลลิกรัม/วัน
  • อายุ 9–13 ปี: 375 มิลลิกรัม/วัน
  • อายุ 14–18 ปี, ผู้หญิง: 400 มิลลิกรัม/วัน
  • อายุ 14–19 ปี, ชาย: 550 มิลลิกรัม/วัน
  • ผู้ใหญ่ที่เป็นสตรี(อายุมากกว่า19ปี): 425 มิลลิกรัม/วัน
  • ผู้ใหญ่ที่เป็นบุรุษ(อายุมากกว่า19ปี): 550 มิลลิกรัม/วัน
  • สตรีในภาวะนมบุตร: 550 มิลลิกรัม/วัน
  • สตรีตั้งครรภ์: 450 มิลลิกรัม/วัน

จะเกิดโรคอะไรบ้างหากขาดสารโคลีน?

การขาดโคลีนจะทำให้เกิด

  • โรคตับ
  • โรคหลอดเลือดแดงแข็ง และ
  • โรคทางระบบประสาท

อนึ่ง สัญญาณที่แสดงให้เห็นว่า ร่างกายขาดโคลีน คือ

  • ระดับเอนไซม์การทำงานของตับในเลือด เช่น Alanine transaminase เพิ่มสูงขึ้น
  • การขาดโคลีนยังทำให้ระดับสาร Homocysteine ในเลือดสูงขึ้น ซึ่งหากร่างกายมีสารประกอบชนิดนี้มากผิดปกติจะเกิดความเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษทำให้มารดาที่ตั้งครรภ์เกิดการคลอดก่อนกำหนด และเด็กทารกมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ

มนุษย์ได้พยายามนำเอาโคลีนมาทำเป็น อาหารเสริม หรือยา เพื่อใช้บำบัดอาการของโรคหัวใจ อาการโรคทางหลอดเลือด ทำให้ร่างกายดูอ่อนเยาว์ และช่วยควบคุมระดับไขมันในเลือด แต่ก็ยังไม่ได้รับการยืนยันอย่างแน่ชัดในประสิทธิผลที่ต้องการให้เกิดขึ้น

ผลิตภัณฑ์ของโคลีนที่นำมาใช้เป็นยามีอะไรบ้าง?

โคลีนที่ได้รับการปรับแต่งและนำมาใช้เป็นยาจะอยู่ในรูปของสารประกอบแบบต่างๆกันเช่น

1. Choline salicylate : ใช้เป็นยาต้านอาการปวด-อักเสบ ยาชนิดนี้มีกลไกยับยั้งการสังเคราะห์สาร Prostaglandin และช่วยลดไข้ โดยออกฤทธิ์ต่อสมองในส่วนไฮโปธาลามัส ที่ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย Choline salicylate ยังถูกนำมาผสมในสูตรตำรับยาป้ายสำหรับรักษาแผลในช่องปาก โดยวางจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า Bonjela (Choline salicylate 8.714% + Cetalkonium Cl 0.01%)

2. Choline theophyllinate: เป็นยารับประทานช่วยบรรเทาอาการไอ ยาขยายหลอดลม กลไกของยานี้คือปลดปล่อย Theophyllinate ให้แสดงฤทธิ์ในการรักษาซึ่งมีผลยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ Phosphodiesterase และเป็นผลให้หลอดลมคลายตัว

3. Phosphatidyl choline: ถูกนำมาใช้ผสมกับยาวิตามินรวมชนิดต่างๆ Phosphatidyl choline ในร่างกายจัดอยู่ในกลุ่ม Lecithin(ไขมันขนิดหนึ่งที่จำเป็นต่อเยื่อหุ้มเซลล์) สามารถพบได้ในทุกเซลล์ของร่างกายมนุษย์ หน้าที่สำคัญประการหนึ่ง คือ ช่วยชะลอกลไกที่ทำให้เซลล์เสื่อมสภาพ จึงมีส่วนสนับสนุนการทำงานของเซลล์สมองในเรื่องความจำ สารประกอบโคลีนชนิดนี้ยังช่วยทำให้ไขมัน

แตกสลายจึงอาจจะเป็นผลดีช่วยป้องกันมิให้มีการสะสมไขมันในตับมากเกินไป

4. Choline fenofibrate: ถูกนำมาใช้เป็นยาลดไขมันชนิดไตรกลีเซอไรด์ในเลือดและช่วยเพิ่มสัดส่วนของไขมันดี อย่างเช่น HDL ในประเทศไทยยานี้จะวางจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า Trilipix

5. Choline chloride: มีการใช้โคลีนประเภทนี้ผสมในอาหารเลี้ยงไก่ เพื่อช่วยเร่งการเจริญเติบโตของไก่

6. Choline bitartrate: ใช้ผสมในสูตรตำรับกลุ่มยาวิตามินรวม เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณโคลีนให้กับร่างกาย

ผลข้างเคียงของโคลีนมีอะไรบ้าง?

โคลีนจัดอยู่ในหมวดหมู่ของสารอาหารคล้ายกลุ่มวิตามินบี สามารถละลายน้ำได้ ทำให้ง่ายต่อการกำจัดออกจากร่างกาย เราจึงไม่ค่อยพบเห็นผลข้างเคียงที่เกิดจาก โคลีนมากเท่าใดนัก อย่างไรก็ตามโคลีนในร่างกายยังเป็นสารตั้งต้นที่ถูกเปลี่ยนไปเป็น Trimethylamine(สารเคมีที่มีกลิ่นปลาเน่า) กรณีเกิดข้อบกพร่องทำให้ร่างกายไม่สามารถสลาย Trimethylamine จะส่งผลให้มีการสะสมสารดังกล่าวเป็นปริมาณมากจนเป็นสาเหตุให้มีกลิ่นตัวคล้ายกับคาวปลา/ปลาเน่า เราเรียกภาวะนี้ว่า ‘Fish odor syndrome’

เก็บรักษาผลิตภัณฑ์โคลีนอย่างไร?

สามารถเก็บผลิตภัณฑ์โคลีนภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บผลิตภัณฑ์โคลีนในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บในห้องน้ำหรือในรถยนต์ ห้ามทิ้งผลิตภัณฑ์โคลีนลงในแม่น้ำลำคลองหรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติ และไม่เก็บผลิตภัณฑ์โคลีนที่หมดอายุแล้ว

จะเลือกใช้ผลิตภัณฑ์โคลีนอย่างไรดี?

โคลีนถูกนำมาใช้เป็นยาหรือไม่ก็อาหารเสริม โดยมีลักษณะเป็นสารประกอบโคลีน ที่แตกต่างกันออกไป แต่ร่างกายก็สามารถสังเคราะห์โคลีนได้จากตับ และได้รับเพิ่มเติมจากอาหารที่บริโภคเข้าไปอยู่แล้ว การจะใช้โคลีนในรูปแบบผลิตภัณฑ์ใดนั้นผู้บริโภคควรได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์ว่า ตนเองขาดสารประเภทโคลีน และมีความจำเป็นต้องรับประทานผลิตภัณฑ์โคลีนเพิ่มเติมเป็นพิเศษอีกหรือไม่ และหากยังมีข้อสงสัยสามารถสอบถามคุณประโยชน์และโทษของโคลีนเพิ่มเติมได้จากผู้ชำนาญด้านโภชนาการ หรือเภสัชกรที่อยู่ตามร้านขายยาได้ทั่วไป

บรรณานุกรม

  1. https://www.healthline.com/nutrition/what-is-choline#section3 [2018,July14]
  2. https://www.drugbank.ca/drugs/DB00122 [2018,July14]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Choline#Pregnancy_and_brain_development [2018,July14]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/choline%20salicylate/?type=brief&mtype=generic [2018,July14]
  5. http://www.mims.com/thailand/drug/info/choline%20theophyllinate/?type=brief&mtype=generic [2018,July14]
  6. http://www.mims.com/thailand/drug/info/phosphatidyl%20choline/?type=brief&mtype=generic [2018,July14]
  7. https://en.wikipedia.org/wiki/Phosphatidylcholine [2018,July14]
  8. http://www.mims.com/thailand/drug/info/trilipix/?type=brief [2018,July14]
  9. http://www.mims.com/thailand/drug/info/bonjela/ [2018,July14]
  10. http://www.mims.com/thailand/drug/search?q=choline%20bitartrate [2018,July14]
  11. https://psychonautwiki.org/wiki/Choline_bitartrate [2018,July14]
  12. https://www.purenootropics.net/beginners-guide-choline/ [2018,July14]