โคลนาซีแพม (Clonazepam)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโคลนาซีแพม(Clonazepam)เป็นยาในกลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine) ที่ออกฤทธิ์ได้นานประมาณ 6–12 ชั่วโมง ทางคลินิกนำมาใช้เป็นยาป้องกันอาการของโรคลมชัก โรค/ภาวะตื่นตระหนกหรือที่เรียกกันว่าโรคแพนิค(Panic disorder) รูปแบบยาแผนปัจจุบันที่พบเห็นการใช้บ่อยของยานี้จะเป็นยารับประทาน ตัวยานี้สามารถถูกดูดซึมได้ดีจากระบบทางเดินอาหาร และจะกระจายตัวเข้าสู่ร่างกาย/กระแสเลือดได้ถึงประมาณ 90% การออกฤทธิ์ของตัวยานี้จะเกิดขึ้นหลังรับประทานยาแล้วประมาณ 20–40 นาที ยานี้สามารถซึมผ่านรกและเข้าสู่น้ำนมของมารดาได้

ในกระแสเลือด ตัวยาโคลนาซีแพม จะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 85% ตับจะเป็นอวัยวะที่คอยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของยานี้อย่างต่อเนื่อง ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 20–40 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยาโคลนาซีแพมออกจากร่างกายโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

แพทย์มักจะไม่แนะนำให้ใช้ยาโคลนาซีแพมต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ด้วยอาจทำให้เกิดภาวะร่างกายติดยาเกิดขึ้น มีรายงานของการรักษาผู้ป่วยด้วยยาโคลนาซีแพมที่ใช้ต่อเนื่องติดต่อกันเกิน 4 สัปดาห์ขึ้นไป พบว่าหนึ่งในสาม(1/3)ของผู้ป่วยมีภาวะติดยาเกิดขึ้น และหากหยุดใช้ยานี้ทันที ผู้ป่วยจะเกิดอาการถอนยาตามมา และ การใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกอยากทำร้ายตนเอง

นอกจากนี้ ยังมีข้อห้ามการใช้ยาโคลนาซีแพมกับสตรีตั้งครรภ์ ด้วยตัวยาสามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว อย่างเช่น โรคต้อหิน โรคตับในระยะรุนแรง ไม่สมควรได้รับยานี้ ด้วยตัวยาจะทำให้อาการของโรคกำเริบรุนแรงได้มากยิ่งขึ้น

การรับประทานยาโคลนาซีแพมให้ดื่มน้ำเปล่าพร้อมยา ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับการดื่มสุรา เพราะจะทำให้ได้รับอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)จากยานี้เพิ่มมากขึ้น

การใช้ยาโคลนาซีแพมในเด็กจะถูกใช้ในวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันและบำบัดอาการชักเท่านั้น โดยยาโคลนาซีแพมไม่ได้ถูกรับรองการใช้รักษาอาการตื่นตระหนกหรือโรคแพนิคกับผู้ป่วยเด็ก หรือกับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา

ยาโคลนาซีแพมสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียงที่พบเห็นได้บ่อย อาทิเช่น รู้สึกไม่มีแรง/อ่อนล้า เซื่องซึม ง่วงนอน วิงเวียน ความจำแย่ลง การทรงตัวทำได้ไม่เป็นปกติ

ยังมีข้อควรระวังอีกหนึ่งประการที่ต้องกล่าวถึง คือ การใช้ยาที่มีฤทธิ์ทำให้ร่างกายรู้สึกง่วงนอน หรือยาที่ทำให้การหายใจช้าลง/ยากดการหายใจ หากนำมาใช้ร่วมกับยาโคลนาซีแพม อาจเป็นเหตุให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง อย่างเช่น เกิดการกดศูนย์ควบคุมการหายใจของร่างกายที่สมอง จนส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ด้วยเหตุผลนี้ประกอบกับฤทธิ์ที่สามารถทำให้ร่างกายติดยาโคลนาซีแพม รวมถึงผลข้างเคียงต่างๆที่กระทบต่อระบบการทำงานของร่างกาย ทำให้โคลนาซีแพม ถูกจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 ซึ่งมีบทบัญญัติของคณะกรรมการอาหารและยาของไทย ห้ามมิให้บุคคลใด ผลิต ขาย นำเข้าหรือส่งออกซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 หรือนำผ่านวัตถุออกฤทธิ์ทุกประเภท เว้นแต่ได้รับอนุญาต ดังนั้น เราจึงพบเห็นการใช้ยานี้แต่ในสถานพยาบาล และจะไม่ค่อยพบเห็นการจำหน่ายตามร้านขายยาขนาดเล็กทั่วไป

การใช้ยาโคลนาซีแพม ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ที่ระบุเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น และหากต้องการทราบข้อมูลของยาโคลนาซีแพมเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้จากแพทย์ หรือจากเภสัชกรได้โดยทั่วไป

โคลนาซีแพมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

โคลนาซีแพม

ยาโคลนาซีแพมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้บำบัดป้องกันการเกิดลมชักทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่
  • ใช้บำบัดอาการโรคแพนิค(Panic disorder)/ภาวะตื่นตระหนกในผู้ใหญ่

โคลนาซีแพมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาโคลนาซีแพมมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะลดการนำกระแสประสาทในสมองบริเวณที่เรียกว่า มอเตอร์ คอร์เท็กซ์(Motor cortex) และนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ากลไกการออกฤทธิ์ของยาโคลนาซีแพม ยังสามารถส่งผลต่อการแสดงฤทธิ์ของสารสื่อประสาทที่เรียกว่า GABA อีกด้วย จากเหตุผลเหล่านี้ จึงทำให้ลดภาวะการกระตุ้นของอาการลมชัก ช่วยสงบประสาท และลดภาวะตื่นตระหนกได้ตามสรรพคุณ

โคลนาซีแพมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ในประเทศไทย จะพบเห็นการใช้ยาโคลนาซีแพมในรูปแบบของ ยารับประทาน และจำหน่ายผลิตภัณฑ์เป็น ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบไปด้วยตัวยา Clonazepam ขนาด 0.5 และ 2 มิลลิกรัม/เม็ด

โคลนาซีแพมมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาโคลนาซีแพมมีขนาดรับประทาน เช่น

ก. สำหรับป้องกันการเกิดลมชัก:

  • ผู้ใหญ่ และเด็กอายุ 10 ปีขึ้นไป หรือเด็กที่มีน้ำหนักตัว 30 กิโลกรัมขึ้นไป:รับประทานยา 1.5 มิลลิกรัมต่อวัน โดยแบ่งเป็น 3 ครั้ง เช้า–กลางวัน–เย็น แพทย์สามารถปรับขนาดรับประทานขึ้นครั้งละ 0.5–1 มิลลิกรัม ทุก 3 วัน จนได้ขนาดรับประทานที่แพทย์สามารถควบคุมอาการลมชักได้ ทั้งนี้ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 20 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุไม่เกิน 10 ปี หรือเด็กที่มีน้ำหนักตัวไม่เกิน 30 กิโลกรัม: รับประทานยา 0.01 – 0.05 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน 2 – 3 ครั้ง/วันตามแพทย์สั่ง

ข. สำหรับบำบัดอาการโรคแพนิค(Panic disorder):

  • ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: เริ่มต้นรับประทานยาครั้งละ 0.25 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า–เย็น ขนาดที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 1 มิลลิกรัม/วัน ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 4 มิลลิกรัม/วัน
  • ผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี: ห้ามใช้ยานี้รักษาโรคแพนิคกับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา

อนึ่ง:

  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วย โรคไต โรคตับ
  • *อาการของผู้ที่ได้รับยาโคลนาซีแพมเกินขนาด เช่น ง่วงนอนมาก รู้สึกสับสน มีภาวะโคม่า หากพบอาการเหล่านี้ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • การรับประทานยาโคลนาซีแพมร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ จะทำให้เกิดภาวะกดการทำงานของสมองมากยิ่งขึ้น จนอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยเองจนอาจถึงแก่ชีวิต
  • รับประทานยานี้ ก่อน หรือ หลัง ก็ได้ โดยให้ดื่มน้ำเปล่าพร้อมยานี้

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง เท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโคลนาซีแพม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆอย่างเช่น โรคไต โรคตับ โรคต้อหิน รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโคลนาซีแพม อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้นหรืออาจกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

กรณีลืมรับประทานยาโคลนาซีแพม สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยานี้ในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

แต่การป้องกันโรคลมชักและบำบัดภาวะแพนิคให้ได้ประสิทธิภาพ ต้องรับประทานยาโคลนาซีแพม ตามขนาด และตามระยะเวลา ที่แพทย์แนะนำเสมอ

โคลนาซีแพมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโคลนาซีแพมสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น โลหิตจาง เกิดภาวะ Leukopenia (เม็ดเลือดขาวต่ำ)Thrombocytopenia(เกล็ดเลือดต่ำ) Eosinophilia(เม็ดเลือดขาวชนิด Eosinophilในเลือดสูง) และมีเลือดออกใต้ผิวหนัง/ห้อเลือด
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องผูกหรือไม่ก็ท้องเสีย เบื่ออาหาร ปวดท้อง ปากแห้ง เกิดแผลที่เหงือก
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน กระสับกระส่าย เดินเซ สติปัญญาลดลง ความจำด้อยลง กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดศีรษะ หนังตากระตุก พูดไม่ชัด
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ชีพจรเต้นเร็ว เจ็บหน้าอก ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นผิดปกติ หน้าแดง หลอดเลือดดำที่ขาอักเสบ(หลอดเลือดอักเสบ)
  • ผลต่อตับ: เช่น ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น และอาจมีภาวะตับโต
  • ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค: เช่น ติดเชื้อง่าย เช่น ติดไวรัสเริม
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผมร่วง เกิดผื่นคัน เกิดสิว ลมพิษ รู้สึกแสบร้อนที่ผิวหนัง
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น เกิดโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ปัสสาวะลำบาก/ปัสสาวะขัด ปัสสาวะบ่อย เลือดออกจากท่อทางเดินปัสสาวะ/ปัสสาวะเป็นเลือด
  • ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เบื่ออาหาร ร่างกายขาดน้ำ/ กระหายน้ำ/ภาวะขาดน้ำ น้ำหนักตัวเพิ่มหรือไม่ก็ลด เกิดภาวะ/โรคเกาต์ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดหลัง ปวดขา ปวดคอ ปวดข้อ เป็นตะคริวที่ขา
  • ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น เซื่องซึม สับสน ประสาทหลอน ก้าวร้าว อยู่ไม่สุข วิตกกังวล นอนไม่หลับ ฝันร้าย มีความรู้สึกอยากทำร้ายตนเอง
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น เกิดโรคติดเชื้อที่ช่องทางเดินหายใจส่วนบน ไซนัสอักเสบ เยื่อจมูกอักเสบ ไอ หลอดลมอักเสบ

มีข้อควรระวังการใช้โคลนาซีแพมอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโคลนาซีแพม เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานหรือหยุดการใช้ยานี้โดยไม่ปรึกษาแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ รวมถึงสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ด้วยตัวยาสามารถส่งผลต่อทารกได้ การจะใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาเท่านั้น
  • ห้ามใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยโรคต้อหินแบบเฉียบพลัน ผู้ป่วยโรคตับระยะรุนแรง ผู้ป่วยโรคระบบเดินหายใจในระดับรุนแรง และกับผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคไตวายเรื้อรัง ผู้ที่มีประวัติโรคพิษสุราเรื้อรัง
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ ด้วยเสี่ยงกับการเกิดภาวะซึมเศร้า และอาจมีอาการวิตกกังวลตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้เป็นระยะเวลานานต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการติดยา
  • ระหว่างการใช้ยานี้ ต้องระมัดระวังเรื่องการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการทำงานกับเครื่องจักรต่างๆ ด้วยมักเกิดอาการวิงเวียนจากการใช้ยานี้ จนอาจเกิดอันตรายได้ง่าย
  • รับประทานยานี้ต่อเนื่อง ตรงตามขนาด และเวลาในแต่ละวัน ตามแพทย์สั่ง
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง เพื่อรับการตรวจร่างกายและดูความก้าวหน้าของการรักษาจากแพทย์
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโคลนาซีแพมด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

โคลนาซีแพมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโคลนาซีแพมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโคลนาซีแพมร่วมกับยา Fentanyl, Propoxyphene, ด้วยจะทำให้ร่างกายได้รับผลข้างเคียงจากยาโคลนาซีตามมาได้มากยิ่งขึ้น เช่น ง่วงนอน วิงเวียน สับสน ขาดสมาธิ
  • การใช้ยาโคลนาซีแพมร่วมกับยา Buprenorphine จะเกิดฤทธิ์กดการทำงานของระบบประสาทส่วนกลางมากยิ่งขึ้น ส่งผลกดการทำงานของอวัยวะระบบหายใจ และมีภาวะโคม่าตามมาจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้จากภาวะหายใจล้มเหลว หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโคลนาซีแพมร่วมกับยา Droperidol ด้วยจะทำให้เกิดความเสี่ยงของหัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโคลนาซีแพมร่วมกับยา Olanzapine ด้วยจะทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำ ชีพจรเต้นเบา วิงเวียน ง่วงนอน หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป

ควรเก็บรักษาโคลนาซีแพมอย่างไร?

ควรเก็บยาโคลนาซีแพมภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น

โคลนาซีแพมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโคลนาซีแพม ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Clonaril (โคลนาริล)Medifive
Povanil (โพวานิล) Central Poly Trading
Rivotril (ริโวทริล) Roche

อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Klonopin, Klonopin wafer, Clonotril, Clonopam, Clonza

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Clonazepam [2017,Jan7]
  2. https://www.drugs.com/pro/clonazepam.html [2017,Jan7]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/clonazepam/?type=brief&mtype=generic [2017,Jan7]
  4. http://www.mims.com/thailand/viewer/html/poisoncls.html [2017,Jan7]
  5. http://www.mims.com/thailand/drug/info/rivotril/?type=brief [2017,Jan7]
  6. https://www.drugs.com/dosage/clonazepam.html [2017,Jan7]
  7. https://www.drugs.com/drug-interactions/clonazepam-index.html?filter=3&generic_only= [2017,Jan7]