โคลทาร์ทอปิคอล (Coal tar topical)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 9 พฤษภาคม 2562
- Tweet
- บทนำ
- โคลทาร์ทอปิคอลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- โคลทาร์ทอปิคอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- โคลทาร์ทอปิคอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- โคลทาร์ทอปิคอลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมใช้ยาควรทำอย่างไร?
- โคลทาร์ทอปิคอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้โคลทาร์ทอปิคอลอย่างไร?
- โคลทาร์ทอปิคอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาโคลทาร์ทอปิคอลอย่างไร?
- โคลทาร์ทอปิคอลมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- กลาก (Tinea)
- โรคเซบเดิร์ม โรคผิวหนังอักเสบเซบเดิร์ม (Seborrheic dermatitis)
- โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)
- รังแค ขี้รังแค (Pityriasis sicca หรือ Dandruff หรือ Pityriasis capitis)
- ผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema)
บทนำ
ยาโคลทาร์ (Coal tar) หรือ ‘น้ำมันดิน’ มีลักษณะเป็นของเหลวสีดำ และมีความหนืดข้น ซึ่ง ยาโคลทาร์ทอปิคอล(Coal tar topical) เป็นกลุ่มเภสัชภัณฑ์จำพวกน้ำมันดินบริสุทธิ์ที่โดนแปลรูปมาเป็น ‘ยาทาผิวหนังภายนอก’ ซึ่งมีทั้ง โลชั่น ครีม ขี้ผึ้ง แชมพู และโฟมอาบน้ำ ทางคลินิกจะใช้ยาทาโคลทาร์ทอปิคอลในการรักษาโรคผิวหนังหลายประเภท เช่น โรคสะเก็ดเงิน, ผดผื่นคัน, ผื่นผิวหนังอักเสบ, รังแคบนหนังศีรษะ, โดยต้องทายาบริเวณผิวหนังภายนอกเท่านั้น
จากงานศึกษาวิจัยทางการแพทย์ ยังพบว่าการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันดินร่วมกับยาทาจำพวกวิตามินดี หรือ ยาสเตียรอยด์ ชนิดทาผิวภายนอก สามารถเพิ่มประสิทธิภาพบำบัดอาการของโรคทางผิวหนัง/โรคผิวหนังได้เป็นอย่างดี แต่ทั้งนี้ การใช้ยาโคลทาร์ทอปิคอลจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
ตัวอย่างการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันดิน เพื่อรักษาโรคสะเก็ดเงินในผู้ใหญ่ อาจต้องใช้ระยะเวลาของการทายายาวนานติดต่อกันประมาณ 4 สัปดาห์ และประมาณ 2 สัปดาห์สำหรับเด็ก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของร่างกายผู้ป่วยด้วยเช่นกัน
ในตลาดยาต่างประเทศ สามารถซื้อหาผลิตภัณฑ์น้ำมันดินได้ตามร้านขายยา และเพื่อประสิทธิผลในการรักษา แพทย์จะเป็นผู้เลือกรูปแบบเภสัชภัณฑ์ยาโคลทาร์ทอปิคอลได้อย่างเหมาะสมที่สุด
โคลทาร์ทอปิคอลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาโคลทาร์ทอปิคอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษาโรคสะเก็ดเงิน
- บำบัดอาการโรคเซบเดิร์ม (Seborrheic dermatitis)
- บำบัดรังแคบนหนังศีรษะด้วยมีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อรา
- บรรเทาอาการผื่นผิวหนังอักเสบ
- ลดอาการคันของผิวหนัง
- รักษาโรคกลาก
โคลทาร์ทอปิคอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ในเชิงอุตสาหกรรม น้ำมันดินถูกนำมาใช้เทพื้นถนนเพื่อเพิ่มความทนทาน แต่ทางคลินิก การใช้น้ำมันดินมารักษาโรคทางผิวหนัง น่าจะเป็นเหตุผลจากองค์ประกอบของน้ำมันดิน ซึ่งมีสารประกอบจำพวก Phenols, Polycyclic aromatic hydrocarbons, และสารประเภท Heterocyclic compounds, ทำให้น้ำมันดินมีฤทธิ์ทำลายเซลล์ผิวหนังให้หลุดลอก หรือช่วยชะลอการเจริญของชั้นผิวหนังที่ก่อโรค การใช้น้ำมันดินแบบทาภายนอกในปริมาณและระยะเวลาที่เหมาะสมตามคำแนะนำของแพทย์ จึงช่วยบำบัดอาการโรคทางผิวหนังได้ตามสรรพคุณ
โคลทาร์ทอปิคอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
อาจสรุปรูปแบบผลิตภัณฑ์ของน้ำมันดินที่ใช้ภายนอกร่างกายได้ดังนี้ เช่น
- โคลทาร์โลชั่น ที่ประกอบด้วยน้ำมันดิน 5% (5% Coal tar solution)
- โคลทาร์โลชั่นเข้มข้น 2.5% สำหรับทาหนังศีรษะ (Coal tar 2.5%+Lecithin 0.3%)
- โคลทาร์ครีม ที่ประกอบด้วยน้ำมันดิน 6% (6% Coal tar solution)
- โคลทาร์แชมพูเข้มข้น 5% (Alcohol coal tar extract 5%)
- โคลทาร์แชมพูเข้มข้น 2% (Coal tar extract 2%)
- โคลทาร์แชมพูเข้มข้น 4% (Coal tar 4%)
- โคลทาร์แชมพูเข้มข้น 1% (Coal tar 1% + Coconut oil 1% + Salicylic acid 0.5%)
- โคลทาร์ขี้ผึ้งสำหรับทาหนังศีรษะเข้มข้น 12% (Coal tar solution 12% + Salicylic acid 2% + Precipitated sulphur 4%)
- โคลทาร์อีมัลชั่นสำหรับอาบน้ำ (Bath emulsion coal tar 40%)
โคลทาร์ทอปิคอลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาโคลทาร์ทอปิคอล มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา สำหรับรักษาโรค กลาก, สะเก็ดเงิน, โรคเซบเดิร์ม, และโรคผิวหนังอื่นๆ เช่น
- โคลทาร์แชมพู: ใช้สระผมวันละ1ครั้งหรือสัปดาห์ละ1ครั้ง โดยเป็นไปตามคำสั่ง แพทย์
- โคลทาร์ขี้ผึ้ง: ใช้ทาบริเวณผิวหนังที่เป็นโรควันละ 2–3 ครั้ง จนอาการดีขึ้น
- โคลทาร์ครีม: ใช้ทาบริเวณผิวหนังที่เป็นโรควันละ 1–4 ครั้ง
- โคลทาร์อีมัลชั่น: อุ่นโคลทาร์โซลูชั่นชนิดอีมัลชั่น 40% ในน้ำอุ่น เพื่อให้ตัวยาเหลวขึ้นและไม่ข้นเกินไป แล้วทาผิวหนังบริเวณที่เป็นโรคสะเก็ดเงินเพียงบางๆ ถูยาจนกระทั่งแห้ง อาจทายา 1–4ครั้ง/วัน โดยเป็นไปตามคำสั่งแพทย์
- โคลทาร์โลชั่น: ใช้ทาแขนหรือเท้าตามคำสั่งแพทย์
อนึ่ง:
- เด็ก: การใช้โคลทาร์ในรูปแบบเภสัชภัณฑ์ใดๆกับผู้ป่วยเด็ก ต้องเป็นไปตามคำสั่ง แพทย์เท่านั้น
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง เท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยา โคลทาร์ทอปิคอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโคลทาร์ทอปิคอล อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมใช้ยาควรทำอย่างไร?
เพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรใช้ยาโคลทาร์ทอปิคอล ตรงเวลา หากลืมใช้ยานี้สามารถใช้ยานี้เมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยานี้ในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการใช้ยานี้เป็น 2 เท่า ให้ใช้ยาที่ขนาดปกติ
โคลทาร์ทอปิคอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
การใช้ยาโคลทาร์ทอปิคอล อาจทำให้เกิด ผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- ระคายเคืองผิวหนังที่มีการสัมผัสกับยานี้ หรือก่อให้เกิดอาการคันตามร่างกาย
- อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ใช้ผลิตภัณฑ์ยาโคลทาร์ทอปิคอล อาการข้างเคียงดังกล่าวอาจหายไปเองด้วยมีการปรับตัวของร่างกายผู้ป่วย
- แพทย์ผู้ที่ทำการรักษาจะสามารถให้คำแนะนำ หรือวิธีป้องกันอาการข้างเคียงจากยาโคลทาร์ทอปิคอลได้เป็นอย่างดี
มีข้อควรระวังการใช้โคลทาร์ทอปิคอลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาโคลทาร์ทอปิคอล เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยา โคลทาร์ทอปิคอล
- ห้ามใช้ยาโคลทาร์ทอปิคอลกับผิวหนังที่มีแผลเปิด หรือมีการอักเสบ หรือผิวหนังที่เพิ่งได้รับการบำบัดด้วยแสงยูวี
- ห้ามมิให้ผลิตภัณฑ์ยาโคลทาร์ทอปิคอล เข้าตา หรือ เข้าปาก
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ไม่ควรใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานานเกินไป ให้ใช้ยานี้ตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
- หยุดการใช้ยานี้ทันที หากพบอาการแพ้รุนแรง เช่น ผื่นคัน ตัวบวม/ผิวหนังบวม อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก
- หลีกเลี่ยงการออกแดดขณะใช้ผลิตภัณฑ์ยาโคลทาร์ทอปิคอล
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโคลทาร์ทอปิคอลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
โคลทาร์ทอปิคอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโคลทาร์ทอปิคอล มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาโคลทาร์ทอปิคอลในรูปแบบต่างๆร่วมกับยา Aminolevulinic acid, Methyl aminolevulinate topical, และ Hexaminolevulinate , ด้วยอาจกระตุ้นให้ผิวหนังแพ้แสงแดดง่าย
ควรเก็บรักษาโคลทาร์ทอปิคอลอย่างไร?
ควรเก็บรักษายาโคลทาร์ทอปิคอล เช่น
- เก็บยาโคลทาร์ทอปิคอลภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น
- ห้ามเก็บยานี้ในช่องแช่แข็งตู้เย็น
- เก็บยานี้ในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาที่หมดอายุ
- ไม่ทิ้งยาลงในแม่น้ำคูคลองตามธรรมชาติ
โคลทาร์ทอปิคอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโคลทาร์ทอปิคอล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Coal Tar Srichand (โคลทาร์ ศรีจันทร์) | Srichand |
Elta (เอลทา) | Swiss American Products |
Exorex (เอ็กโซเร็กซ์) | Meyer Zall Laboratories Pty Ltd. |
Balnetar (บัลเนทาร์) | Westwood Squibb |
Derm oil (เดิร์ม ออยล์) | Dermtek Pharma Inc |
Dermabon (เดอร์มาบอน) | Jose Maria Licona Saenz |
บรรณานุกรม
- https://www.psoriasis-association.org.uk/media/InformationSheets/Coal_Tar.pdf [2019,April20]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Coal_tar#Mechanism_of_action [2019,April20]
- https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/coal-tar-topical-route/proper-use/drg-20068614 [2019,April20]
- https://www.drugs.com/sfx/coal-tar-topical-side-effects.html [2019,April20]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/coal-tar-topical.html [2019,April20]
- https://www.drugbank.ca/drugs/DB11082 [2019,April20]