โคลชิซิน (Colchicine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ : คือยาอะไร?

ยาโคลชิซิน (Colchicine) คือยารักษาโรคเกาต์ จัดเป็นยาอันตรายที่มีข้อควรระวัง ข้อห้ามใช้หลายประการ ก่อนที่จะถูกสั่งจ่ายยา ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจเลือดเพื่อหาระดับกรดยูริคว่าเกินกว่ามาตรฐานเท่าใด ดังนั้นขนาดรับประทานที่ถูกต้องจึงขึ้นอยู่กับคำสั่งแพทย์ผู้ทำการรักษาเท่านั้น

โดยหลังรับประทาน ยาโคลชิซิน จะถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารภายในเวลา 2 ชั่วโมง ยาส่วนหนึ่งจะถูกเปลี่ยนโครงสร้างที่อวัยวะตับ ระดับยาในกระแสเลือดประมาณ 50% จะถูกกำจัดออกภายในเวลา 12 – 30 นาทีผ่านทางอุจจาระและปัสสาวะ

อนึ่ง นักวิทยาศาสตร์ค้นพบและสกัดโคลชิซินได้จากพืชตระกูล Colchicum (ไม้ดอกตระกูลหนึ่ง)ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1820 (พ.ศ.2363)

ยาโคลชิซินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?

โคลชิซิน

สรรพคุณ/ข้อบ่งใช้รักษาโรคของยาโคลชิซิน:

  • ใช้รักษาและป้องกันโรคเกาต์ชนิดเฉียบพลัน

ยาโคลชิซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาโคลชิซิน คือ ตัวยาจะลดการอักเสบที่เกิดจากผลึกของกรดยูริคที่เกาะตัวกับเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกาย อีกทั้งยังลดการทำลายข้อกระดูกจากเม็ดเลือดขาวที่เกิดจากการอักเสบจากผลึกกรดยูริค นอกจากนี้ ยาโคลชิซินยังยับยั้งการผลิตกรดแลคติก (Lactic acid)ของเม็ดเลือดขาวที่มีผลรบกวนการเกาะตัวของผลึกยูริคกับเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกาย ด้วยกลไกดังกล่าวเหล่านี้จึงลดอาการปวด ที่เกิดขึ้น

ยาโคลชิซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโคลชิซิน จัดจำหน่ายในรูปแบบ เช่น

  • ยาเม็ดขนาดความแรง 0.6 มิลลิกรัม/เม็ด

ยาโคลชิซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาโคลชิซินมีขนาดรับประทาน เช่น

ก. เมื่อมีอาการปวดจากโรคเกาต์: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งแรก 2 เม็ด จากนั้นแพทย์อาจปรับลดขนาดรับประทานเป็น 1 เม็ดทุกๆ 1 –2 ชั่วโมง จนกระทั่งอาการปวดจากเกาต์บรรเทาลง และห้ามรับประทานยาเกิน 6 กรัม/วัน

ข. ขนาดรับประทานที่ใช้ป้องกันโรคเกาต์กำเริบ: เช่น

  • ผู้ใหญ่: ให้รับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง

อนึ่ง:

  • ควรรับประทานยาโคลชิซินหลังอาหาร เพื่อลดอาการระคายเคือง ไม่สบายในช่องทางเดินอาหาร
  • ในทางปฏิบัติ แพทย์อาจปรับเปลี่ยนขนาดการรับประทานของยานี้เพื่อความเหมาะสมกับร่างกายของผู้ป่วยแต่ละราย อาจจะด้วยเหตุผลของผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นมากกับผู้ป่วย และ/หรือ รวมไปถึงการตอบสนองของการรักษาต่อยาตัวนี้
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): การใช้ยาตัวนี้ในเด็ก ต้องเป็นคำสั่งการใช้จากแพทย์เท่านั้น

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาโคลชิซิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโคลชิซิน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาโคลชิซิน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาโคลชิซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ระหว่างการใช้ยาโคลชิซิน อาจพบผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่างๆ เช่น

  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • ปวดท้อง
  • อาจมีอาการท้องเสีย
  • เลือดออกในกระเพาะอาหารหรือในลำไส้(เลือดออกในทางเดินอาหาร)
  • มีผื่นคันตามผิวหนัง
  • ตับและไตมีอาการผิดปกติหรือทำงานบกพร่อง
  • หรือพบความผิดปกติในระบบเลือด/ระบบโลหิตวิทยา
  • อาการข้างเคียงอื่นๆที่พบได้น้อย: เช่น
    • ผมร่วง
    • มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง

มีข้อควรระวังการใช้ยาโคลชิซินอย่างไร?

ข้อควรระวังการใช้ ยาโคลชิซิน เช่น

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้ยาโคลชิซิน
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วย โรคแผลในกระเพาะอาหาร – ลำไส้ ผู้ป่วยด้วยโรคตับ หรือโรคไต
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่เป็นโรคหัวใจ หรือมีการทำงานของหัวใจผิดปกติ และผู้ที่มีความผิดปกติในระบบเลือด/ระบบโลหิตวิทยาของร่างกาย
  • ห้ามใช้ยากับหญิงตั้งครรภ์ เพราะอาจทำให้ทารกพิการแต่กำเนิด และ/หรือ แท้งบุตรได้
  • ห้ามใช้ยาโคลชิซิน ระงับอาการปวดที่มิได้มีสาเหตุมาจากโรคเกาต์
  • ระวังการใช้ยานี้ในหญิงที่กำลังให้นมบุตร ด้วยยานี้สามารถผ่านออกมากับน้ำนมมารดาได้
  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้สูงอายุ เพราะผลข้างเคียงจากยาอาจสูงขึ้น
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอาย

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโคลชิซินด้วย) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาโคลชิซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโคลชิซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาโคลชิซินร่วมกับยาลดไขมันในเลือด อาจก่อให้เกิด อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือก่อให้เกิดโรคไต ถึงแม้อาการทั้ง 2 อย่างจะพบได้น้อยก็ตาม แต่ควรต้องเฝ้าระวัง หากมีความผิดปกติดังกล่าวเกิดขึ้น ต้องหยุดการใช้ยานี้ทันที ยาลดไขมันที่กล่าวถึง เช่นยา Atovastatin, Lovastatin, และ Simvastatin
  • การใช้ยาโคลชิซินร่วมกับยาปฏิชีวนะบางตัว อาจพบอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ความผิดปกติของเม็ดเลือด, ของระบบประสาท, รวมไปถึงตับและไต ยาปฏิชีวนะดังกล่าว เช่นยา Clarithomycin และ Erythromycin เป็นต้น หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาทั้ง 2 กลุ่มร่วมกัน แพทย์จะปรับลดขนาดรับประทานของยาโคลชิซิน
  • การใช้ยาโคลชิซินร่วมกับยารักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจทำให้ระดับยาโคลชิซินในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่างๆของยาโคลชิซินสูงขึ้นตามมา ยารักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่นยา Verapamil

ควรเก็บรักษายาโคลชิซินอย่างไร?

สามารถเก็บยาโคลชิซิน เช่น

  • เก็บยาที่ในอุณหภูมิห้อง
  • เก็บยาบรรจุในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด และความชื้น
  • และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาโคลชิซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโคลชิซิน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Cochic (โคชิก) Masa Lab
Colchicine Asian Pharm (โคลชิซิน เอเซียน ฟาร์ม) Asian Pharm
Colchicine Medinova (โคลชิซิน เมดิโนวา) Medinova
Colchicine Utopian (โคลชิซิน ยูโทเปียน) Utopian
Colchily (โคลชิลี) Pharmasant Lab
Colcine (โคลซิน) Pharmahof
Colcitex (โคลซิเท็ก) The United Drug (1996)
Goutichine (โกทิชิน) Farmaline
Koji (โคจิ) Patar Lab
Prochic (พรอกชิก) Millimed
Tolchicine (โทลชิซิน) T.O. Chemicals
Zoric (โซริก) V S Pharma

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Colchicine [2021,July17]
  2. https://www.mims.com/thailand/drug/info/colchicine?mtype=generic [2021,July17]
  3. https://reference.medscape.com/drug/colcrys-mitigare-colchicine-342812#5 [2021,July17]
  4. https://www.medicinenet.com/colchicine-oral/article.htm [2021,July17]
  5. https://www.drugs.com/mtm/colchicine.html [2021,July17]