โครตาไมตอน (Crotamiton)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโครตาไมตอน (Crotamiton) เป็นยาที่นำมารักษาโรคหิด อาการคันทางผิวหนัง มีรูปแบบของยาแผนปัจจุบันเป็นยาครีมสำหรับทาภายนอก กรณีรักษาโรคหิดต้องทายาโครตาไมตอนให้ทั่วร่างกายจะให้ผลดีกว่าทายาเฉพาะพื้นที่ผิวหนังที่ติดโรค/บริเวณรอยโรค และต้องทายามากกว่า 1 ครั้งร่วมกับมีการเว้นเวลาอาบน้ำอย่างเหมาะสม กรณีใช้ยาโครตาไมตอนทาแก้ผื่นคัน สามารถทายาในบริเวณที่มีอาการ/ตรงรอยโรคเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องทาทั้งตัวเหมือนการรักษาโรคหิดและอาจต้องทายาซ้ำหลังจากการทายาครั้งแรกไปแล้ว 4 - 8 ชั่วโมง

การใช้ยาโครตาไมตอนควรหลีกเลี่ยงการทาใกล้บริเวณตา หรือทาในบริเวณผิวหนังที่เป็นแผลเปิดหรือแผลฉีกขาดด้วยจะทำให้ตัวยาสามารถดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ และร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 30.9 ชั่วโมงขึ้นไปในการกำจัดยาโครตาไมตอนออกจากร่างกายโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

สำหรับกลไกการออกฤทธิ์ของยาโครตาไมตอนยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด โดยข้อมูลถึงประสิทธิภาพของยานี้ได้จากการศึกษาทางคลินิก

อย่างไรก็ตามยังมีเงื่อนไขบางประการที่ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถใช้ยาโครตาไมตอนได้หรือการใช้ยานี้อาจต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นอย่างมากหรือต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์เท่านั้นเช่น

  • เป็นผู้ที่มีประวัติแพ้ยาชนิดนี้หรือเคยใช้ยานี้แล้วมีอาการระคายเคืองที่ผิวหนังบริเวณทายาอย่างรุนแรง
  • สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการใช้ยาทุกชนิดซึ่งรวม ถึงยาโครตาไมตอนด้วย การจะใช้ยากับผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้ต้องได้รับความเห็นชอบจากแพทย์เท่านั้น
  • ห้ามทายานี้ในบริเวณผิวหนังที่มีการอักเสบ มีน้ำเหลืองซึมเยิ้ม หรือแผลเปิด ปริแตก ฉีกขาด ทั้งนี้เพื่อป้องกันการดูดซึมยาเข้าสู่ร่างกาย นอกจากนี้ยังรวมถึงห้ามใช้ทาในช่องปาก จมูก และตา หากยานี้สัมผัสกับอวัยวะดังกล่าวต้องรีบล้างออกโดยเร็วด้วยน้ำเปล่าที่สะอาด

เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคการใช้ยาโครตาไมตอนในการรักษาโรคหิดหรือผื่นคันควรต้องได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์ก่อนเสมอ

โครตาไมตอนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

โครตาไมตอน

ยาโครตาไมตอนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ

  • รักษาโรคหิด และ
  • อาการผื่นคันของผิวหนัง

โครตาไมตอนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

สำหรับกลไกการออกฤทธิ์ของยาโครตาไมตอนยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่จากการศึกษาทางคลินิกของนักวิทยาศาสตร์พบว่ามีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อหิดตามผิวหนังของมนุษย์และยังช่วยบำบัดอาการผื่นคันของผิวหนังด้วย

โครตาไมตอนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโครตาไมตอนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาครีมหรือโลชั่นขนาดความเข้มข้น 10%

โครตาไมตอนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาโครตาไมตอนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาเช่น

ก. สำหรับรักษาอาการโรคหิด:

  • ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: อาบน้ำและเช็ดตัวให้แห้ง จากนั้นทายาให้ทั่วร่างกายโดยเริ่มตั้งแต่คางลงมาและควรทาตามซอกนิ้วมือนิ้วเท้ารวมถึงใต้วงแขน/รักแร้ เมื่อครบ 24 ชั่วโมงให้ทายาอีกครั้ง แพทย์มักจะแนะนำให้อาบน้ำได้เมื่อทายาทั้ง 2 ครั้งเป็นเวลา 48 ชั่วโมงไปแล้ว จากนั้นอาจต้องทายาต่อเนื่องอีกวันละ 1 ครั้งเป็นเวลาติดต่อกัน 5 วัน
  • เด็กและผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี: การใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มวัยนี้ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกถึงผลข้างเคียงที่แน่ชัด จึงต้องให้แพทย์ผู้รักษาเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมของการใช้ยานี้เป็นกรณีๆไป

ข. สำหรับรักษาอาการผื่นคัน:

  • ผู้ใหญ่: ทายาเฉพาะรอยโรคที่ผิวหนังวันละ 2 - 3 ครั้ง
  • เด็ก: การใช้ยานี้ในเด็กยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกถึงผลข้างเคียงที่แน่ชัด จึงต้องให้แพทย์ผู้รักษาเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมของการใช้ยานี้เป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโครตาไมตอน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโครตาไมตอนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมทายาควรทำอย่างไร?

หากลืมทายาโครตาไมตอนสามารถทายาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการทายาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

โครตาไมตอนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ของยาโครตาไมตอนคือ อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองทางผิวหนังที่สัมผัสยานี้ และในผู้ป่วยบางรายที่ผิวหนังดูดซึมยานี้เข้าสู่ร่างกายอาจ พบอาการคลื่นไส้ อาเจียน และปวดท้องหลังทายาชนิดนี้

มีข้อควรระวังการใช้โครตาไมตอนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโครตาไมตอนเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่งแพทย์
  • ห้ามรับประทาน ทาในจมูก ทารอบตา ทาบริเวณผิวหนังอักเสบ แผลเปิด หรือแผลฉีกขาด ด้วยจะเกิดการดูดซึมของยานี้เข้าสู่ร่างกาย
  • ห้ามใช้กับตา จมูก ช่องปาก ทวารหนัก อวัยวะเพศ หรือบริเวณผิวหนังที่มีแผลเปิด
  • หากพบอาการแพ้ยานี้เช่น มีผื่นคัน ผิวหนังบวมแดง อึดอัดหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ตัวบวม ให้หยุดการใช้ยานี้ทันทีและรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน
  • หากใช้ยานี้ตามระยะเวลาที่แพทย์แนะนำแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรต้องกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลอีกครั้งเพื่อแพทย์พิจารณาปรับวิธีการรักษา
  • เมื่อเริ่มใช้ยานี้ ชุดชั้นใน ผ้าปูที่นอน หมอน ผ้าห่ม ควรได้รับการเปลี่ยนใหม่ และดูแลให้สะอาดอยู่เสมอ
  • ปฏิบัติขั้นตอนการใช้ยานี้ตามคำแนะนำของแพทย์/พยาบาลอย่างเคร่งครัดและมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโครตาไมตอนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

โครตาไมตอนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ด้วยยาโครตาไมตอนเป็นยาใช้ทาภายนอกจึงยังไม่มีรายงานพบปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับประทานชนิดใดๆ

ควรเก็บรักษาโครตาไมตอนอย่างไร?

ควรเก็บยาโครตาไมตอนในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

โครตาไมตอนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโครตาไมตอนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Eurax (ยูแรกซ์)Ranbaxy Laboratories Inc.

บรรณานุกรม

  1. http://www.drugs.com/sfx/crotamiton-topical-side-effects.html [2016,May14]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Crotamiton [2016,May14]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/crotamiton/?type=brief&mtype=generic [2016,May14]
  4. http://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2003/06927slr030,09112slr021_eurax_lbl.pdf [2016,May14]