แอแนฟิแล็กซิส: ปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน (Anaphylaxis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ภูมิแพ้ หรือ อาการแพ้ (Allergy) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกคน บางคนมีอาการแพ้อา หารทะเล บางคนแพ้อากาศเย็น บางคนแพ้ผงฟู บางคนแพ้ยา นอกจากนี้ ภูมิแพ้ในแต่ละคนก็ยังมีความรุนแรงที่แตกต่างกันอีก บางคนแพ้แบบขึ้นลมพิษ บางคนมีอาการคันหรือผื่นลอกทั่วตัว แต่บางรายแพ้อย่างรุนแรง เฉียบพลัน หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก หมดสติ และอาจถึงเสียชีวิตได้ อาการ/ปฏิกิริยาภูมิแพ้ชนิดที่รุนแรงเฉียบพลันนั้น เรียกว่า “แอแนฟิแล็กซิส (Anaphylaxis)” เป็นอาการ/ปฏิกิริยาที่อันตรายอย่างมาก ถ้าให้การรักษาไม่ทันท่วงที ก็มีโอ กาสเสียชีวิตได้ทันที ดังนั้นอาการ/ปฏิกิริยาแพ้ชนิดรุนแรง เฉียบพลันนี้ เป็นสิ่งที่เราทุกคนควรต้องทราบ

แอแนฟิแล็กซิสคืออะไร?

แอแนฟิแล็กซิส

แอแนฟิแล็กซิส คือ/เป็นปฏิกิริยาภูมิแพ้อย่างรุนแรงเฉียบพลัน ที่เกิดขึ้นกับอวัยวะระบบต่างๆของร่างกายหลายระบบพร้อมๆกัน เช่น ผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบทางเดินอาหาร ในรายที่เป็นมาก อาจเกิดภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นอย่างรุน แรง และรวดเร็วจนหายใจไม่ได้/หายใจลำบาก, ภาวะระบบการไหลเวียนโลหิต, และ ภาวะหัว ใจล้มเหลว ส่งผลให้เสียชีวิตได้ในระยะเวลาอันสั้น ถ้าได้รับการรักษาไม่ทัน

แอแนฟิแล็กซิส เกิดได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยผู้หญิงและผู้ ชายพบได้ใกล้เคียงกัน

สถิติการเกิดแอแนฟิแล็กซิสทั่วโลกยังไม่มีรายงานชัดเจน แต่เชื่อว่าน่าจะใกล้เคียงกันทั่วโลก โดยรายงานในสหรัฐอเมริกาและในยุโรป ในแต่ละปี พบปฏิกิริยาภูมิแพ้ฯนี้ได้ประมาณ 3 -60 รายต่อประชากร 100,000 คน

แอแนฟิแล็กซิสเกิดได้อย่างไร?

แอแนฟิแล็กซิส เกิดจากมีสารต้นเหตุ/ตัวกระตุ้น (สารที่ทำให้มีอาการภูมิแพ้) จับกับตัว รับเฉพาะชนิดที่เรียกว่า ไอจีอี (Antigen-specific IgE) แล้วทำให้มีกระบวนการต่างๆเกิดขึ้น ได้แก่ การกระตุ้นให้ร่างกายสร้าง เม็ดเลือดขาวที่เกี่ยวข้องกับภูมิแพ้ คือ เบโซฟิล (Basophils) และแมสเซลล์ (Mast cells) ซึ่งเม็ดเลือดขาวเหล่านี้จะปล่อยสารเคมีต่างๆ (Mediators) ออก มา เช่น ฮิสตามีน (Histamines), ลิวโคไทน์ (Leukotrienes), โพรสตาแกลนดิน (Prostaglan dins), ธอมบอกแซนส์ (Thromboxanes), และแบรดดี้ไคนิน (Bradykinins) โดยสารเหล่านี้เมื่อถูกปล่อยออกมาทั้งในระดับเฉพาะแห่งและทั่วร่างกายแล้ว จะทำให้เยื่อเมือก (Mucous membrane) ในส่วนต่างๆของร่างกาย หลั่งสารคัดหลั่งต่างๆออกมา ที่ทำให้ผนังหลอดเลือดในอวัยวะต่างๆเสียสภาพและเสียหน้าที่ไป ทำให้ร่างกายไม่สามารถควบคุมหรือคงไว้ซึ่งสาร/ของเหลวต่างๆในหลอดเลือดหรือในเซลล์ต่างๆได้ (Capillary permeability) จึงส่งผลให้มีการเพิ่มขึ้นของการรั่วซึมของสาร/ของเหลวเหล่านี้ จากหลอดเลือด และจากเซลลฺต่างๆมากขึ้น จึงส่งผลให้เกิดอาการต่างๆขึ้น

แอแนฟิแล็กซิสเกิดจากอะไร?

สาเหตุที่พบบ่อยที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดแอแนฟิแล็กซิส ได้แก่ ยากลุ่มต่างๆ (เช่น ยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนิซิลิน/Penicillin), อาหารทะเล รวมทั้งอาหารอื่นๆ (ถั่วต่างๆ อาหารโปรตีน แป้งสาลี), พิษจากแมลงกัดต่อย (มด ตัวต่อ ผึ้ง หมาร่า แมงมุม และแมลงบางชนิด), สารลาเท็กซ์ (Latex) ในถุงมือยาง, รวมทั้งสารทึบแสง/การฉีดสีในการตรวจทางรังสีวิทยา

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดแอแนฟิแล็กซิส?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดแอแนฟิแล็กซิสได้สูงกว่าคนกลุ่มอื่น ได้แก่

  • ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้บางชนิด เช่น ที่มีความผิดปกติของมาสต์เซลล์ (Mastocytosis)
  • โรคหอบหืด
  • ผู้สูงอายุ
  • ความเครียด
  • การออกกำลังกายหักโหม
  • การดมยาสลบ
  • ช่วงมีรอบประจำเดือน (อาจเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนต่างๆ)

แอแนฟิแล็กซิส มีอาการอย่างไร?

อาการจากแอแนฟิแล็กซิส จะเกิดได้กับอวัยวะทุกระบบ โดยเฉพาะผิวหนัง ระบบทาง เดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด และตา

ทั้งนี้ ควรจะสงสัยหากอาการต่างๆเหล่านี้เกิดขึ้นในเวลาเป็นนาที หลังจากที่ได้รับสารต้นเหตุ คือ สาร/ตัวกระตุ้นหรือสารก่อภูมิแพ้ โดยอาการเริ่มต้น คืออาการบวมและคันบริเวณที่ได้รับสารก่อภูมิแพ้ เช่น หากได้รับอาหารที่แพ้ จะมีอาการบวม คันปาก และคอ มีอาการปวดท้อง และถ่ายเหลว, ถ้าเกิดจากแมลงกัดต่อย ก็จะมีอาการบวมและคันบริเวณที่ถูกกัด มีผื่นลม พิษลามทั่วตัว

อาการอื่นๆโดยทั่วไป คือมักมีการขึ้นผื่น อาจจะเริ่มที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ศีรษะ และผื่นฯจะลามทั้งตัวและคัน หนังตาและรอบปากจะบวม ผิวหนังจะแดงบางส่วนหรือทั่วตัว บางคนอาจจะมีหนังตาบวม ปากบวม คอบวมรู้สึกเหมือนมีก้อนในคอ เสียงแหบ เนื่องจากกล่องเสียงและสายเสียงบวม หลอดลมตีบทำให้หายใจลำบาก ผู้ป่วยจะกระสับกระส่าย มีความดันโลหิตต่ำ อ่อน เพลีย ชีพจรเต้นเร็ว หน้ามืด เป็นลม และในที่สุดผู้ป่วยจะหมดสติภายในไม่กี่นาที

อนึ่ง อาการทางระบบอวัยวะต่างๆที่เกิดจากแอแนฟิแล็กซิส ที่พบบ่อย ได้แก่

  • อาการทางระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น เวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม ที่อาการทั้ง หมดเกิดจากมีภาวะความดันโลหิตต่ำ
  • อาการระบบทางเดินอาหาร เช่น แน่นท้อง ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน
  • อาการทางระบบทางเดินหายใจตอนบน เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล จาม หายใจเสียงดัง พูดลำบาก/เสียงแหบ กลืนลำบาก
  • อาการทางระบบทางเดินหายใจตอนล่าง เช่น ไอ แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงหวีด หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก
  • อาการทางผิวหนัง เช่น ลมพิษ หนังตาบวม ปากจะบวม
  • อาการทางตา เช่น ตาบวม ตาแดง คันตา น้ำตาไหล

ควรพบแพทย์เมื่อใด?

ผู้ป่วยหรือญาติควรรีบนำผู้ป่วยพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันทีที่เริ่มมีอาการ ไม่ควรรอว่าอาการจะดีขึ้นหรือไม่

อนึ่ง โทรศัพท์เรียกรถพยาบาลฉุกเฉิน เบอร์เดียวทั่วประเทศไทย คือ “เบอร์โทรฯ 1669” สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข (สพฉ.) ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง

การวินิจฉัยแอแนฟิแล็กซิสทำอย่างไร?

การวินิจฉัยแอแนฟิแล็กซิสทำได้โดย จากประวัติที่ได้รับสารก่อภูมิแพ้ ร่วมกับจากอา การและอาการแสดงผิดปกติที่เกิดขึ้น เช่น อาการที่ผิวหนัง การบวมของหนังตา ของปาก หาย ใจไม่สะดวก เสียงแหบ มีความดันโลหิตต่ำ และการหายใจที่อาจผิดปกติ (ขึ้นกับความรุนแรงของปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น) ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องส่งตรวจสืบค้นเพิ่มเติมใดๆ และต้องรีบให้การวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็ว ทันเวลา โดยอาการหลักที่ใช้ในการวินิจฉัย ได้แก่ อาการที่เป็นขึ้นมาอย่างรวดเร็ว และมีอาการเกิดขึ้นที่หลายระบบพร้อมๆกัน เช่น ผิวหนัง ระบบการหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด และความดันโลหิตที่ตก/ต่ำลง

รักษาแอแนฟิแล็กซิสอย่างไร?

การรักษาแอแนฟิแล็กซิส ที่สำคัญ ประกอบด้วย การดูแลรักษาเบื้องต้น และการรักษาเมื่อถึงโรงพยาบาลแล้ว

ก. การดูแลรักษาเบื้องต้น

  • ถ้าหายใจลำบากและรู้ตัวดี ก็ให้ผู้ป่วยนั่ง แต่ถ้าความดันโลหิตต่ำ (วิงเวียน หน้ามืด จะเป็นลม) ก็ให้นอนราบยกเท้าสูง
  • ถ้าผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ต้องระวังเรื่องทางเดินหายใจ อย่าให้มีเศษอาหารหรือเสมหะอุด ต้องให้ผู้ป่วยนอนตะแคงหันศีรษะไปด้านข้าง (ข้างขวาหรือซ้ายก็ได้) เพื่อป้องกันการสำลักสิ่งเหล่านั้นเข้าปอด
  • ห้ามให้ น้ำ อาหาร หรือ ยา ทางปาก แก่ผู้ป่วย เพราะจะเกิดการสำลักเข้าปอดได้
  • ถ้ารู้ว่าผู้ป่วยได้รับสารที่แพ้แน่นอน และหากมี ยาอะดีนาลีน/อีพิเนพฟรีน (Adrena line/Epinephrine/ยารักษาอาการภูมิแพ้ฉุกเฉิน และช่วยคงความดันโลหิต) ที่บ้าน ก็ฉีดยาเข้าที่กล้ามเนื้อให้ผู้ป่วย เช่น ที่แก้มก้น
  • เรียกรถพยาบาลฉุกเฉิน โทรฯ 1669 หรือรีบพาไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที

ข. การรักษาเมื่อถึงโรงพยาบาลแล้ว

  • ต้องหยุดสารที่สงสัยเป็นตัวกระตุ้นทันที
  • ให้นอนยกเท้าสูง
  • วัดสัญญาณชีพบ่อยๆ
  • ให้อะดีนาลีน (Adrenaline) ขนาด 1:1,000, ผู้ใหญ่ให้ 0.3-0.5 ซีซี (cc./cubic cen timeter) ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ให้ซ้ำได้ทุก 10-15 นาที หากถูกแมลงต่อย หรือหากอาการภูมิแพ้ เกิดจากการฉีดยา ให้ฉีดยาอะดีนาลินปริมาณครึ่งหนึ่งของที่ได้กล่าวแล้ว รอบรอยฉีดยาที่เป็นสาเหตุ หรือบริเวณที่ถูกแมลงกัด อีกครึ่งให้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
  • ตรวจทางเดินหายใจให้โล่ง นำฟันปลอมหรืออาหารที่อยู่ในปากออก
  • ให้ออกซิเจน 8-10 ลิตร
  • ให้ยาแก้แพ้ (antihistamine) ให้ได้ทั้ง anti H1 และ anti H2 คือ diphenhydra mine 25-50 มก. ranitidine 50 มก.
  • หากผู้ป่วยมีความดันโลหิตต่ำก็ให้น้ำเกลือ พิจารณาให้เป็น 0.9% Nacl
  • หากมีอาการเกร็งของหลอดลมก็ให้ยาขยายหลอดลมชนิดพ่น

ทั้งนี้ ระยะเวลาการรักษาแอแนฟิแล็กซิสในโรงพยาบาล จะนานแค่ไหน ขึ้นกับการตอบ สนองต่อการรักษาว่าดีหรือไม่ กรณีที่มารับการรักษา และได้รับการดูแลเบื้องต้นที่เหมาะสม ไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ ก็นอนรักษาในโรงพยาบาลระยะเวลาสั้นๆ เพียง 2-3 วัน แต่ถ้าผู้ป่วยมีภา วะแทรกซ้อน หรือมีอาการที่รุนแรงมากก่อนมาพบแพทย์ เช่น ความดันโลหิตต่ำมาก มีหลอด ลมตีบรุนแรง ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ (Endotracheal tube) ร่วมกับใช้เครื่องช่วยหายใจ (Respi rator) ก็ต้องใช้ระยะเวลาในการรักษา เพื่อแก้ไขปัญหาและภาวะแทรกซ้อนนานขึ้น อาจต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลนานเป็นสัปดาห์

แอแนฟิแล็กซิสมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง?

ผลข้างเคียงของแอแนฟิแล็กซิส คือ ภาวะความดันโลหิตต่ำ และหลอดลมตีบอย่างรุน แรง ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดภาวะขาดออกซิเจน ซึ่งส่งผลต่ออวัยวะต่างๆ เช่น ไตวายเฉียบพลัน, ภาวะสมองขาดออกซิเจน, หรืออาจเสียชีวิตจากความดันโลหิตต่ำ หรือจากร่างกายขาดออกซิ เจนได้

แอแนฟิแล็กซิสมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของปฏิกิริยาแอแนฟิแล็กซิส ขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น ปริมาณสารก่อภูมิ แพ้ที่ได้รับ โรคประจำตัวที่มี (เช่น โรคหืด โรคหลอดเลือดหัวใจ) อายุมาก ภาวะติดเชื้อ ความ เครียด รอบประจำเดือน การสำลักอาหาร การดูแลรักษาช่วยเหลือที่ล่าช้า และ/หรือ ชนิดของอวัยวะที่ได้รับผลกระทบหรือมีอาการ (เช่น ถ้าเกิดที่ไต การพยากรณ์โรคเลวกว่าเกิดที่ผิวหนัง)

ทั้งนี้ การเกิดอาการของแอแนฟิแล็กซิสนั้น เป็นขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ถ้าได้รับการรักษาเบื้องต้นไม่ถูกวิธี เช่น ผู้ป่วยหมดสติ, มีการสำลักอาหาร, หลอดลมตีบรุนแรง, ความดันโลหิตต่ำ, จะทำให้ผู้ป่วยมีภาวะสมองขาดออกซิเจน ซึ่งผู้ป่วยอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนทางสมอง ส่ง ผลให้การรักษานั้นได้ผลไม่ดี หรืออาจเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว หรือผู้ป่วยเกิดอาการขณะที่อยู่บ้านคนเดียว ไม่มีใครให้การช่วยเหลือได้ทัน ก็ส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

แอแนฟิแล็กซิสนี้มีการเกิดซ้ำได้เสมอ ทุกๆครั้งที่ผู้ป่วยได้รับสารก่อภูมิแพ้ชนิดนั้นเข้าไปอีก นอกจากนี้บางกรณีที่ครั้งแรกไม่เคยเกิดอาการ แต่ถ้าได้รับสารนั้นๆเข้าไปซ้ำหลายๆครั้ง ร่างกายจะค่อยๆสร้างตัวรับเฉพาะต่อสารก่อภูมิแพ้นั้น ก็อาจเกิดอาการแพ้ชนิดรุนแรงนี้ได้ โดยมักจะเกิดกับการแพ้ยา และยาบางชนิดที่มีโครงสร้างคล้ายกัน ก็อาจแพ้ยาต่างชนิดที่มีโครง สร้างคล้ายกันได้ เช่น การแพ้ยากันชัก หรือยาปฏิชีวนะกลุ่มเพ็นนิซิลิน และกลุ่มเบต้าแลคแตม(Beta-lactam) เป็นต้น

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้เกิดแอแนฟิแล็กซิสเกิดเป็นซ้ำ ก็คือ การได้รับสารก่อภูมิแพ้ซ้ำ หรือการได้รับยาที่มีโครงสร้างใกล้เคียงกัน หรือ ได้ทานอาหารที่มีสารก่อภูมิแพ้นั้นๆปนเปื้อนหรือผสมอยู่ ดังนั้นผู้ที่เคยมีปฏิกิริยาแอแนฟิแล็กซิสนั้น ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง ต้องห้าม ทาน ใช้ หรือ สัมผัส สารก่อภูมิแพ้นั้นอีกเลย ภาวะความเครียด รอบประจำเดือน การติดเชื้อก็เป็นตัวกระ ตุ้นให้เกิดซ้ำได้ง่ายเช่นกัน

ผู้ป่วยควรดูแลตนเองอย่างไร?

ผู้ป่วยแอแนฟิแล็กซิสและครอบครัว ควรต้องปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำในการดู แลตนเองที่บ้าน ดังนี้

  • ผู้ที่เสี่ยงต่อการแพ้ชนิดนี้รวมทั้งครอบครัว ต้องมีแผนการรักษาเบื้องต้นตามแพทย์แนะ นำไว้ และหากมีการฝึกซ้อมไว้เสมอ จะทำให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ควรมียา อะดีนาลีน เก็บไว้ที่บ้านตามคำแนะนำของแพทย์เสมอ
  • ผู้ป่วยและญาติ ควรต้องรู้จักอาการเบื้องต้นของแอแนฟิแล็กซิสเป็นอย่างดี เพื่อการช่วยเหลือดูแลรักษาเบื้องต้นที่ทันท่วงที
  • ผู้ป่วยและญาติต้องรู้วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น รวมทั้งวิธีฉีดยาอะดีนาลีน (แพทย์ พยาบาล จะสอนผู้ป่วยก่อนออกจากโรงพยาบาลเสมอ)
  • ผู้ป่วยและญาติต้องจำสารที่ก่อปฏิกิริยาแอแนฟิแล็กซิสให้ได้แม่นยำ และต้องหลีก เลี่ยงสารนี้เสมอ
  • ผู้ป่วยและญาติต้องรู้ว่าหากแพ้ยาชนิดหนึ่ง ไม่ควรรับยาชนิดอื่นที่อาจจะแพ้ได้ (แจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร เสมอว่าแพ้ยาอะไร) และควรมีบัตรประจำตัวที่ระบุว่าแพ้ยาอะไร ติดตัวไว้เสมอ
  • ญาติผู้ป่วยควรฝึกการกู้ชีวิตในเบื้องต้นไว้ด้วย (ฝึกจากแพทย์ พยาบาล หรือทีมกู้ชีพ)
  • ผู้ป่วยไม่ควรทานอาหาร เครื่องดื่ม ที่ไม่เคยทาน เพราะอาจเกิดการแพ้ได้

***** อนึ่ง การมีความรู้เหล่านี้จะท้าให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัยมากขึ้น ลดการเกิด แอ แนฟิแล็กซิสลงได้ ที่สำคัญที่สุด คือ การหลีกเลี่ยงสารที่เราทราบอยู่แล้วว่าตนเองแพ้

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?

โดยส่วนใหญ่ ถ้าผู้ป่วยแอแนฟิแล็กซิส ไม่มีภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงใดๆ และไม่ ได้มีโรคประจำตัว แพทย์ก็จะไม่ได้นัดติดตามการรักษาผู้ป่วยอีก เพราะถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับสารก่อภูมิแพ้นั้นๆอีก ก็จะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ

อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้ป่วยมีอาการอย่างหนึ่งอย่างใดข้างต้นที่ได้กล่าวแล้วในหัวข้อ อาการ หรืออาการที่ผิดปกติไปจากเดิม ไม่ต้องรอให้มีอาการรุนแรง ควรต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยา บาลทันที เพราะผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแพ้ได้อีกนานหลายสัปดาห์ ถึงแม้จะไม่ได้รับสารก่อภูมิแพ้ดังกล่าวแล้ว แต่อาการมักจะไม่รุนแรง เช่น มีเพียงผื่นคัน หรือลมพิษเท่านั้น

ป้องกันแอแนฟิแล็กซิสได้อย่างไร?

ก. การป้องกันการเกิดแอแนฟิแล็กซิสเมื่อยังไม่เคยมีปฏิกิริยานี้มาก่อน คือ การหมั่นสังเกตว่าตนเองมีอาการแพ้อะไรหรือไม่ เช่น ทานอาหารบางชนิดแล้วมีผื่นคัน หรือลมพิษ ถ้ามี ก็ควรหลีกเลี่ยงการทานอาหารชนิดนั้นๆอีก นอกจากนี้ไม่ควรทานอาหารที่ทำจากแมลงแปลกๆที่เราไม่เคยทานมาก่อน เพราะจะมีโอกาสแพ้ได้สูง หรือถูกแมลงบางชนิดกัดแล้วเกิดอาการแพ้ ก็ต้องระวังไม่ให้สัมผัสแมลงชนิดนั้นอีก

นอกจากนั้น ต้องไม่ใช้ยาเกินความจำเป็น โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ เพราะการแพ้ชนิดรุน แรงที่พบบ่อย คือ จากยาปฏิชีวนะ และหมั่นสังเกตว่าแพ้อาหารทะเลหรือไม่ ถ้าแพ้อาหารทะเล ก็มีโอกาสแพ้สารทึบแสงที่ต้องฉีดเข้าหลอดเลือดในระหว่างการตรวจทางรังสีวิทยา (เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเอมอาร์ไอ) ดังนั้นถ้าจำเป็นต้องตรวจดังกล่าว ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบว่า เคยแพ้อะไรหรือไม่ และแพ้อย่างไร เพื่อหลีกเลี่ยงการแพ้สารทึบแสง

ข. การป้องกันแอแนฟิแล็กซิสเกิดเป็นซ้ำ คือ การหลีกเลี่ยงการใช้ยาหรือทานอาหารที่เคยแพ้นั้นโดยเด็ดขาด กรณีที่มีประวัติการแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดใดนั้น ต้องมีการแจ้งต่อ ครูที่โรงเรียน เจ้าหน้าที่ที่บริษัท โรงพยาบาล โดยการแจ้งไว้ในประวัติส่วนตัวของแต่ละคน