แอลเอสดี (LSD, Lysergic acid diethylamide)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ:คือสารอะไร?

แอลเอสดี (LSD: Lysergic acid diethylamide) คือ สาร/ยาเสพติดชนิดหนึ่ง เรียกอีกชื่อว่า “Lysergide” หรือ “แอซิด (Acid)” คนไทยมักเรียก “กระดาษเมาหรือกระดาษมหัศจรรย์ (Magic paper)” และจากรูปแบบจำหน่ายอีกรูปแบบหนึ่งที่มีลักษณะเป็นกระดาษซับและเป็นชิ้นเล็กๆพิมพ์ลวดลายคล้ายแสตมป์จึงเรียกอีกชื่อว่า “แสตมป์มรณะ”

แอลเอสดี ถูกสังเคราะห์ขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1938 (พ.ศ. 2481) ประโยชน์ทางการแพทย์ได้นำไปบำบัดอาการทางจิตประสาท, ลดอาการปวด, รักษาอาการติดสุรา, ในหลายประเทศจัดให้แอลเอสดีเป็นสารที่ถูกควบคุมและใช้กฎหมายของยาเสพติดเข้ามากำกับและดูแล ตามกฎหมายไทยจัดแอลเอสดีเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1

ในเชิงการผลิตจะสังเคราะห์แอลเอสดีจากกรดที่มีชื่อว่า Lysergic acid ที่พบในเชื้อราที่ขึ้นอยู่บนเมล็ดข้าวไรด์ (Rye) แอลเอสดีมีลักษณะเป็นผลึกไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และมีรสขมเล็กน้อย ลักษณะที่นำออกจำหน่ายจะเป็นยาเม็ดหรือไม่ก็แคปซูลหรือจะเป็นรูปแบบที่เรียกว่า กระดาษซับ/Absorbent paper โดยมีลักษณะคล้ายแผ่นกระดาษซับ/ซับหมึก และมีรูปภาพการ์ตูน (แผ่นเล็กๆคล้ายแสตมป์) บางกรณีแอลเอสดีจะถูกจำหน่ายในรูปของสารละลาย/ยาน้ำก็ได้

ผู้ที่ลักลอบเสพแอลเอสดีได้มีการตั้งชื่อเพื่อใช้เป็นรหัสสื่อสารระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายมากกว่า 80 ชื่อทั่วโลกเช่น Acid, Blotter, Cid, Doses และ Dots เป็นต้น

อาการของผู้ที่ได้รับแอลเอสดีที่ผิดขนาด มักจะพบอาการรูม่านตาขยาย, อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นหรือไม่ก็ต่ำล, หัวใจเต้นเร็ว, ความดันโลหิตสูง, เหงื่อออกมาก, ไม่รู้สึกหิว, นอนไม่หลับ, หูอื้อ, ปากคอแห้ง, ตัวสั่น, น้ำตาลในเลือดสูง, ถึงแม้แอลเอสดีจะไม่ก่อให้เกิดอาการถอนยา(ลงแดง)ในทางคลินิก แต่ก็สามารถก่อเกิดอาการข้างเคียง/ผลข้างเคียงจนก่อให้เกิดผลเสียและอันตรายต่อชีวิตตามมา

แอลเอสดีมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) ทางการแพทย์อย่างไร?

แอลเอสดี

แอลเอสดีมีสรรพคุณการรักษา/ข้อบ่งใช้ทางการแพทย์: เช่น

  • นำมาใช้รักษาอาการทางจิตเวช
  • ลดอาการปวด เช่น ปวดศีรษะคลัสเตอร์
  • บำบัดผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง(โรคพิษสุรา)

แอลเอสดีมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ที่แน่ชัดของแอลเอสดียังไม่มีการศึกษาอย่างชัดเจน แต่มีการศึกษาเรื่องการกระจายตัวของแอลเอสดีในสมองพบว่า แอลเอสดีจะแสดงฤทธิ์เป็นตัวกระตุ้น ตัวรับของสารเซโรโทนิน (5-HT autoreceptor agonist/5 Hydroxytryptophan autoreceptor agonist) โดยจะออกฤทธิ์ที่บริเวณตัวรับ(Receptor)ที่มีชื่อว่า 5-HT1A receptor จนเกิดการรบกวนสมดุลของสารสื่อประสาทในสมองและเป็นเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และทางร่างกายอย่างรวดเร็ว

แอลเอสดีมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

แอลเอสดีมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาผง, ยาเม็ด, ยาแคปซูล, และยาน้ำ, สำหรับรับประทาน
  • Absorbent paper หรือ Blotter paper (แผ่นกระดาษซับ) ใช้แปะผิวหนัง

* หมายเหตุ: แอลเอสดีไม่มีจำหน่ายในประเทศไทยและจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1

แอลเอสดีมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขนาดการนำแอลเอสดีมาใช้ในมนุษย์ในทางการแพทย์ โดยมากจะเป็นการรับประทาน โดยหลังจากร่างกายได้รับแอลเอสดีประมาณ 30 - 90 นาทีก็จะเริ่มออกฤทธิ์

  • การออกฤทธิ์ต่ำ - เบาบาง: ขนาด 25 - 75 ไมโครกรัม
  • การออกฤทธิ์ปานกลาง: ขนาด 50 - 150 ไมโครกรัม
  • การออกฤทธิ์อย่างรุนแรง: ขนาด 150 - 400 ไมโครกรัม
  • ขนาดแอลเอสดีในช่วง 75 - 150 ไมโครกรัมจะก่อให้เกิดอาการเคลิบเคลิ้ม รู้สึกเป็นสุข

*****หมายเหตุ:

  • ขนาดแอลเอสดีดังกล่าวเมื่อนำมาใช้ทางการแพทย์จำเป็นต้องมีการควบคุมอย่างใกล้ชิดจาก แพทย์ผู้รักษา/บุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องและจากโรงพยาบาล
  • สำหรับประเทศไทยจะไม่พบเห็นการใช้แอลเอสดีในรูปแบบยาตามสถานพยาบาลทั่วไป
  • แอลเอสดีไม่มีจำหน่ายในประเทศไทยและจัดเป็นยาเสพติดประเภทที่ 1
  • ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือ เภสัชกร ก่อนเสมอ

แอลเอสดีมีผลข้างเคียง/พิษอย่างไร?

แอลเอสดีมีผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/มีพิษ) ดังนี้ เช่น

  • รูม่านตาขยาย
  • อุณหภูมิของร่างกายต่ำหรือไม่ก็สูงขึ้น
  • เหงื่อออกมากหรือไม่ก็หนาวสั่น
  • เบื่ออาหาร
  • นอนไม่หลับ
  • ปากคอแห้ง
  • ตัวสั่น

****** อนึ่ง: ผลข้างเคียง/พิษของแอลเอสดีที่อันตรายมาก คือ

  • มีผลต่อระบบประสาท เช่น
    • ประสาทหลอน
    • เกิดความรู้สึกหวาดกลัว
    • คลุ้มคลั่ง
    • ซึมเศร้าอย่างรุนแรง

******หมายเหตุ:

  • ประเทศไทยจัดให้แอลเอสดีเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 การลักลอบเสพมีโทษจำคุกตามกฎหมายยาเสพติด
  • การใช้แอลเอสดีเป็นเวลานานๆจะยิ่งมีผลข้างเคียง/พิษเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้น
  • แอลเอสดีอาจมีอันตรกิริยากับยา เอมเอโอไอ (MAOIs), กลุ่มยาต้านเศร้า (Selective serotonin reuptake inhibitors), ยา Lithium ที่อาจส่งผลให้เกิดกลุ่มอาการเซโรโทนินที่อาจก่ออาการทางระบบประสาทส่วนกลาง (เช่น ชัก โคม่า) และทางหัวใจ (เช่น ภาวะหัวใจวาย) เป็นเหตุให้ตายได้

แอลเอสดีมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ไม่มีการผลิตและใช้แอลเอสดีทางการแพทย์ในประเทศไทย ประเทศไทยจัดให้แอลเอสดีเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 การลักลอบเสพมีโทษจำคุกตามกฎหมายยาเสพติด

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Lysergic_acid_diethylamide [2021,Oct23]
  2. https://www.drugfreeworld.org/drugfacts/lsd.html[2021,Oct23]
  3. https://www.drugfreeworld.org/drugfacts/lsd/what-are-the-risks-of-lsd.html[2021,Oct23]
  4. https://maps.org/research-archive/w3pb/2008/2008_Passie_23067_1.pdf[2021,Oct23]
  5. https://www.quora.com/What-is-LSDs-mechanism-of-action-in-the-brain[2021,Oct23]
  6. https://www.drugfreeworld.org/drugfacts/lsd/the-harmful-effects-of-lsd.html[2021,Oct23]
  7. https://recreationaldrugs.fandom.com/wiki/LSD[2021,Oct23]
  8. https://www.erowid.org/chemicals/lsd/lsd_interactions.shtml[2021,Oct23]
  9. https://www.erowid.org/ask/ask.php?ID=82 [2021,Oct23]