แอลกอฮอล์ 70% (Alcohol 70%)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 31 พฤษภาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- แอลกอฮอล์ 70% มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- แอลกอฮอล์ 70% มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- แอลกอฮอล์ 70% มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- แอลกอฮอล์ 70% มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมทาแอลกอฮอล์ 70% ควรทำอย่างไร?
- แอลกอฮอล์ 70% มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้แอลกอฮอล์ 70% อย่างไร?
- แอลกอฮอล์ 70% มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาแอลกอฮอล์ 70% อย่างไร?
- แอลกอฮอล์ 70% มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาใส่แผล ยาทำแผล (Antiseptic)
- น้ำยาฆ่าเชื้อ หรือ สารระงับเชื้อ (Antiseptics)
- สารละลายน้ำเกลือ (Saline or Sodium chloride solution)
- ผิวแห้ง (Dry skin)
- ผื่นระคายสัมผัส (Irritant contact dermatitis)
- ผื่นแพ้สัมผัส (Allergic contact Dermatitis)
บทนำ
แอลกอฮอล์ (Alcohol) เป็นสารประกอบอินทรีย์ที่มีฤทธิ์ยับยั้งต่อต้านการเจริญเติบโตของเชื้อโรค น้ำยาแอลกอฮอล์ 70%/แอลกอฮอล์ 70% หรือที่ใช้เป็นแอลกอฮอล์เช็ดแผล (Alcohol 70% หรือ Rubbing alcohol) เป็นเวชภัณฑ์/เป็นยาที่มีองค์ประกอบของแอลกอฮอล์ 70 ส่วน (70%) และน้ำ 30 ส่วน (30%) โดยปริมาตร ชนิดของแอลกอฮอล์ที่นำมาเป็นสารออกฤทธิ์/เป็นยาฆ่าเชื้อโรคนี้ หลักๆจะมี 2 แบบที่พบเห็นในท้องตลาดคือ เอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl alcohol หรือ Ethanol สูตร เคมีคือ C2H5OH) และ ไอโสโพรพิลแอลกอฮอล์ (Isopropyl alcohol หรือ Isopropanol alcohol หรือ Dimethyl carbinol สูตรเคมีคือ C3H7OH)
ทำไมจะต้องใช้แอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้น 70% ใช้ที่มีความเข้มข้นสูงๆอย่าง 91% หรือ 100% จะฆ่าเชื้อโรคได้ดีกว่าหรือไม่ ทางคลินิกมีคำอธิบายง่ายๆคือ แอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นสูงมากๆเมื่อสัมผัสกับผิวหนังจะระเหยไปกับอากาศอย่างรวดเร็วจนอาจทำให้ระยะเวลาของการออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคน้อยเกินไป ในขณะที่แอลกอฮอล์ 70% ซึ่งมีน้ำเป็นองค์ประกอบในระดับที่เหมาะสมจะช่วยชะลอการระเหยของแอลกอฮอล์ส่งผลให้มีระยะเวลาของการออกฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรคได้ดีกว่า อีกทั้งราคาของแอลกอฮอล์ 70% จะถูกกว่าแอลกอฮอล์ที่มีเปอร์เซ็นต์สูงๆอย่าง 91% หรือ 100% สำหรับเอทิลแอลกอฮอล์หรืออาจเรียกว่าเอทานอลนั้นสามารถต่อต้านเชื้อแบตทีเรียที่ผิวหนังได้เช่น เชื้อ Cryptococcus neoformans, Blastomyces dermatitidis, Coccidioides immitis และ Histoplasma capsulatum ในขณะที่ไอโสโพรพิลแอลกอฮอล์จะสามารถทำลายเชื้อแบคทีเรียได้ดีกว่าเอทิลแอลกอฮอล์เล็กน้อยโดยสามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย E. coli (Escherichia coli) and S. aureus (Staphylococcus aureus) ได้เพิ่มขึ้น
ข้อจำกัดประการหนึ่งของแอลกอฮอล์ 70% คือไม่สามารถทำลายสปอร์% (Spore) ของเชื้อแบคทีเรียได้
รูปแบบผลิตภัณฑ์ของแอลกอฮอล์70% ที่พบเห็นมักจะเป็นสารละลายใสผสมสีฟ้าเพื่อให้เป็นที่สังเกตและป้องกันมิให้ผู้บริโภคบางรายนำไปรับประทาน
น้ำยาแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ในการทำลายสารพันธุกรรมอย่าง DNA ของเชื้อโรคซึ่งก็รวมถึงคนและสัตว์ด้วย ดังนั้นการใช้แอลกอฮอล์ 70% ทาทำความสะอาดและฆ่าเชื้อทางผิวหนังจึงเกิดประโยชน์สูงสุด กรณีที่มีบาดแผลทางผิวหนังโดยเฉพาะแผลเปิด แผลฉีกขาด แผลที่มีรอยลึกถึงระดับกล้ามเนื้อ จะไม่แนะนำให้ใช้แอลกอฮอล์ 70% เช็ดหรือเทราดบนแผล หรือนำสำลีชุบแอลกอฮอล์ 70% แล้วปิดไว้ที่บาดแผล ด้วยจะสร้างความเจ็บปวดให้กับผู้ป่วยได้มากยิ่งขึ้น และยังส่งผลต่อการสมานแผล (การหายของแผล) ทำให้แผลหายช้าอีกด้วย หลักการปฐมพยาบาลแผลเบื้องต้นคือ แนะนำให้ใช้น้ำเกลือ (NSS, Normal saline solution) สำหรับล้างแผลเพื่อช่วยทำความสะอาดทั้งคราบเลือด เศษผิวหนัง ฝุ่นผงต่างๆ จากนั้นจึงใช้แอลกอฮอล์70% เช็ดบนผิวหนังปกติเพียงโดยรอบบาดแผล หลีกเลี่ยงมิให้สัมผัสกับบาดแผลโดยตรงด้วยเหตุผลที่กล่าวมาแล้ว
ผู้บริโภคสามารถซื้อหาแอลกอฮอล์ 70% ได้จากร้านขายยาทั่วไปและพบเห็นการใช้ตามสถานพยาบาลต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน
แอลกอฮอล์ 70% มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
แอลกอฮอล์ 70% มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ
- เช็ดบริเวณรอบบาดแผลเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- เช็ดทำความสะอาดและฆ่าเชื้อบริเวณผิวหนังก่อนทำหัตถการทางการแพทย์เช่น ฉีดยา เจาะเลือด
- ใช้สำหรับฆ่าเชื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์บางอย่างเช่น เครื่องมือทำแผล
*หมายเหตุ: แอลกอฮอล์ 70% สามารถทำลายเชื้อแบคทีเรีย เชื้อวัณโรค เชื้อรา และไวรัสได้ดีระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถทำลายสปอร์ของแบคทีเรียได้
แอลกอฮอล์ 70% มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
แอลกอฮอล์ 70% มีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะทำลายหรือสร้างความเสียหายต่อสารพันธุกรรมในตัวเชื้อโรค ทำให้เชื้อโรคต่างๆหยุดการเจริญเติบโต หยุดการแพร่พันธุ์และตายลงในที่สุด
แอลกอฮอล์ 70% มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
น้ำยาแอลกอฮอล์ 70% มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น
- เป็นสารละลายขนาดความเข้มข้น 70%
- เป็นสารละลายที่ผสมกับยาฆ่าเชื้อโรคชนิดอื่นเช่น Chlorhexidine gluconate 2% + Isopropyl alcohol 70%
- แผ่นซับ (Pad) ที่ดูดซึมแอลกอฮอล์ 70% สำหรับใช้เช็ดผิวหนังเพื่อฆ่าเชื้อ
แอลกอฮอล์ 70% มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
แอลกอฮอล์ 70% มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาเช่น
- ผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป: ใช้น้ำยาฯปริมาณเล็กน้อยเช็ดทาผิวหนังหรือทาผิวหนังรอบแผล (ไม่ทาลงในแผล) และทิ้งไว้ให้แห้งก่อนทำหัตถการต่างๆเช่น ฉีดยาหรือทำแผล
- เด็กอายุต่ำกว่า 2 เดือน: ห้ามใช้น้ำยานี้ถ้าไม่มีคำสั่งจากแพทย์ผู้รักษาเพราะอาจเกิดการระคายเคืองรุนแรงต่อผิวทารกวัยนี้ที่สัมผัสกับน้ำยานี้
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมแอลกอฮอล์ 70% ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแอลกอฮอล์ 70% อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมทาแอลกอฮอล์ 70% ควรทำอย่างไร?
แอลกอฮอล์ 70% เป็นยาใช้ภายนอก (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง รูปแบบยาเตรียม) ใช้ทาผิวหนังภายนอกและใช้เฉพาะที่ มีการใช้เป็นกรณีหรือเฉพาะกิจ หากมีการลืมทาผิวหนังก็สามารถทาเช็ดผิวหนังเมื่อนึกขึ้นได้
แอลกอฮอล์ 70% มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
แอลกอฮอล์ 70% สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น ปวดแสบเมื่อสัมผัสกับตัวบาดแผลโดยตรง, ทำให้ผิวหนังที่สัมผัสตัวน้ำยาฯเกิดภาวะผิวแห้ง หรือเกิดผื่นคัน (ผื่นระคายสัมผัส) ขึ้นมาได้
มีข้อควรระวังการใช้แอลกอฮอล์ 70% อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้แอลกอฮอล์ 70% เช่น
- ห้ามใช้ในผู้แพ้ยา/แพ้น้ำยานี้
- ห้ามรับประทานน้ำยานี้โดยเด็ดขาด
- ห้ามให้น้ำยานี้เข้าตาหรือใช้หยอดหู
- ห้ามเทราดน้ำยานี้บนแผลสดโดยตรง ให้ใช้วิธีเช็ดรอบบาดแผลบนผิวหนังที่ปกติ
- ห้ามใช้กับทารกที่อายุต่ำกว่า 2 เดือน
- ระวังการใช้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยการใช้ควรมีคำสั่งหรือข้อกำกับการใช้อย่างเหมาะสมจากแพทย์
- หลีกเลี่ยงการเก็บน้ำยานี้ในที่ที่มีเปลวไฟหรือประกายไฟรวมถึงในที่ที่มีอุณหภูมิสูงเพราะน้ำยานี้สามารถติดไฟ/ลุกไหม้ได้
- ปิดภาชนะบรรจุแอลกอฮอล์ 70% ให้แน่นมิดชิดหลังเปิดใช้งานทุกครั้ง
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมแอลกอฮอล์ 70% ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
แอลกอฮอล์ 70% มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
แอลกอฮอล์ 70% เป็นเวชภัณฑ์/ยาที่ใช้ภายนอกร่างกายและใช้เฉพาะที่ จึงยังไม่มีรายงานการก่อให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับประทานชนิดใดๆ
ควรเก็บรักษาแอลกอฮอล์ 70% อย่างไร?
สามารถเก็บแอลกอฮอล์ 70% ภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ไม่เก็บยานี้ในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
แอลกอฮอล์ 70% มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
แอลกอฮอล์ 70% ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Antisepad (แอนไทซีแพด) | Millimed |
Chlorsep (คลอเซพ) | Atlantic Lab |
บรรณานุกรม
- https://www.quora.com/When-is-70-isopropyl-rubbing-alcohol-better-than-91 [2016,May14]
- http://www.drugs.com/otc/isopropyl-rubbing-alcohol-70.html [2016,May14]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/chlorsep/?type=brief [2016,May14]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Isopropyl_alcohol [2016,May14]
- http://www.cdc.gov/hicpac/Disinfection_Sterilization/6_0disinfection.html [2016,May14]