แอมโมเนียมแลคเตท (Ammonium lactate)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 30 มกราคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- แอมโมเนียมแลคเตทมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- แอมโมเนียมแลคเตทมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- แอมโมเนียมแลคเตทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- แอมโมเนียมแลคเตทมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
- แอมโมเนียมแลคเตทมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้แอมโมเนียมแลคเตทอย่างไร?
- แอมโมเนียมแลคเตทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาแอมโมเนียมแลคเตทอย่างไร?
- แอมโมเนียมแลคเตทมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาใช้ภายนอก (External Use drug)
- ครีมกันแดด (Sunscreen)
- ผิวแห้ง (Dry skin)
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
บทนำ
ยาแอมโมเนียมแลคเตท (Ammonium lactate) เป็นสารประกอบที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียในระดับต่ำๆมักใช้เป็นส่วนประกอบในโลชั่นบำรุงผิวหนัง รักษาอาการผิวแห้งหรือผื่นคัน หลังการใช้แอมโมเนียมแลคเตทอาจทำให้ผิวหนังมีความไวกับแสงอาทิตย์/แสงแดดได้มากขึ้น ดังนั้นขณะที่ใช้ยานี้ควรหลีกเลี่ยงการออกแดดโดยตรง หรือต้องสวมใส่เสื้อผ้าปกปิดผิวหนังอย่างมิดชิด หรือใช้สารกันแดด/ครีมกันแดดทาผิวป้องกันก่อนการออกแดด
รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาแอมโมเนียมแลคเตทจะเป็นประเภทยาทาภายนอก/ยาใช้ภายนอก เช่น โลชั่นขนาดความเข้มข้น 12%
อนึ่งมีข้อควรระวังที่สำคัญๆซึ่งผู้บริโภคควรทราบก่อนการใช้ยาประเภทแอมโมเนียมแลคเตทคือ
- เป็นยาทาภายนอกจึงห้ามรับประทานและห้ามไม่ให้เข้าตา
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ทาบริเวณแผลเปิด แผลพุพอง ด้วยจะทำให้เกิดอาการแสบร้อนหรือคันในบริเวณที่ใช้ยาได้อย่างมาก
- ไม่ควรใช้ทาในบริเวณใบหน้าด้วยความแรงของยานี้สามารถส่งผลให้ผิวหนังใบหน้าเกิดอาการ แพ้ขึ้นมาได้
- ควรใช้ยานี้ตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น ไม่สมควรไปซื้อหามาใช้เอง
- การทายานี้ควรใช้กับบริเวณที่มีอาการเท่านั้น ไม่ควรทายาเป็นบริเวณกว้างหรือทาผิวหนังบริเวณที่ไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด
ทั้งนี้ยาทาประเภทแอมโมเนียมแลคเตทไม่เหมาะที่จะใช้กับผู้ป่วยเด็ก ด้วยยังไม่มีข้อมูลทาง คลินิกมาสนับสนุนถึงความปลอดภัยในการใช้ยานี้ หรือแม้แต่การที่จะใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ หรือสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ก็ควรต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
แอมโมเนียมแลคเตทมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาแอมโมเนียมแลคเตทมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น
- รักษาอาการผด ผื่นคัน ตามผิวหนัง
- บำบัดอาการผิวแห้งของโรคเด็กดักแด้ (Ichthyosis)
- บำบัดภาวะผิวแห้ง (Xerosis)
แอมโมเนียมแลคเตทมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาแอมโมเนียมแลคเตทคือ ตัวยาจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนังได้เป็นเวลานาน อีกทั้งสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียได้ในระดับต่ำๆ จากกลไกดังกล่าวส่งผลให้เกิดฤทธิ์ในการรักษาตามสรรพคุณ
แอมโมเนียมแลคเตทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาแอมโมเนียมแลคเตทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น
- โลชั่นทาผิวภายนอก ขนาดความเข้มข้น 12%
- ครีมทาผิว ขนาดความเข้มข้น 12%
แอมโมเนียมแลคเตทมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาแอมโมเนียมแลคเตทมีขนาดการบริหารยาเช่น
- ผู้ใหญ่: ทาผิวในบริเวณที่มีอาการวันละ 2 ครั้งหรือทายาตามคำสั่งแพทย์
- เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่สนับสนุนถึงความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป
*****หมายเหตุ:
- ขนาดและระยะเวลาของการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาแอมโมเนียมแลคเตท ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแอมโมเนียมแลคเตทอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
หากลืมทายาแอมโมเนียมแลคเตทสามารถทายาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องทายาเพิ่มเป็น 2 เท่า
แอมโมเนียมแลคเตทมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาแอมโมเนียมแลคเตทสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น แสบ คัน และมีรอยแดง ในบริเวณผิวหนังที่ทายานี้ อาจทำให้ผิวแห้งได้เล็กน้อยหรืออาจทำให้สีผิวจางลง
มีข้อควรระวังการใช้แอมโมเนียมแลคเตทอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาแอมโมเนียมแลคเตทเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
- ห้ามรับประทานยานี้และห้ามมิให้ยานี้เข้าตา
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่งแพทย์
- การทายานี้ซ้ำๆเป็นเวลานานๆ ตัวยาสามารถดูดซึมผ่านทางผิวหนังเข้าสู่กระแสเลือดได้ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการวิงเวียนและ/หรือมีอาการแพ้ยาได้
- หลีกเลี่ยงการทายานี้ในบริเวณใบหน้าด้วยอาจจะเกิดอาการแพ้ยาตามมา
- ไม่ควรทายานี้เป็นบริเวณกว้างหรือทารุกล้ำเข้าในบริเวณผิวหนังที่เป็นปกติ
- ไม่ควรทายานี้ในบริเวณแผลเปิด แผลฉีกขาด แผลพุพอง ด้วยจะทำให้เกิดอาการแสบคันได้มาก
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแอมโมเนียมแลคเตทด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
แอมโมเนียมแลคเตทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
เนื่องจากเป็นยาทาภายนอกจึงยังไม่พบมีรายงานว่ายาแอมโมเนียมแลคเตทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับประทานชนิดใดๆ
ควรเก็บรักษาแอมโมเนียมแลคเตทอย่างไร?
ควรเก็บยาแอมโมเนียมแลคเตทภายใต้อุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
ยาแอมโมเนียมแลคเตทมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาแอมโมเนียมแลคเตทที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
LAC-HYDRIN (แลค-ไฮดริน) | Ranbaxy |