แอมโมเนียมคาร์บอเนต (Ammonium carbonate)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

แอมโมเนียมคาร์บอเนต (Ammonium carbonate) เป็นสารที่มีลักษณะเป็นผลึกเกลือมีสีขาว ละลายน้ำได้ แต่จะสลายตัวเมื่อสัมผัสกับน้ำร้อน ในอุตสาหกรรมอาหารใช้แอมโมเนียมคาร์บอเนตเป็นตัวช่วยทำให้ขนมปังหรือคุกกี้มีเนื้อฟูมากขึ้น ในสายงานเภสัชกรรมมีการนำเอาโซเดียมคาร์บอเนตมาใช้เป็นยาบรรเทาอาการหลอดลมอักเสบ หรือไม่ก็ใช้เป็นยากระตุ้นการอาเจียน เรียกยาที่มีส่วนประ กอบหลักเป็นแอมโมเนียมคาร์โบเนตนี้ว่า “Mist Ammonium carbonate หรือ Mist Ammon carb หรือ Ammon carb”

อนึ่ง ยังมีการนำสารแอมโมเนียมคาร์โบเนตนี้ไปเป็นส่วนผสมในบุหรี่ประเภทไร้ควันอีกด้วย

ทางเภสัชกรรมเราอาจจะไม่ค่อยพบเห็นการใช้แอมโมเนียมคาร์บอเนตชนิดที่เป็นยาเดี่ยวๆ แต่จะพบในรูปแบบของยาน้ำชนิดรับประทานซึ่งผสมร่วมกับยาอื่น คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้ระบุให้ตัวยาแอมโมเนียมคาร์บอเนตที่ผสมร่วมกับ Glycyrrhiza อยู่ในหมวดยาละลายเสมหะ แต่มิได้จัดให้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ เนื่องจากยังไม่สามารถระบุถึงประสิทธิผลทางคลินิกที่ชัดเจนได้

ยาแก้ไอที่มีส่วนประกอบของแอมโมเนียมคาร์บอเนตที่ประชาชนพอจะเข้าถึงได้ จะเป็นยาน้ำชนิดรับประทานขององค์การเภสัชกรรม มีจำหน่ายตามร้านขายยา สามารถซื้อหามาเป็นยาประจำบ้านได้

แอมโมเนียมคาร์บอเนตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

แอมโมเนียมคาร์บอ

ยาแอมโมเนียมคาร์บอเนตมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ช่วยบรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ

แอมโมเนียมคาร์บอเนตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาแอมโมเนียมคาร์บอเนตคือ ตัวยาจะกระตุ้นผนังเนื้อเยื่อของหลอด ลมให้หลั่งเมือกออกมา ส่งผลออกฤทธิ์ในการขับเสมหะ และทำให้เกิดฤทธิ์บรรเทาอาการไอตามสรรพคุณ

แอมโมเนียมคาร์บอเนตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาแอมโมเนียมคาร์บอเนตในประเทศไทยมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาน้ำชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับยาอื่นได้แก่

  • Ammonium carbonate 0.02 กรัม + Glycyrrhiza fluid extract 0.25 มิลลิลิตร/5 มิลลิลิตร
  • Ammonium carbonate 0.1 กรัม + Camphorated opium tincture 0.6 มิลลิลิตร + Squill tincture (สมุนไพรชนิดหนึ่งสรรพคุณแก้ไอ) 0.17 มิลลิลิตร + Senega tincture (สมุนไพรอีกชนิดที่มีสรรพคุณแก้ไอ) 0.6 มิลลิลิตร/5 มิลลิลิตร

แอมโมเนียมคาร์บอเนตมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาแอมโมเนียมคาร์บอเนตมีขนาดรับประทานขึ้นอยู่กับสูตรตำรับยา โดยจะมีส่วนประกอบของแอมโมเนียมคาร์บอเนตและยาอื่นที่แตกต่างกันไป ผู้บริโภคสามารถขอคำแนะนำขนาดรับประทานได้จากแพทย์ผู้รักษาหรือเภสัชกรตามร้านขายยาใกล้บ้าน

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาแอมโมเนียมคาร์บอเนต ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาแอมโมเนียมคาร์บอเนตอาจส่ง ผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทาน/ใช้ยาควรทำอย่างไร?

เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาทุกชนิดตรงเวลา รวมถึงยาแอมโมเนียมคาร์บอเนต

หากลืมรับประทานยาแอมโมเนียมคาร์บอเนตสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

แอมโมเนียมคาร์บอเนตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาแอมโมเนียมคาร์บอเนตสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) ดังนี้ อาจทำให้เกิดภาวะตับโตซึ่งมักมีสาเหตุจากการรับประทานยานี้เกินเป็นปริมาณมากและ/หรือใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานานและ/หรือหรือใช้ยานี้กับผู้ที่มีโรคตับอยู่แล้ว

มีข้อควรระวังการใช้แอมโมเนียมคาร์บอเนตอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาแอมโมเนียมคาร์บอเนตเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะโรคตับขั้นรุนแรง
  • หากพบอาการแพ้ยาหลังรับประทานแอมโมเนียมคาร์บอเนตให้หยุดการใช้ยา แล้วรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • สูตรตำรับยานี้ที่มีจำหน่าย มักจะเป็นยารับประทานเพื่อบรรเทาอาการไอ/ยาแก้ไอและช่วยขับเสมหะ/ยาขับเสมหะ เมื่อมีอาการดีขึ้นสามารถหยุดการใช้ยาได้ก่อนกำหนด ผู้ป่วยสามารถสอบถามรายละเอียดดังกล่าวได้จากแพทย์ผู้รักษาหรือเภสัชกรผู้ที่ทำการจ่ายยานี้
  • ไม่ควรปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
  • หากรับประทานยานี้แล้ว 3 - 5 วันอาการไอไม่ทุเลา ให้หยุดการใช้ยานี้แล้วกลับมาพบแพทย์ /มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ไม่ควรใช้ยาแอมโมเนียมคาร์บอเนตบรรเทาอาการไอหากรับประทานยาแก้ไอตัวอื่นอยู่แล้ว
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยานี้โดยไม่มีการตวงยาเช่น กระดกขวดดื่ม ด้วยจะเกิดความเสี่ยงต่อการได้รับยาผิดขนาด
  • การใช้ยาในสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ จะต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูงด้วยยาหลายตัวห้ามใช้กับผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว แพทย์ เท่านั้นที่จะเป็นผู้คัดเลือกตัวยาได้อย่างเหมาะสมให้กับผู้ป่วย
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแอมโมเนียมคาร์บอเนตด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

แอมโมเนียมคาร์บอเนตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ปัจจุบันยังไม่พบข้อมูลปฏิกิริยาระหว่างยาของยาแอมโมเนียมคาร์บอเนตกับยารับประทานชนิดใดๆ แต่หากผู้ป่วยรับประทานยานี้ร่วมกับยาอื่นแล้วมีอาการผิดปกติเช่น หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก มีผื่นขึ้นตามตัว คลื่นไส้ อาเจียน ฯลฯ ให้รีบหยุดการใช้ยาทั้งหมด แล้วรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน

ควรเก็บรักษาแอมโมเนียมคาร์บอเนตอย่างไร?

ควรเก็บยาแอมโมเนียมคาร์บอเนตภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

แอมโมเนียมคาร์บอเนตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาแอมโมเนียมคาร์บอเนตที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิต ได้แก่

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Ammonium Carbonate & Glycyrrhiza Mixture GPO(แอมโมเนียม คาร์บอเนต แอนด์ กลีเซอไรซ่า มิกซ์เจอร์ จีพีโอ) GPO
Mist. Scill Ammon. GPO (มิสท์ ซิล แอมมอน จีพีโอ) GPO

บรรณานุกรม

1.http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=ammonium%20carbonate[2015,Sept26]
2.http://drug.fda.moph.go.th/zone_drug/dru003.asp [2015,Sept26]
3. https://en.wikipedia.org/wiki/Ammonium_carbonate [2015,Sept26] 4.http://www.medicines.org.uk/emc/PIL.21302.latest.pdf[2015,Sept26]
5.http://druginfosys.com/Drug.aspx?drugCode=1265&drugName=&type=6[2015,Sept26]
6.https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/11171[2015,Sept26]