แอมโฟเทอริซิน บี (Amphotericin B)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ : คือยาอะไร?

ยาแอมโฟเทอริซิน บี (Amphotericin B) คือ ยาต้านเชื้อราที่สกัดได้จากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Steptomyces nodosus ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1955 (พ.ศ.2498) ก่อนหน้านี้ได้มีการค้นพบตัวยาแอมโฟเทอริซิน เอ/A แต่ไม่เป็นที่นิยมในทางคลินิกด้วยประสิทธิภาพของการรักษาด้อยกว่าแอมโฟเทอริซิน บี

สำหรับเชื้อราที่ตอบสนองต่อยาแอมโฟเทอริซิน บี ได้ดีเช่น Candida albicans, Candida krusei, Coccidioides immitis, Cryptococcus neoformans, และ Fusarium oxysporum

จากการศึกษาการกระจายตัวของตัวยานี้ในร่างกายมนุษย์พบว่า ยานี้ถูกดูดซึมไม่ค่อยดีจากระบบทางเดินอาหาร และเมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือดจะถูกเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีที่ไต และร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 24 ชั่วโมงในการกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือด ซึ่งตัวยาที่เหลือต้องใช้เวลาในการกำจัดต่ออีกนานประมาณ 15 วันโดยผ่านไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้ในบ้านเราที่มีหลายชื่อการค้าจะเป็นยาฉีดเสียส่วนใหญ่ แต่ในต่างประเทศอาจพบรูปแบบอื่นๆอีกเช่น ยาน้ำแขวนตะกอน ยาอม เพื่อใช้ฆ่าเชื้อราแคนดิดา/Candidaในช่องปาก (เชื้อราช่องปาก)

การบริหารยานี้กับผู้ป่วยที่ไม่ใช่ชนิดยารับประทานเช่น ยาฉีด ต้องอาศัยหัตถการทางการแพทย์ที่มีมาตรฐาน ซึ่งมีอยู่เฉพาะตามสถานพยาบาลทั้งของรัฐและของเอกชนทั่วไป

แอมโฟเทอริซิน บี มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?

แอมโฟเทอริซิน-บี

ยาแอมโฟเทอริซิน บี มีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:

  • รักษาโรคเชื้อราชนิดแคนดิดา/แคนดิไดอะซิสในช่องปาก/ เชื้อราช่องปาก (Oral candidiasis)
  • รักษาการติดเชื้อรา/โรคเชื้อราที่กระจายทั่วตัวแบบรุนแรง (Severe systemic fungal infections)
  • รักษาเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อราขั้นรุนแรง (Severe meningitis)
  • รักษาโรคเชื้อราในปอด (Aspergillosis)
  • รักษาเยื่อบุหัวใจอักเสบจากเชื้อรา (Endocarditis)
  • รักษาการติดเชื้อราแคนดิดาในช่องทางเดินปัสสาวะ (Candiduria)

แอมโฟเทอริซิน บี มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาแอมโฟเทอริซิน บี คือ ตัวยาจะเข้าจับกับผนังเซลล์ของเชื้อราในส่วนที่เรียกว่า เออร์โกสเตอรอล (Ergosterol) เป็นผลให้ผนังเซลล์ของเชื้อรารั่วและเปิดออกจนเป็นเหตุให้เชื้อราตายลงในที่สุด

แอมโฟเทอริซิน บี มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาแอมโฟเทอริซิน บี มีรูปแบบการจัดจำหน่าย :

  • ยาฉีด ขนาด 100 มิลลิกรัม/20 มิลลิลิตร
  • ยาฉีด ขนาด 50 มิลลิกรัม/ขวด
  • ยาอม ขนาด 10 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาน้ำแขวนตะกอนชนิดรับประทาน ขนาด 100 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
  • ยาผงบรรจุแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 250 และ 500 มิลลิกรัม/แคปซูล

แอมโฟเทอริซิน บี มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาแอมโฟเทอริซิน บี ใช้รักษาโรคเชื้อรา/ การติดเชื้อรา ได้หลากหลายระบบอวัยวะรวมถึงรักษาการติดเชื้อราได้หลากหลายชนิด ซึ่งขนาดการบริหารยาจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละอวัยวะที่ติดเชื้อราและในแต่ละชนิดของเชื้อรา ในหัวข้อนี้จึงจะยกตัวอย่างขนาดการใช้ยาในโรคและเชื้อราที่พบได้บ่อยซึ่งมีขนาดการบริหารยา/การใช้ยา เช่น

ก. สำหรับการติดเชื้อราแคนดิดา(แคนดิไดอะซิส)ในช่องปาก/ เชื้อราช่องปาก (Oral candidiasis):

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาน้ำ 1 มิลลิลิตร (100 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร) วันละ 4 ครั้งทุก 6 ชั่วโมง โดยอมไว้ในช่องปาก 2 - 3 นาทีก่อนกลืน หรืออมยาเม็ดขนาด 10 มิลลิกรัม/เม็ดและปล่อยให้ค่อยๆละลายในปากวันละ 4 ครั้ง

ข.สำหรับการติดเชื้อราที่กระจายทั่วตัวในระยะรุนแรง (Severe systemic fungal infection):

  • ผู้ใหญ่: หยดยาเข้าหลอดเลือดดำในอัตรา 250 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน

ขนาดการให้ยาสูงสุดไม่เกิน 1 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน ในกรณีที่มีอาการรุนแรงอาจให้ยาเป็น 1.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน ควรหยดยาเข้าหลอดเลือดดำโดยใช้เวลาประมาณ 2 - 4 ชั่วโมงซึ่งสามารถผสมยาที่ความเข้มข้น 100 ไมโครกรัม/มิลลิลิตรในกลูโคส 5%

ค. สำหรับการติดเชื้อราที่เยื่อหุ้มสมองระยะรุนแรง (Severe meningitis):

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าช่องไขสันหลัง 25 ไมโครกรัม ขนาดการให้ยาระดับปกติอยู่ที่ 0.25 - 1 มิลลิกรัมสัปดาห์ละ 2 - 4 ครั้ง

ง. สำหรับการติดเชื้อราในปอด (Aspergillosis):

  • ผู้ใหญ่: หยดยาเข้าหลอดเลือดดำในอัตรา 0.6 - 0.7 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน เป็นเวลา 3 - 6 เดือน

จ. สำหรับเยื่อบุหัวใจอักเสบจากเชื้อรา (Endocarditis):

  • ผู้ใหญ่: หยดยาเข้าหลอดเลือดดำในอัตรา 0.6 - 1 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันเป็นเวลา 1 สัปดาห์ และหลังเข้ารับการผ่าตัดแลัวหยอดยาเข้าหลอดเลือดดำในอัตรา 0.8 มิลลิกรัม/น้ำ หนักตัว 1 กิโลกรัม/วันโดยให้ยาวันเว้นวันเป็นเวลา 6 - 8 สัปดาห์

ฉ. สำหรับการติดเชื้อราแคนดิดา/แคนดิไดอะซิสในช่องทางเดินปัสสาวะ (Candiduria):

  • ผู้ใหญ่: ละลายยา 50 มิลลิกรัมในน้ำกลั่นที่ปราศจากเชื้อ 1,000 มิลลิลิตรและทำการล้างกระเพาะปัสสาวะโดยใช้หัตถการทางการแพทย์ที่เรียกว่า Bladder irrigation เป็นเวลา 5 - 10 วัน หรือจนกระทั่งตรวจไม่พบเชื้อราในช่องทางเดินปัสสาวะ

อนึ่ง:

  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): การใช้ยานี้ในเด็กจะขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ โดยแพทย์ประเมินจากชนิดของเชื้อรา อวัยวะที่ติดเชื้อรา ความรุนแรงของอาการ อายุและน้ำหนักตัวของเด็ก

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาแอมโฟเทอริซิน บี ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแอมโฟเทอริซิน บี อาจส่งผลให้อาการของโรครุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยา/อมยาแอมโฟเทอริซิน บี สามารถรับประทานยา/อมยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยา/อมยาในมื้อถัดไปไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

แอมโฟเทอริซิน บี มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาแอมโฟเทอริซิน บี สามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

ก. หากเป็นยาที่ใช้ชำระล้างอวัยวะภายใน (Local irrigation): อาจพบอาการผื่นคันที่ผิว หนังที่สัมผัสกับยา

ข. หากเป็นยาฉีด: อาจมีอาการไข้ สั่น ชัก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หูดับ วิงเวียน ความดันโลหิตต่ำหรือสูงก็ได้ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ปวดบริเวณที่ฉีดยา เกิดพยาธิสภาพที่ปลายประสาท/เส้นประสาท เป็นพิษกับไต และการได้รับยาเกินขนาดสามารถทำให้หัวใจหยุดเต้นได้

ค. หากเป็นยารับประทาน/ยาอม: อาจพบอาการผื่นคัน หน้า-ปาก-คอ-ลิ้น บวม หายใจลำบาก ท้องเสีย คลื่นไส้-อาเจียน สีของฟันเปลี่ยนเป็นสีออกเหลือง

ง. หากเป็นยาฉีดเข้าช่องไขสันหลัง: อาจพบอาการตาพร่า อ่อนเพลีย ปวดขา ปวดหลัง ปวดคอ วิงเวียน ปวดหัว คลื่นไส้-อาเจียน

มีข้อควรระวังการใช้แอมโฟเทอริซิน บี อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาแอมโฟเทอริซิน บี เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับยาเคมีบำบัด
  • ระวังการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคไต
  • ระหว่างการใช้ยานี้ควรต้องตรวจเลือดเป็นระยะๆตามคำแนะนำของแพทย์ ดูค่าการทำงานของตับและของไตว่ายังปกติดีอยู่หรือไม่ เพื่อการปรับเปลี่ยนขนาดยา หรือปรับเปลี่ยนการรักษา
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแอมโฟเทอริซิน บี ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

แอมโฟเทอริซิน บี มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาแอมโฟเทอริซิน บี มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาแอมโฟเทอริซิน บี ร่วมกับยา Flucytosine (ยาเคมีบำบัด) จะทำให้เกิดพิษต่อ ร่างกายมากขึ้นจึงควรหลีกเลี่ยงและไม่ใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาแอมโฟเทอริซิน บี ร่วมกับยา Amidarone สามารถทำให้การเต้นของหัวใจผิดปกติ และอาจมีอาการต่างๆเหล่านี้ร่วมด้วยเช่น วิงเวียน เป็นลม อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้-อาเจียน เป็นตะคริว จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน
  • การใช้ยาแอมโฟเทอริซิน บี ร่วมกับยา Tenofovir อาจก่อให้เกิดปัญหากับไต หากมีความจำ เป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาแอมโฟเทอริซิน บี ร่วมกับยา Hydrocortisone อาจเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะ ปวดกล้ามเนื้อ ตะคริว เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย วิงเวียน หรือสับสน หากมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษาแอมโฟเทอริซิน บี อย่างไร?

ควรเก็บยาแอมโฟเทอริซิน บี เช่น

  • เก็บยาทุกรูปแบบทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ยาฉีด ยารับประทาน ยาอม ยาที่ใช้ชำระล้าง (Irrigation) ภายใต้อุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงสว่าง แสงแดด และความชื้น
  • ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
  • ต้องเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

แอมโฟเทอริซิน บี มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาแอมโฟเทอริซิน บี มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
AmBisome (แอมบิซัม)Gilead
Ampholin (แอมโฟลิน)Mediorals
Amphotret (แอมโฟเทรท)Bharat Serums and Vaccines
Amphotericin-B Biolab (แอมโฟเทอริซิน-บี ไบโอแลบ)Biolab
Amphotericin-B Asence (แอมโฟเทอริซิน-บี เอเซนส์)Asence
Amphocil (แอมโฟซิล)Hospira
ADPHO (เอดีพีเฮชโอ)Advanced Remedies
Anfotericina (แอนโฟเทอริซินา)Laboratorios Richet SA
ABELCET (เอบีอีแอลซีอีที)AndersonBRECON (UK) Limited
Fungizone (ฟังจิโซน)Bristol-Myers Squibb
Fungilin (ฟังจิลิน)Medsafe

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Amphotericin_B [2021,Feb13]
  2. https://www.mims.com/malaysia/drug/info/amphotericin%20b?mtype=generic [2021,Feb13]
  3. https://www.drugs.com/drug-interactions/amphotericin-b-index.html?filter=3&generic_only= [2021,Feb13]
  4. https://www.mims.com/thailand/drug/info/amphotericin%20b/patientmedicine/amphotericin%20b%20-%20oral [2021,Feb13]
  5. https://www.drugs.com/ppa/amphotericin-b-cholesteryl-sulfate-complex.html [2021,Feb13]
  6. https://www.medicines.org.uk/emc/files/pil.5407.pdf [2021,Feb13]
  7. https://www.medsafe.govt.nz/consumers/cmi/f/Fungilin.pdf [2021,Feb13]
  8. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/10791445/ [2021,Feb13]
  9. https://drfungus.org/knowledge-base/amphotericin-b-oral-suspension/ [2021,Feb13]
  10. http://www.fungusfocus.com/html/triple_rx_treatment_strategy.htm [2021,Feb13]
  11. https://www.medsafe.govt.nz/consumers/cmi/f/Fungilin.pdf [2021,Feb13]
  12. https://www.drugs.com/sfx/amphotericin-b-side-effects.html [2021,Feb13]