แอมฟีพราโมน (Amfepramone)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 1 กุมภาพันธ์ 2560
- Tweet
- บทนำ
- แอมฟีพราโมนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- แอมฟีพราโมนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- แอมฟีพราโมนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- แอมฟีพราโมนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- แอมฟีพราโมนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้แอมฟีพราโมนอย่างไร?
- แอมฟีพราโมนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาแอมฟีพราโมนอย่างไร?
- แอมฟีพราโมนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาลดความอ้วน (Diet pill or Weight loss drug)
- ยากระตุ้นประสาทส่วนกลาง (CNS stimulants)
- โรคอ้วน และ น้ำหนักตัวเกิน (Obesity and overweight)
- ตาย: ความตาย (Death)
- เอมเอโอไอ (Monoamine oxidase inhibitor: MAOI)
บทนำ
ยาแอมฟีพราโมน(Amfepramone) หรืออีกชื่อหนึ่ง คือ ยาไดเอทิลโปรปิออน (Diethylpropion) เป็นยากระตุ้นประสาทส่วนกลางหรือกระตุ้นสมอง ทางคลินิกใช้ยานี้เป็นยาลดน้ำหนัก โดยมีระยะเวลาการใช้ยานี้เพียงระยะสั้นๆ รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาแอมฟีพราโมนเป็นยารับประทาน ตัวยาจะถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้เป็นอย่างดี เมื่ออยู่ในกระแสเลือด ยาแอมฟีพราโมนสามารถแพร่ผ่านเข้าสมอง และเข้ารกได้ การทำลายโครงสร้างของยานี้จะเกิดที่ตับ ซึ่งร่างกายจะขับยานี้ทิ้งโดยผ่านไปกับปัสสาวะ
ตามกฎหมายไทย จัดให้ยาแอมฟีพราโมนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ด้วยมีฤทธิ์สามารถเปลี่ยนสภาพอารมณ์-จิตใจของผู้ที่ได้รับยานี้ได้อย่างมาก จึงจัดเป็นยาที่มีอันตรายต่อสุขภาพมาก การใช้ยานี้ มีใช้แต่ภายในสถานพยาบาลเท่านั้น และต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข วัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 และ 2 ไม่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายในร้านขายยา ประชาชนจึงไม่สามารถซื้อหายานี้ได้โดยง่าย
ยาแอมฟีพราโมนจะมีการออกฤทธิ์คล้ายยา/สาร Amphetamines และสามารถเสพติดได้หากใช้ผิดวิธี ประสิทธิผลของการลดน้ำหนักจะเห็นผลเมื่อมีการใช้ยานี้ต่อเนื่องประมาณ 6 – 12 สัปดาห์ และในระหว่างการใช้ยานี้ อาจพบอาการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ตามมา บางประเทศในแถบทวีปยุโรปที่มีบุคคลบางกลุ่มใช้ยาแอมฟีพราโมนแบบผิดวัตถุประสงค์ จนได้รับพิษจากยาแอมฟีพราโมนจนถึงกับเสียชีวิต ทำให้ยานี้ถูกขนานนามว่า “Tombstones” ซึ่งแปลว่า “ศิลาหน้าหลุมฝังศพ”
สำหรับข้อจำกัดบางประการที่ทำให้ผู้ป่วยบางกลุ่มไม่สามารถใช้ยาแอมฟีพราโมนได้ เช่น
- เป็นผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
- เป็นผู้ป่วยความดันของหลอดเลือดแดงในปอดสูง ผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ผู้ป่วยต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ผู้ป่วยโรคต้อหิน ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงในระดับรุนแรง
- เป็นผู้ที่ใช้ยาลดน้ำหนักตัวอื่นๆอยู่ก่อน
- มีข้อห้ามใช้ยาแอมฟีพราโมนร่วมกับยากลุ่ม MAOIs ด้วยอาจก่อให้เกิดภาวะ ความดันโลหิตสูงมากตามมา
ยาแอมฟีพราโมน อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายได้ โดยเฉพาะกับระบบการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาทส่วนกลาง ระบบทางเดินอาหาร ระบบต่อมไร้ท่อ การสร้างเม็ดเลือด รวมถึงก่อให้เกิดอาการทางจิตประสาทอีกด้วย
*กรณีที่ได้รับยาแอมฟีพราโมนเกินขนาด สามารถสังเกตจากอาการต่างๆดังต่อไปนี้ เช่น กระสับกระส่าย ตัวสั่น มีอาการกล้ามเนื้อกระตุก หายใจเร็ว รู้สึกสับสน ประสาทหลอน เกิดความหวาดระแวง รูม่านตาขยาย อ่อนแรง ซึมเศร้า นอกจากนี้ยังมีผลต่อการทำงานของอวัยวะต่างๆภายในร่างกาย อย่างเช่น หัวใจ โดยทำให้หัวใจเต้นเร็ว ชีพจรเต้นผิดปกติ ความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ การไหลเวียนของเลือดล้มเหลว และยังมีผลกระทบต่อระบบทางเดินอาหารได้อีก เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ท้องเป็นตะคริว/ปวดบีบ บางกรณีจะพบอาการชัก โคม่า จนถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุด กรณีที่พบเห็นอาการดังกล่าว ให้ตั้งข้อสงสัยว่าผู้ป่วยได้รับยานี้เกินขนาด ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
โดยทั่วไป แพทย์จะใช้เกณฑ์ของผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินจากค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ตั้งแต่ 30 กิโลกรัม/เมตร2 ขึ้นไป มาช่วยตัดสินใจ เพื่อสั่งจ่ายยานี้ ซึ่งระหว่างการใช้ยานี้ ห้ามมิให้ผู้ป่วยปรับขนาดรับประทานโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์ และจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาอย่างเคร่งครัด
แอมฟีพราโมนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาแอมฟีพราโมนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น ใช้เป็นยาลดน้ำหนักในผู้ที่มีดัชนีมวลกายเกิน 30 กิโลกรัม/เมตร2
แอมฟีพราโมนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาแอมฟีพราโมนมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะกระตุ้นประสาทส่วนกลางหรือสมอง ส่งผลกดการทำงานต่อศูนย์หิว (Sympathomimetic appetite suppressants)ในสมอง ทำให้ผู้ป่วยลดความอยากอาหารและบริโภคอาหารได้น้อยลง ร่างกายจึงทำการเผาผลาญไขมันที่สะสมตามร่างกายออกมาเพื่อชดเชยและใช้เป็นพลังงานเพื่อดำรงชีวิต ผู้ที่ใช้ยานี้ยังต้องควบคุมการรับประทานอาหารให้ได้สัดส่วนตามคำแนะนำของแพทย์มาประกอบกัน การควบคุมน้ำหนักจึงจะได้ประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยเหตุผลดังกล่าวส่งผลให้น้ำหนักตัวของผู้ป่วยลดลงตามลำดับและเป็นไปตามที่ระบุในสรรพคุณ
แอมฟีพราโมนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาแอมฟีพราโมนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น
- ยาเม็ดชนิดรับประทานที่มีส่วนประกอบของยาแอมฟีพราโมนขนาด 25 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาเม็ดชนิดรับประทานที่มีส่วนประกอบของยาแอมฟีพราโมนแบบออกฤทธิ์นาน ขนาด 75 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาแคปซูลชนิดรับประทานที่มีส่วนประกอบของยาแอมฟีพราโมนขนาด 60 มิลลิกรัม/แคปซูล
แอมฟีพราโมนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาแอมฟีพราโมนมีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่ที่อายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป : รับประทานยาครั้งละ 25 มิลลิกรัม ก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง วันละ 3 ครั้ง เช้า–กลางวัน–เย็น หรือ รับประทาน 75 มิลลิกรัม แบบออกฤทธิ์นานวันละ 1 ครั้ง ในช่วงเวลาเช้าก่อนอาหารเช่นกัน
- เด็กและผู้อายุต่ำกว่า 16 ปี: ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปีลงมา
อนึ่ง: ไม่ควรใช้ยานี้ต่อเนื่องนานเกิน 3 เดือน เพื่อป้องกันการติดยา
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาแอมฟีพราโมน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไต โรคตับ มีแผลในระบบทางเดินอาหาร โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแอมฟีพราโมนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาแอมฟีพราโมน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
แอมฟีพราโมนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาแอมฟีพราโมนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น การกดการทำงานของไขกระดูก มีภาวะ Agranulocytosis(เม็ดเลือดขาวชนิด Granulocyte ต่ำ) Leukopenia(เม็ดเลือดขาวต่ำ)
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น อาเจียน ท้องเสียหรือท้องผูก ปวดท้อง ปากแห้ง การรับรสอาหารผิดปกติ คลื่นไส้
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น เกิดอาการชัก การเคลื่อนไหวช้า ตาพร่า วิงเวียน ตัวสั่น ปวดศีรษะ ง่วงนอน
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นเร็ว ค่าECGเปลี่ยนแปลง ความดันโลหิตสูง ชีพจรเต้นผิดปกติ
- ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น สมรรถนะทางเพศลดลง เต้านมโตในผู้ชาย ปวดประจำเดือนในผู้หญิง
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ลมพิษ
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น กระสับกระส่าย วิตกกังวล สะดุ้งผวา นอนไม่หลับ ง่วงซึม
มีข้อควรระวังการใช้แอมฟีพราโมนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาแอมฟีพราโมน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ผู้ป่วยโรคต้อหิน ผู้ที่มีประวัติติดยา/สารเสพติด ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงในระดับรุนแรง ผู้ที่มีความดันโลหิตในปอดสูง ผู้ที่มีอารมณ์แปรปรวน
- ห้ามใช้ร่วมกับยากลุ่ม MAOIs
- ห้ามใช้ยากับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยา/แคปซูลยา แตก หัก
- ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
- การใช้ยานี้นานเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะติดยาตามมา
- ระวังการเกิดลมชักระหว่างการใช้ยานี้
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร และผู้ป่วยโรคต่อมลูกหมากโต
- รับประทานยานี้ ตรงตามขนาดและเวลา ในแต่ละวัน
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง เพื่อรับการตรวจร่างกายและดูความก้าวหน้าของการรักษาจากแพทย์
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแอมฟีพราโมนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
แอมฟีพราโมนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาแอมฟีพราโมนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาแอมฟีพราโมนร่วมกับยากลุ่ม MAOIs ด้วยจะทำให้เกิดความดันโลหิตสูงตามมา
- ห้ามใช้ยาแอมฟีพราโมนร่วมกับยาลดน้ำหนักตัวอื่นๆ ด้วยจะทำให้เกิดปัญหาต่อการทำงานของหัวใจ
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาแอมฟีพราโมนร่วมกับยาสลบ ด้วยจะเกิดความเสี่ยงทำให้ หัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาแอมฟีพราโมนร่วมกับยา Phenothiazines ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพของยาแอมฟีพราโมนด้อยลงไป
ควรเก็บรักษาแอมฟีพราโมนอย่างไร?
ควรเก็บยาแอมฟีพราโมนภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น
แอมฟีพราโมนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาแอมฟีพราโมนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Tenuate (เทนูเอท) | Patheon Pharmaceuticals Inc |
บรรณานุกรม
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/amfepramone/?type=brief&mtype=generic [2017,Jan14]
- http://apps.who.int/medicinedocs/en/d/Js4896e/3.2.html#Js4896e.3.2 [2017,Jan14]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Amfepramone [2017,Jan14]
- https://www.scribd.com/doc/240266699/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%96%E0%B8%B8%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%A4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4-%E0%B8%95-%E0%B8%AD%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%97-%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%9E%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A0%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%8E%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2 [2017,Jan14]
- http://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2004/11722s029,12546s032lbl.pdf [2017,Jan14]
- http://www.anm.ro/_/_AMB/AMB_8700_03.03.16.pdf?s_den_co=&anmOrder=Sorter_cod_atc&anmDir=DESC&anmPage=1878&ID=29792 [2017,Jan14]