แอพาลูตาไมด์ (Apalutamide)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาแอพาลูตาไมด์(Apalutamide) เป็นยายับยั้งฮอร์โมนเพศชายที่เรียกว่า “ยายับยั้ง แอนโดรเจนชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์(Nonsteroidal antiandrogen หรือย่อว่า NSAA)” ทางคลินิกนำมาบำบัดรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากที่ไม่อยู่ในระยะแพร่กระจายและดื้อต่อการรักษาด้วยการตัดอัณฑะ(Non-metastatic castration-resistant prostate cancer) รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาชนิดนี้/ยานี้เป็นยารับประทาน ตัวยาสามารถดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือดได้ทั้งหมด ตับจะมีหน้าที่คอยทำลายโครงสร้างของยาชนิดนี้ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 3–4 วันเพื่อกำจัดยาแอพาลูตาไมด์ออกจากกระแสเลือด และผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะเป็นส่วนใหญ่โดยบางส่วนไปกับอุจจาระ

ตัวยาแอพาลูตาไมด์ จะเข้ายับยั้งการทำงานของเซลล์มะเร็งโดยเข้าจับกับตัวรับ(Receptor)ของเซลล์มะเร็งที่มีชื่อว่า Androgen receptor ส่งผลให้เซลล์มะเร็งหยุดการจำลองสารพันธุกรรมหรือ DNA ส่งผลให้ปริมาณเซลล์มะเร็งของต่อมลูกหมากลดลง

อย่างไรก็ตาม มีข้อจำกัดการใช้ยาแอพาลูตาไมด์ และสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังบางประการที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์ ด้วยตัวยาแอพาลูตาไมด์เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์
  • ห้ามใช้กับสตรีในภาวะให้นมบุตร เพราะยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกยืนยันว่ายาชนิดนี้ จะไม่ถูกส่งผ่านทางน้ำนมมารดาไปยังทารก
  • บุรุษที่ได้รับยาชนิดนี้จะเกิดผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ได้โดยตรง และทำให้เกิด ภาวะมีบุตรยากตามมา
  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็กด้วยยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยทางคลินิกมารองรับ
  • การใช้ยาแอพาลูตาไมด์ในผู้สูงอายุ จะก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มวัยอื่นๆ ทำให้แพทย์ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษเมื่อใช้ยานี้กับผู้ป่วยสูงอายุ
  • การได้รับยานี้อาจทำให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจเกิดการเปลี่ยนแปลง ผู้ป่วยอาจต้อง เข้ารับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นระยะๆตามที่แพทย์นัดหมาย
  • อาจมีภาวะชักเกิดขึ้นขณะที่ผู้ป่วยได้รับยาแอพาลูตาไมด์ต่อเนื่องในช่วงประมาณ 354–475 วัน แพทย์จึงต้องใช้ข้อมูลเหล่านี้มาประกอบการรักษาในผู้ป่วยแต่ละราย

อนึ่ง ในเดือน กุมภาพันธ์ ค.ศ.2018 (พ.ศ.2561)คณะกรรมการอาหารและยาต่างประเทศ ได้ขึ้นทะเบียนรับรองว่า ยาแอพาลูตาไมด์สามารถใช้รักษามะเร็งต่อมลูกหมากในระยะที่ยังไม่แพร่กระจายและไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาฮอร์โมนที่ต่อต้านการทำงานของฮอร์โมนเพศชาย(Adrogen deprivation therapy) ทั้งนี้เป็นด้วยสถิติทางคลินิกที่บันทึกว่า ยาแอพาลูตาไมด์สามารถลดความเสี่ยงการแพร่กระจายของมะเร็งต่อมลูกหมากและช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยได้มากกว่า 70% ขึ้นไป

ปัจจุบัน ยาแอพาลูตาไมด์มีการจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อยาการค้าว่า Erleada โดยสามารถพบเห็นการใช้ยานี้ในสถานพยาบาลที่รักษาโรคมะเร็งเท่านั้น

แอพาลูตาไมด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

แอพาลูตาไมด์

ยาแอพาลูตาไมด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้บำบัดรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะที่ไม่แพร่กระจายและเป็นระยะที่ดื้อต่อการรักษาด้วยการตัดอัณฑะ(Non-metastatic castration-resistant prostate cancer)

แอพาลูตาไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาแอพาลูตาไมด์คือ ตัวยาจะยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมาก โดยตัวยาจะเข้ารวมตัวกับตัวรับ Androgen receptors ของเซลล์มะเร็ง ส่งผลให้สารพันธุกรรมหรือ DNAของเซลล์มะเร็งฯ ไม่สามารถถ่ายทอดรหัสการจำลองเซลล์มะเร็งรุ่นใหม่ขึ้นมาได้ นอกจากนี้เมแทโบไลท์ (Metabolite) ของยาแอพาลูตาไมด์ยังมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของมะเร็งฯได้เช่นกัน เพียงแต่มีฤทธิ์เพียง1ใน3ของตัวยาแอพาลูตาไมด์ ด้วยกลไกดังที่กล่าวมา จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ในการรักษาตามสรรพคุณ

แอพาลูตาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาแอพาลูตาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Apalutamide ขนาด 60 มิลลิกรัม/เม็ด

แอพาลูตาไมด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากด้วยยาแอพาลูตาไมด์ต้องอาศัยความต่อเนื่อง ผู้ป่วยต้องใช้ยานี้ตามขนาดและระยะเวลาที่แพทย์กำหนดให้เป็นกรณีๆไป กรณีที่ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงมาก แพทย์อาจปรับลดขนาดการใช้ยาลงมาเพื่อให้เหมาะกับสภาพร่างกาย ของผู้ป่วยมากที่สุด ดังนั้นขนาดการรับประทานยานี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นแต่ละกรณีผู้ป่วย

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาแอพาลูตาไมด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/ หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไต โรคตับ โรคหลอดเลือดสมอง รวมทั้ง กำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแอพาลูตาไมด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้น รุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

กรณีลืมรับประทานยาแอพาลูตาไมด์ สามารถรับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากเวลา ใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ห้ามเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่าให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ

อย่างไรก็ตาม การจะใช้ยาแอพาลูตาไมด์ได้อย่างมีประสิทธิผล ต้องอาศัยการรับประทานอย่างต่อเนื่องตรงขนาดและตรงเวลาตามคำสั่งแพทย์

แอพาลูตาไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาแอพาลูตาไมด์ สามารถก่อให้เกิด ผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ ท้องเสีย รู้สึกไม่สบายในกระเพาะอาหาร
  • ผลต่อระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดข้อ ปวดกระดูก
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น บวมตามแขน-ขา ความดันโลหิตสูง รู้สึกร้อนวูบวาบ/เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาว
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น มีภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ/ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ลมพิษ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน มีไข้ ง่วงนอน ความจำแย่ลง
  • ต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เบื่ออาหาร
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น รู้สึกสับสน อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย/อารมณ์แปรปรวน

มีข้อควรระวังการใช้แอพาลูตาไมด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาแอพาลูตาไมด์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานหรือหยุดการใช้ยานี้กะทันหันโดยไม่ขอคำปรึกษาจากแพทย์
  • กรณีที่มีอาการไข้ แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก เกิดผื่นคันขึ้นตามร่างกาย ต้องหยุดการใช้ยานี้ แล้วรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ไม่รับประทานยาอื่นใดร่วมกับยาแอพาลูตาไมด์ ไม่ว่าจะเป็นยาแผนปัจจุบันหรือสมุนไพรต่างๆ การจะใช้ยาอื่นใดร่วมกับยาแอพาลูตาไมด์ต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของแพทย์แต่ผู้เดียว
  • *กรณีรับประทานยานี้เกินขนาด ควรรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อเฝ้าระวังและรักษาประคับประคองตามอาการ ด้วยปัจจุบันยังไม่มียาต้านพิษของยาแอพาลูตาไมด์
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อการตรวจร่างกายจากแพทย์ ตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแอพาลูตาไมด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

แอพาลูตาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาแอพาลูตาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาแอพาลูตาไมด์ร่วมกับยา Itraconazole, Ketoconazole อาจทำให้ระดับยาแอพาลูตาไมด์ในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้นจนเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงจากยาแอพาลูตาไมด์ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาแอพาลูตาไมด์อย่างไร?

ควรเก็บยาแอพาลูตาไมด์ในช่วงอุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

แอพาลูตาไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาแอพาลูตาไมด์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
ERLEADA (เออร์ลีดา)Janssen Ortho LLC

บรรณานุกรม

  1. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2018/210951s000lbl.pdf [2018,May5]
  2. https://www.cancer.gov/news-events/cancer-currents-blog/2018/apalutamide-fda-nonmetastatic-prostate [2018,May5]
  3. https://www.drugs.com/monograph/apalutamide.html [2018,May5]
  4. https://www.drugs.com/cdi/apalutamide.html [2018,May5]
  5. https://www.drugs.com/sfx/apalutamide-side-effects.html [2018,May5]