แอพราโคลนิดีน (Apraclonidine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 22 กันยายน 2560
- Tweet
- บทนำ
- แอพราโคลนิดีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- แอพราโคลนิดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- แอพราโคลนิดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- แอพราโคลนิดีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมใช้ยาหยอดตาควรทำอย่างไร?
- แอพราโคลนิดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้แอพราโคลนิดีนอย่างไร?
- แอพราโคลนิดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาแอพราโคลนิดีนอย่างไร?
- แอพราโคลนิดีนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- แอลฟา2-อะดรีเนอร์จิก รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ (Alpha2-adrenergic receptor agonist)
- ความดันตาสูง(Ocular hypertension)
- ต้อหินเรื้อรัง (Chronic glaucoma)
- ต้อหินเฉียบพลัน (Acute glaucoma)
- ต้อหินเรื้อรัง (Chronic glaucoma)
บทนำ
ยาแอพราโคลนิดีน(Apraclonidine หรือ Apraclonidine hydrochloride หรือ Apraclonidine HCl) เป็นยาประเภท แอลฟา2-อะดรีเนอร์จิก รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์(Alpha 2 adrenergic receptor agonist) โดยกลไกการทำงานของยาแอพราโคลนิดีน คือลดการสร้างของเหลวในลูกตา ส่งผลให้แรงดัน/ความดันตาลดต่ำลง การมีแรงดัน/ความดันตาสูงๆ จะทำให้เส้นประสาทตาถูกทำลายและสูญเสียการมองเห็นในที่สุด
ทางคลินิก ได้นำยาแอพราโคลนิดีนมาใช้เป็นยาหยอดตาเพื่อลดความดันของลูกตาหลังการผ่าตัดตาด้วยแสงเลเซอร์ และยังใช้บำบัดอาการโรคต้อหินอีกด้วย
มีข้อห้ามใช้และข้อควรระวังของการใช้ยาแอพราโคลนิดีนที่ควรทราบดังนี้ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาแอพราโคลนิดีน
- ห้ามใช้ยาแอพราโคลนิดีนร่วมกับยากลุ่ม MAOIs เพราะจะทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)อย่างรุนแรงจากการใช้ยาร่วมกัน เช่น ทำให้มีความดันโลหิตสูง ดังนั้น ก่อนการใช้ยาแอพราโคลนิดีน ทางคลินิกแนะนำให้หยุดใช้ยากลุ่ม MAOI 14 วัน เป็นอย่างต่ำ
- ห้ามนำยานี้มาใช้รับประทาน ด้วยยาแอพราโคลนิดีนเป็นยาหยอดตา
- ห้ามดื่มเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ขณะหยอดตาด้วยแอพราโคลนิดีน เพราะตัวยานี้จะสามารถเพิ่มฤทธิ์การกดประสาทของแอลกอฮอล์
- การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตร ต้องอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น และห้ามผู้ป่วยกลุ่มนี้ไปซื้อหายาแอพราโคลนิดีนมาใช้ด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาหยอดตาแอพราโคลนิดีนกับเด็ก ด้วยยังไม่มีการศึกษาถึงประสิทธิภาพและผลข้างเคียงของการใช้ยานี้กับผู้ป่วยเด็ก
- ห้ามใช้ยานี้ที่มีสิ่งปนเปื้อนเจือปน เช่น ฝุ่นผงต่างๆเพราะอาจเป็นเหตุให้เกิดการ ติดเชื้อของตาตามมา
- ต้องเรียนรู้วิธีใช้ยาหยอดตาอย่างถูกต้องจาก แพทย์/ พยาบาล/เภสัชกร(อ่านเพิ่มเติมในบทความนี้ หัวข้อ “ขนาดการบริหารยาฯ”) และใช้ยานี้ตรงตามคำสั่งแพทย์
- กรณีที่ใช้ยานี้แล้วอาการของตายังไม่ดีขึ้น เช่น ยังมีอาการปวดของตา หรือปวดตามากขึ้นเรื่อยๆ ควรรีบนำผู้ป่วยมาพบจักษุแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว
สำหรับยาหยอดตาแอพราโคลนิดีนที่มีจำหน่ายในท้องตลาด จะมีขนาดความแรง 0.5% และ 1% การจะเลือกใช้ขนาดความแรงใดนั้น จะต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น และสำหรับประเทศไทย สามารถพบเห็นการจำหน่ายยาชนิดนี้ภายใต้ชื่อการค้าว่า “Iopidine”
แอพราโคลนิดีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาแอพราโคลนิดีน มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- บำบัดรักษาอาการโรคต้อหิน
- ใช้เป็นยาควบคุมและป้องกันความดันตาสูงหลังการผ่าตัดตาด้วยแสงเลเซอร์
แอพราโคลนิดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
หลังการหยอดตาด้วยยาแอพราโคลนิดีน ต้องใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ ตัวยาจึงจะออกฤทธิ์ได้เต็มที่ ซึ่งระยะเวลาการออกฤทธิ์ อาจควบคุมความดันตาได้เป็นเวลานานกว่า 12 ชั่วโมงขึ้นไป ตัวยาแอพราโคลนิดีนเป็นยาประเภท Alpha2-adrenergic agonist จะมีกลไกการออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่มีชื่อว่า Adenylate cyclase ส่งผลยับยั้งการผลิต Cyclic Adenosine monophosphate (cAMP) ซึ่งเป็นตัวนำส่งข้อมูลภายในเซลล์และมีอิทธิพลต่อการสร้างของเหลวภายในตา ปริมาณของเหลวที่ลดลงนี้เองเป็นกลไกหลักที่ทำให้ความดันตากลับมาเป็นปกติ
แอพราโคลนิดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาแอพราโคลนิดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เป็น ยาหยอดตาที่ประกอบด้วยตัวยา Apraclonidine HCl ขนาดความเข้มข้น 0.5 และ 1%
แอพราโคลนิดีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาแอพราโคลนิดีน มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
ก. สำหรับรักษาอาการโรคต้อหิน:
- ผู้ใหญ่: ใช้ยาหยอดตาแอพราโคลนิดีนขนาดเข้มข้น 0.5% หยอดตาข้างที่เป็นต้อหิน 1–2 หยด วันละ 3 ครั้ง โดยมีระยะเวลาการใช้ยาไม่เกิน 1 เดือน กรณีมียาหยอดตาประเภทอื่นร่วมด้วย ควรเว้นระยะเวลาของการหยอดตาระหว่างยาหยอดตาแอพราโคลนิดีนกับยาหยอดตาชนิดอื่นนาน 5 นาทีเป็นอย่างต่ำ
ข. สำหรับควบคุมและป้องกันความดันตาสูงหลังการผ่าตัดตาด้วยแสงเลเซอร์
- ผู้ใหญ่: ใช้ยาหยอดตาแอพราโคลนิดีนขนาดความเข้มข้น 1% หยอดตาข้างที่ต้องรับการผ่าตัดเพียง 1 หยด ต้องหยอดตาล่วงหน้า 1 ชั่วโมง ก่อนเข้ารับการผ่าตัดตา และ หลังการผ่าตัดตาเสร็จเรียบร้อย ให้หยอดตาด้วยยานี้ ทันทีอีก 1 หยด
ค. ศึกษาและดำเนินตามขั้นตอนการใช้ยาหยอดตาดังต่อไปนี้
1 ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำก่อนใช้ยาหยอดตา
2 เขย่าเบาๆขวดยาก่อนใช้
3 เอียงศีรษะไปข้างหลังเล็กน้อย ใช้นิ้วชี้ดึงเปลือกตา/หนังตาล่างแล้วเงยหน้าขึ้น
4 หยอดยาลงในเปลือกตาล่าง ระวังมิให้ปลายหลอดหยอดตาสัมผัสตา หนังตา ทั้งนี้เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรคกับตัวยา
5 หลับตาโดยไม่ต้องกะพริบตา และรอเป็นเวลาประมาณ 30 วินาที เพื่อให้ ยากระจายทั่วตา
6 ปิดฝาขวดยาให้แน่น
อนึ่ง:
- ห้ามซื้อยาชนิดนี้มาใช้เอง
- เด็ก: ปัจจุบัน ยังไม่มีข้อบ่งใช้ยานี้กับเด็ก
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยายาแอพราโคลนิดีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะ ยาแอพราโคลนิดีน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมใช้ยาหยอดตาควรทำอย่างไร?
กรณีลืมหยอดตาด้วยยาแอพราโคลนิดีน สามารถใช้ยาทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการใช้ยาเป็น 2 เท่า ให้ใช้ยาที่ขนาดปกติ
แต่อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ต้องใช้ ยาแอพราโคลนิดีน ตรงเวลา
แอพราโคลนิดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาแอพราโคลนิดีน สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อตา: เช่น เกิดเยื่อตาอักเสบ คันตา ตาแดงด้วยมีเลือดคั่งในตา น้ำตามาก รูม่านตาขยาย การมองภาพไม่ชัดเจน หนังตาตก ปวดตา
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปากแห้ง คลื่นไส้ ท้องผูกหรือท้องเสีย อาเจียน ปวดท้อง
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ การรับรสผิดปกติ วิงเวียน เดินเซ ง่วงนอน เกิดความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน มีภาวะหย่อนรับรู้ร้อนเย็น/การรับรู้ความร้อน-เย็นลดลง
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นผิดจังหวะ ชีพจรผิดปกติ หลอดเลือดดำขยายตัว ความดันโลหิตต่ำ ใบหน้าบวม มือ-เท้าบวม
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น เยื่อจมูกอักเสบ จมูกแห้ง หอบหืด หายใจขัด/หายใจลำบาก น้ำมูกไหล ระคายคอ
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ซึม กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ ฝันแปลกๆ
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผิวหนังอักเสบ มีผื่นคัน เหงื่อออกที่ฝ่ามือ
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ
- ผลต่อระบบสืบพันธ์: เช่น อารมณ์ทางเพศถดถอย
มีข้อควรระวังการใช้แอพราโคลนิดีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาแอพราโคลนิดีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยแพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
- ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้หรือหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามไปซื้อหายานี้มาใช้เองโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
- หลังเปิดขวดยาแล้ว สามารถใช้ยานี้ต่อได้ไม่เกิน 4 สัปดาห์
- กรณีพบอาการแพ้ยานี้ เช่น มีผื่นคันขึ้นเต็มตัว หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ตัวบวม ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- หากใช้ยานี้ตามระยะเวลาที่แพทย์แนะนำแล้วอาการไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยควรรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- แจ้งแพทย์ถึงประวัติโรคประจำตัว การมียาชนิดอื่นใดที่ใช้อยู่บ้างโดยละเอียดก่อนที่จะเข้ารับการรักษาทุกครั้ง
- ปฏิบัติตามคำสั่ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาแอพราโคลนิดีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
แอพราโคลนิดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาแอพราโคลนิดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาแอพราโคลนิดีนร่วมกับยา Isocarboxazid, Linezolid, Phenelzine, Selegiline, เพราะจะส่งผลทำให้ความดันโลหิตของผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างผิดปกติ
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาแอพราโคลนิดีนร่วมกับยา Alprazolam, Clemastine/ยาแก้แพ้, และ Hydrocodone ด้วยจะทำให้มีการดูดซึมตัวยาแอพราโคลนิดีนร่วมเข้าสู่ร่างกายมากขึ้น จนเป็นเหตุให้เกิดอาการวิงเวียน ง่วงนอน และทำให้ขาดสมาธิ
- การใช้ยาแอพราโคลนิดีนร่วมกับยา Ramipril อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ และหัวใจเต้นช้าลง กรณีจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาแอพราโคลนิดีนร่วมกับยา Amitriptyline ด้วยจะทำให้เกิด อาการ วิงเวียน ง่วงนอน ความดันโลหิตต่ำตามมา
ควรเก็บรักษาแอพราโคลนิดีนอย่างไร?
ควรเก็บยาแอพราโคลนิดีน ภายใต้อุณหภูมิ 2-25 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
แอพราโคลนิดีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาแอพราโคลนิดีน ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Iopidine (ไอโอพิดีน) | Alcon |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ในต่างประเทศเช่น ยา Lopidine และที่มีตัวยาอื่นผสมรวมอยู่ด้วย เช่น Alfa, Alfadrops, Alphadrops DS
บรรณานุกรม
- https://www.drugs.com/pro/apraclonidine.html[2017,Sept2]
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2004/19779s018,019lbl.pdf[2017,Sept2]
- https://www.drugbank.ca/drugs/DB00964[2017,Sept2]
- http://www.akorn.com/documents/catalog/sell_sheets/17478-716-10.pdf[2017,Sept2]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/apraclonidine-ophthalmic-index.html?filter=3&generic_only=#P[2017,Sept2]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/apraclonidine/?type=brief&mtype=generic[2017,Sept2]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/apraclonidine-ophthalmic-index.html?filter=2[2017,Sept2]