แอนโดรพอส หรือ ผู้ชายวัยทอง(Andropause)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 20 กรกฎาคม 2563
- Tweet
- แอนโดรพอสคืออะไร?มีสาเหตุจากอะไร?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดแอนโดรพอส?
- แอนโดรพอสมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยภาวะแอนโดรพอสได้อย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์
- รักษาภาวะแอนโดรพอสอย่างไร?
- แอนโดรพอสรักษาหายไหม?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- ป้องกันแอนโดรพอสได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบต่อมไร้ท่อ (Anatomy and physiology of endocrine system)
- โรคต่อมไร้ท่อ โรคระบบต่อมไร้ท่อ (Endocrine disease)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาอวัยวะสืบพันธุ์ชาย (Anatomy and physiology of male reproductive organ)
- ผู้สูงอายุ (Older person)
- วัยหมดประจำเดือน (Menopause)
- ฮอร์โมนเพศชาย (Male sex hormone) หรือ แอนโดรเจน (Androgen)
- ยาทดแทนฮอร์โมนเพศชาย (Testosterone replacement medication)
- เทสทอสเทอโรน (Testosterone)
- มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate cancer)
แอนโดรพอสคืออะไร?มีสาเหตุจากอะไร?
แอนโดรพอส หรือ ผู้ชายวัยทอง(Andropause) คือ ภาวะค่อยๆมีการลดต่ำลง(พร่อง)อย่างช้าๆของฮอร์โมนเพศชายโดยเฉพาะฮอร์โมน เทสทอสเทอโรน (Testosterone) ซึ่งเป็นธรรมชาติที่เกิดในผู้ชายทุกคนในวัยเริ่มตั้งแต่ปลายอายุ30ปีขึ้นไป ทั่วไปฮอร์โมนนี้จะค่อยๆลดลงประมาณ 1-2% ต่อปี
การลดลงของฮอร์โมนเพศชาย/เทสทอสเทอโรนนี้ จะส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติขึ้น แต่ไม่ได้เกิดกับผู้ชายทุกคน จะแตกต่างกันในแต่ละคน ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ บางคนมีอาการน้อยมาก อาการปานกลาง หรืออาจมีอาการมาก(พบเป็นส่วนน้อย) ทั้งนี้อาการ และความรุนแรงของอาการไม่ขึ้นกับระดับเทสทอสเทอโรนที่ต่ำลง แพทย์เชื่อว่า ขึ้นกับร่างกายของแต่ละคนที่จะตอบสนองต่างกันต่อระดับของฮอร์โมนนี้
แอนโดรพอส/ผู้ชายวัยทองเป็นอาการที่พบไม่บ่อย และไม่มีสถิติเกิดที่แน่ชัด เพราะส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล แต่มีรายงานว่า ประมาณ 20%ของผู้ชายวัย 60 ปี และประมาณ 30%ของผู้ชายวัย70ปี เมื่อตรวจเลือดจะพบมีฮอร์โมน เทสทอสเทอโรนต่ำ ซึ่งบางรายมีอาการ แต่ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ
อนึ่ง:
- ชื่ออื่นของ แอนโดรพอส เช่น ผู้ชายวัยทอง(Male menopause), Male climacteric, Androgen deficiency, และทางการแพทย์มักเรียกว่า ‘ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายในผู้ชายมีอายุ (Late-onset hypogonadism ย่อว่า LOH)’
- Andropause มาจากภาษากรีก โดย Andros หมายถึง มนุษย์ผู้ชาย, Pause หมายถึง ‘หยุด’
ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดแอนโดรพอส?
ผู้ชายที่อายุมากขึ้น ตั้งแต่ปลาย30ปีขึ้นไป ที่มีปัจจัยเสี่ยงเกิดแอนโดรพอส/ผู้ชายวัยทองได้แก่
- สูบบุหรี่
- ดื่มสุรา
- มีความเครียดสูง เป็นโรคเครียด
- มีโรคประจำตัว ที่สำคัญคือ
- โรคเบาหวาน
- โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน โดยเฉพาะอ้วนลงพุง
- โรคไขมันในเลือดสูง
- โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (โรคซีโอพีดี)
- โรคหัวใจ
- จำเป็นต้องกินยาบางชนิดต่อเนื่อง เช่น ยา
- Corticosteroid
- Cimetidine
- Digoxin
- Spironolactone
- ยาแก้ปวดในกลุ่ม Opioids
- ยาต้านเศร้า
- ยาต้านเชื้อรา
- ขาดการออกกำลังกาย
- กินอาหารไม่มีประโยชน์เป็นประจำ
แอนโดรพอสมีอาการอย่างไร?
อาการของแอนโดรพอส/ผู้ชายวัยทองมีหลากหลาย ไม่มีอาการเฉพาะโรค แต่เป็นอาการที่พบได้ในโรคต่างๆ เช่น โรคเครียด, โรคกลุ่มอาการเมตาโบลิก, โรคซึมเศร้า, โรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคหัวใจ, โรคตับ, โรคมะเร็ง
อาการของแอนโดรพอส/ ผู้ชายวัยทองที่พบบ่อย และแพทย์ใช้สนับสนุน/การวินิจฉัยว่า ผู้ป่วยน่ามีภาวะแอนโดรพอส ได้แก่ 3 อาการหลักในความผิดปกติทางเพศ ได้แก่
- ความรู้สึกทางเพศลดลงมาก หรือ หมดความรู้สึกทางเพศ
- การแข็งตัวของอวัยวะเพศชายที่เกิดในตอนเช้าที่เป็นสิ่งปกติของผู้ชายวัยเจริญพันธ์(Morning erection)ลดลงมาก หรือหายไปเลย
- นกเขาไม่ขัน
นอกจากนั้น อาจพบอาการอื่นๆร่วมด้วยได้ ซึ่งมักเป็นอาการที่เกิดจากปัจจัยเสี่ยงให้เกิดภาวะนี้ ซึ่งได้แก่ อาการทั่วๆไป, และอาการจากสาเหตุ, ได้แก่
ก. อาการทั่วไป: มักพบกับทุกๆผู้ป่วย แต่ไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการ อาการที่พบ บ่อย เช่น
- มีความเครียด ความวิตกกังวล เป็นประจำ
- มักซึมเศร้า
- หงุดหงิดง่าย
- อ่อนเพลีย อ่อนล้า
- ห่อเหี่ยว ไม่สดชื่น
- นอนไม่หลับ
- ลืมง่าย
- ขาดสมาธิ/สมาธิลดลง
- กล้ามเนื้อส่วนต่างๆของร่างกายฝ่อลีบ
- โรคกระดูกบาง โรคกระดูกพรุน
- การเคลื่อนไหวช้าลง ไม่กระฉับกระเฉง
ข. อาการของโรค/ภาวะที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง: ที่แตกต่างกันในแต่ละผู้ป่วยตามแต่ละสาเหตุ เช่น
- โรคเบาหวาน
- โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
- โรคไขมันในเลือดสูง
- โรคซึมเศร้า
- โรคเครียด
- โรควิตกกังวล
- ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน
- โรคพิษสุรา
- ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด ดังได้กล่าวใน’หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ ‘
(แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่รวมถึง อาการ ของโรคต่างๆ หรือชนิดยาต่างๆได้ในแต่ละเรื่องในเว็บ haamor.com)
แพทย์วินิจฉัยภาวะแอนโดรพอสได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยภาวะแอนโดรพอส/ผู้ชายวัยทอง ได้จาก
- ประวัติอาการที่สำคัญทางเพศ 3 อาการหลัก ที่กล่าวแล้วใน ‘หัวข้ออาการฯ’ ได้แก่
- ความรู้สึกทางเพศลดลงมาก หรือ หมดความรู้สึกทางเพศ
- การแข็งตัวของอวัยวะเพศชายที่เกิดในตอนเช้าที่เป็นสิ่งปกติของผู้ชายวัยเจริญพันธ์(Morning erection)ลดลงมาก หรือหายไปเลย
- นกเขาไม่ขัน
- ร่วมกับตรวจเลือดดูระดับเทสทอสเทอโรน ที่จะต่ำกว่าปกติอย่างต่อเนื่องจากการตรวจอย่างน้อย 2 ครั้ง(ตรวจในเวลาเดียวกันทั้ง2ครั้ง เพราะค่าเทสทอสเทอโรนในแต่ละช่วงเวลาของแต่ละวันจะแตกต่างกัน)ในระยะเวลาห่างกันตามดุลพินิจของแพทย์
- นอกจากนั้น คือ
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ต่างๆของผู้ป่วย เพื่อช่วยในการวินิจฉัยแยกโรค, หาสาเหตุ, และเป็นแนวทางในการรักษา, เช่น ประวัติอาการอื่นๆที่ไม่ใช่อาการทางเพศ โรคประจำตัว การใช้ยาต่างๆ
- และอาจมีการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติม เพื่อช่วยการวินิจฉัยแยกโรค, หาสาเหตุ, และเป็นแนวทางการรักษา, ตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น
- ตรวจเลือด ซีบีซี/CBC
- ตรวจเลือด ดูค่าการทำงานของ ตับ ไต
- การตรวจปัสสาวะ (ปัสสาวะ-การตรวจปัสสาวะ) ดูโรคระบบทางเดินปัสสาวะ
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
เมื่อมีอาการดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ เพื่อ ได้รับการรักษาที่เหมาะสมที่จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย
รักษาภาวะแอนโดรพอสอย่างไร?
แนวทางการรักษาหลักของภาวะแอนโดรพอส/ผู้ชายวัยทอง คือ การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต, การรักษาโรค/ภาวะที่เป็นปัจจัยเสี่ยง, การให้ฮอร์โมนเพศชาย/เทสทอสเทอโรนชดเชย, และการรักษาตามอาการ
ก. การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต: ซึ่งเป็นการรักษาสำคัญที่สุด เพราะส่วนใหญ่เมื่อปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตได้ดี อาการต่างๆก็จะดีขึ้นตามไปด้วยโดยไม่ต้องมีการให้ฮอร์โมนเพศชายชดเชย ซึ่งการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่สำคัญ เช่น
- กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ให้เกิดภาวะโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน โดยควบคุมลดอาหารไขมัน อาหารแป้งและน้ำตาล อาหารเค็ม และปริมาณอาหารในแต่ละมื้อ
- ออกกำลังกายตามควรกับสุขภาพทุกวัน
- เลิกบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่
- เลิกสุรา ไม่ดื่มสุรา
- เข้าใจ ยอมรับชีวิต คิดบวก ให้อภัยทั้งตนเองและผู้อื่น ฝึกสมาธิ ลดความเครียด ความวิตกกังวล
- ยอมรับการรักษาภาวะ/โรคซึมเศร้า
ข. การรักษาโรค/ภาวะที่เป็นปัจจัยเสี่ยง: ที่แตกต่างกันในแต่ละผู้ป่วย ตามแต่ละสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง ดังกล่าวใน ‘หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ’ (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่รวมถึง วิธีรักษา การพยากรณ์โรค ของโรคต่างๆในแต่ละโรคในเว็บ haamor.com)
ค. การให้ฮอร์โมนเพศชาย/ เทสทอสเทอโรนชดเชย: ซึ่งไม่จำเป็นต้องให้ในผู้ป่วยทุกราย และการตอบสนองต่อฮอร์โมนเพศฯจะไม่ขึ้นกับระดับฮอร์โมนเพศฯในร่างกาย บางรายอาจไม่ได้ประโยชน์ และบางรายอาจมีผลข้างเคียงจากยา โดยเฉพาะปัจจัยเสี่ยงในการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก ดังนั้นแพทย์จึงพิจารณาในแต่ละผู้ป่วยเป็นรายๆไป ตามข้อบ่งชี้ และข้อห้าม
ง. การรักษาตามอาการ: คือ การให้การรักษาตามแต่อาการผู้ป่วยแต่ละราย เช่น
- ยานอนหลับในกรณีนอนไม่หลับต่อเนื่อง
- ยาคลายเครียด กรณีมีความเครียดสูง
แอนโดรพอสรักษาหายไหม?
แอนโดรพอส/ผู้ชายวัยทอง เป็นภาวะตามธรรมชาติของผู้ชายทุกคน ตามการเสื่อมของเซลล์ทุกชนิดของร่างกายเมื่ออายุมากขึ้นซึ่งรวมถึงเซลล์ของอัณฑะที่สร้างฮอร์โมนเพศชาย ดังนั้นจึงเป็นภาวะที่ต้องเกิดขึ้น แต่สามารถชะลอความเสื่อมของเซลล์ทุกชนิดลงได้รวมถึงให้เกิดในอัตราที่ช้าลง ทั้งนี้ด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต(ดังได้กล่าวใน’หัวข้อ การรักษาฯ’) เริ่มตั้งแต่ใน วัยเด็ก, วัยหนุ่มสาว, ตลอดจนเมื่อเป็นผู้ใหญ่, และผู้สูงอายุ
ส่วนเมื่อเริ่มมีอาการของภาวะนี้ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพราะการดูแลรักษาจะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ถึงแม้จะเป็นภาวะรักษาไม่หายขาดก็ตาม
ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
การดูแลตนเองเพื่อชะลอการเกิดภาวะแอนโดรพอส/ผู้ชายวัยทอง คือการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตในทุกช่วงวัยของชีวิต(ดังได้กล่าวใน ‘ข้อ ก. หัวข้อ การรักษาฯ’)
ส่วนการดูแลเมื่อมีอาการของแอนโดรพอส/ผู้ชายวัยทอง ได้แก่
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนะ
- ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตตามแพทย์แนะนำ รวมถึง ดังได้กล่าวใน ‘ข้อ ก. หัวข้อ การรักษาฯ’
- กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
- มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่น วิงเวียนศีรษะมาก
- กังวลในอาการ เช่น อาการเลวลง อาการไม่ดีขึ้น
ป้องกันแอนโดรพอสได้อย่างไร?
การป้องกันภาวะแอนโดรพอส/ผู้ชายวัยทองให้ได้เต็มร้อยเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นธรรมชาติของทุกคนที่เซลล์ต่างๆทุกชนิดของร่างกายจะต้องเสื่อมไปตามวัยที่สูงขึ้น แต่ผู้ชายทุกคนสามารถชะลอการเกิดที่รวมถึงลดความรุนแรงของอาการจากแอนโดรพอสลงได้ด้วย
- การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตในทุกวัย ตั้งแต่เด็กจนถึงวัยสูงอายุ ดังได้กล่าวใน’หัวข้อการรักษาฯ’
บรรณานุกรม?
- Huhtaniemi, I. Asian Journal of Andrology. 2014; 16: 192–202
- Petering, R., and Brooks, N. Am Fam Physician. 2017; 96(7):441-449
- Singh, P. Indian J Endocrinol Metab 2013;17(suppl3): s621-s629
- https://www.chp.gov.hk/en/static/80026.html [2020,July11]
- https://www.nhs.uk/conditions/male-menopause/ [2020,July11]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Late-onset_hypogonadism [2020,July11]
- https://www.cmaj.ca/content/187/18/1369.long [2020,July11]