แอนแอสโทรโซล (Anastrozole)
- โดย ภก.ศิวัสว์ ผุลลาภิวัฒน์
- 24 ตุลาคม 2564
- Tweet
- บทนำ:คือยาอะไร?
- ยาแอนแอสโทรโซลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ยาแอนแอสโทรโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาแอนแอสโทรโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาแอนแอสโทรโซลมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาแอนแอสโทรโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาแอนแอสโทรโซลอย่างไร?
- ยาแอนแอสโทรโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาแอนแอสโทรโซลอย่างไร?
- ยาแอนแอสโทรโซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ทาม็อกซิเฟน (Tamoxifen)
- เอ็กซ์เซเมสเทน (Exemestane)
- เลโทรโซล (Letrozole)
- มะเร็งเต้านม (Breast cancer)
- วัยหมดประจำเดือน (Menopause)
- มะเร็งเต้านมชาย (Male breast cancer)
- วัยใกล้หมดประจำเดือน (Perimenopause)
บทนำ:คือยาอะไร?
แอนแอสโทรโซล/ อะแนสโทรโซล (Anastrozole) คือ ยารักษามะเร็งเต้านมที่จัดอยู่ในกลุ่มฮอร์โมนที่ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์’อโรมาเทส’ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ร่างกายใช้ในการสังเคราะห์เอสโตรเจน ยานี้จึงเปรียบเสมือนการลดฮอร์โมนเอสโตรเจนลง เซลล์มะเร็งเต้านมชนิดที่จำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนในการกระตุ้นการเจริญเติบโตจึงถูกยับยั้งและลดอัตราการเกิดเนื้องอกหรือมะเร็งที่เต้านมได้
มะเร็งเต้านม เกิดจากเนื้อเยื่อเต้านมมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์มะเร็งซึ่งมีหลายชนิด บางชนิดต้องอาศัยฮอร์โมนเพศหญิงหรือเอสโตรเจนในการเจริญเติบโตที่เรียกว่า ชนิด Estrogen Receptor Positive (ER+) โดยชนิดนี้สามารถรักษาได้ด้วยยาต้านฮอร์โมนเอสเตรเจนอาทิยา ทาม็อกซิเฟน (Tamoxifen), หรือยายับยั้งเอนไซม์อโรมาเทส (Aromatase inhibitors, ยายับยั้งเอนไซม์สร้างเอสโตรเจนในหญิงวัยหมดประจำเดือน)ที่สามารถใช้เฉพาะในผู้หญิงในวัยหมดระดู (วัยหมดประจำเดือน) แล้วเท่านั้น
ปัจจุบัน ยาแอนแอสโทรโซล/อะแนสโทรโซล ได้รับการจัดเป็นหนึ่งในยาจำเป็น (Essential Medicines)โดยองค์การอนามัยโลก และเป็นยาควบคุมพิเศษตามกฎหมายของไทย กล่าวคือ ยานี้สามารถใช้ได้เมื่อแพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายเท่านั้น
ยาแอนแอสโทรโซลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาแอนแอสโทรโซล/ อะแนสโทรโซล มีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้ :
ก. เป็นยาเสริมการรักษา(Adjuvant Treatment):
- ในสตรีวัยหมดระดู (วัยหมดประจำเดือน)ที่เป็นมะเร็งเต้านมที่ใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนในการเติบโต(Estrogen Receptor Positive; ER+)ในโรคมะเร็งระยะเริ่มต้น (Early Brest Cancer)
- หรือใช้เป็นยาเสริมการรักษาในผู้ป่วยที่เคยได้รับยาทาม็อกซิเฟน(Tamoxifen)มาแล้วเป็นเวลา 2 - 3 ปี
ข. เป็นยารักษาสตรีวัยหมดประจำเดือนที่เป็นมะเร็งเต้านมชนิด ER+ ในระยะลุกลาม (Advanced Breast Cancer)
ยาแอนแอสโทรโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาแอนแอสโทรโซล/อะแนสโทรโซล ออกฤทธิ์โดยการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ อโรมาเทส (Aromatase inhibitors) เอนไซม์ที่ทำหน้าที่เปลี่ยนฮอร์โมนเพศชาย(แอนโดรเจน/Androgen)ที่ร่างกายผลิตขึ้นให้ไปเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งมะเร็งเต้านมชนิดที่ต้องการฮอร์โมนเอสเตรเจนในการกระตุ้นการเจริญเติบโต (Estrogen Receptor Positive; ER+) จะถูกยับยั้งการเจริญ เติบโตเนื่องจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำลง
เหตุที่ยานี้สามารถใช้ได้เฉพาะในสตรีหลังหมดระดูเนื่องจากในช่วงที่สตรียังมีระดู รังไข่จะเป็นอวัยวะหลักในการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน หากรับประทานยานี้อาจทำให้เกิดวงจรสะ ท้อนกลับเชิงบวก (Positive feedback) ทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนมากขึ้นเพื่อมาทดแทนฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลงไป หากแต่สตรีหลังหมดระดูการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนเกิดขึ้นตามบริเวณเนื้อเยื่อส่วนปลาย (เช่น เนื้อเยื่อเกี่ยวพันของลำตัวและของเต้านม) และส่วน มากจะออกฤทธิ์เฉพาะที่เท่านั้น ยานี้จึงออกฤทธิ์ที่เนื้อเยื่อร่างกายโดยเฉพาะบริเวณเต้านมให้ลดการสร้างเอสโตรเจนลง
ยาแอนแอสโทรโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาแอนแอสโทรโซล/อะแนสโทรโซล มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์:
- ยาเป็นยาเม็ดเคลือบฟิล์มชนิดรับประทาน ขนาดความแรงเม็ดละ 1 มิลลิกรัม
ยาแอนแอสโทรโซลมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?
ยาแอนแอสโทรโซล/อะแนสโทรโซล มีขนาดใช้ยา:
- สำหรับผู้ใหญ่ทานครั้งละ 1 เม็ดวันละ 1 ครั้งสำหรับผู้ ป่วยที่ใช้ยานี้เป็นยาเสริมในการรักษามะเร็งเต้านมที่ใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนในการเติบโต (Estrogen Receptor Positive; ER+) ให้ทานต่อเนื่องทุกวันเป็นเวลานาน 5 ปี
- ในเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): เนื่องจากมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งในผู้ใหญ่ ปัจจุบันจึงยังไม่มีข้อมูลการศึกษาการใช้ยานี้ในเด็ก
*****หมายเหตุ:ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาแอนแอสโทรโซล/ อะแนสโทรโซล ควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติการแพ้ยา ส่วนประกอบของยา หรือสารเคมี ทุกชนิด
- โรคประจำตัว ประวัติการใช้ยา ทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ซื้อทานเอง รวมถึงวิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ที่กำลังใช้หรือมีความคิดที่จะซื้อใช้ในอนาคต
- ควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ซึ่งมีส่วนผสมของฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น การรักษาด้วยการใช้ฮอร์โมนทดแทน (Hormone Replacement Therapy; HRT)ในหญิงวัยหมดระดู (วัยหมดประจำเดือน), หรือการใช้ฮอร์โมนเพื่อการคุมกำเนิดทั้งรูปแบบชนิดยาเม็ดคุมกำเนิด ชนิดแผ่นแปะ (ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนัง) ยาคุมกำเนิดชนิดห่วงสอดช่องคลอด ยาคุมกำเนิดแบบฝังใต้ผิวหนัง และยาฉีดคุมกำเนิด, และการใช้ยาทาม็อกซิเฟนเนื่องจากแพทย์อาจต้องมีการปรับขนาดยาเหล่านี้หรือเฝ้าระวังผลข้างเคียงจากการใช้ยาเหล่านี้อย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น
- ประวัติโรคไขมันในเลือดสูงหรือคอเลสเตอรอลในเลือดสูง, ประวัติโรคกระดูกพรุน/ กระดูกบาง, โรคตับ, โรคไต, และโรคหัวใจ
- แจ้งให้แพทย์ทราบ หากคุณยังมีประจำเดือน ตั้งครรภ์ หรือวางแผนที่จะตั้งครรภ์ หรือกำลัง ให้นมบุตร
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาแอนแอสโทรโซล/ อะแนสโทรโซล ให้รับประทานโดยทันทีที่นึกขึ้นได้ หากใกล้เวลาการรับประทานยาในมื้อถัดไป ให้ข้ามมื้อยานั้นไปและรับประทานยาตามมื้อยาถัดไปตามปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
ยาแอนแอสโทรโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาแอนแอสโทรโซล/ อะแนสโทรโซล อาจก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง) บางประการ เช่น
- ปวดหรือมีอาการเกร็งที่บริเวณข้อและกระดูก
- คลื่นไส้อาเจียน
- วิงเวียน
- ปวดหัว
- ไอ
- รู้สึกร้อนวูบวาบ
- เหนื่อยล้า ไม่มีแรง
- ท้องเสีย
- ภาวะช่องคลอดแห้ง
*ทั้งนี้ หากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นและมีแนวโน้มว่าอาการแย่ลงหรือไม่ทุเลา ให้รีบแจ้งให้แพทย์ทราบ/ไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด
*อนึ่ง: ให้รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน เมื่อ
- รับประทานยานี้แล้วเกิดอาการแพ้ยา เช่น มีผื่นคัน, อาการบวมของริมฝีปาก เปลือกตา/หนังตา ใบหน้า หรือหายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก,
- หรืออาการไม่พึงประสงค์ฯที่มีความรุนแรง เช่น การมองเห็นภาพเปลี่ยนไปหรือไม่ชัดเจน, ปวดบริเวณช่วงอก/เจ็บหน้าอก, หรือหัวใจเต้นเร็ว
มีข้อควรระวังการใช้ยาแอนแอสโทรโซลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาแอนแอสโทรโซล/อะแนสโทรโซล เช่น
- ไม่ใช้ยานี้กับสตรีที่ยังมีประจำเดือน สตรีตั้งครรภ์ หรือวางแผนที่จำตั้งครรภ์ สตรีให้นมบุตร อนึ่งการใช้ยานี้ควรใช้เฉพาะสตรีวัยหมดระดูแล้ว (วัยหมดประจำเดือน)
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ร่วมกับยาทาม็อกซิเฟน หรือยาที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเอสโตรเจน
- ยาแอนแอสโทรโซล/ อะแนสโทรโซล อาจส่งผลให้ความหนาแน่นของมวลกระดูกของผู้ใช้ยาลดลง (กระดูกบางหรือกระดูกพรุน) ผู้ใช้ยาที่มีโรคกระดูกพรุนร่วมด้วยหรือมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคกระดูกพรุน อาจมีความจำเป็นต้องใช้ยาอื่นเพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุนตามวิจารณญาณของแพทย์ผู้ทำการรักษา
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาแอนแอสโทรโซลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาแอนแอสโทรโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาแอนแอสโทรโซล /อะแนสโทรโซล มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
ก. ยาที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนหรืออนุพันธุ์ของฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นส่วนประกอบ: เนื่องจากยาเหล่านี้มีฤทธิ์หักล้างกับยาแอนแอสโทรโซลในทางเภสัชวิทยากล่าวคือ ยาแอนแอส โทรโซลออกฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์ฮอร์โมนเอสโตรเจน จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานหรือใช้ยาที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเอสโตรเจนร่วมด้วย เพราะจะเพิ่มระดับของฮอร์โมนดังกล่าวในร่างกาย จึงอาจนำไปสู่ความล้มเหลวทางการรักษาของยาแอนแอสโทรโซล
ข. ยาทาม็อกซิเฟน: เนื่องจากยาทามอกซิเฟนสามารถลดปริมาณยาแอนแอสโทรโซลในกระแสเลือด ซึ่งอาจนำไปสู่ความล้มเหลวทางการรักษาของยาแอนแอสโทรโซลจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาสองชนิดนี้ร่วมกัน
ค. ยาวาร์ฟาริน: เนื่องจากยาแอนแอสโทรโซลอาจส่งผลกระทบต่อระดับยาวาฟา รินในกระแสเลือดทั้งอาจเพิ่มหรืออาจลดระดับยาวาฟารินในเลือดได้ จึงอาจส่งผลต่อประสิทธิ ภาพการต้านการแข็งตัวของเลือดของยาวาร์ฟาริน ผู้ป่วยอาจได้รับการตรวจวัดค่าไอเอ็นอาร์ (INR; International Normal Ratio) ซึ่งเป็นค่าที่ใช้ประเมินประสิทธิภาพการต้านการแข็งตัวเลือดของยาวาฟาริน โดยแพทย์อาจจำเป็นต้องปรับขนาดยาวาฟารินตามความเหมาะสม
ง. ยาอริพริพาโซล (Aripripazole) สำหรับรักษาโรคจิตเภท, ยาโดฟีทิไลด์ (Dofeti lide) ยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ, ยาโลมิทาไพด์ (Lomitapide) ยาลดไขมัน , ยาเมธาโดน (Methadone), ยาบรรเทาอาการปวด/ยาแก้ปวด, เมื่อใช้ยาเหล่านี้ร่วมกับยาแอนแอสโทรโซลอาจทำให้ระดับยาเหล่านี้ในเลือดสูงขึ้น ควรเฝ้าระวังผลข้างเคียงหรือพิษของยาเหล่านี้หากใช้ร่วมกับยาแอนแอสโทรโซล
จ. ยาในกลุ่มคาร์ดิแอกไกลโคไซด์ (Cardiac glycosides): เช่น ยาดิจอกซิน (Digoxin) การใช้ยาในกลุ่มนี้ร่วมกับยาแอนแอสโทรโซลอาจทำให้ระดับยาในกลุ่มคาร์ดิแอกไกลโคไซด์ในเลือดลดลง ผู้ป่วยที่ใช้ยากลุ่มนี้ร่วมกับยาแอนแอสโทรโซล แพทย์อาจต้องตรวจวัดระดับยาของกลุ่มคาร์ดิแอกไกลโคไซด์ในกระแสเลือด เพื่อให้แน่ใจว่ามีระดับยาของกลุ่มคาร์ดิแอกไกลโคไซด์ในกระแสเลือดที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพในการรักษา
ควรเก็บรักษายาแอนแอสโทรโซลอย่างไร?
ควรเก็บรักษายาแอนแอสโทรโซล/ อะแนสโทรโซล:
- เก็บยานี้ในภาชนะบรรจุดั้งเดิมของบริษัทผู้ผลิต
- ไม่ควรนำยานี้ออกจากแผงยาก่อนการรับประทาน
- เก็บยานี้ในอุณหภูมิห้อง เลือกบริเวณที่แห้ง หลีกเลี่ยงบริเวณที่สัมผัสแสงแดดโดยตรง
- เก็บยานี้ให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยาแอนแอสโทรโซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาแอนแอสโทรโซล/อะแนสโทรโซล ที่มีการจัดจำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
อาริมิเด็กซ์ (Arimidex) | บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด |
เฟมิเซต (Femizet) | บริษัท เฟรเซนีอุส คาบี (ไทยแลนด์) จำกัด |
อะรีเมต วัน (Aremed 1) | บริษัท ฟาร์มาแลนด์ (1982) จำกัด |
แอนแอสโทรโซล สตาดา (Anastrozole Stada) | บริษัท สตาดา (ประเทศไทย) จำกัด |
อนาเทอโร (Anaetero) | บริษัท เฮทเทอโร (ไทยแลนด์) จำกัด |
บรรณานุกรม
- American Pharmacists Association. Anastrozole, Drug Information Handbook with International Trade Names. 23;2014:140-142.
- Arimidex Summary of Product Characteristics. AstraZeneca UK limited Sep 18, 2014
- Australian Medicins Handbook (AMH). Immunomodulators and Antineoplactics: Aromatase inbitors. 2014: 606-607.
- http://ndi.fda.moph.go.th/drug_detail/index/?ndrug=5&rctype=1C&rcno=6000097&lpvncd=&lcntpcd=&lcnno=&licensee_no= [2021,Oct23]
- https://www.cancerresearchuk.org/about-cancer/cancer-in-general/treatment/cancer-drugs/drugs/anastrozole [2021,Oct23]
- https://www.who.int/medicines/publications/essentialmedicines/EML2015_8-May-15.pdf [2021,Oct23]