แอนทราไซคลีน (Anthracycline)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาแอนทราไซคลีน(Anthracycline) เป็นสารประกอบที่สกัดได้จากเชื้อแบคทีเรียสกุล Streptomyces ทางคลินิกนำมาใช้เป็นยาเคมีบำบัดเพื่อรักษาโรคมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเต้านม มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งมดลูก มะเร็งรังไข่ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งปอด เป็นต้น แต่ยาแอนทราไซคลีนก็สามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่โดดเด่นในด้านมีพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)กับหัวใจ ทำให้มีเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลต่ำพร้อมกับมีไข้สูง เกิดอาการอาเจียน นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบ(ผลข้างเคียง)ต่อระบบประสาทในส่วนของความทรงจำอีกด้วย

ถึงแม้ประวัติการค้นพบยากลุ่มแอนทราไซคลีน มีมายาวนานเกือบ 70 ปี แต่การนำมารักษาโรคมะเร็งแต่ละชนิดจะต้องผ่าน งานวิจัย การศึกษาทดลองทางคลินิกจนมั่นใจในสรรพคุณก่อนที่จะประกาศใช้ในการรักษามะเร็ง

กลุ่มยาแอนทราไซคลีนประกอบไปด้วยตัวยาอะไรบ้าง?

แอนทราไซคลีน

นักวิทยาศาสตร์ได้จำแนกยาแอนทราไซคลีนออกเป็นรายการย่อยดังนี้

1 Daunorubicin(Daunomycin): เป็นยาตัวแรกของกลุ่มยาแอนทราไซคลีน สกัดได้จากเชื้อแบคทีเรียที่อาศัยในดินซึ่งมีชื่อเรียกว่า Streptomyces peucetius ทางการแพทย์นำยาDaunorubicin มาใช้รักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวเอเอ็มแอล(Acute Myeloblastic Leukemia) และ มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอล(Acute Lymphoblastic Leukemia) ยานี้มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาฉีด องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้ยาDaunorubicin เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลควรมีสำรองไว้ให้บริการกับประชาชนและสามารถพบเห็นการจัดจำหน่ายยาชนิดนี้ภายใต้ชื่อการค้าว่า Cerubidine

2 Doxorubicin: เป็นยาเคมีบำบัดสกัดได้จากเชื้อแบคทีเรียที่อาศัยในดินชนิดที่มีชื่อเรียกว่า Streptomyces peucetius ทางการแพทย์นำยาDoxorubicin มาใช้รักษาโรคมะเร็งหลายประเภทอย่างเช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งกระดูก มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งต่อมไทรอยด์ มะเร็งปอด มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น เภสัชภัณฑ์ของยาชนิดนี้เป็นแบบยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ Doxorubicin ยังเป็นหนึ่งในรายการยาที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทยและสามารถพบเห็นการจัดจำหน่ายยาชนิดนี้ภายใต้ชื่อการค้าว่า Adriamycin, A.D. Mycin, Adriblastina R.D., Adrim, Caelyx, และ Lipo-Dox

3 Epirubicin: เป็นยาเคมีบำบัดที่ใช้รักษา มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งกระเพาะอาหาร เภสัชภัณฑ์ของยานี้เป็นยาฉีดและได้รับความนิยมมากกว่า Doxorubicin ด้วยก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่างๆน้อยกว่า มีจำหน่ายในประเทศไทยภายใต้ชื่อการค้าว่า E.P. Mycin, Epilem, Epirubicin Ebewe และ Pharmorubicin CS

4 Idarubicin (4-demethoxydaunorubicin ): เป็นยาเคมีบำบัดที่ใช้รักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว ผลข้างเคียงที่สำคัญคือทำให้เกิดความผิดปกติของหัวใจ ยาIdurubicin ถูกจัดอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย โดยจะพบเห็นการจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า Zavedos CS, Zavedos, Idamycin

5 Mitoxantrone(Mitrozantrone): ใช้รักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และใช้รักษามะเร็งต่อมลูกหมากที่ไม่ตอบสนองต่อยาฮอร์โมน เภสัชภัณฑ์เป็นยาฉีด และเป็นอีกหนึ่งรายการยารักษามะเร็งที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย และสามารถพบเห็นการจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า Novantrone, Mitoxantrone Baxter, Mitoxantrone-Ebewe และ Neotalem

6 Valrubicin(N-trifluoroacetyladriamycin-14-valerate): เป็นยากึ่งสังเคราะห์ที่เลียนแบบโครงสร้างของยา Doxorubicin ใช้รักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะ รูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาฉีด และจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า Valstar

แอนทราไซคลีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาแอนทราไซคลีนมีกลไกการออกฤทธิ์ 4 ขั้นตอนดังนี้

1. เข้าสอดแทรกหรือแทรกแซงการจับคู่ของหน่วยย่อยบน DNA และ RNA ใน เซลล์มะเร็งที่เรียกว่า Nucleobases ส่งผลป้องกันมิให้เซลล์มะเร็งเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว

2. ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ Topoisomerase II เอนไซม์นี้มีหน้าที่สำคัญช่วยจัดตำแหน่งการพันกันของสายนิวคลีโอไทด์(Necleotide,สารสำคัญ ใช้ในการสร้างสารพันธุกรรม) บน DNA มิให้ยุ่งเหยิง เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคในการจำลองสายพันธุกรรมรุ่นใหม่ของเซลล์มะเร็ง เมื่อเอนไซม์ดังกล่าวถูกปิดกั้น/ยับยั้งจึงส่งผลให้กระบวนการถ่ายทอดและจำลองสารพันธุกรรมของมะเร็งหยุดชะงัก

3. กลุ่มยาแอนทราไซคลีนจะกระตุ้นให้เกิดประจุอิสระของออกซิเจน (Free oxygen radicals) ประจุอิสระนี้จะเข้าทำลาย สารพันธุกรรมหรือ DNA ตลอดจนโปรตีน และเยื่อหุ้มเซลล์ของเซลล์มะเร็ง ส่งผลให้เซลล์มะเร็งตายลง

4. ปกติบนสายนิวคลีโอไทด์ที่มี DNA เป็นส่วนประกอบจะมีโปรตีนที่ชื่อว่า Histone โปรตีน Histone จะเป็นแกนยึดเหนี่ยวการทำงานให้กับสายนิวคลีโอไทด์อีกทีหนึ่ง ยาแอนทราไซคลีนจะทำให้การยึดเหนี่ยวของสายนิวคลีโอไทด์กับ Histone หลุด หรือคลายตัวลง ทำให้การทำหน้าที่ของ DNA บนเซลล์มะเร็งสูญเสียไป

อย่างไรก็ตาม กลไกทั้ง 4 ข้อข้างต้น จะมีอิทธิพลต่อเซลล์ปกติของร่างกายเช่นเดียวกัน จึงเป็นเหตุผลให้ผู้ที่ใช้ยากลุ่มนี้ได้รับผลข้างเคียงต่างๆตามมา

แอนทราไซคลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยากลุ่มแอนทราไซคลีนมีดังนี้

  • Daunorubicin: ยาฉีด ขนาด 20 มิลลิกรัม/ขวด
  • Doxorubicin: ยาฉีด ขนาด 10 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร, 20 มิลลิกรัม/10 มิลลิลิตร และ 50 มิลลิกรัม/25 มิลลิลิตร
  • Epirubicin: ยาฉีด ขนาด 50 มิลลิกรัม/25 มิลลิลิตร และ 200 มิลลิกรัม/100 มิลลิลิตร
  • Idarubicin: ยาฉีด ขนาด 20 มิลลิกรัม/ขวด
  • Mitoxantrone: ยาฉีด ขนาด 10 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร และ 20 มิลลิกรัม/10 มิลลิลิตร
  • Valrubicin: ยาฉีด ขนาด 40 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

แอนทราไซคลีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาแอนทราไซคลีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดหลัง
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดภาวะผมร่วงแต่เส้นผมสามารถคืนสภาพและงอกใหม่ได้ ลมพิษ เล็บและผิวหนังมีสีคล้ำ ปวดบริเวณที่ได้รับการฉีดยา
  • ผลต่อหัวใจ: เช่น อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ยาบางตัวของกลุ่มนี้อย่าง Daunorubicin สามารถทำให้สีของปัสสาวะเปลี่ยนเป็นแดงอมส้ม
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น กดไขกระดูก เกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดต่ำ
  • ผลต่อไต: เช่น ไตวาย ค่ากรดยูริคในเลือดสูง
  • ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูง ค่าบิลิรูบินในเลือดสูง

มีข้อควรระวังการใช้แอนทราไซคลีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้แอนทราไซคลีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ก่อนใช้ยาแอนทราไซคลีน ผู้ป่วยต้องได้รับการประเมินสภาพการทำงานของหัวใจ และแพทย์จะซักถามประวัติว่า เคยเป็นโรคหัวใจมาก่อนหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจหลังได้รับยากลุ่มนี้
  • ผู้ที่มีจำนวนเม็ดเลือดขาวต่ำก็ไม่สามารถใช้ยากลุ่มนี้ได้ ด้วยตัวยาจะกดการ ทำงานของไขกระดูกและส่งผลลดการผลิตเม็ดเลือดของร่างกาย
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ ด้วยตัวยากลุ่มนี้สามารถทำให้ทารกในครรภ์พิการ และผู้ป่วยที่เป็นสตรีจะต้องป้องกันไม่ให้เกิดการตั้งครรภ์ระหว่างที่ได้รับยากลุ่มนี้ หรือสตรีในภาวะให้นมบุตรที่ต้องรับการรักษาด้วยยาแอนทราไซคลีน ต้องหยุดให้นม บุตรแล้วใช้นมดัดแปลงเลี้ยงบุตรแทน
  • ขณะได้รับยาแอนทราไซคลีนอาจเกิดภาวะเลือดออกง่าย ผู้ป่วยต้องหลีกเลี่ยง กิจกรรมที่จะก่อให้เกิดบาดแผลตามร่างกาย
  • ผู้สูงอายุ (65 ปีขึ้นไป) มีโอกาสได้รับผลข้างเคียงจากยากลุ่มนี้ได้สูงกว่า ผู้ป่วยกลุ่มอื่น
  • กรณีเกิดแผลในช่องปากด้วยเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยากลุ่มนี้ แพทย์จะแนะนำให้ใช้แปรงสีฟันชนิดขนอ่อน บ้วนปากได้ตามปกติ แต่ห้ามใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมมาบ้วนปาก ด้วยจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองในช่องปาก
  • ขณะที่ใช้ยานี้ ห้ามฉีดวัคซีนป้องกันโรคใดๆ เพราะนอกจากจะไม่สามารถกระตุ้น ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคให้ร่างกายได้แล้ว ยังจะทำให้เกิดการติดเชื้อจากวัคซีนดังกล่าว
  • ตัวยาแอนทราไซคลีนมีผลข้างเคียงทำให้ภูมิคุ้มกันฯของร่างกายต่ำลง และเกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ผู้ป่วยจึงควรหลีกเลี่ยงไปในพื้นที่ที่มีผู้คนแออัด
  • หลังได้รับยานี้แล้วอาการป่วยมะเร็งไม่ดีขึ้นตามความคาดหมาย ให้ผู้ป่วยรีบกลับ มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลอีกครั้ง ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด และห้ามหยุดการรักษาไปเฉยๆ
  • การจะรับประทานยาอื่นใดร่วมด้วยขณะที่ได้รับยาแอนทราไซคลีนจะต้องได้รับการยืนยันจากแพทย์ก่อนทุกครั้ง ทั้งนี้เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)
  • มาโรงพยาบาลเพื่อรับการให้ยานี้พร้อมกับการตรวจร่างกายจากแพทย์ รวมถึง การตรวจสอบการทำงานของหัวใจ(เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ) การตรวจเลือดดูค่าCBC และดูค่าการทำงานของตับ ตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

จะเลือกใช้ยาแอนทราไซคลีนตัวไหนดี?

การเลือกใช้ยาตัวใดในกลุ่มยาแอนทราไซคลีน ต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ โดยขึ้นกับความรุนแรงและชนิดของมะเร็ง เช่น อยู่ในระยะที่ลุกลามเข้าอวัยวะอื่นๆ สภาพร่างกายของผู้ป่วยมีโรคประจำตัว อย่างเช่น โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต หรือไม่ผู้ป่วยควรให้ความร่วมมือในการรักษาโดยมารับการให้ยานี้ตามแพทย์นัดหมาย และปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์/พยาบาล/เภสัชกร อย่างเคร่งครัด

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_chemotherapeutic_agents [2018, April14]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Anthracycline [2018, April14]
  3. http://chemocare.com/chemotherapy/drug-info/epirubicin.aspx [2018, April14]
  4. https://www.drugs.com/mtm/idarubicin.html [2018, April14]
  5. https://www.drugs.com/mtm/mitoxantrone.html [2018, April14]
  6. https://www.drugs.com/mtm/valrubicin.html [2018, April14]
  7. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2014/050778s021lbl.pdf [2018, April14]
  8. https://www.pfizer.com/files/products/uspi_idamycin.pdf [2018, April14]
  9. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2011/020892s013lbl.pdf [2018, April14]