แอดแวนเทม (Advantame)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 25 กันยายน 2559
- Tweet
- บทนำ
- แอดแวนเทมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- แอดแวนเทมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- แอดแวนเทมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- แอดแวนเทมมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- แอดแวนเทมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้แอดแวนเทมอย่างไร?
- แอดแวนเทมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาแอดแวนเทมอย่างไร?
- แอดแวนเทมมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- สารให้ความหวาน (Sweeteners) น้ำตาลเทียม (Artificial sweetener)
- แอสปาร์แตม (Aspartam or Aspartame)
- ซอร์บิทอล (Sorbitol)
- ไซลิทอล (Xylitol)
- น้ำตาลแอลกอฮอล์ (Sugar alcohol)
บทนำ
สารแอดแวนเทม(Advantame) เป็นสารให้ความหวานที่ได้จากสารสังเคราะห์ของ สาร Isovanillin(สารประกอบชนิดหนึ่งที่นำมาใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารและยา เช่น การแต่งกลิ่น และรสชาติ) ร่วมกับสารให้ความหวาน Aspartame ผลิตโดยบริษัท Ajinomoto มีสูตรโมเลกุลคือ C24H30N2O7 มีลักษณะเป็นผงสีขาวออกเหลือง สามารถละลายน้ำได้เล็กน้อย มีความหวานมากกว่าน้ำตาลประมาณ 20,000 เท่า และประมาณ 100 เท่าของ Aspartame ซึ่งคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐได้รับรองให้แอดแวนเทมสามารถใช้ผสมเติมกับอาหารและเครื่องดื่มได้ แต่ยกเว้นการใช้กับ เนื้อสัตว์
ทั้งนี้ ได้มีการศึกษาทดลองการใช้แอดแวนเทมกับสัตว์ทดลองพบว่า สารนี้ไม่กระตุ้นการเกิดโรคมะเร็ง หรือก่อให้เกิดพิษแต่อย่างใด แต่ควรหลีกเลี่ยงการใช้แอดแวนเทมกับผู้ป่วย Phenylketonuria (โรคทางพันธุกรรมที่พบได้น้อย ที่มีกรดอะมิโนชื่อ Phenylalanine ในเลือดสูง ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีความผิดปกติในระบบประสาท) เช่นเดียวกันกับข้อห้ามใน Aspartame
แอดแวนเทมไม่เหมาะที่จะผสมลงในเครื่องดื่มที่มีสภาพเป็นกรดหรือผสมลงในอาหารที่จะต้องผ่านกระบวนการความร้อนนานๆ รูปแบบผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่มีจำหน่ายจะเป็นลักษณะวัตถุดิบและบรรจุเป็นถุง การนำไปใช้งานในอุตสาหกรรมอาหาร หรือแม้แต่ในครัวเรือนจะต้องใช้สัดส่วนตามที่ระบุในเอกสารกำกับผลิตภัณฑ์ ซึ่ง คณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา(U.S. Food and Drug Administration, U.S. FDA) ได้กำหนดค่าการบริโภค แอดแวนเทม/วัน ที่ยังไม่พบรายงานการเกิดพิษ/ผลข้างเคียงที่เรียกว่าค่า ADI (Acceptable daily intake) คือ ไม่เกิน 32.8 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1กิโลกรัม/วัน
แอดแวนเทมเพิ่งจะเริ่มเข้ามามีบทบาทและเป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมอาหารในปี ค.ศ.2014 (พ.ศ.2557) จึงอาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก แต่ในอนาคตหากแอดแวนเทมมีความแพร่หลายและได้รับการยืนยันความปลอดภัยเป็นที่ยอมรับมากขึ้นประกอบกับได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้อง เชื่อว่าแอดแวนเทมจะเป็นที่รู้จักรวมถึงมีรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายออกมาอีกมากมาย
แอดแวนเทมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
แอดแวนเทม เป็นสารที่ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายประมาณ 20,000 เท่า แต่ไม่ให้พลังงานกับร่างกาย จึงเหมาะที่จะใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงการใช้ในระดับครัวเรือนเพื่อการทดแทนการใช้น้ำตาล
แอดแวนเทมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของแอดแวนเทมคือ เป็นสารให้ความหวานที่มีความหวานมากกว่าน้ำตาลถึงประมาณ 20,000 เท่า ดังนั้นการใช้แอดแวนเทมเพื่อบริโภคจะใช้เพียงปริมาณเล็กน้อย ก็สามารถทำให้ลิ้นของผู้บริโภครู้สึกรับรสหวานได้เท่ากับการบริโภคน้ำตาลปริมาณมาก แต่แอดแวนเทมจะไม่ปลดปล่อยพลังงานให้ร่างกาย จึงไม่ส่งผลต่อการเพิ่มน้ำหนักตัว หรือต่อการเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดของร่างกายแต่อย่างใด
แอดแวนเทมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
สารแอดแวนเทมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น วัตถุดิบลักษณะผงบรรจุถุงขนาด 200 กรัม และ 1 กิโลกรัม
แอดแวนเทมมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ขนาดรับประทานของแอดแวนเทม คือ ใช้ปรุงในกระบวนการผลิตอาหารตามสัดส่วนที่ระบุในเอกสารกำกับผลิตภัณฑ์/เอกสารกำกับยา
*อย่างไรก็ดี การใช้แอดแวนเทมใน เด็ก หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร ควรปรึกษา แพทย์ เภสัชกร ก่อนการใช้เสมอ
แอดแวนเทมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ปัจจุบันยังไม่พบรายงานผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ของแอดแวนเทม เมื่อใช้ในการบริโภคในปริมาณ ไม่เกิน ค่า ADI คือ ไม่เกิน 32.8 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1กิโลกรัม/วัน
มีข้อควรระวังการใช้แอดแวนเทมอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้สารแอดแวนเทม เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยา/แพ้สารแอดแวนเทม
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคฟีนิลคีโตนูเรีย (Phenylketonuria)
- ห้ามรับประทานเกินค่า ADI คือ 32.8 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1กิโลกรัม/วัน
- หากเกิดอาการแพ้ยา/แพ้ผลิตภัณฑ์แอดแวนเทม เช่น เกิดอาการผื่นคัน ตัวบวม หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก หลังใช้สารนี้ ให้หยุดการใช้ แล้วรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- ห้ามใช้สารนี้ที่หมดอายุ
- ห้ามเก็บสารนี้ที่หมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบัน ยาแผนโบราณ สมุนไพร สารปรุงแต่งรสชาติต่างๆอย่างแอดแวนเทม ด้วยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีทั้งให้คุณและให้โทษเช่นเดียวกับยาต่างๆ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาหรือสารปรุงแต่งต่างๆทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
แอดแวนเทมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ด้วยแอดแวนเทม เป็นสารให้ความหวานที่ใช้แทนน้ำตาล และถ้ารับประทานในปริมาณไม่เกินค่า ADI ยังไม่ปรากฏมีรายงานการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับประทานชนิดใดๆ
อย่างไรก็ตาม หากพบว่าหลังบริโภคแอดแวนเทมร่วมกับยาชนิดอื่นๆแล้วมีอาการผิดปกติ ควรต้องนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว หรือ ทันที/ฉุกเฉิน ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้น
ควรเก็บรักษาแอดแวนเทมอย่างไร?
ควรเก็บแอดแวนเทมในอุณหภูมิห้องที่เย็น ไม่เก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น ห้ามเก็บในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บสารนี้ให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
แอดแวนเทมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
สารแอดแวนเทมที่จำหน่ายในประเทศไทย มีชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
AjiSweet VM-95 (อะจิสวีท) | Ajinomoto |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Advantame [2016,Sept3]
- http://www.ajiusafood.com/products/sweeteners/advantame.aspx [2016,Sept3]
- http://www.advantame.com/documents/AjiSweet_VM-95_MSDS.pdf [2016,Sept3]
- http://www.diabetesselfmanagement.com/blog/sugar-substitutes-advantame/ [2016,Sept3]
- http://www.fda.gov/Food/IngredientsPackagingLabeling/FoodAdditivesIngredients/ucm397725.htm#Advantame [2016,Sept3]