แหบเรื้อรังระวังมะเร็งกล่องเสียง (ตอนที่ 2)

แหบเรื้อรังระวังมะเร็งกล่องเสียง-2

      

กล่องเสียง แบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ

  • ส่วนที่อยู่เหนือสายเสียง (Supraglottis) ส่วนนี้มีทางเดินน้ำเหลืองมาก เมื่อเกิดมะเร็งของกล่องเสียงที่ส่วนนี้จึงกระจายเข้าต่อมน้ำเหลืองได้สูง โดยร้อยละ 35 ของมะเร็งกล่องเสียงเกิดที่บริเวณนี้
  • ส่วนสายเสียง (Glottis) ส่วนนี้ไม่ค่อยมีทางเดินน้ำเหลือง เมื่อเกิดมะเร็งในส่วนนี้จึงมักไม่ค่อยกระจายเข้าต่อมน้ำเหลือง โดยร้อยละ 60 ของมะเร็งกล่องเสียงเกิดที่บริเวณนี้
  • ส่วนที่อยู่ใต้สายเสียง (Subglottis) ซึ่งเป็นส่วนที่ติดต่อกับท่อลมและมีทางเดินน้ำเหลืองติดต่อกับส่วนช่องอก เมื่อเกิดมะเร็งในส่วนนี้จึงมีโอกาสกระจายเข้าท่อลมและต่อมน้ำเหลืองในช่องอกได้สูง โดยร้อยละ 5 ของมะเร็งกล่องเสียงเกิดที่บริเวณนี้

มะเร็งกล่องเสียง (Laryngeal Cancer) เป็นมะเร็งที่คอชนิดหนึ่งที่มีผลต่อกล่องเสียง เกิดจากการที่เซลล์มีการเติบโตผิดปกติ มะเร็งชนิดนี้หากไม่ได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ ก็อาจแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกายได้ โดย American Cancer Society เปิดเผยว่าส่วนใหญ่มะเร็งกล่องเสียงมักจะกระจายไปที่ปอด ส่วนอื่นๆ อาจได้แก่ ต่อมไทรอยด์ หลอดอาหาร ลิ้น ตับ และกระดูก

ตามสถิติของ National Cancer Institute ของสหรัฐอเมริกา พบว่าชาวอเมริกันร้อยละ 4 จะเป็นมะเร็งบริเวณศีรษะและคอ โดยมีอัตราการรอดชีวิตที่ขึ้นกับบริเวณตำแหน่งที่เป็นและระยะการตรวจพบที่เร็วหรือไม่ ทั้งนี้ American Cancer Society ระบุว่า ผู้ที่เป็นมะเร็งกล่องเสียงส่วนสายเสียง (Glottis) ระยะที่ 1 (Stage 1) จะมีอัตราการอยู่รอดได้ 5 ปีขึ้นไป ถึงร้อยละ 90 แต่หากเป็นมะเร็งกล่องเสียงส่วนที่อยู่เหนือสายเสียง (Supraglottis) อัตราการอยู่รอดจะลดลงเหลือร้อยละ 59

มะเร็งกล่องเสียงมีอาการโดยทั่วไปดังนี้

  • เสียงแหบ
  • หายใจลำบาก
  • ไอบ่อยๆ
  • ไอเป็นเลือด (Hemoptysis)
  • ปวดคอ
  • ปวดหู
  • กลืนลำบาก
  • คอบวม
  • ลมหายใจมีกลิ่น
  • มีก้อนที่คอ
  • น้ำหนักลด

แหล่งข้อมูล:

  1. What to know about laryngeal cancer.https://www.medicalnewstoday.com/articles/171568[2021, April 9].
  2. Laryngeal Cancer. https://www.healthline.com/health/laryngeal-cancer [2021, April 9].
  3. Laryngeal Cancer. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/16611-laryngeal-cancer [2021, April 9].