แวนโคมัยซิน (Vancomycin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 22 สิงหาคม 2564
- Tweet
- บทนำ: คือยาอะไร?
- แวนโคมัยซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- แวนโคมัยซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- แวนโคมัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- แวนโคมัยซินมีขนาดรับประทานหรือการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- แวนโคมัยซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้แวนโคมัยซินอย่างไร?
- แวนโคมัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาแวนโคมัยซินอย่างไร?
- แวนโคมัยซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- เชื้อดื้อยา ซูเปอร์บั๊ก (Superbug)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- ลำไส้อักเสบ (Enterocolitis)
- เยื่อบุหัวใจอักเสบ เยื่อบุหัวใจอักเสบติดเชื้อ (Endocarditis and Infective endocarditis)
- หลอดเลือดดำผิวอักเสบ (Superficial Thrombophlebitis)
บทนำ: คือยาอะไร?
ยาแวนโคมัยซิน (Vancomycin) เป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิดรุนแรงโดยตัวยามีโครงสร้างทางเคมีแบบไกลโคเปปไทด์ (Glycopeptide antibiotic, ยาปฏิชีวนะกลุ่มที่มีผลต่อการสร้างผนังเซลล์ของแบคทีเรีย) ถูกค้นพบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1953 (พ.ศ.2496) ซึ่งแยกสกัดจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในดินที่ชื่อว่า Amycolatopsis orientalis
ทางคลินิกใช้แวนโคมัยซินเป็นยาอันดับต้นๆที่นำมาใช้รักษาและต่อต้านแบคทีเรียแกรมบวกซึ่งเป็นสาเหตุ
- ผิวหนังติดเชื้อ
- ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด/ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ
- เยื่อบุหัวใจอักเสบติดเชื้อ
- กระดูกอักเสบ
- ข้ออักเสบติดเชื้อ
- เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
- การติดเชื้อในลำไส้เล็ก/ลำไส้อักเสบ
จากการศึกษาด้านการกระจายตัวของยานี้พบว่า แวนโคมัยซินถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเพียงเล็กน้อยเท่านั้น การบริหารยา/การใช้ยาในผู้ป่วยส่วนมากมักจะเป็นการใช้ยาฉีดซึ่งโครงสร้างในโมเลกุลของยานี้ที่ค่อนข้างเสถียรและไม่ถูกเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใดเมื่ออยู่ในร่างกาย การกำจัดยาออกจากกระแสเลือด 50% ต้องใช้เวลา 4 - 11 ชั่วโมงโดยขับทิ้งผ่านไปกับปัสสาวะ
องค์การอนามัยโลกได้จัดให้แวนโคมัยซินเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานในระดับชุมชน และคณะ กรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุให้ยาแวนโคมัยซินอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และระบุการใช้สำหรับการติดเชื้อที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะเมทิซิลลิน (Methicillin resistant S. aureus หรือ Methicillin resistant S. epidermidis) ทั้งนี้ในประเทศไทยสามารถพบเห็นการใช้แวนโคมัยซินในรูปแบบของยาฉีดและยาชนิดรับประทานตามสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน
แวนโคมัยซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาแวนโคมัยซินมีสรรพคุณรักษา/ข้อบ่งใช้:
- รักษาการติดเชื้อในลำไส้/ ลำไส้อักเสบ (Staphylococcal enterocolitis)
- รักษาการติดเชื้อที่กระดูก/ กระดูกอักเสบ
- รักษาภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด
- ป้องกันการติดเชื้อที่เยื่อบุหัวใจ/เยื่อบุหัวใจอักเสบ (Prophylaxis of endocarditis)
แวนโคมัยซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาแวนโคมัยซินมีกลไกการออกฤทธิ์ที่ใช้ต่อต้านการติดเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus ในขั้นรุนแรง หรือใช้ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะตัวอื่นโดยเฉพาะในแบคทีเรียชนิดแกรมบวก โดยยาจะไปยับยั้งการสร้างสารเปปทิโดกลัยแคน (Peptidoglycan) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของผนังเซลล์(เซลล์-เนื้อเยื่อ-อวัยวะ)ของแบคทีเรียส่งผลให้หยุดการแพร่พันธุ์และตายลงในที่สุด
สำหรับแบคทีเรียที่ตอบสนองต่อแวนโคมัยซินได้ดี เช่น Staphylococcus aureus, Staphylo coccus epidermidis, Staphylococcus pneumonia, Streptococcus Pyrogenes, Clostridium difficile, Actinomyces species, Bacillus anthracis, Corynebacterium species, และ Liste ria species เป็นต้น
แวนโคมัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาแวนโคมัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เช่น
- ยาฉีด ขนาด 500 มิลลิกรัม/ขวด
- ยาฉีด ขนาด 50 มิลลิกรัม/ขวด
- ยาฉีด ขนาด 1 กรัม/ขวด
- ยาฉีดในรูปสารละลาย ขนาด 2 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 600 มิลลิกรัม/เม็ด
แวนโคมัยซินมีขนาดรับประทานหรือการบริหารยาอย่างไร?
ยาแวนโคมัยซินมีขนาดรับประทานหรือการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
ก. สำหรับการติดเชื้อในลำไส้/ลำไส้อักเสบ (Staphylococcal enterocolitis): เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 0.5 - 2 กรัม/วันโดยแบ่งรับประทานวันละ 3 - 4 ครั้งเป็นเวลา 7 - 10 วัน
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ประทาน 40 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันโดยแบ่งรับประทานวันละ 3 - 4 ครั้ง เป็นเวลา 7 - 10 วัน โดยขนาดรับประทานสูงสุดของเด็กไม่เกิน 2 กรัม/วัน
- อนึ่ง: สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
ข. สำหรับการติดเชื้อที่กระดูก/ กระดูกอักเสบ: เช่น
- ผู้ใหญ่: หยดยาเข้าหลอดเลือดดำ 500 มิลลิกรัมทุก 6 ชั่วโมงโดยใช้เวลาในการให้ยา/หยดยาประมาณ 60 นาทีเป็นอย่างต่ำ หรือหยดยาเข้าหลอดเลือดดำ 1 กรัมทุก 12 ชั่วโมงโดยใช้เวลาในการให้ยาประมาณ 100 นาทีเป็นอย่างต่ำ
- เด็กอายุ 1 เดือน - 18 ปี: หยดยาเข้าหลอดเลือดดำ 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมทุก 8 ชั่วโมงโดยใช้เวลาในการให้ยา 60 นาทีเป็นอย่างต่ำ และขนาดการให้ยาทางหลอดเลือดสำหรับเด็กไม่ควรเกิน 2 กรัม/วัน
ค. สำหรับภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด : เช่น
- ผู้ใหญ่: หยดยาเข้าหลอดเลือดดำ 500 มิลลิกรัมทุก 6 ชั่วโมงโดยใช้เวลาในการให้ยาประ มาณ 60 นาทีเป็นอย่างต่ำ หรือหยดยาเข้าหลอดเลือดดำ 1 กรัมทุก 12 ชั่วโมงโดยใช้เวลาในการให้ยาประมาณ 100 นาทีเป็นอย่างต่ำ
- เด็กอายุ 1 เดือน - 18 ปี: หยดยาเข้าหลอดเลือดดำ 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมทุก 8 ชั่วโมงโดยใช้เวลาในการให้ยาประมาณ 60 นาทีเป็นอย่างต่ำ และขนาดการให้ยาทางหลอดเลือดดำสำหรับเด็กไม่ควรเกิน 2 กรัม/วัน
ง. สำหรับป้องกันการติดเชื้อที่เยื่อบุหัวใจ/เยื่อบุหัวใจอักเสบ: เช่น
โดยมากจะให้ยาป้องกันก่อนผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดอวัยวะของระบบทางเดินหายใจส่วนต้น หรือทำหัตถการทางทันตกรรมเพื่อมิให้แบคทีเรียเข้าแทรกซ้อนและติดเชื้อที่หัวใจของผู้ป่วย
- ผู้ใหญ่: หยดยาเข้าหลอดเลือดดำ 1 กรัมโดยใช้เวลาในการให้ยาประมาณ 60 นาทีเป็นอย่างต่ำก่อนเข้ารับการผ่าตัด
- เด็ก: หยดยาเข้าหลอดเลือดดำ 20 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมโดยใช้เวลาในการให้ยาประมาณ 60 นาทีเป็นอย่างต่ำก่อนเข้ารับการผ่าตัด
อนึ่ง:
- การพิจารณาใช้ยาแวนโคมัยซิน ป้องกันการติดเชื้อที่เยื่อบุหัวใจ /เยื่อบุหัวใจอักเสบ แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาการให้ยากับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่บริเวณหัวใจสูงเท่านั้น มักไม่นำมาใช้กับผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจทำงานได้ตามปกติ
- การใช้ยานี้และขนาดการใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 1 เดือนอยู่ในดุลพินิจของแพทย์
*****หมายเหตุ:ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาแวนโคมัยซิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแวนโคมัยซินอาจส่งผลให้อาการของโรครุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/ มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาแวนโคมัยซิน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไปไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
แวนโคมัยซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาแวนโคมัยซินสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- เป็นพิษต่อประสาทหู/หูตึง
- เป็นพิษต่อไต /ไตอักเสบ
- มีภาวะที่เรียกว่า Red-man syndrome ซึ่งมักมีอาการใบหน้าแดง
- ความดันโลหิตต่ำ
- มีผื่นแดงตามผิวหนัง
- ลมพิษ
- หลอดเลือดดำผิวอักเสบหลังหยดยาเข้าหลอดเลือด
- มีเม็ดเลือดขาวบางชนิดสูงมากขึ้น (Eosinophilla) ซึ่งตรวจพบได้เมื่อตรวจเลือด ซีบีซี/CBC
- อาจเกิดอาการแพ้ยา
มีข้อควรระวังการใช้แวนโคมัยซินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาแวนโคมัยซิน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติสูญเสียการได้ยินเสียง
- ห้ามฉีดยานี้เข้ากล้ามเนื้อโดยเด็ดขาดเพราะจะทำให้ปวดตรงตำแหน่งที่ฉีดยามาก นอกจากนี้ ยังส่งผลให้เนื้อเยื่อในตำแหน่งนั้นอักเสบถึงขั้นเกิดเนื้อตายได้
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไต สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็กทารก และผู้ สูงอายุ
- การให้ยานี้ทางหลอดเลือดดำต้องใช้อัตราที่ช้า ห้ามรีบเร่ง เพราะการรีบให้ยาอาจส่งผลให้เกิดหัวใจหยุดเต้นได้ และควรเจือจางตัวยาด้วยสารน้ำตามมาตรฐานที่ระบุอยู่ในฉลากยา/เอกสารกำกับยา
- ระหว่างการใช้ยาแวนโคมัยซินให้เฝ้าระวังเรื่องการทำงานของไต ปริมาณจำนวนเม็ดเลือด และความสามารถของการได้ยินเสียง
- หยุดการใช้ยานี้ทันทีหากเริ่มพบอาการไม่ได้ยินเสียง/ หูตึง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแวนโคมัยซินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
แวนโคมัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาแวนโคมัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาแวนโคมัยซิน ร่วมกับ ยาบางกลุ่ม เช่นยา กลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycoside), Cisplatin (ยาเคมีบำบัด), เอ็นเสด (NSAIDs), Amphotericin B, Polymycin B (ยาปฏิชีวนะ), Colistin (ยาปฏิชีวนะ), หรือยาอื่นที่เป็นพิษกับไต สามารถเพิ่มหรือก่อความเป็นพิษให้กับไตของผู้ ป่วยได้เพิ่มขึ้น จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาดังกล่าวร่วมกับแวนโคมัยซิน
- การใช้ยาแวนโคมัยซิน ร่วมกับยา Methotrexate (ยาเคมีบำบัด) อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดพิษจาก Methotrexate มากยิ่งขึ้น แพทย์จะปรับขนาดการใช้ให้เหมาะสมหรือหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาแวนโคมัยซิน ร่วมกับยา Dopamine, Dobutamine จะทำให้ระดับความเข้มข้นของแวนโคมัยซินในกระแสเลือดลดต่ำลงจนกระทบต่อประสิทธิภาพในการรักษา หากต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมต่อผู้ป่วยเป็นกรณีไป
- หากใช้ยาแวนโคมัยซิน ร่วมกับยา Zidovudine จะทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลต่ำ (Neutropenia) จึงเพิ่มโอกาสติดเชื้อได้สูงขึ้น ถ้าไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วม กัน
ควรเก็บรักษาแวนโคมัยซินอย่างไร?
ควรเก็บยาแวนโคมัยซิน เช่น
- เก็บยาทั้งยาฉีดและยาชนิดรับประทาน ภายใต้อุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
แวนโคมัยซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาแวนโคมัยซิน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Edicin (เอ็ดดิซิน) | Sandoz |
Sterile Vancomycin Hydrochloride Hospira(สเตอไรล์ แวนโคมัยซิน ไฮโดรคลอไรด์ ฮอสพิรา) | Hospira |
Tygacil (ไทกาซิล) | Pfizer |
Vancin-S (แวนซิน-เอส) | Siam Bheasach |
Vancogen (แวนโคเกน) | Alkem |
Vancomycin CJ (แวนโคมัยซิน ซีเจ) | CJ Corp |
Vancomycin HCl Naprod Life Sciences (แวนโคมัยซิน เฮชซีไอ นาพรอด ไลฟ์ ซายน์เอนเซส) | Naprod Life Sciences |
Zyvox (ซายวอกซ์) | Pfizer |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Vancomycin [2021,Aug21]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/vancomycin?mtype=generic [2021,Aug21]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=vancomycin [2021,Aug21]
- https://www.drugs.com/vancomycin.html [2021,Aug21]