แลคตูโลส (Lactulose)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 1 กันยายน 2564
- Tweet
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ยาแลคตูโลสมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ยาแลคตูโลสออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาแลคตูโลสมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาแลคตูโลสมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาแลคตูโลสมีผลไม่พึงประสงค์ไหม?
- ยาแลคตูโลสมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม?
- มีข้อควรระวังไหมเมื่อกินยาแลคตูโลส?
- ควรเก็บรักษายาแลคตูโลสอย่างไร?
- ยาแลคตูโลสมีชื่ออื่นๆไหม? ผลิตโดยบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- โรคทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินอาหาร (Digestive disease)
- ท้องผูก (Constipation)
- ท้องเสีย (Diarrhea)
- คลื่นไส้ อาเจียน (Nausea and Vomiting)
- ปวดท้อง (Abdominal pain)
- ยาแก้ท้องผูก (Anticonstipation)
- ลำไส้อุดตัน (Intestinal obstruction)
บทนำ: คือยาอะไร?
ยาแลคตูโลส (Lactulose) คือ ยาตัวหนึ่งในกลุ่มยาแก้ท้องผูก (ยาระบาย) จัดเป็นกลุ่มของน้ำตาลที่การอุตสาหกรรมสังเคราะห์ขึ้น และไม่ถูกย่อยโดยน้ำย่อยในกระเพาะอาหารและลำไส้ จึงนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้
ยาแลคตูโลสมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาแลคตูโลสมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:
- เป็นยาระบาย/ ยาแก้ท้องผูก มีความปลอดภัยสูง เป็นยาระบายที่ควรใช้รักษาอาการ ท้องผูกชนิดเรื้อรัง (ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอเมื่อจะใช้ยานี้)
ยาแลคตูโลสออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาแลคตูโลสออกฤทธิ์ โดยเป็นตัวดึงน้ำเข้าสู่ลำไส้ ส่งผลกระตุ้นให้ลำไส้มีการบีบตัวมากขึ้น และทำให้อุจจาระถูกขับถ่ายออกได้ง่ายจากการอ่อนตัวของอุจจาระจากปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นในอุจจาระ
ยาแลคตูโลสมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาแลคตูโลสมีรูปแบบจัดจำหน่าย: เช่น
- ยาน้ำ 10 กรัมในสารละลาย 15 มิลลิลิตร
- ยาน้ำ 10 กรัมในสารละลาย 20 มิลลิลิตร
- ยาน้ำเชื่อม ขนาดความเข้มข้น 66.7%
ยาแลคตูโลสมีขนาดรับประทานอย่างไร?
การรับประทานยาแลคตูโลสมีขนาดแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะอาการป่วย เพศ และ อายุ ดังนั้นเพื่อความถูกต้องและเหมาะสมควรให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาสั่งจ่ายขนาดรับประทานในผู้ป่วยแต่ละคน สำหรับผู้ใหญ่ขนาดยาสูงสุดที่รับประทานแก้ท้องผูกไม่ควรเกิน 45 มิลลิลิตร/วัน
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาแลคตูโลส ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดและอาการจากการแพ้ยา เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแลคตูโลส อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์หรือไม่ หรือกำลังให้นมบุตรหรือไม่ เพราะยาหลายตัวสามารถผ่านรก หรือผ่านเข้าสู่น้ำนม และเข้าสู่ทารกจนก่อผลข้างเคียงต่อทารกได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาแลคตูโลส สามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ หากการลืมทานยาใกล้กับมื้อถัดไป ให้รับประทานขนาดปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
ยาแลคตูโลสมีผลไม่พึงประสงค์ไหม?
ยาแลคตูโลสมีผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) เช่น
- ปวดท้อง
- ท้องอืดเฟ้อ
- ท้องเสีย
- คลื่นไส้-อาเจียน
- ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ เช่น อาจมีอาการ คลื่นไส้-อาเจียน ปวดท้อง อ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง ใจสั่น สับสน และ/หรือประสาทหลอน
ยาแลคตูโลสมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม?
ยาแลคตูโลส อาจมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- เมื่อกินร่วมกับ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด จะทำให้ฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือดเพิ่มขึ้น, ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่นยา อะซีโนคูมารอล (Acenocoumarol) ฟลูอินไดโอน (Fluindione) ฟีนินไดโอน (Phenindione) วอร์ฟาริน (Warfarin )
มีข้อควรระวังไหมเมื่อกินยาแลคตูโลส?
ข้อควรระวังการใช้ยาแลคตูโลส เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ระวังการใช้ยาแลคตูโลสกับผู้ที่มีภาวะ ลำไส้อุดตัน (ปวดท้องมาก คลื่นไส้-อาเจียน หรือรู้อยู่แล้วว่ามีก้อนเนื้ออุดกั้นในลำไส้ เช่น โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่) เพราะจะทำให้มีอาการลำไส้อุดตันรุนแรงขึ้น
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่อยู่ในภาวะร่างกายขาดสมดุลของน้ำและเกลือแร่ เพราะจะทำให้เกิดเกลือ โพแทสเซียมในเลือดต่ำ ดังกล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ ผลไม่พึงประสงค์ฯ’
- ระวังการใช้ยาในผู้ป่วยเบาหวานเนื่องจากยาสามารถเปลี่ยนเป็นน้ำตาลได้ จึงอาจทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมถึงยาแลคตูโลส) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ควรเก็บรักษายาแลคตูโลสอย่างไร?
สามารถเก็บยาแลคตูโลส เช่น
- เก็บยาที่อุณหภูมิห้องได้
- ควรเก็บยาในที่พ้นแสง/แสงแดด
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ยาแลคตูโลสมีชื่ออื่นๆไหม? ผลิตโดยบริษัทอะไรบ้าง?
ยาแลคตูโลส มียาชื่อทางการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
DUPHALAC SYR (ดูฟาแลค) | Abbott Products |
HEPALAC (เฮปาแลค) | Berlin Pharm |
LAEVOLAC SYR (เลโวแลค) | Greater Pharma |
LOSALAC SYR (โลซาแลค) | T Man Pharma |
SAFEX SYR (ซาเฟค) | Zee Lab |
บรรณานุกรม
- นพ. สมชาย ลีลากุศลวงศ์. (2551). แนวทางในการดูแลผู้ป่วยโรคท้องผูก ท้องเสีย และ IBS (ดีวีดี). กรุงเทพฯ: โรงแรมสยามซิตี้
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/lactulose?mtype=generic [2021,Aug28]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Laxative [2021,Aug28]
- https://www.drugs.com/mtm/lactulose.html [2021,Aug28]