แมกนีเซียมไตรซิลิเกต (Magnesium trisilicate)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

แมกนีเซียมไตรซิลิเกต (Magnesium trisilicate หรือย่อว่า Mg trisilicate) เป็นสารอนินทรีย์ ที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร แต่ในทางเภสัชภัณฑ์ได้นำมาใช้เป็นยาลดกรดในกระเพาะอาหาร และรักษาอาการแสบร้อนกลางอกด้วยเหตุกรดไหลย้อน (GERD) อาการกรดที่มีมากดังกล่าวยังก่อให้ เกิดภาวะท้องอืดตามมาอีกด้วย ทั่วไปแมกนีเซียมไตรซิลิเกตมักถูกนำไปผสมร่วมกับยาลดกรดตัวอื่น โดยผลิตเป็นรูปแบบยาเม็ดชนิดเคี้ยวก่อนกลืนหรือรูปแบบยาน้ำแขวนตะกอน

ในทางคลินิกพบว่ายาแมกนีเซียมไตรซิลิเกต ชนิดน้ำจะให้ประสิทธิภาพในการต้านฤทธิ์ของกรดในกระเพาะอาหาร ได้ดีกว่ายาเม็ด รูปแบบของยาลดกรดดังกล่าวสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป และยังมีในสถานพยาบาลทั่วประเทศ

สำหรับผลข้างเคียงที่เด่นๆของยาแมกนีเซียมไตรซิลิเกต เช่น อาการท้องเสีย อีกทั้งการรับประทานยาแมกนีเซียมไตรซิลิเกตร่วมกับยาอื่นๆต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มาก ดัวยยาแมกนีเซียมไตรซิลิเกตจะสามารถรบกวนการดูดซึมของยาอื่นๆได้ จนทำให้ประสิทธิภาพของยาอื่นๆเหล่านั้นด้อยลงไป จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยานี้ร่วมกับยาอื่นๆ หรือรับประทานโดยทิ้งระยะเวลาห่างกัน 2 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ

นอกจากนี้ยังมีเรื่องพฤติกรรมประจำวันที่จะช่วยให้การรักษาโรคของยาแมกนีเซียมไตรซิลิเกตได้ผลมากยิ่งขึ้นอย่าง เช่น การงดรับประทานอาหารรสจัด เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด กาแฟร้อน สุรา ลดการสูบบุหรี่ หรือลดภาวะเครียดทางอารมณ์ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะกระตุ้นให้กรดในกระเพาะหลั่งออกมามากและเป็นเหตุให้อาการโรคกระเพาะหายได้ช้าลง

ในผู้ป่วยบางรายอาจต้องเข้ารับการตรวจเกลือแร่ในเลือดบางตัวก่อนใช้ยาแมกนีเซียมไตรซิลิเกต เช่น เกลือโซเดียม เกลือฟอสเฟต ด้วยยาแมกนีเซียมไตรซิลิเกตสามารถทำให้สมดุลของเกลือแร่ (สมดุลของน้ำและเกลือแร่)ดังกล่าวในร่างกายเสียไป ดังนั้น ผู้บริโภค/ผู้ป่วยจะต้องได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องก่อนการใช้ยาจากแพทย์หรือขอคำปรึกษาจากเภสัชกรใกล้บ้าน และสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมจากเอกสารกำกับยา(ฉลากยา)ที่แนบมากับภาชนะบรรจุภัณฑ์

แมกนีเซียมไตรซิลิเกตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

แมกนีเซียมไตรซิลิเกต

ยาแมกนีเซียมไตรซิลิเกตมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาอาการแสบร้อนกลางอก (Heart burn) ด้วยภาวะกรดไหลย้อน (GERD)
  • รักษาและบำบัดอาการปวดท้องจากโรคกระเพาะอาหาร

แมกนีเซียมไตรซิลิเกตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาแมกนีเซียมไตรซิลิเกต คือ ตัวยาจะเข้าไปทำปฏิกิริยากับกรดใน กระเพาะอาหารที่มีมากเกินไป ทำให้สภาวะความเป็นกรดด่างในกระเพาะอาหารมีความเหมาะ สมมากยิ่งขึ้น จึงส่งผลให้ลดอาการแสบร้อนกลางอกรวมถึงภาวะท้องอืดและอาหารไม่ย่อย

แมกนีเซียมไตรซิลิเกตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาแมกนีเซียมไตรซิลิเกตมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

ก. ยาเม็ดที่ผสมร่วมกับยาอื่น: เช่น

  • Dried Aluminium hydroxide gel 300 มิลลิกรัม + Mg trisilicate 250 มิลลิกรัม + Atropine sulfate 0.125 มิลลิกรัม/เม็ด
  • Dried Aluminium hydroxide gel 400 มิลลิกรัม + Mg trisilicate 250 มิลลิกรัม/เม็ด
  • Dried Aluminium hydroxide gel 325 มิลลิกรัม + Mg trisilicate 260 มิลลิกรัม + Kaolin 130 มิลลิกรัม + Atropine sulphate 0.12 มิลลิกรัม/เม็ด
  • Dried Aluminium hydroxide gel 250 มิลลิกรัม + Mg trisilicate 250 มิลลิกรัม + Simethicone 100 มิลลิกรัม/เม็ด
  • Dried Aluminium hydroxide gel 200 มิลลิกรัม + Magnesium hydroxide 50 มิลลิกรัม + Mg trisilicate 250 มิลลิกรัม/เม็ด
  • Aluminium hydroxide 100 มิลลิกรัม + Mg trisilicate 300 มิลลิกรัม/เม็ด
  • Dried Aluminium hydroxide gel 250 มิลลิกรัม + Mg trisilicate 350 มิลลิกรัม + Simethicone 100 มิลลิกรัม/เม็ด

ข. ยาน้ำแขวนตะกอนที่ผสมร่วมกับยาอื่น: เช่น

  • Magnesium carbonate light 250 มิลลิกรัม + Magnesium trisilicate 250 มิลลิกรัม + Sodium hydrogen carbonate 250 มิลลิกรัม/5มิลลิลิตร

แมกนีเซียมไตรซิลิเกตมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ด้วยสูตรตำรับยาลดกรดในประเทศไทยที่มีแมกนีเซียมไตรซิลิเกตเป็นส่วนประกอบมีอยู่มากมายหลายสูตรตำรับ จึงทำให้ขนาดรับประทาน/วิธีการรับประทานอาจมีความแตกต่างกันออก ไป แต่จะขอยกตัวอย่างการรับประทานยาน้ำ 1 สูตรตำรับคือ Magnesium Trisilicate Mixture BP ที่ประกอบด้วย Magnesium Carbonate Light 250 มิลลิกรัม + Magnesium Trisilicate 250 มิล ลิกรัม + Sodium Hydrogen Carbonate 250 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร โดยมีขนาดรับประทานของสูตรตำรับข้างต้นที่ใช้ลดอาการแสบร้อนกลางอกและอาหารไม่ย่อย เช่น

  • ผู้ใหญ่และเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)ที่อายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป: รับประทานครั้งละ 10 - 20 มิลลิลิตรวันละ 3 ครั้ง
  • เด็กอายุ 5 - 12 ปี : รับประทานครั้งละ 5 - 10 มิลลิลิตรวันละ 3 ครั้ง
  • เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีลงมา: ยังไม่มีการศึกษาที่ให้ข้อมูลแน่ชัดในการใช้ยานี้รักษาอาการของเด็กกลุ่มนี้ ดังนั้นการใช้ยาและขนาดยาจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

อนึ่ง: ก่อนรับประทานยานี้ที่เป็นยาน้ำ ให้เขย่าขวดยาทุกครั้ง หลังรับประทานยาฯแล้วให้ดื่มน้ำสะอาดตามเพียงเล็กน้อย

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาแมกนีเซียมไตรซิลิเกต ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแมกนีเซียมไตรซิลิเกตอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/ มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาแมกนีเซียมไตรซิลิเกต สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้ เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

แมกนีเซียมไตรซิลิเกตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาแมกนีเซียมไตรซิลิเกตสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) เช่น

  • มีภาวะท้องเสีย
  • ปวดท้องแบบปวดบิด/เกร็ง
  • ท้องอืด และ
  • การใช้ยานี้เป็นระยะเวลานานอาจจะทำให้เกิดนิ่วในไต

มีข้อควรระวังการใช้แมกนีเซียมไตรซิลิเกตอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาแมกนีเซียมไตรซิลิเกต เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไตวาย
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะเกลือฟอสเฟต/ฟอสฟอรัสในเลือดต่ำ
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่ไตและ/หรือตับทำงานผิดปกติ
  • ระวังการใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร การจะใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแมกนีเซียมไตรซิลิเกตด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

แมกนีเซียมไตรซิลิเกตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาแมกนีเซียมไตรซิลิเกตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ยาแมกนีเซียมไตรซิลิเกตสามารถลดการดูดซึมของยาหลายตัวและหลายกลุ่มหากรับประทานร่วมกัน จนเป็นเหตุให้ประสิทธิภาพหรือฤทธิ์ในการรักษาของยาอื่นๆเหล่านั้นด้อยลงไป เพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ดังกล่าวจึงควรรับประทานยาอื่นๆเหล่านั้นห่างจากการรับประทานยาแมกนีเซียมไตรซิลิเกต 2 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ ยากลุ่มดังกล่าว เช่น ยา ACE inhibitors, Atazanavir (ยาต้านไวรัส), Azithromycin, Cefpodoxine (ยาปฏิชีวนะ), Chloroquine, Chlopromazine, Hydroxychloroquine, Ferrous sulfate, Ferrous gluconate (ยาธาตุเหล็ก), Penicillamine (ยาทางด้านพิษวิทยา), Gabapentin, Fexofenadine (ยาแก้แพ้), Rifampicin, Levothyroxine, Sulpiride (ยาโรคทางจิตเวช)

ควรเก็บรักษาแมกนีเซียมไตรซิลิเกตอย่างไร?

สามารถเก็บยาแมกนีเซียมไตรซิลิเกต:

  • เก็บยาที่อุณหภูมิห้อง
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • ควรเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและ ความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

แมกนีเซียมไตรซิลิเกตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาแมกนีเซียมไตรซิลิเกตมียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
A.N.H.Mat (เอ.เอ็น.เฮช. แมท) A N H Products
Admag-M (แอดแมก-เอ็ม) T P Drug
Almag (อัลแมก) B L Hua
Alumag (อะลูแมก) T.C. Pharma-Chem
Alupep (อะลูเปป) Sriprasit Pharma
Amacone (อะมาโคน) B L Hua
Amco (แอมโค) Polipharm
Antacia (แอนตาเชีย) The Forty-Two
Conmag (คอนแมก) Central Poly Trading
Dissowel (ดิสโซเวล) Union Drug
Droximag-P (ดรอซิแมก-พี) P P Lab
Gacida (กาซิดา) sanofi-aventis
K.B. Alu (เค.บี. อะลู) K.B. Pharma
Kenya Gel (เคนยา เจล) Kenyaku
L-Dacin (แอล-ดาซิน) Utopian
Maalox Tablet (มาล็อก แท็บเลท) sanofi-aventis
Machto (แมชโต) Nakornpatana
Magnesium Trisilicate Compound Medicpharma (แมกนีเซียม ไตรซิลิเกต คอมพาวด์ เมดิกฟาร์มา) Medicpharma
Magnesium Trisilicate Compound Patar (แมกนีเซียม ไตรซิลิเกต คอมพาวด์ พาตาร์) Patar Lab
New Gel (นิว เจล) New York Chemical
Siemag (ซีแมก) Chew Brothers
Sinlumag (ซินลูแมก) SSP Laboratories

บรรณานุกรม

1. https://www.netdoctor.co.uk/medicines/digestion/a7058/magnesium-trisilicate-tablets-bp/ [2020,Sept 19]
2. http://www.patient.co.uk/medicine/magnesium-trisilicate [2020,Sept 19]
3. https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/25289 [2020,Sept 19]
4. https://www.mims.com/thailand/drug/search?q=magnesium%20trisilicate[2020,Sept 19]