แพ้อาหาร หรือ ภูมิแพ้อาหาร (Food allergy)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 2 พฤศจิกายน 2564
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือโรคอะไร?พบบ่อยไหม?
- แพ้อาหารเกิดได้อย่างไร?
- แพ้อาหารมีกี่แบบ?
- อาหารชนิดใดที่ก่อการแพ้บ่อย?
- อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเกิดแพ้อาหาร?
- แพ้อาหารมีอาการอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยแพ้อาหารได้อย่างไร?
- รักษาแพ้อาหารอย่างไร?
- แพ้อาหารมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไรโดยเฉพาะกินอาหารนอกบ้าน?
- ป้องกันแพ้อาหารได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคภูมิแพ้ (Allergy)
- ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาแอนติฮิสตามีน (Antihistamine drug)
- ภูมิคุ้มกัน กดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppression)
- แอแนฟิแล็กซิส: ปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน (Anaphylaxis)
- แองจิโออีดีมา (Angioedema)
- วิงเวียนศีรษะ อาการรู้สึกหมุน (Dizzy หรือ Vertigo)
- หอบเหนื่อย หายใจลำบาก (Dyspnea)
- หายใจเสียงหวีด (Wheezing)
- หมดสติ (Unconsciousness)
บทนำ: คือโรคอะไร?พบบ่อยไหม?
แพ้อาหาร (Food allergy)คือ โรคที่ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคมีสัญญาณผิดพลาดต่อสารโปรตีนบางชนิดในอาหารว่า เป็นสิ่งแปลกปลอมต่อร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันฯจึงสร้างสารภูมิต้านทานเพื่อปกป้องร่างกายจากโปรตีนนั้น ส่งผลให้เกิดสารอักเสบหลายชนิดในร่างกาย ที่ส่งผลต่อเนื่องให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆในระยะเวลาเป็น’วินาทีหรือไม่เกิน2ชั่วโมง’หลังจากบริโภค เช่น ผื่น คัน บวมน้ำ แน่นหน้าอก/เจ็บหน้าอก เป็นลม, และอาการที่หนักอาจถึงตายได้คือ ‘ภาวะช็อก’ ที่เรียกว่า ‘แอแนฟิแล็กซิส’
แพ้อาหาร/โรคภูมิแพ้อาหาร/ภูมิแพ้อาหาร พบบ่อยทั่วโลก พบทุกวัย แต่พบในเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)สูงกว่าวัยผู้ใหญ่ มีรายงานพบในเด็กได้ 6%-8%โดยเฉพาะวัยต่ำกว่า3ขวบ และพบในผู้ใหญ่ประมาณ3%-4% เพศหญิงและเพศชายพบใกล้เคียงกัน
แพ้อาหารเกิดได้อย่างไร?
แพ้อาหาร/โรคภูมิแพ้อาหาร/ภูมิแพ้อาหาร เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันฯของร่างกายให้สัญญาณผิดพลาดต่อโปรตีนบางชนิดในอาหารว่า’เป็นสิ่งแปลกปลอม’ ระบบจึงสร้างสารภูมิต้านทานซึ่งทั่วไปส่วนใหญ่คือ ‘ไอจีอี(IgE)’ ซึ่งเป็นสารภูมิต้านทานที่จะตอบสนอง/ก่อให้เกิดอาการเฉียบพลันทันทีภายใน1-2วินาทีมักไม่เกิน1-2ชั่วโมงหลังบริโภค ซึ่งอาการพบบ่อยคือ คัน ขึ้นผื่น บวมน้ำ ได้ทั่วตัวโดยเฉพาะริมฝีปาก ใจสั้น เป็นลม และอาจเกิดภาวะช็อกชนิดที่เรียกว่า ‘แอแนฟิแล็กซิส’ได้
แพ้อาหารมีกี่แบบ?
แพ้อาหารมี3 แบบ/ชนิด ได้แก่
ก. ชนิดสารภูมิต้านทานเป็นชนิดไอจีอี(IgE-mediated food allergy): ซึ่งเป็นการแพ้อาหารชนิดพบบ่อยที่สุดเป็นส่วนใหญ่ของผู้ป่วย อาการจะเช่นเดียวกับในโรคภูมิแพ้ทุกชนิด และอาการจะเกิดเฉียบพลันภายใน1-2 วินาทีหรือเป็นนาที หรือ ไม่เกิน 1-2ชั่วโมงหลังการบริโภค เป็นชนิดที่วินิจฉัยได้ง่ายและรวดเร็ว และเป็นชนิดที่พบเกิดภาวะช็อกที่เรียกว่า‘แอแนฟิแล็กซิส’บ่อยที่สุด
อาการ เช่น ขึ้นผื่น คัน บวมน้ำ วิงเวียน แน่นหน้าอก เป็นลม และอาจรุนแรงจนเกิดภาวะช็อก ที่เป็นสาเหตุการตายได้
ข. ชนิดสารภูมิต้านทานเป็นชนิดอื่นที่ไม่ใช่ IgE (Non-IgE-mediated food allergy): การแพ้อาหารชนิดนี้มีอาการเช่นเดียวกับในผู้ป่วยกลุ่ม/ชนิด ก. แต่อาการจะเกิดช้า มักเกิดหลังการบริโภคนานเกิน 2-3 ชั่วโมง ดังนั้นจึงทำให้แพทย์วินิจฉัยได้ยาก ต้องแยกจากโรคภูมิแพ้ทั่วไป หรือโรคอื่นๆที่ก่ออาการคล้ายกัน
ค. ชนิดสารภูมิต้านทานเกิดได้ทั้งไอจีอีและสารภูมิต้านทานตัวอื่นๆ (Mixed IgE and non-IgE-mediated food allergies): อาการจะเช่นเดียวกับทั้ง 2 ชนิดร่วมกัน คือ มีทั้งเกิดเฉียบพลันและร่วมกับเกิดในระยะนานหลังการบริโภคหลายชั่วโมง
อาหารชนิดใดที่ก่อการแพ้บ่อย?
อาหารชนิดก่อแพ้อาหาร/โรคภูมิแพ้อาหาร/ภูมิแพ้อาหาร บ่อยได้แก่
- นม
- ไข่
- ปลา
- หอย ปู กุ้ง ลอบสเตอร์ รวมอาหารทะเล
- ลูกนัทต่างๆ(Tree nuts)
- ถั่วลิสง
- ข้าวสาลี
- ถั่วเหลือง
*อนึ่ง: เมื่อแพ้อาหารกลุ่ม ‘นม, ไข่, ถั่วเหลือง’ ที่เกิดครั้งแรกในวัยก่อน3ขวบ เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ อาการแพ้อาหารกลุ่มนี้อาจหายได้เอง แต่การแพ้อาหารกลุ่มอื่นๆในทุกวัย จะคงแพ้ตลอดชีวิต
อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเกิดแพ้อาหาร?
ปัจจุบัน แพทย์ยังไม่ทราบว่าอะไรเป็นสาเหตุของการแพ้อาหาร/โรคภูมิแพ้อาหาร/ภูมิแพ้อาหาร แต่พบหลายปัจจัยที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรค/ภาวะนี้ ซึ่งได้แก่
- พันธุกรรม: คือ มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้ และ/หรือเป็นโรคภูมิแพ้ โดยเฉพาะญาติสายตรงคือ พ่อ แม่ และ/หรือ พี่น้องท้องเดียวกัน
- แพ้อาหารบางชนิดอยู่ก่อนแล้ว เช่น แพ้นม, โอกาสเกิดแพ้อาหารชนิดอื่นๆจะสูงขึ้น
- ตนเองเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดอื่นอยู่ก่อนแล้ว
- เมื่อวัยเด็กเล็กเคยเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก
- ผู้ป่วยโรคหืด
- แพ้สารกันเสียในอาหารนั้นๆ
แพ้อาหารมีอาการอย่างไร?
อาการของแพ้อาหาร/โรคภูมิแพ้อาหาร/ภูมิแพ้อาหาร ส่วนใหญ่เป็นอาการ เฉียบพลันหลังบริโภคอาหาร มักภายใน 1-2วินาที หรือ ภายใน 1-2ชั่วโมงกรณีเป็นการแพ้ชนิดจากสารภูมิต้านทานไอจีอี, หรือส่วนน้อยพบอาการเกิดหลังบริโภคนานประมาณ 2-4ชั่วโมงในกรณีแพ้ชนิดสารภูมิต้านทานไม่ไม่ไอจีอี, หรือส่วนน้อยเช่นกันอาการพบเป็น2ระลอกกรณีสารภูมิต้านทานมีทั้งไอจีอีและไม่ใช่ไอจีอี คือ เกิดเฉียบพลัน หลังจากนั้นเกิดอาการซ้ำอีกใน2-4ชั่วโมงตามมา
ทั้งนี้ อาการจากแพ้อาหาร/โรคภูมิแพ้อาหาร/ภูมิแพ้อาหาร มักเกิดกับอวัยวะใน 4 ระบบ คือ ผิวหนัง, ระบบทางเดินอาหาร, ระบบหายใจ, และระบบหัวใจและหลอดเลือด, โดยอาจเกิดอาการเพียงระบบเดียว หรือหลายระบบพร้อมกัน
ซึ่ง อาการอาจไม่รุนแรงถ้าเกิดเพียง มีผื่น หรือคัน แต่ถ้าเกิดอาการอื่นๆร่วมด้วย อาการมักรุนแรงโดยเฉพาะเป็นอาการเกิดจาก ระบบหายใจ, ระบบหัวใจและหลอดเลือด ที่ต้องพบแพทย์ทันที/ฉุกเฉิน เพราะเป็นอาการที่เป็นสาเหตุการตายได้ทันที
ก. อาการทางผิวหนัง: เป็นอาการพบบ่อยที่สุด มักพบทุกราย เช่น
- ผื่นคันมักเกิดทั่วตัว อาจเป็นแบบ ผื่นผิวหนังอักเสบ หรือ ผื่นแบบ แองจิโออีดีมา
- ใบหน้า รอบตา ลำคอ ลำตัว แขน ขา บวม แดง คัน
- ริมฝีปาก ช่องปาก รวมถึงลิ้น บวม
ข. อาการทางระบบทางเดินอาหาร: เช่น
- กลืนลำบากจากทางเดินอาหารบวม
- ท้องเสีย มักถ่ายเป็นน้ำ
- ปวดท้องทั่วไป หรือปวดบริเวณกระเพาะอาการ มักเป็นอาการปวดบีบ
- คลื่นไส้
- อาจอาเจียน
ค. *อาการทางระบบหายใจ: เกิดจากทางเดินหายใจบวมและมีสารคัดหลั่งเพิ่ม และ มักร่วมกับทางเดินหายใจหดตัวตีบแคบ ซึ่งอาการที่พบ เช่น
- คัดจมูก จาม มีน้ำมูกมาก
- ไอซ้ำๆ มักไอแห้งๆ
- เสียงแหบจากกล่องเสียงบวม
- หายใจลำบาก/แน่นหน้าอก/หอบเหนื่อยจากทางเดินหายใจตีบ
- หายใจเสียงหวีดจากทางเดินหายใจตีบ
ง. อาการทางระบบหัวใจและหลอดเลือด: เกิดจากระบบหัวใจหลอดเลือดล้มเหลว ซึ่งอาการ เช่น
- ความดันโลหิตต่ำ
- วิงเวียนศีรษะ
- ผิวหนัง/เนื้อตัวซีด ตัวเย็น หรือ มีอาการเขียวคล้ำ โดยเฉพาะ เล็บ มือ เท้า ริมฝีปาก
- เป็นลม
- *ที่รุนแรงที่สุดคือ ‘ภาวะช็อก’ ชนิดที่เรียกว่า ‘แอแนฟิแล็กซิส’
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
เมื่อมีอาการดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’ หรือ สงสัยแพ้อาหาร ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ และต้องรีบมาโรงพยาบาล/คลินิกที่ใกล้บ้านที่สุดทันที/ฉุกเฉินเมื่อมีอาการทางระบบหายใจ และ/หรือ ทางระบบโรคหัวใจและหลอดเลือด
แพทย์วินิจฉัยแพ้อาหารได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคแพ้อาหาร/โรคภูมิแพ้อาหาร/ภูมิแพ้อาหาร ได้จาก
- ซักถามประวัติทางการแพทย์ต่างๆ เช่น มีอาการอะไรบ้าง อาการเกิดหลังจากกินอาหารหรือเปล่า กินไปแล้วนานเท่าไร เคยแพ้อะไรไหม คนในครอบครัวมีอาการเหล่านี้ไหม มีโรคประจำตัวอะไร ใช้ยาอะไรอยู่บ้าง
- ตรวจวัดสัญญาณชีพ
- ตรวจร่างกายทั่วไป
- ตรวจดูลักษณะผื่นต่างๆ
- เมื่อแน่ใจว่าเป็นอาการจากภูมิแพ้/แพ้อาหาร อาจมีการแนะนำตรวจทางด้านภูมิแพ้เพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น
- ตรวจเลือดดูสารภูมิต้านทาน
- การตรวจต่างๆที่เป็นการตรวจเฉพาะด้านภูมิแพ้เพื่อหาว่าผู้ป่วยแพ้อาหารอะไรได้บ้าง เช่น การตรวจที่เรียกว่า Skin-prick tests, Skin patch testing
รักษาแพ้อาหารอย่างไร?
แนวทางการรักษาแพ้อาหาร/โรคภูมิแพ้อาหาร/ภูมิแพ้อาหาร วิธีที่ดีและมีประสิทธิภาพที่สุดที่เป็นวิธีป้องกันการเกิดการแพ้ที่มีประสิทธิภาพที่สุดด้วย คือ
- สังเกตว่า ‘แพ้อาหารอะไร และงดบริโภคอาหารเหล่านั้น ร่วมกับไม่บริโภคอาหารที่ไม่รู้จัก หรือไม่ทราบส่วนประกอบ’
- เมื่อซื้ออาหารสำเร็จรูป ควรดูฉลากว่ามีระบุไหมว่า Allergy free(ปลอดจากสารก่อการแพ้)หรือ ปลอดสารกันเสีย
*อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดอาการขึ้น การรักษาการแพ้ ทั่วไปคือ
- กรณีอาการรุนแรง หรือแพทย์พยากรณ์ว่าอาการอาจรุนแรง: คือการฉีดยา อะดรีนาลีน (Adrenaline อีกชื่อคือ อิพิเนฟริน/Epinephrine)เพื่อคงความดันโลหิตและช่วยให้ระบบทางเดินหายใจขยายตัวไม่เกิดการหดตีบตัน
- ให้ยาแก้แพ้ เช่น ยาไดเฟนไฮดรามีน, ยาคลอเฟนิรามีน(CPM/ซีพีเอม)
- ให้ยากลุ่ม กลูโคคอร์ติคอยด์
แพ้อาหารมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
แพ้อาหาร/โรคภูมิแพ้อาหาร/ภูมิแพ้อาหาร เป็นโรคที่รักษาได้ แต่ไม่หายขาดเพราะอาการแพ้จะพบได้ตลอดชีวิต โรคนี้มีการพยากรณ์โรคหลากหลาย ขึ้นกับความรุนแรงของอาการที่เกิด และการดูแลตนเองที่หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารนั้นๆ
แพ้อาหารฯบางชนิดที่เกิดในวัยเด็กเล็ก เมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ อาการแพ้ในบางคนอาจหายไปได้ เช่นแพ้ นม ไข่ แต่ก็สามารถกลับมาแพ้ได้อีก แต่ทั่วไป อาการแพ้อาหารทุกประเภทจะคงอยู่ตลอดชีวิต โดยเฉพาะเมื่ออาการเริ่มเกิดในวัยเด็กโตหรือในวัยผู้ใหญ่
อาการแพ้อาหารฯ ถึงแม้จะได้รับการรักษาแล้ว อาการอาจหายได้ในระยะเวลา2-3ชั่วโมง, เป็นวัน, หรือหลายวัน, เป็นสัปดาห์, หรือบางคนเป็นเดือน, ขึ้นกับความรุนแรงของอาการแต่แรก รวมถึงเป็นอาการเกิดกับระบบใด, ปริมาณอาหารที่บริโภค, รวมถึงพื้นฐาน สุขภาพผู้ป่วย
ในส่วนอัตราตายจากแพ้อาหารฯ ไม่มีรายงานสถิติที่แน่ชัดเพียงแต่ระบุว่าอาจเกิดได้ในทันทีเมื่อเกิดภาวะช็อกแบบ ‘แอแนฟิแล็กซิส’ หรือมีอาการทางระบบหายใจ
ดูแลตนเองอย่างไรโดยเฉพาะกินอาหารนอกบ้าน?
การดูแลตนเองเมื่อแพ้อาหาร/โรคภูมิแพ้อาหาร/ภูมิแพ้อาหาร ได้แก่
- วิธีที่ดีที่สุด: เช่น
- สังเกตให้รู้ว่าแพ้อาหารอะไรเพื่อไม่กิน/ดื่ม
- ไม่กินอาหารชนิดที่แพ้
- อ่านฉลากอาหารทุกครั้งที่ซื้อถึงส่วนประกอบ(ถ้ามี) ควรไม่ซื้อถ้าไม่มีฉลากหรือ เป็นอาหารที่เราไม่รู้จัก
- สอบถามคนปรุงฯ หรือ พนักงาน ว่ามีส่วนประกอบของอาหารที่ตนแพ้หรือไม่
- ไม่บริโภคอาหารที่ไม่รู้จัก
- เมื่อกินอาหารนอกบ้าน
- เลือกร้านที่เราคุ้นเคย
- เลือกร้านอาหารที่เราสามารถสอบถามเครื่องปรุงได้ และไม่ใช้ สารกันเสีย
- เตรียมตัว/เตรียมพร้อมในการดูแลตนเองเมื่อเกิดการแพ้และแจ้งให้ผู้ที่ไปด้วย/อยู่ด้วยทราบว่าเราแพ้อาหารอะไร และจะต้องทำอย่างไรเมื่อเรามีอาการ
- แจ้งผู้ดูแลร้าน/เจ้าหน้าที่ว่าเราแพ้อาหารอะไร
- เลือกอาหารที่รับประทานเอง แจ้งเจ้าหน้าที่ให้บอกผู้ปรุงว่าเราแพ้อะไร
- กรณีเคยพบแพทย์แล้ว: ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- เมื่อเคยแพ้รุนแรง ปรึกษาแพทย์เรื่องการมียา อะดรีนาลีน พร้อมอุปกรณ์ฉีดยาติดตัวเสมอ
- เมื่อเดินทาง:
- ควรเตรียมอาหาร เครื่องดื่มสำหรับตนเองให้เพียงพอ ไม่บริโภคข้างทาง หรือร้านอาหารที่เราซักถามไม่ได้
- แจ้งหัวหน้ากลุ่มเดินทาง หรือ คนที่ไปด้วย ว่าตนแพ้อาหาร และเมื่อเกิดอาการบุคคลเหล่านั้นควรทำอย่างไร และเราเตรียมยาอะไรมาบ้าง เก็บไว้ที่ไหน
- ในกรณีเป็นนักเรียน ควรต้องแจ้ง โรงเรียน คุณครู เพื่อนๆสนิทให้ทราบว่าเราแพ้อาหารอะไร
- จักอาการของการแพ้อาหาร เพื่อหยุดรับประทานทันทีเมื่อเกิดอาการ และรีบพบแพทย์/คลินิก/โรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด
- กรณีหลังเกิดอาการฯ:
- กรณีหลังพบแพทย์:
- ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ครบถ้วน
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ดื่มน้ำสะอาดมากๆ อย่างน้อย 8-10แก้ว/วันเมื่อไม่มีโรคที่แพทย์ให้จำกัดน้ำดื่ม เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ เพื่อช่วยคงการไหลเวียนเลือดและความดันโลหิต และช่วยขับสารอาหารที่แพ้ที่อาจยังคงค้างในร่างกายให้ออกนอกร่างกายเร็วที่สุด
- ยังคงต้องเฝ้าระวัง ถึงแม้โอกาสเกิดจะน้อย คือ การเกิดอาการแพ้ซ้ำกรณีเป็นการแพ้ชนิดเกิดจากสารภูมิต้านทานที่ไม่ใช่ไอจีอี หรือ เกิดปฏิกิริยาแบบผสมดังได้กล่าวใน’หัวข้อ แพ้อาหารมีกี่แบบฯ’
- ซึ่งเมื่อเกิดอาการซ้ำ ต้องรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลใกล้บ้านด่วน
- กรณีหลังพบแพทย์:
ป้องกันแพ้อาหารได้อย่างไร?
การป้องกันโรคแพ้อาหาร/โรคภูมิแพ้อาหาร/ภูมิแพ้อาหารไม่ให้เกิดขึ้นเลยเป็นไปไม่ได้เพราะสาเหตุเกิดที่แน่ชัดแพทย์ยังไม่ทราบ และปัจจัยเสี่ยงหลายปัจจัยก็ควบคุมไม่ได้ เช่น พันธุกรรม
ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุด คือ
- ไม่บริโภคอาหารที่แพ้ กรณีรู้ว่าแพ้อาหารอะไร
- และต้องดูแลตนเองดังได้กล่าวใน’หัวข้อ การดูแลตนเอง’
บรรณานุกรม
- https://www.nhs.uk/conditions/food-allergy/ [2021,Oct30]
- https://www.fda.gov/food/buy-store-serve-safe-food/food-allergies-what-you-need-know [2021,Oct30]
- https://www.fda.gov/food/food-labeling-nutrition/food-allergies [2021,Oct30]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Food_allergy [2021,Oct30]
- https://kidshealth.org/en/parents/food-allergies.html [2021,Oct30]
- https://acaai.org/allergies/types/food-allergy [2021,Oct30]
- https://www.foodallergy.org/resources/taking-care-yourself [2021,Oct30]