แพรมลินไทด์ (Pramlintide)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาแพรมลินไทด์(Pramlintide หรือ Pramlintide acetate) เป็นยาประเภท อะมัยลิน แอนะล็อก (Amylin analogues) ทางคลินิกใช้เป็นยารักษาโรคเบาหวานประเภท I และ II ยาแพรมลินไทด์จะทำงานควบคู่ไปกับฮอร์โมนอินซูลินในร่างกาย โดยออกฤทธิ์ลดการดูดซึมน้ำตาลกลูโคส/กลูโคส(Glucose)จากระบบทางเดินอาหาร และช่วยควบคุมการเพิ่มปริมาณของฮอร์โมนกลูคากอน(Glucagon )มีผลให้ร่างกายลดการปลดปล่อยน้ำตาลกลูโคสจากตับ จึงส่งผลให้เกิดการลดระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดลง นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีความรู้สึกอิ่มและหิวอาหารน้อยลง จากกลไกเหล่านี้จึงทำให้ร่างกายได้รับพลังงานน้อยลงจนมีผลสืบเนื่องให้น้ำหนักตัวลดลงได้เช่นกัน

ยาแพรมลินไทด์มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ตัวยาจะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้ประมาณ 30–40% และจะเกิดการรวมตัวกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 60% ไตจะเป็นอวัยวะที่คอยกำจัดและทำลายโครงสร้างของยาแพรมลินไทด์ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 48 นาทีเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ อย่างไรก็ตามยาแพรมลินไทด์จะออกฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดได้นานประมาณ 3 ชั่วโมงต่อการใช้ยา 1 ครั้ง

สิ่งที่ผู้ป่วยต้องระมัดระวังทุกครั้งที่ได้รับยาแพรมลินไทด์ ได้แก่

  • การใช้ยานี้ร่วมกับยาอินซูลิน อาจเสี่ยงต่อภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ I ดังนั้นผู้ป่วยจะต้องใช้ยานี้ตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • ตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดของตัวผู้ป่วยเป็นประจำตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล เภสัชกร เพื่อตรวจเทียบประสิทธิผลของการรักษาเบาหวาน
  • เพื่อให้การออกฤทธิ์ของตัวยาแพรมลินไทด์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยเบาหวานต้องได้รับการฉีดยานี้ก่อนมื้ออาหารทุกครั้ง
  • กรณีใช้ยาแพรมลินไทด์ร่วมกับยาอินซูลิน ห้ามนำยาทั้ง 2 ชนิดมาผสมแล้วฉีดรวมกันเข้าใต้ผิวหนัง ให้แยกฉีดคนละตำแหน่งบนพื้นที่ผิวหนัง
  • เรียนรู้วิธีการฉีดยา/การใช้ชุดอุปกรณ์ของผลิตภัณฑ์อย่างเข้าใจ และถูกต้องได้จากแพทย์/เภสัชกร/พยาบาล
  • สำหรับผู้ป่วยด้วยโรคไตที่มีค่าครีเอตินินเคลียแรนซ์(Creatinine clearance)ตั้งแต่ 15 มิลลิลิตร/นาทีขึ้นไป แพทย์จะปรับลดขนาดการใช้ยาแพรมลินไทด์ลง
  • ยาแพรมลินไทด์มีความไวต่ออุณหภูมิห้อง จึงต้องทำการเก็บรักษาภายใต้อุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • ระหว่างที่ได้รับยาแพรมลินไทด์แล้วมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูง ให้หยุดการใช้ยานี้ แล้วรีบมาพบแพทย์โดยเร็ว/ทันที/ฉุกเฉิน ขึ้นกับความรุนแรงของอาการผู้ป่วยที่เกิดขึ้น
  • ห้ามแบ่งยานี้ใช้ร่วมกับผู้ป่วยเบาหวานคนอื่น
  • อาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ที่โดดเด่นของยาแพรมลินไทด์อย่างหนึ่ง คือ อาการคลื่นไส้ ดังนั้นการปรับขนาดการใช้ยานี้เพิ่มขึ้นของผู้ป่วย แพทย์มักเว้นระยะเวลาทุกๆ 3 วัน เพื่อป้องกันไม่ให้มีอาการคลื่นไส้เกิดขึ้น
  • นอกจากนี้ห้ามใช้ยาแพรมลินไทด์กับผู้ที่มีภาวะกระเพาะอาหารและลำไส้เคลื่อนตัวไม่ดีเหมือนปกติ (Delayed gastric emptying)
  • ระวังการใช้ยาแพรมลินไทด์ร่วมกับยารักษาโรคเบาหวานชนิดอื่นๆ เช่น ยาอินซูลิน รวมถึงกลุ่มยาแก้ปวด , ยาปฏิชีวนะ , ยาเม็ดคุมกำเนิด , กลุ่มยาACE inhibitor, MAOIs , Salicylate, Somatostatin analogs ด้วยกลุ่มยาดังกล่าวสามารถส่งผลกระทบต่อระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยทั้งสิ้นทั้งอาจเพิ่มสูงขึ้นหรือลดต่ำลง จึงถือเป็นหน้าที่ที่ผู้ป่วยต้องแจ้งให้ แพทย์ พยาบาบ เภสัชกร ทราบทุกครั้งที่เข้ารับการรักษาว่า ตนเองมียาประเภทใดใช้อยู่ก่อน หรือมีโรคประจำตัวอะไรบ้าง
  • การใช้ยาแพรมลินไทด์ กับกลุ่มผู้ป่วยสตรีตั้งครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ ต้องให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาเป็นกรณีไป
  • เรียนรู้สภาวะของร่างกายเมื่อมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูงเกินไป เพื่อจะได้ใช้วิธีปฐมพยาบาลตนเองได้อย่างเหมาะสมและถูกต้อง (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในผู้ป่วยเบาหวาน”)

โดยทั่วไป เรามักจะพบเห็นการใช้ยาแพรมลินไทด์แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น การนำยากลับมาใช้ในที่พักอาศัย ผู้ป่วย/ญาติจะต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจการใช้ยานี้อย่างเข้าใจและปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด

อนึ่ง ประทศไทยอาจยังไม่พบเห็นการใช้ยานี้ แต่ในต่าง ประเทศเราจะพบเห็นการจัดจำหน่ายยาแพรมลินไทด์ภายใต้ชื่อการค้าว่า “Symlin”

แพรมลินไทด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

แพรมลินไทด์

ยาแพรมลินไทด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาโรคเบาหวานประเภท I และ II

แพรมลินไทด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาแพรมลินไทด์จะโดยตัวยานี้ จะรบกวนการปลดปล่อยฮอร์โมนกลูคากอน(Glucagon)จากตับอ่อนซึ่งมีผลให้ลดการปลดปล่อยน้ำตาลกลูโคสจากตับ และยังจะช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลจากระบบทางเดินอาหาร จากกลไกเหล่านี้ จึงมีผลลดระดับน้ำตาลในเลือดได้

แพรมลินไทด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาแพรมลินไทด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีด ที่มีลักษณะเป็นสารละลายใส ที่ประกอบด้วยตัวยา Pramlintide acetate 0.6 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร หรือ 600 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร บรรจุขวด(Vial) 5 มิลลิลิตร
  • ยาฉีดที่มีลักษณะใส บรรจุในปากกาฉีดยาพร้อมใช้งานในตัวปากกา(Penfill) โดยจะมีหลอดบรรจุยา Pramlintide acetate ขนาด 1,500 ไมโครกรัม/1.5 มิลลิลิตร หรือในขนาดบรรจุ 2,700 ไมโครกรัม/2.7 มิลลิลิตร รูปแบบเภสัชภัณฑ์นี้ทำให้สามารถฉีดยากับผู้ป่วยได้หลายครั้ง กรณีปากกาที่บรรจุยา 1,500 ไมโครกรัม/1.5 มิลลิลิตร สามารถปรับขนาดการฉีดยาให้ผู้ป่วยได้ 15, 30, 45 และ 60 ไมโครกรัม/ครั้ง หากเป็นปากกาที่มีขนาดบรรจุยา 2,700 ไมโครกรัม/2.7 มิลลิลิตร สามารถปรับขนาดการฉีดยาให้ผู้ป่วยได้สองระดับคือ 60 และ 120 ไมโครกรัม/ครั้ง การใช้ยาลักษณะปากกาฉีดยา จะต้องเปลี่ยนหัวเข็มฉีดยาทุกครั้ง ห้ามนำหัวเข็มฉีดยาที่ใช้แล้วกลับมาใช้ซ้ำโดยเด็ดขาด

แพรมลินไทด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาแพรมลินไทด์มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

ก. สำหรับรักษาโรคเบาหวานประเภทที่ II:

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังครั้งละ 60 ไมโครกรัม ก่อนเวลารับประทานอาหารเล็กน้อย หากผู้ป่วยไม่มีอาการข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ เป็นเวลา 3 วันอย่างต่ำ แพทย์อาจปรับขนาดการใช้ยาเป็น 120 ไมโครกรัม/ครั้ง

ข.สำหรับรักษาโรคเบาหวานประเภทที่ I:

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังครั้งละ 15 ไมโครกรัม ก่อนเวลารับประทานอาหารเล็กน้อย แพทย์อาจปรับขนาดการฉีดยาเพิ่มเป็น 30, 45 หรือ 60 ไมโครกรัม/ครั้ง ทุกๆ 3 วัน โดยผู้ป่วยต้องไม่มีอาการคลื่นไส้เกิดขึ้น

อนึ่ง:

  • ในเด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
  • ควรนำยาแพรมลินไทด์ออกจากตู้เย็นสักครู่ก่อนฉีดยาให้ผู้ป่วย ไม่ควรฉีดยานี้ขณะที่ยามีอุณหภูมิต่ำ เพราะอาจส่งผลต่อการระคายเคืองบริเวณที่ฉีดยา และ/หรือลดประสิทธิภาพการดูดซึมชองยา
  • การใช้ยานี้ร่วมกับยาอินซูลินในผู้ป่วยเบาหวานประเภท II แพทย์จะปรับลดขนาดการใช้ยาอินซูลินเดิมลงมาเพื่อป้องกันมิให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำตามมา
  • ใช้ยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามปรับลดหรือเพิ่มขนาดการฉีดยเองโดยมิได้ปรึกษาแพทย์
  • ตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองเป็นประจำตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร หากพบว่าหลังการใช้ยาแพรมลินไทด์แล้ว ยังมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูง ให้ผู้ป่วยรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาแพรมลินไทด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไต โรคระบบทางเดินอาหาร รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแพรมลินไทด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมฉีดยาควรทำอย่างไร?

หากลืมฉีดยาแพรมลินไทด์ สามารถฉีดยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการฉีดยาเป็น 2 เท่า ให้ใช้ยาในขนาดปกติ

แต่อย่างไรก็ดี การหยุดใช้ยาแพรมลินไทด์กระทันหัน หรือลืมฉีดยานี้บ่อยครั้ง อาจก่อให้เกิดอาการน้ำตาลในเลือดสูงตามมา

แพรมลินไทด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาแพรมลินไทด์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง การดูดซึมอาหารต่างๆของระบบทางเดินอาหารลดลง ตับอ่อนอักเสบ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ไอ คออักเสบ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคันตามผิวหนัง
  • ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น ปวดข้อ
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำรุนแรง เบื่ออาหาร

มีข้อควรระวังการใช้แพรมลินไทด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาแพรมลินไทด์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
  • ห้ามดื่มเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ขณะใช้ยานี้เพราะจะทำให้เกิดภาวะ น้ำตาลในเลือดผิดปกติได้ง่ายทั้งอาจสูงขึ้นหรือต่ำลง
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่งแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยาด้วยตนเอง และต้องใช้ยาตามขนาดที่แพทย์แนะนำ
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เกิดตะกอนขุ่น
  • ใช้ยานี้ต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ
  • ควรเปลี่ยนตำแหน่งการฉีดยานี้ไม่ให้ซ้ำบริเวณเดิมเพื่อหลีกเลี่ยงผิวหนังอักเสบในตำแหน่งฉีดยาซ้ำๆ
  • ตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดของตนเองเป็นประจำตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร
  • ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และพักผ่อน ตามที่ แพทย์ พยาบาล เภสัชกรแนะนำ
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อ แพทย์ตรวจร่างกาย ตรวจค่าน้ำตาลสะสมในเลือดตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแพรมลินไทด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยา ก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

แพรมลินไทด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาแพรมลินไทด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาแพรมลินไทด์ร่วมกับ ยารักษาเบาหวานชนิดอื่น , กลุ่มยาMAOIs, ACE inhibitor, Salicylates, Disopyramide, Fibrates, Fluoxetine, Pentoxifylline, Propoxyphene, Somatostatin analogues ,Sulfonamide antibiotics อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายผู้ป่วยเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาแพรมลินไทด์ร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิด อย่างเช่น Levonorgestrel จะเกิดการรบกวนการออกฤทธิ์ของยาแพรมลินไทด์ ส่งผลให้ประสิทธิภาพการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดด้อยลง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาแพรมลินไทด์ตามความเหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • ห้ามใช้ยาแพรมลินไทด์ร่วมกับยา Gatifloxacin ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือไม่ก็สูงตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาแพรมลินไทด์กับกลุ่มยา Alphaglucosidase inhibitors (อย่างเช่นยา Acarbose), หรือกลุ่มยา Anticholinergics (เช่นยา Scopolamine, Hyoscyamine), ด้วยจะเสี่ยงทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงจากยาแพรมลินไทด์มากขึ้น

ควรเก็บรักษาแพรมลินไทด์อย่างไร?

ควรเก็บยาแพรมลินไทด์ ภายใต้อุณหภูมิ 2 – 8 องศาเซลเซียส ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

แพรมลินไทด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาแพรมลินไทด์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
SymlinPen 60 (ซิมลินเพน 60)Sharp coporation
SymlinPen 120 (ซิมลินเพน 120)Sharp coporation

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Pramlintide[2017,June10]
  2. https://www.drugs.com/pro/symlin.html[2017,June10]
  3. https://www.drugs.com/ppa/pramlintide.html[2017,June10]
  4. https://www.drugs.com/drug-interactions/pramlintide-index.html?filter=3&generic_only=[2017,June10]
  5. https://www.drugbank.ca/drugs/DB01278[2017,June10]
  6. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2014/021332s007_S016.pdf[2017,June10]