แพนคูโรเนียม (Pancuronium)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 19 กรกฎาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- แพนคูโรเนียมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- แพนคูโรเนียมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- แพนคูโรเนียมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- แพนคูโรเนียมมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- แพนคูโรเนียมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้แพนคูโรเนียมอย่างไร?
- แพนคูโรเนียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาแพนคูโรเนียมอย่างไร?
- แพนคูโรเนียมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- อะโทรปีน (Atropine)
- นีโอสติกมีน (Neostigmine)
- โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจี (Myasthenia gravis หรือ MG)
- บัญชียาหลักแห่งชาติ (National Essential Medicine)
- ยาแผนปัจจุบัน (Conventional medicine หรือ Modern medicine)
- Pyridostigmine
บทนำ
ยาแพนคูโรเนียม (Pancuronium หรือ Pancuronium bromide) เป็นยาที่อยู่ในกลุ่มยาคลายกล้ามเนื้อ ทางคลินิกนำมาใช้กับหัตถการของห้องผ่าตัดเช่น ช่วยให้กล้ามเนื้อหลอดลมคลายตัวจนสามารถสอดท่อช่วยหายใจเข้าท่อลมให้กับผู้ป่วยได้ง่ายขึ้น ทำให้การควบคุมการหายใจของผู้ป่วยขณะผ่าตัดเป็นไปอย่างสะดวกและปลอดภัย
รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาแพนคูโรเนียมจะเป็นยาฉีด เมื่อยานี้เข้าสู่กระแสเลือดจะเกิดการรวมตัวกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 77 - 91% ตับจะเป็นอวัยวะที่คอยทำลายโครงสร้างของยานี้อย่างต่อเนื่อง ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 1.5 - 2.7 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกไปกับปัสสาวะและอุจจาระ
ยาแพนคูโรเนียมไม่มีฤทธิ์ของการสงบประสาท/ลดการทำงานของระบบประสาทหรือฤทธิ์ระงับปวดร่วมด้วย จึงถือว่ามีคุณสมบัติที่เฉพาะเจาะจงต่อการคลายตัวของกล้ามเนื้อเท่านั้น ซึ่งยาคลายกล้ามเนื้อชนิดอื่นอาจมีฤทธิ์สงบประสาทหรือลดอาการปวดร่วมด้วย
ผลข้างเคียงของยาแพนคูโรเนียมที่อาจพบเห็นคือ ผู้ป่วยจะมีอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มสูงขึ้น กดการหายใจของร่างกาย (หายใจช้า เบา ตื้น จนอาจหยุดหายใจได้) อาจพบผื่นคัน และมีภาวะเหงื่อออกมาก หากมองโดยรวมยาแพนคูโรเนียมอาจทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง ทางคลินิกจึงไม่ใช้ยานี้อย่างต่อเนื่องหรือใช้เป็นเวลานาน บางประเทศซึ่งมีวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่เจริญ จะใช้ยาแพนคูโรเนียมในการประหารชีวิตนักโทษ
ยาแพนคูโรเนียมเป็นยาที่ใช้ทั้งกับผู้ใหญ่และเด็ก โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาถึงความเหมาะสมของขนาดยากับผู้ป่วยแต่ละราย หากผู้ป่วยเคยมีประวัติแพ้ยานี้หรือแพ้ยาชนิดใดๆควรต้องแจ้งแพทย์ให้ทราบก่อนเข้ารับการรักษาหรือก่อนทำหัตถการต่างๆทางการแพทย์ทุกครั้ง
นอกจากนี้ผู้ที่มีโรคประจำตัวอย่างเช่น โรคปอด โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ/โรคระบบทางเดินหายใจ โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตต่ำ ล้วนแล้วเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยาชนิดต่างๆซึ่งรวมถึงยาแพนคูโรเนียมด้วย และยานี้ยังสามารถเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชนิดอื่นได้หลายกลุ่มที่จะส่งผลต่อการออกฤทธิ์และต่อผลข้าง เคียงของยานี้และของยาอื่นๆที่ใช้ร่วมกันได้เช่น
- กลุ่มยาสลบอย่างยา Enflurane, Halothane สามารถเพิ่มการออกฤทธิ์ของยาแพนคูโรเนียม หรือ
- ยาต้านอาการซึมเศร้าที่ใช้ร่วมกับยาแพนคูโรเนียมสามารถทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้
- ยาปฏิชีวนะอย่างเช่น Aminoglycoside สามารถทำให้การออกฤทธิ์ของยาแพนคูโรเนียมยาวนานขึ้นซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดผลข้างเคียงจากยาแพนคูโรเนียมได้สูงขึ้น หรือ
- ยากลุ่มเกลือแมกนีเซียม (เช่น Magnesium hydroxide) สามารถเพิ่มระดับความเข้มข้นของยาแพนคูโรเนียมในกระแสเลือดได้ ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดผลข้างเคียงจากยาแพนคูโรเนียมได้สูงขึ้น ดังนั้นจึงถือเป็นอีกหนึ่งบริบทที่แพทย์จะต้องทราบข้อมูลประวัติการใช้ยาต่างๆของผู้ป่วยอย่างละเอียดก่อนเข้ารับการรักษาทุกครั้งด้วยยาแพนคูโรเนียม
ยาแพนคูโรเนียมเป็นหนึ่งในรายการยาที่ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทยและอยู่ในหมวดของยาอันตราย สามารถพบเห็นการใช้ยานี้ได้ในสถานพยาบาลทั้งของรัฐและของเอกชนโดยทั่วไป หากผู้บริโภคต้องการทราบข้อมูลของยานี้เพิ่มเติมสามารถสอบถามได้จากแพทย์ในสถานพยาบาลหรือจากเภสัชกรได้โดยทั่วไป
แพนคูโรเนียมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาแพนคูโรเนียมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อเป็นยาคลายกล้ามเนื้อที่มีการใช้ในห้องผ่าตัด ช่วยทำให้การสอดท่อช่วยหายใจเข้าท่อลมและการทำหัตถการต่างๆในการผ่าตัดกับผู้ป่วยสะดวกและปลอดภัยขึ้น
แพนคูโรเนียมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาแพนคูโรเนียมคือ ตัวยาจะแสดงฤทธิ์เป็น Competitive acetylcho line antagonist (ต้านการทำงานของสาร Acetylcholine ที่เกี่ยวข้องกับการหดตัวของกล้ามเนื้อ) ในบริเวณตัวรับ (Receptor) ในระบบประสาทและที่กล้ามเนื้อที่มีชื่อว่า Nicotinic acetylcholine receptor ส่งผลให้กล้ามเนื้อเกิดการคลายตัว ทำให้การสอดท่อช่วยหายใจในท่อลมรวมถึงการทำหัตถการต่างๆในการผ่าตัดมีความสะดวกและปลอดภัยมากขึ้น
แพนคูโรเนียมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาแพนคูโรเนียมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาฉีดขนาด 4 มิลลิกรัม/2 มิลลิลิตร และขนาด 1 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
แพนคูโรเนียมมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาแพนคูโรเนียมมีขนาดการบริหารยาเช่น
- ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 0.06 - 0.1 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หากจำเป็นต้องทำหัตถการการผ่าตัดยาวนานขึ้นอาจต้องให้ยานี้ซ้ำในขนาด 0.5 - 1 มิลลิกรัม
- เด็ก: ขนาดการใช้ยานี้ในเด็กต้องให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสมและมีความปลอดภัยต่อผู้ป่วยสูงสุด
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาของการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาแพนคูโรเนียม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแพนคูโรเนียมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
แพนคูโรเนียมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
การใช้ยาแพนคูโรเนียมสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้เช่น
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น มีภาวะหัวใจเต้นเร็วหรือไม่ก็เต้นช้า ความดันโลหิตต่ำ หรือไม่ก็มีความดันโลหิตสูง การทำงานของหลอดเลือดหัวใจล้มเหลว
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น มีภาวะหลอดลมหดเกร็งตัว
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น มีน้ำลายมาก
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น มีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง
*อนึ่ง กรณีผู้ป่วยได้รับยานี้เกินขนาดอาจทำให้ผู้ป่วยมีกล้ามเนื้ออ่อนแรง การหายใจติดขัด/หายใจลำบาก หรือหยุดหายใจ แพทย์ต้องทำการช่วยเหลือโดยอาจใช้ยาเช่น Pyridostigmine (ยากระตุ้นให้กล้ามเนื้อหดตัว), Neostigmine ร่วมกับยาอื่นอย่างเช่น Atropine ในการช่วยเหลือผู้ป่วย
มีข้อควรระวังการใช้แพนคูโรเนียมอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาแพนคูโรเนียมเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาแพนคูโรเนียม
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ ด้วยเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงรุนแรงต่อการใช้ยาต่างๆหลายประเภทรวมถึงยาแพนคูโรเนียม การใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต้องมีคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ โรคไต โรคปอด
- แจ้งแพทย์ก่อนเข้ารับการรักษาทุกครั้งถึงประวัติการเจ็บป่วย มีโรคประจำตัวใดบ้าง รวมถึงมีการใช้ยาประเภทใดอยู่ก่อนหน้านี้
- หลังการใช้ยานี้ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์พยาบาลอย่างเคร่งครัด
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแพนคูโรเนียมด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
แพนคูโรเนียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาแพนคูโรเนียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาแพนคูโรเนียมร่วมกับยา Amikacin, Gentamycin, Tobramycin, Neomycin ด้วยจะส่งผลทำให้ระดับยาแพนคูโรเนียมในเลือดของผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นจนทำให้ได้รับผลข้างเคียงตามมา
- การใช้ยาแพนคูโรเนียมร่วมกับยา Methylprednisolone, Hydrocortisone อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของกล้ามเนื้อในผู้ป่วยให้ผิดปกติไป หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาแพนคูโรเนียมร่วมกับยา Propranolol อาจทำให้ความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจลดต่ำลง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยาแพนคูโรเนียมร่วมกับยา Ketamine อาจทำให้เกิดการกดระบบการหายใจของผู้ป่วย การใช้ยาร่วมกันจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
ควรเก็บรักษาแพนคูโรเนียมอย่างไร?
ควรเก็บยาแพนคูโรเนียมในช่วงอุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
แพนคูโรเนียมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาแพนคูโรเนียมที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Pancuronium Lisapharma (แพนคูโรเนียม ลิซาฟาร์มา) | Lisapharma |
บรรณานุกรม
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/pancuronium%20lisapharma/?type=brief [2016,July2]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Pancuronium_bromide [2016,July2]
- https://www.drugs.com/pro/pancuronium.html [2016,July2]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/pancuronium%20bromide/?type=brief&mtype=generic [2016,July2]
- https://www.drugs.com/sfx/pancuronium-side-effects.html [2016,July2]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/pancuronium-index.html?filter=3&generic_only= [2016,July2]