แพนครีไลเปส (Pancrelipase/Pancreatic enzymes/Pancreatin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาแพนครีไลเปส(Pancrelipase หรือ Pancreatic enzymes หรือ Pancreatin) เป็นยาจำพวกเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ย่อยอาหารที่เรารับประทานเข้าไป ตัวยาประกอบด้วยเอนไซม์ไลเปส (Lipases), โปรตีเอส (Proteases), และอะมัยเลส (Amylses), ซึ่งสกัดได้จากตับอ่อนของสัตว์ประเภทสุกร

ทางคลินิกนำยาแพนครีไลเปสมาบำบัดผู้ป่วยที่มีภาวะตับอ่อนพร่องเอนไซม์ หรือมีน้ำย่อยไม่เพียงพอต่อการย่อยอาหารในลำไส้เล็ก การมีเอนไซม์จากตับอ่อนน้อยอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis), ป่วยเป็นโรคทางพันธุกรรมอาทิ ซิสติกไฟโบรซิส (Cystic fibrosis), และ กลุ่มอาการ Shwachman-Diamond syndrome(โรคทางพันธุกรรมที่พบตั้งแต่กำเนิด ที่พบได้น้อยมากๆ ที่ทำให้เกิดความผิดปกติของตับอ่อน กระดูก และไขกระดูก) เป็นต้น

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาแพนครีไลเปสเป็นยาแคปซูล เอนไซม์ที่บรรจุอยู่ภายในแคปซูลจะถูกเคลือบด้วยสารที่คล้ายฟิล์มบางๆ หรือที่เรียกกันว่า Enteric-coated ซึ่งทำให้เอนไซม์เหล่านี้ทนต่อการย่อยทำลายของกรดในกระเพาะอาหาร และเอนไซม์จะถูกปลดปล่อยออกมาทำงานเมื่อแคปซูลผ่านเข้าไปลำไส้เล็กซึ่งมีค่า pH มากกว่า 5.5

เอนไซม์ที่ประกอบเป็นตัวยาแพนครีไลเปส จะไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด แต่จะออกฤทธิ์อยู่ที่ลำไส้เล็ก อย่างไรก็ตามห้ามเคี้ยวยาแพนครีไลเปสในช่องปาก ด้วยจะทำให้ฟิล์มที่เคลือบตัวยาให้แตกออก เป็นผลให้เอนไซม์ที่บรรจุในแคปซูลย่อยทำลายเยื่อบุภายในช่องปากจนเกิดอาการระคายเคืองได้

สำหรับเด็กเล็ก หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ ที่ไม่สามารถกลืนยาเม็ด-ยาแคปซูล มีข้อแนะนำอนุโลมให้แกะแคปซูลแล้วเทยาลงในอาหารที่มีลักษณะเหลว จากนั้นคลุกเคล้าให้พอเหมาะ แล้วกลืน โดยห้ามเคี้ยวเด็ดขาด

เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาประเภทเอนไซม์ที่รวมถึงยาแพนครีไลเปส ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจร่างกายโดยแพทย์พร้อมกับรับคำแนะนำการใช้ยาชนิดนี้/ยานี้อย่างถูกต้อง ทั้งนี้ด้วยเหตุผลว่า ตัวยาแพนครีไลเปสสามารถสร้างผลอันไม่พึงประสงค์จากยาต่างๆต่อร่างกายได้เช่นเดียวกับยาชนิดอื่น

องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้ยาแพนครีไลเปสเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลควรมีสำรองได้ให้บริการกับผู้ป่วย ในต่างประเทศเราสามารถพบเห็นการจำหน่ายยาแพนครีไลเปสได้หลายชื่อการค้า เช่น Creon, Cotazym, Pancreaze, และ Pancrex เป็นต้น

แพนครีไลเปสมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

แพนครีไลเปส

ยาแพนครีไลเปส เป็นยาที่มีสรรคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้บำบัดผู้ป่วยที่มีภาวะพร่องเอนไซม์ หรือน้ำย่อยจากตับอ่อน ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
    • ผ่าตัดตับอ่อนทิ้ง
    • ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง
    • เป็นมะเร็งตับอ่อน
    • ป่วยด้วยภาวะซิสติกไฟโบรซิส (Cystic fibrosis)

แพนครีไลเปสมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาแพนครีไลเปส เป็นเอนไซม์ หรือน้ำย่อยอาหารที่สกัดได้จากตับอ่อนของสุกรที่ประกอบด้วยเอนไซม์ 3 ชนิด คือ

  • Lipases ใช้ย่อยอาหารจำพวกไขมัน
  • Proteases ใช้ย่อยอาหารจำพวกโปรตีน และ
  • Amylases ใช้ย่อยอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต

ด้วยการใช้ตัวยาแพนครีไลเปสตามขนาดที่แพทย์แนะนำ จะช่วยทำให้ระบบการย่อยสารอาหารที่รับประทานเข้าไป เป็นไปอย่างปกติ หรือใกล้เคียงกับภาวะปกติ และทำให้เป็นที่มาของสรรพคุณ

แพนครีไลเปสมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาแพนครีไลเปส เป็นยาแคปซูลชนิดรับประทาน ที่ปลดปล่อยตัวเอนไซม์อย่างช้าๆ จึงทำให้มีการออกฤทธิ์ได้นาน ความแรงของตัวยาที่มีจำหน่ายเป็น ดังนี้ เช่น

  • ขนาดบรรจุ 150 มิลลิกรัม/แคปซูล ประกอบด้วย Lipase 10,000 ยูนิต + Amylase 8,000 ยูนิต + Protease 600 ยูนิต
  • ขนาดบรรจุ 400 มิลลิกรัม/แคปซูล ประกอบด้วย Lipase 40,000 ยูนิต + Amylase 25,000 ยูนิต + Protease 1,600 ยูนิต

แพนครีไลเปสมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาแพนครีไลเปสมีขนาดรับประทาน เช่น

ก. เด็กอายุ 12 เดือนขึ้นไป – เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 4 ปี: คำนวณขนาดรับประทานจากเอนไซม์ไลเปส 1,000 ยูนิต/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/มื้ออาหาร

  • *ขนาดรับประทานสูงสุดห้ามเกิน 2,500 ยูนิต(ไลเปส)/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/มื้ออาหาร และ
  • *ห้ามรับประทานยาเกิน 10,000 ยูนิต(ไลเปส)/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน

ข. เด็กอายุ 4 ปีขึ้นไป – ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 500 ยูนิต(ไลเปส)/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/มื้ออาหาร

  • *ขนาดรับประทานสูงสุดห้ามเกิน 2,500 ยูนิต(ไลเปส)/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/มื้ออาหาร และ
  • *ห้ามรับประทานเกิน 10,000 ยูนิต(ไลเปส)/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน

ค. เด็กอายุต่ำกว่า 1ปี: การใช้ยานี้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

*อนึ่ง:

  • การรับประทานยานี้ ให้กลืนยาทั้งแคปซูลพร้อมน้ำดื่มอย่างพอเพียง
  • ห้ามเคี้ยว หรือบดเอนไซม์ในแคปซูลก่อนรับประทาน
  • กรณีกลืนแคปซูลไม่ได้ ให้แกะแคปซูลแล้วผสมตัวเอนไซม์ในแคปซูลกับอาหารเหลวอย่างเช่น นม แล้วกลืนทันที ห้ามเคี้ยวเอนไซม์เด็ดขาด
  • รับประทานยานี้พร้อมอาหาร หรือ ตามคำสั่งแพทย์

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาแพนครีไลเปส ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้ เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคกระเพาะอาหาร รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแพนครีไลเปสอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิด ปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

กรณีลืมรับประทานยาแพนครีไลเปส สามารถรับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ห้ามเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติเท่านั้น

อนึ่ง ผู้ป่วยสามารถขอคำแนะนำล่วงหน้าจาก แพทย์ เภสัชกร ในกรณีลืมรับประทานยานี้ว่า ควรปฏิบัติตัวอย่างไร

แพนครีไลเปสมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาแพนครีไลเปสสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องอืด ปวดท้อง ท้องผูกหรือท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ไอ

*กรณีรับประทานยานี้เกินขนาด จะเกิดภาวะกรดยูริคในเลือด และในปัสสาวะ สูงขึ้น

มีข้อควรระวังการใช้แพนครีไลเปสอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้แพนครีไลเปส เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้ หรือผู้ที่มีอาการแพ้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากสุกร
  • การใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีภาวะให้นมบุตร เด็กทารก และผู้สูงอายุ จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • ไม่ควรปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
  • การรับประทานยาแพนครีไลเปสร่วมกับยาใดๆ ควรปรึกษาแพทย์/เภสัชกรก่อนเสมอ
  • หลังรับประทานยานี้แล้วมีอาการวิงเวียนศีรษะ ห้ามขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆ รวมถึงการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรทุกชนิด เพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • หากพบอาการข้างเคียงที่รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น ท้องเสียบ่อยครั้ง วิงเวียนศีรษะมาก ให้หยุดใช้ยานี้ แล้วรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำการใช้ยานี้ของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และควรมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาแพนครีไลเปสด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

แพนครีไลเปสมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาแพนครีไลเปสมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาแพนครีไลเปสร่วมกับ ยา Acarbose เพราะจะทำให้ประสิทธิผลการรักษาของยา Acarbose ด้อยลง
  • ห้ามใช้ยาแพนครีไลเปสร่วมกับ ยาลดกรดที่มี Aluminium hydroxide หรือ Magnesium hydroxide เป็นองค์ประกอบ เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพของตัวยาแพนครีไลเปสลดต่ำลง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน ควรเว้นระยะเวลาห่างกัน1 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาแพนครีไลเปสร่วมกับ ยาCalcium carbonate ด้วยส่งผลให้ประสิทธิภาพของยาแพนครีไลเปสลดลง

ควรเก็บรักษาแพนครีไลเปสอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาแพนครีไลเปส เช่น

  • *นับจากวันผลิต อายุของยาแพนครีไลเปสไม่เกิน 2 ปี
  • *หลังเปิดใช้ยาจากภาชนะบรรจุแล้ว อายุการใช้ยานี้ไม่เกิน 6 เดือน
  • สามารถเก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
  • ห้ามเก็บยาในช่วงอุณหภูมิเกิน 30 องศาเซลเซียส
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาที่หมดอายุ
  • ไม่ทิ้งยาลงในแม่น้ำคูคลองตามธรรมชาติ

แพนครีไลเปสมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาแพนครีไลเปส มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Creon (ครีออน)Abbott

บรรณานุกรม

  1. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2009/020725s000lbl.pdf [2019, Jan26]
  2. https://www.healthline.com/health/exocrine-pancreatic-insufficiency/causes#1 [2019, Jan26]
  3. https://www.mims.com/malaysia/drug/info/creon%2010000/ [2019, Jan26]
  4. https://www.mims.com/thailand/drug/info/creon%2010000-creon%2040000/?type=brief [2019, Jan26]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Pancreatic_enzymes_(medication) [2019, Jan26]
  6. https://www.drugs.com/drug-interactions/pancrelipase-index.html [2019, Jan26]