แพนครีเอติน (Pancreatin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 28 พฤษภาคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- ยาแพนครีเอตินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาแพนครีเอตินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาแพนครีเอตินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาแพนครีเอตินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาแพนครีเอตินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาแพนครีเอตินอย่างไร?
- ยาแพนครีเอตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาแพนครีเอตินอย่างไร?
- ยาแพนครีเอตินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีแก๊ส (Abdominal bloating)
- อาหารไม่ย่อย ธาตุพิการ (Indigestion)
- โรคตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis)
- นิ่วในถุงน้ำดี (Gallstone)
บทนำ
ยาแพนครีเอติน (Pancreatin) เป็นเอนไซม์ย่อยอาหารรวมหลายชนิด โดยประกอบไปด้วยเอนไซม์ Amylase, Lipase, Trypsin ปกติเอนไซม์เหล่านี้พบที่ตับอ่อน มีหน้าที่ย่อยสาร อาหารที่เรารับประทานเข้าไปเช่น แป้ง ไขมัน และโปรตีน ถูกนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์กับผู้ป่วยที่มีตับอ่อนทำงานบกพร่อง โดยอาจมีสาเหตุจากการผ่าตัดตับอ่อน มีภาวะตับอ่อนอัก เสบ มะเร็งตับอ่อน หรือท่อทางเดินน้ำดีอุดตัน
ในทางเภสัชกรรมได้มีการนำยาแพนครีเอตินไปผสมกับยาอื่นๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิผลของการรักษา ดังนั้น การเลือกใช้สูตรตำรับของยาที่เหมาะสม จึงควรต้องอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
ยาแพนครีเอตินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาแพนครีเอตินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้เป็นยาช่วยย่อยอาหาร สำหรับผู้ที่มีภาวะตับอ่อนผิดปกติ หรือการทำงานบกพร่อง
ยาแพนครีเอตินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาแพนครีเอติน คือ ตัวยาจะเข้าไปเปลี่ยนโครงสร้างของอาหารประเภทไขมันให้เป็นกรดไขมัน ย่อยโปรตีน และเปลี่ยนโครงสร้างโปรตีนให้เล็กลงเป็นระดับเปปไทด์ (Peptide) และเปลี่ยนแป้งให้กลายเป็นน้ำตาล เมื่อสารอาหารเหล่านี้ถูกเปลี่ยนโครงสร้างให้เล็กลง ก็พร้อมที่จะให้ร่างกายดูดซึมและนำไปใช้งานต่อไป
ยาแพนครีเอตินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
รูปแบบการจัดจำหน่ายของยาแพนครีเอติน เช่น
- รูปแบบยาผสมชนิดเม็ด ขนาดความแรง 20, 100, 200, และ 400 มิลลิกรัม
- รูปแบบยาผสมชนิดแคปซูลขนาดความแรง 50 มิลลิกรัม
ยาแพนครีเอตินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ด้วยเหตุผลที่ยาแพนครีเอตินในตลาดยาบ้านเราเป็นชนิดของยาผสม และมีขนาดความแรงของยาที่แตกต่างกันออกไป การรับประทานให้ดูรายละเอียดจากเอกสารกำกับยาของแต่ละบริษัทผู้ผลิต ปกติแพทย์ผู้ทำการรักษาจะเป็นผู้กำหนดขนาดการรับประทานได้เป็นอย่างดี
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาแพนครีเอติน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้ เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแพนครีเอตินอาจส่งผลให้อา การของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาแพนครีเอติน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาแพนครีเอตินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาแพนครีเอตินสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (อาการข้างเคียง/ผลข้างเคียง) เช่น
- ท้องเสีย
- เจ็บในช่องท้อง/ปวดท้อง
- เป็นตะคริว
- อาจมีอาการคลื่นไส้
- แสบขณะปัสสาวะ
- ปวดตามข้อต่อของกระดูก
- ผื่นคัน
- ผลข้างเคียงที่ค่อนข้างรุนแรงมาก ได้แก่
- หายใจติดขัด ซึ่งหากพบอาการนี้ ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้ยาแพนครีเอตินอย่างไร?
ข้อควรระวังในการใช้ยาแพนครีเอติน เช่น
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้ยาแพนครีเอติน
- ระวังการใช้ยานี้กับ หญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาแพนครีเอตินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาแพนครีเอตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาแพนครีเอตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาแพนครีเอตินร่วมกับวิตามินและเกลือแร่บางตัว สามารถทำให้ประสิทธิผลในการรักษาของวิตามินและเกลือแร่เหล่านั้นด้อยลงไป กลุ่มวิตามินดังกล่าว เช่น Folic acid และ ธาตุเหล็ก
- การใช้ยาแพนครีเอติน ร่วมกับ ยาลดความดันยาลดความดันเลือดสูง อาจทำให้ระดับยาแพนครีเอตินในกระแสเลือดต่ำลงและด้อยประสิทธิภาพได้ ยาลดความดันฯ ดังกล่าว เช่นยา Quinapril
- การใช้ยาแพนครีเอติน ร่วมกับ ยาลดกรด สามารถลดประสิทธิภาพในการทำงานของยาแพนครีเอติน ยาลดกรดดังกล่าว เช่นยา Aluminium hydroxide, Magnesium hydroxide
ควรเก็บรักษายาแพนครีเอตินอย่างไร
สามารถเก็บยาแพนครีเอติน เช่น
- สามารถเก็บยาที่อุณหภูมิห้องได้ แต่ไม่ควรเกิน 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความชื้น
- และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยาแพนครีเอตินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาแพนครีเอติน มีชื่อยาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Creon 10000/Creon 40000 (ครีออน 10000/ครีออน 40000) | Abbott |
Enzymet (เอนไซม์เมท) | Ranbaxy Unichem |
Gaszym (แก๊สซึม) | Ranbaxy Unichem |
Pepsitase (เปปซิเทส) | B L Hua |
Poly Enzyme-l (โพลี เอนไซม์-l) | Chew Brothers |
Polyenzyme N (โพลีเอนไซม์ เอ็น) | Chew Brothers |
Proctase-P (พร็อกเทส-พี) | Meiji |
บรรณานุกรม
- https://www.webmd.com/drugs/2/drug-1457/pancreatin-oral/details [2020,May23]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/AdvancedSearch/ [2020,May23]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Pancreatic_enzymes_(medication) [2020,May23]
- https://www.drugs.com/mtm/pancreatin.html [2020,May23]